ศิลปะเพิงพักคนไร้บ้านจากซองขนมและการตีแผ่ปัญหาสังคมสไตล์ Kias Matt - Urban Creature

ผืนผ้าใบสีดำประดับด้วยชิ้นส่วนถุงฟอยล์และซองขนมหลากสีที่ได้จากการรับบริจาคช่วงกักตัว ก่อเป็นรูปหน้าต่างเล็กๆ หลายบาน ที่มีตัวละครระบุตัวตนไม่ได้แหวกว่ายไปทั่วหน้าต่างเหล่านั้น และหากสะท้อนกับแสงแดดจะเปล่งแสงระยิบระยับชวนคนที่เดินผ่านซอยเจริญกรุง 41 หันมองอย่างไม่รู้ตัว ตามชื่อผลงาน ‘Reflection’ ที่ พี่แป๋ม-กนกมาศ มัทนารมยกิจ หรือ Kias Matt ศิลปินนักออกแบบ Pop-up Craft อยากใช้พลังของงานศิลปะชิ้นนี้ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘เพิงพักคนไร้บ้าน’ พลิกเรื่องราวอีกด้านของกรุงเทพฯ ที่มีตึกสูงเรียงราย นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่พากันเกิดขึ้น หรือความเจริญด้านศิลปะที่โอบล้อมไปทั่วถนนเจริญกรุง ว่ายังมีกลุ่มคนเปราะบางอย่าง ‘คนไร้บ้าน’ ที่มีตัวตน แต่กลับถูกลบเรื่องราวให้เหมือนไม่มีอยู่จริง นอกจากนี้เธอยังใช้งานกระดาษที่เธอชอบ สร้างผลงานอื่นๆ บอกเล่า เสียดสี และตีแผ่ปัญหาในไทยที่คนไม่กล้าพูดกันเสียงดัง

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังอ่านบรรทัดสุดท้ายจบ จะทำให้ผู้อ่านหลายคนเชื่อมั่นในเสียงของตัวเอง และมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในไทยชัดเจนมากขึ้น


01 ศิลปะกระดาษที่เกิดท่ามกลางเส้นทางที่ไม่ได้เลือกเอง

พี่แป๋มชอบงานศิลปะตั้งแต่จำความได้ แต่เพิ่งได้เป็นศิลปินตอนอายุ 28 ปี พี่แป๋มเรียนศึกษาศาสตร์ ชีววิทยา ทั้งที่ไม่ได้ชอบ แต่ถูกสอนให้อยู่ในกรอบของครอบครัว พี่แป๋มต้องทำอาชีพนักวิชาการ ทั้งๆ ที่มีอาชีพที่ใฝ่ฝันมากกว่า ทว่าพี่แป๋มในวัย 37 ปี วันนี้ขอเป็นพี่แป๋มในแบบที่พี่แป๋มเลือกเอง

นี่คือเรื่องย่อฉบับสั้นที่พี่แป๋มเล่าให้เราฟังก่อนจะคุยเรื่องงานศิลปะของเธอ พี่แป๋มบอกว่าเธอเกิดในครอบครัวที่วางกรอบให้เธอต้องทำตามเส้นทางที่ผู้ปกครองกำหนด แม้เธอจะรู้มาตั้งแต่เด็กว่าชอบงานศิลปะจากกระดาษ เพราะได้ลองทำทั้งงานปั้น ระบายสี จับดินน้ำมัน แต่สุดท้ายก็มีความสุขทุกครั้งที่ได้ประดิษฐ์การ์ดป๊อปอัพจากการเรียนวิชา กพอ. ตอนประถมฯ เช่นเดียวกับชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ที่เธอทำป๊อปอัพการ์ตูนเล็กๆ ห้อยตามเตียงในหอพัก หรือหลังเลิกเรียนก็พยายามเข้าไปซึมซับและทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ คณะศิลปกรรมอยู่บ่อยๆ

2 ปีที่พี่แป๋มทำงานเป็นนักวิชาการหลังเรียนจบ เธอเก็บเงินเพื่อไปเรียนด้านออกแบบอย่างจริงจัง ทั้งคอร์สระยะยาวและคอร์สแอดวานซ์ จนมีประสบการณ์มากพอจะสมัครงานเป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์ที่บริษัทออกแบบแห่งหนึ่ง แต่ทำได้ 3 ปีก็ต้องลาออก เพราะบริษัทปิดกิจการ เธอจึงนำความรู้ที่ได้จากที่ทำงานเก่า ทั้งกระบวนการออกแบบ เทคนิคจากผู้มีประสบการณ์ และอ่านหนังสือจากไอดอลของเธอ ทั้ง Matthew Reinhart และ David A. Carter สองศิลปินที่เก่งกาจเรื่องป๊อปอัพ มาต่อยอดความฝัน ออกมาเป็นศิลปินอิสระในปัจจุบัน ที่แฝงนัยทางสังคมลงบนงานศิลปะเกือบทุกชิ้น

“แป๋มในตอนนี้ไม่เหมือนแป๋มตอนเด็กๆ เพราะแม้เราจะตัวเล็ก และเสียงของเราก็เล็กเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเรากล้าที่จะใช้เสียงเล็กๆ ตีแผ่ปัญหาสังคมในแบบของเรา”


02 เพิงพักคนไร้บ้านที่สร้างจากผ้าใบและถุงฟอยล์

“เราเห็นคนไร้บ้าน คนพเนจร ความแออัด หรือการจัดสรรพื้นที่ที่ไม่สอดคล้องกับจำนวนประชากร ยิ่งช่วงโควิด 19 ยิ่งเห็นชัดว่าคนกลุ่มเปราะบางเขาเดือดร้อน แต่กลับไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง”

จุดเริ่มต้นงานศิลปะบนผืนผ้าใบที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเพิงพักคนไร้บ้าน เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางมาเจริญกรุงหรือไปรษณีย์กลาง เพื่อเก็บความรู้ด้านงานศิลปะและร่วมเวิร์คช็อปที่ Creative Economy Agency (CEA) เธอมักเห็นคนไร้บ้านจำนวนมากอยู่บริเวณหัวลำโพง ทำให้ขบคิดขึ้นมาว่าท่ามกลางความเจริญเติบโตของตึกสวยๆ ในเมือง ไปจนถึงย่านเจริญกรุงที่เรียกได้ว่าเป็น Creative District ยังมีกลุ่มคนเหล่านี้ที่ความเจริญเหล่านั้นไม่ตกไปถึงพวกเขา

คนไร้บ้านบางคนมองกระดาษลัง 1 ใบ ผืนผ้าใบ 1 ผืน หรือป้ายหาเสียงเหลือใช้สักป้ายเป็นของมีค่าสำหรับพวกเขา ที่สามารถสร้างเป็นบ้านชั่วคราวไว้กันแดด กันลม กันฝน และเคลื่อนย้ายไปได้ทุกที่ แต่โชคร้ายที่แม้แต่ของเล็กๆ พวกนี้ บางคนยังไม่มีโอกาสได้ใช้

พี่แป๋มจึงเกิดไอเดีย อยากสร้างงานศิลปะชิ้นใหญ่ที่เป็นได้ทั้งงานศิลปะและเพิ่มฟังก์ชันให้คนไร้บ้านไว้ใส่ของใช้ ด้วยการขอรับบริจาคถุงฟอยล์ทุกชนิดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เพจ Kias Matt ของเธอ และตลาดนัดอีโค่ออนไลน์ จะถุงขนม ซองโจ๊ก หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็มาหมด จนได้มากว่า 100 ชิ้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่ซึมซับมาตั้งแต่เด็ก เธอชอบเก็บลังกระดาษไว้ใช้ต่อ หรือพับถุงร้อนที่ไม่เลอะมาก มาทำความสะอาดและใช้ซ้ำ พอโตมาเธอจึงอยากเก็บสะสมถุงฟอยล์เพื่อเอามาเป็นทรัพยากรที่ใช้ในงานศิลปะของเธอ

‘Reflection’ คือชื่อผลงานชิ้นนี้ที่พี่แป๋มตั้งใจสร้างสรรค์ และบอกเล่าเรื่องราวบนงานศิลปะชิ้นนี้ให้เราได้ฟัง

“หน้าต่างสีเงินหลากหลายแบบบนชิ้นงาน เปรียบเหมือนการเปิดดูโลกในดินแดนเจริญกรุงที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมมากมาย ประกอบด้วยหน้าต่าง 4 ช่องลายจีนที่มาจากบ้านโซวเฮงไถ่ คฤหาสน์จีนที่ใหญ่ที่สุดในย่านตลาดน้อย หน้าต่างทรงโค้งมนคือหน้าต่างจากอาคารศุลกสถานแนวยุโรป หน้าต่างทรงประตูโบสถ์มาจากโบสถ์คริสต์ในย่านเจริญกรุง และหน้าต่างทรงเลขาคณิตลายพรรณพฤกษา ก็มาจาก Isalamic Art ของศาสนาอิสลาม ส่วนถ้าถามว่าอะไรคือความเป็นไทย ก็คงเป็นการปะติดถุงฟอยล์ชิ้นเล็กๆ คล้ายงานกระจกบนสถาปัตยกรรมตามวัดไทยที่ให้แสงสะท้อนวิบวับ”

“ส่วนคาแรกเตอร์สีชมพูที่ระบุไม่ได้ว่าคือตัวอะไร จริงๆ แล้วน้องชื่อ Miss Hidy ที่เราสร้างขึ้นโดยไม่ระบุเพศ มีตัวตนแต่ไม่มีใครรู้จัก ก็เหมือนกับคนไร้บ้าน โดย Miss Hidy 4 ตัว ทำมาจากถุงฟอยล์หลากชิ้น ที่มาจากคนละที่ ตัวล่างซ้ายถือโคมไฟจีน ด้านข้างมีตัวอักษรจีนที่มาจากหนังสือพิมพ์จีนของคนในชุมชนเจริญกรุง ตัวบนซ้ายถือแสตมป์สื่อถึงการสื่อสารและการคมนาคม และอีกมือถืออะไหล่รถยนต์ เพราะเจริญกรุงเหนียวแน่นไปด้วยเซียงกง ตัวบนขวาใส่แมสก์ในช่วงโควิด และตัวล่างขวาให้กำลังใจทุกตัวอยู่”

เราฟังพี่แป๋มเล่าไปเพลินๆ จนกระทั่งเธอเดินไปดึงหน้าต่างที่เราเพิ่งรู้ว่ามันเปิดออกมาได้ ! หน้าต่างบนซ้ายเปิดออกมาเป็นที่แขวนเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มของคนไร้บ้าน ส่วนหน้าต่างบนขวาเปิดออกมาเป็นที่วางของใช้ชิ้นเล็กๆ ของคนไร้บ้าน พี่แป๋มบอกว่ามากกว่าความสวยงามอยากให้เป็นงานศิลปะ 1 ชิ้นที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าให้กับคนไร้บ้าน แม้งานชิ้นนี้วัสดุจะยังไม่แข็งแรงมาก เพราะมีพื้นที่และเวลาจำกัด แต่หากอนาคตงานศิลปะของเธอถูกต่อยอดให้มีวัสดุที่แข็งแรงขึ้น ใช้ไม้ในการยึดโครง จะเป็นประโยชน์ต่อคนไร้บ้านมากขึ้นแน่นอน

03 คนจน การล่าสัตว์ป่า เด็กในสถานพินิจ โรคซึมเศร้า และการคุกคามทางเพศ

คนเปราะบางในความหมายของพี่แป๋ม ไม่ได้หมายถึงคนไร้บ้านอย่างเดียว แต่รวมไปถึงคนคนจนที่ได้รับผลกระทบจากบริบททางสังคม ยิ่งช่วงกักตัวที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำยิ่งผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดอย่างปฏิเสธไม่ได้

ยอดฉัตร บุพศิริ ศิลปินที่ริเริ่มโปรเจกต์ #MushroomMission ชวนศิลปินมาร่วมสร้างเห็ดในแบบของตัวเอง เพื่อช่วยเหลือคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการลงผลงานของแต่ละคนพร้อมแนบช่องทางการแบ่งปันอาหารให้กลุ่มคนเปราะบางที่สนับสนุนโดยเพจสวนผักคนเมือง ซึ่งพี่แป๋มก็เป็นศิลปินที่ได้ร่วมสร้างผลงานครั้งนี้

ท่ามกลางผลงานแนวน่ารักของศิลปินหลายท่าน แต่พี่แป๋มกลับอยากเสนออีกด้านของสังคม จึงลองตีโจทย์ สร้างป๊อปอัพกระดาษตกแต่งด้วยซองฟอยล์ในรูปแบบเมืองเห็ดสีดำ พื้นม่วงลึกลับคล้ายในนิยาย ที่ชวนให้คุณขบคิดว่า แล้วคนในเมืองหายไปไหน ?

“เห็ดที่อยู่กันเต็มเมืองคงเหมือนคนมีอำนาจ ส่วนคนที่หายสาบสูญไปในเมือง คุณคิดว่าโดนใครกินล่ะ ถ้าไม่ใช่เห็ด”

อ่านมาถึงตรงนี้คุณเริ่มเห็นพลังของงานศิลปะบ้างหรือยัง ?

ผลงานของพี่แป๋มยังไม่จบเท่านี้ เพราะปลายปีที่แล้ว หมู-นนทวัฒน์ เจริญชาศรี เจ้าของบริษัทออกแบบชื่อดัง DUCTSTORE the Design Guru ชวนพี่แป๋มไปร่วมแสดงผลงาน ณ โกดังบ้านเลขที่ 1 ครั้งนี้เธอจับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ในคดีล่าเสือดำและไฟป่าที่ทำให้สัตว์ป่าต้องล้มตายไปอย่างน่าสลด พี่แป๋มบอกว่าสัตว์ป่าอยู่ในห่วงโซ่สำคัญของระบบนิเวศ หากเสียสมดุล จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ในเร็ววัน

‘HOLY SHIFT สิ่ง ศักดิ์ สิทธิ์’ จึงเป็นผลงานป๊อปอัพขนาด A2 ของพี่แป๋มที่เต็มไปด้วยสัตว์ที่เคยเสียชีวิตจากมือผู้คน ทั้งเสือดำ กวาง จิงโจ้ ช้าง โคอาล่า พะยูน เต่า และแปะป้ายตรงกลางด้วยคำว่า Wealthy Healthy Lucky ที่ต้องการเสียดสีสังคมว่าต้องให้สัตว์เหล่านี้ทำให้รวย ถูกหวย ให้โชคลาภกับคุณก่อนใช่ไหม ถึงจะเลิกฆ่ามัน

“อินเดียบูชาวัวเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เขาเลยไม่มีการฆ่าวัว งั้นถ้าเราไม่อยากให้สัตว์ป่าบ้านเราโดนฆ่าบ้าง เราก็มองสัตว์เหล่านั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปเลยไหมล่ะ จะได้เลิกทำร้ายมันสักที”

เราชวนพี่แป๋มมานั่งดับร้อนที่คาเฟ่ย่านเจริญกรุง ระหว่างเธอกำลังจิบน้ำส้มผสมแอปเปิลสกัดเย็น ก็พลางหยิบผลงานป๊อปอัพหลายชิ้นขึ้นมาให้เราได้ชม

‘Terrarium in Mind’ ป๊อปอัพที่เกิดจากการที่พี่แป๋มได้มีโอกาสไปสอนเด็กในสถานพินิจจัดสวนในขวดแก้ว แล้วพบว่ามีเด็กจำนวนมากที่ถูกนำตัวมาส่งสถานพินิจเพราะถูกครอบครัวบังคับให้เดินส่งยาเสพติด เธอจึงสร้างป๊อปอัพกระดาษที่มีคนในครอบครัวและเด็ก กำลังช่วยกันจัดสวนในขวดแก้วที่ในป๊อปอัพเป็นรูปทรงบ้านที่เปรียบเป็นสถานพินิจ เพื่อสื่อถึงสถาบันครอบครัวที่ควรเลี้ยงดูลูกให้แข็งแรงตั้งแต่ในบ้าน เพื่อให้ออกนอกบ้านมาก็ยังแข็งแรงทั้งร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา

‘การ์ดเพื่อคนซึมเศร้า’ ป๊อปอัพการ์ดใบจิ๋วเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังงานบวกเพื่อคนเป็นโรคซึมเศร้า พี่แป๋มบอกว่าเธอทำการ์ดนี้ด้วยเทคนิค Risograph ที่พ่นสี 1 ครั้ง พิมพ์ได้สีเดียว หากเลือกหลายสี ต้องพ่นตามจำนวนสีที่ใช้ ซึ่งมีกระบวนการที่ละเอียด ไม่มีใบมีดตัด ต้องใช้การตัดแยกทีละนิด หากจังหวะไม่ตรง ภาพประกอบกับตัวป๊อปจะเหลื่อมกันและปิดไม่ได้ ซึ่งพี่แป๋มตั้งใจว่างานชิ้นนี้จะพัฒนาต่อด้วยการปรึกษานักจิตวิทยาเพื่อให้เกิดผลลัพธ์กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ดีที่สุด โดยเธอจะทำเป็นการ์ดให้ผู้เล่นเรียงคำ A-Z โดยในแต่ละใบจะมีข้อความที่มีความหมายเชิงบวกและเรื่องราวที่แตกต่างกันไปคอยโอบกอดผู้ป่วยโรคซึมเศร้าให้มีเพื่อนอยู่ข้างๆ

อีกหนึ่งผลงานที่น่าสนใจคือ ‘Moonlight’ โปรเจกต์วิดีโอแอนิเมชันสะท้อนสังคมเรื่องการคุกคามทางเพศในเด็กและเยาวชน ที่แม้ชิ้นนี้จะไม่ใช่งานป๊อปอัพ แต่การันตีคุณภาพได้จากรางวัล 10 หนังสั้นแอนิเมชันคนไทยยอดเยี่ยม จากงาน Thailand Animator Festival 5 

โปรเจกต์นี้พี่แป๋มร่วมงานกับ บูรณ์ เนียมหอม และ วิพรรณ สุขสบาย เพื่อนของเธอ สร้างแอนิเมชันกราฟิกที่เป็นกระบอกเสียงให้สังคมได้รู้ว่าการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กและเยาวชนเกิดขึ้นจากคนในครอบครัวของเด็กและคนใกล้ชิดเด็กจำนวนมาก

“การล่วงละเมิดทางเพศ คนไทยไม่ชอบพูดกันเสียงดังๆ มันละเอียดอ่อนกันไปซะหมด จะพูดถึงครูที่ลวนลามเด็ก เดี๋ยวสถาบันการศึกษาก็ออกมาโต้ว่าครูทุกคนไม่ได้เป็นแบบนั้น ยิ่งเป็นการละเมิดจากคนในครอบครัว คนก็จะเลี่ยงไม่อยากพูดถึง มิหนำซ้ำบางคนยังไปโทษเด็กแทนอีก”

แอนิเมชันชิ้นนี้พี่แป๋มจึงอยากตีแผ่ว่าเด็กและเยาวชนที่โดนล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ บางทีไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าแบบไหนถึงเรียกว่าโดนรังแกอยู่ เธอเลยอยากให้ความรู้ว่าสิ่งไหนคืออะไร สถานการณ์แบบไหนที่อันตราย พร้อมปลอบใจเด็กและเยาวชนที่เคยถูกกระทำไปพร้อมๆ กัน (ติดตามวิดีโอแอนิเมชันเรื่อง Moonlight ได้ที่ Moonlight – 10 Best Animation Film – 5th Thailand Animator Festival 2019)


04 ขบคิดทิ้งท้าย

ก่อนจากกัน พี่แป๋มรับหน้าที่พาชมงานศิลปะหลายจุดในเจริญกรุง ที่เป็นโปรเจกต์ร่วมกับ CEA ซึ่งแต่ละผลงานของหลายศิลปิน ต่างมีความสวยงามและนัยต่างกัน บ้างก็แสดงถึงอัตลักษณ์ของความเป็นมนุษย์ บ้างก็สะท้อนสภาพอากาศที่ร้อนในกรุง หรือบ้างก็สื่อถึงพลังงานหมุนเวียนที่ควรเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในไทย แต่ไม่ว่าจะชิ้นงานไหน เรากลับสัมผัสได้ว่า ศิลปะทุกชิ้นซ่อนพลังบางอย่างที่สามารถขับเคลื่อนความคิดคนได้อย่างไม่น่าเชื่อ

“เรามองการแก้ปัญหาต่างๆ ในสังคมไทยเหมือนปัญหาทางเท้า ที่ ‘เขา’ บอกว่าทำแล้ว แต่พอเราเดินไปใกล้ๆ กลับเจอน้ำขังจากฝนตก น้ำกระเด็นใส่ผู้คน หลุมใหญ่ที่อาจพลัดตก หรือก้อนหินที่คนมีสิทธิ์สะดุด ซึ่งมันไร้ความปลอดภัย ปัญหาคนไร้บ้าน คนจน หรือการคุกคามทางเพศก็เหมือนกัน เรายังมองไม่เห็นการแก้ไขปัญหาตรงนั้นที่เยียวยาทุกคนได้จริง”

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.