ปัตตานีเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีความสร้างสรรค์เป็นพลังช่วยเคลื่อนเมืองให้พ้นจากมุมมองและภาพจำเกี่ยวกับความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ ทุกวันนี้เราได้เห็นศิลปะ ดนตรี ภาพยนตร์ รวมถึงการเกิดขึ้นของพื้นที่สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นทิศทางการพัฒนาเมืองที่ดีของจังหวัดทางใต้แห่งนี้
สำหรับชาวเมืองหลวงที่ยังไม่มีโอกาสไปปัตตานี เราอยากชวนไปงานอีเวนต์ของคนจากปัตตานีที่จัดแสดงอยู่ในกรุงเทพฯ ชื่อว่า ‘KIDS’ VIEW’ เป็นนิทรรศการภาพถ่ายผ่านมุมมองทางสายตาของน้องๆ นักเรียนชั้น ม.ปลาย ทั้งหมด 19 คน ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ‘มูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา’ (Nusantara Patani) พวกเขาได้ถ่ายทอดมุมมองผ่านการจัดแสดงผลงานศิลปะภาพถ่ายกว่า 70 ภาพ เพื่อให้ผู้คนนอกพื้นที่ได้แลกเปลี่ยนรายละเอียดวิถีชีวิต ความนึกคิด และสิ่งที่เด็กกำพร้าในสามจังหวัดชายแดนใต้มองเห็นได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น
ความน่าสนใจของภาพถ่ายในงานนี้คือ ‘การใช้กล้องฟิล์มครั้งแรก’ ของน้องๆ
“เอากล้องทอยให้น้องไปคนละตัวและให้ฟิล์มกันไปคนละม้วน” อำพรรณี สะเตาะ อาจารย์จากสาขาวิชาศิลปะภาพถ่ายชาวปัตตานี จากวิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต บอกเล่าถึงการดำเนินงานของนิทรรศการ KIDS’ VIEW ให้ฟัง
อาจารย์ใช้เวลาพูดคุยกับเด็กๆ รวมถึงจัดเวิร์กช็อปการใช้กล้องฟิล์ม 101 เล่าความรู้เบื้องต้นการถ่ายภาพให้กับน้องๆ เป็นเวลา 10 กว่าวัน จากนั้นก็ปล่อยให้เหล่าช่างภาพมือใหม่ลงสนามตามหาสิ่งที่อยากถ่าย โดยไร้ซึ่งคอนเซปต์ ไม่มีการตีกรอบทางความคิดใดๆ
หลังจากที่อาจารย์นำฟิล์มครั้งแรกของน้องๆ ไปล้างและอัดรูปแล้ว ภาพทั้งหลายที่ได้มาล้วนมีเอกลักษณ์และมุมมองที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป เพราะจะถ่ายอะไรก็ได้ ทั้งในชุมชน ในบ้าน ไม่ต้องเป็นรูปที่สวยงามหรือมีการเซตจัดฉาก แต่เป็นรูปที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่แต่ละคนมองเห็น
“บางคนอาจจะมองว่าการเลือกใช้สีขาวดำมันสื่อถึงความดราม่าหรือเปล่า แต่ในความตั้งใจของเรา ขาวและดำคือสีของการเริ่มต้น เป็นการถ่ายทอดความบริสุทธิ์จากมุมมองของเด็กๆ ที่สื่อสารออกมาโดยไม่ต้องพูดเลยว่าภาพกำลังสื่ออะไร เพราะหากมองจากภาพจะรับรู้ความหมายได้เอง” อาจารย์เล่าถึงความตั้งใจให้ฟัง
จาก 30 กว่ารูปในฟิล์มหนึ่งม้วนที่ทุกคนได้รับไปถ่ายภาพ จะถูกคัดเลือกเฟรมที่ดีที่สุดมาจัดแสดง โดยมีสิ่งสำคัญในการเลือกภาพนั่นคือ ‘การเล่าเรื่อง’ เราจึงได้เห็นภาพถ่ายที่เต็มไปด้วยคำถามปลายเปิด ความสนุก ความน่าตื่นเต้น ตลอดจนภาพที่ชวนสงสัยว่าไปเจอช็อตแบบนี้มาได้ยังไง
มีทั้งภาพที่ถ่ายในวันฮารีรายอ เทศกาลสำคัญทางศาสนาที่ผู้คนทางใต้ออกมาเฉลิมฉลองกัน ภาพถ่ายการทำอาหาร รูปภาชนะในครัวเรือน ภาพน่ารักๆ ของสัตว์ที่เกษตรกรในพื้นที่เลี้ยง ภาพถ่ายบ้านและโรงเรียน ภาพทิวทัศน์แปลกตา รวมถึงภาพไลฟ์สไตล์ต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของเด็กในปัตตานีเป็นยังไง
อุปสรรคของครั้งแรกคือความไม่รู้ มีน้องหลายคนที่ไม่เข้าใจการใช้งานของอุปกรณ์ เด็กบางคนพยายามเรียนรู้การถ่ายฟิล์มครั้งแรกและถ่ายได้เพียงรูปเดียวนอกนั้นเสียหมดทั้งม้วน แต่ผลงานที่ออกมานั้นก็เป็นรูปที่น่าตื่นเต้นสำหรับผู้ที่ได้พบเห็น ในบางภาพก็คล้ายเทคนิคที่ช่างภาพต่างประเทศเลือกใช้ บางคนเลือกถ่ายภาพต่อเนื่องเหมือนช็อตในภาพยนตร์ หรือบางคนก็สามารถใช้กล้องฟิล์มถ่ายฝนได้อย่างบังเอิญ และยังมีอีกหลายภาพหลายความหมายที่เกิดขึ้นมาจากเสี้ยววินาทีตรงหน้าผ่านการลั่นชัตเตอร์
“อย่างภาพที่ใช้เป็นโปสเตอร์ของนิทรรศการครั้งนี้ เป็นภาพถ่ายของน้องผู้หญิง เรารู้สึกว่ามุมมองเขาไม่เหมือนกับคนอื่น ไม่รู้ว่าเก้าอี้ตัวนี้ถูกวางของมันอยู่แล้ว หรือว่าน้องลากไปวาง มันเป็นภาพที่มีลักษณะของการเชื้อเชิญเรียกคนให้มาดู มาแลกเปลี่ยน แปลกที่ว่าเก้าอี้ในบ้านทำไมมาวางอยู่บนถนนเราก็อยากรู้เหมือนกัน มันมีเซอร์ไพรส์อะไรบางอย่างอยู่ในภาพ มีความกำกวม ช็อตนี้ใช่เลย” อาจารย์เล่าถึงมุมมองของเด็กเจ้าของภาพให้ฟัง
นอกจากจะเป็นแม่งานในการจัดแสดงภาพให้กับน้องๆ แล้ว อาจารย์ยังพยายามทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าขั้นตอนของการทำงานสร้างสรรค์นั้นสามารถสร้างรายได้ได้ด้วย เพราะแต่ละภาพที่จัดแสดงจะมีรายละเอียดของชิ้นงานและราคาตั้งไว้สำหรับผู้ที่สนใจ โดยรายได้ทั้งหมดจะมอบให้กับมูลนิธินูซันตาราฯ เพื่อใช้จ่ายในส่วนการดูแลความเป็นอยู่ในมูลนิธิต่อไป
สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดนิทรรศการ อาจารย์เล่าให้ฟังต่อว่า
“เราไม่ได้เรียกร้องความสงสารใดๆ แต่พื้นที่ห่างไกลมันย่อมถูกตัดขาดจากพื้นที่ส่วนกลาง มีผู้คนที่ลงไปทำโปรเจกต์ต่างๆ ที่ปัตตานีเยอะเลย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นคนจากนอกพื้นที่
“แต่ยังไม่ค่อยเห็นคนที่ทำ Art Project โดยการนำเรื่องราวในพื้นที่ของจังหวัดออกมานำเสนอให้ส่วนกลางได้รับรู้เท่าที่ควร ครั้งนี้เราได้พาน้องๆ ในชุมชนเดินทางมาแลกเปลี่ยนมุมมองผ่านงานภาพถ่าย นั่นคือวัตถุประสงค์ ถ้าโปรเจกต์นี้ไปต่อได้ เราก็อยากทำต่อไปในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ลองดูจากงานนี้ก่อนว่าจะเป็นยังไงต่อไป งานนี้คือจุดเริ่มต้น”
นิทรรศการศิลปะภาพถ่าย ‘KIDS’ VIEW’ จัดแสดงในกรุงเทพฯ อยู่ที่ สะพานควายแกลเลอรี ตั้งแต่วันนี้ – 27 ส.ค. 2565 จากนั้นจะนำภาพทั้งหมดกลับไปจัดแสดงที่จังหวัดปัตตานี
ติดตามรายละเอียดของงานได้ที่ KIDS’ VIEW – Photography Exhibition