แคบหมู-ไส้อั่วที่ขายในกาดเจ๊า (ตลาดเช้า) ขนมจีนสันป่าข่อย อาหารเหนือที่ร้านเจริญสวนแอก
ถ้าเป็นของหวานก็ขนมหวานช่างม่อย เฉาก๊วยข้างหอประชุม มช. หรือพายมะพร้าวของร้านบ้านเปี่ยมสุข
ในฐานะคนเชียงใหม่ ถ้าถามว่ามาเชียงใหม่แล้วต้องกินอะไร ‘ของดี’ ที่ฉันพอจะนึกออกอาจเป็นชื่อเหล่านี้ และว่ากันตามตรง ก่อนหน้านี้คงไม่มีคำว่า ‘คราฟต์ช็อกโกแลต’ หลุดออกจากปากฉันแน่ๆ แต่คำตอบนั้นก็เปลี่ยนไป เมื่อฉันได้ลิ้มรสช็อกโกแลตของ KanVela แบรนด์คราฟต์ช็อกโกแลตที่ปลุกปั้นโดยสองพี่น้องคนเจียงใหม่แต๊ๆ อย่าง ธนา คุณารักษ์วงศ์ และ นิรมล คุณารักษ์วงศ์ ชื่อของร้านนี้ก็มาอยู่ในลิสต์ ‘มาเชียงใหม่ต้องไปนะ’ ของฉันทันที
แน่นอนว่ากานเวลาไม่ใช่แบรนด์แรกในเชียงใหม่ กระบวนการในการทำก็ไม่ได้ต่างจากวิธีทำคราฟต์ช็อกโกแลตทั่วไปที่เน้นความเป็นโฮมเมด ดูแลกันตั้งแต่ขั้นตอนเลี้ยงต้นโกโก้ ไหนจะโปรดักต์สุดท้ายที่มีรสชาติหวาน ขม เปรี้ยว มีหลายมิติแบบคราฟต์ช็อกโกแลตที่ดีควรเป็น
ถึงอย่างนั้น สิ่งที่กานเวลาโดดเด่นไม่แพ้แบรนด์ไหนๆ คือความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างเมนูอันหลากหลายและน่าตื่นเต้น เช่น เจ้า ‘บงบง’ ช็อกโกแลตก้อนกลมสีสดใสที่มีรสแปลกใหม่แต่น่าลองอย่างฝรั่งจิ้มเกลือ ตะโก้เผือก สังขยาใบเตยมะพร้าวคั่ว และอีกสารพัด
อร่อยหรือไม่-คงแล้วแต่ความชอบของแต่ละคน แต่ช็อกโกแลตกานเวลาต้องมีดีอะไรสักอย่าง เพราะล่าสุดเจ้าบงบงและช็อกโกแลตบาร์ ‘คลองลอย’ ก็ถูกเสิร์ฟในชั้นเฟิร์สคลาสและชั้นธุรกิจของสายการบินไทย หนำซ้ำยังชนะรางวัลจากสองเวทีช็อกโกแลตระดับโลกอย่าง Academy of Chocolate และ International Chocolate Awards
ฤดูฝนปีนี้ฉันได้ฤกษ์หลบหนีความวุ่นวายของเมืองกรุงขึ้นเชียงใหม่ จึงไม่พลาดที่จะแวะไปคุยกับธนา ผู้ปลูกคาเคาต้นแรกของกานเวลาจนเติบโต ขึ้น (ไปเสิร์ฟบน) เครื่องการบินไทย และกลายเป็นแบรนด์ระดับสากล
ช็อกโกแลตของอดีตนักการเงิน
ท้องฟ้ายามเช้าปลอดโปร่งไร้เงาฝน ฉันนั่งอยู่ในร้านโทนน้ำตาลอ่อนสบายตา ไอจางๆ ของชาโกโก้ลอยขึ้นจากแก้วตรงหน้า คั่นกลางระหว่างฉันกับธนา ผู้กำลังถ่ายทอดเรื่องเล่าของเขาและกานเวลาให้ฟัง
“ผมไม่ได้มีความชอบเรื่องช็อกโกแลตมาก่อน ก่อนหน้านี้ก็เหมือนคนทั่วไปที่กินขนมช็อกโกแลตและไม่รู้ว่าช็อกโกแลตมาจากไหน จนวันหนึ่งพอกลับมาอยู่เชียงใหม่ มีครอบครัว มีลูก ผมก็เริ่มอิ่มตัวกับชีวิตและงานเดิมที่เกี่ยวกับการเงิน การลงทุนต่างๆ” ธนาเล่าพล็อตเรื่องสุดคลาสสิก
“ผมอยากหาจุดสมดุลให้ชีวิต เลยเริ่มลองทำสวนเมื่อสี่ปีที่แล้ว ก็เริ่มศึกษาว่าพืชตัวไหนน่าปลูก ตอนแรกสนใจลำไย มะม่วง แต่เราเล็งเห็นปัญหาของพืชผลเกษตรทั่วไปที่เก็บมาแล้วต้องขายเลย ถ้าไม่ขายมันจะเน่าเสีย ผมเริ่มรู้สึกว่าตรงนั้นคือจุดตายของมัน เลยเริ่มศึกษาพืชอื่นๆ แล้วก็ไปเจอโกโก้”
เพราะเป็นนักการเงินมาก่อน ธนาจึงติดนิสัยชอบวางแผนและนึกถึง Worst-case Scenario (สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด) ไว้ก่อน สิ่งหนึ่งที่เขารู้สึกว่าโกโก้โดดเด่นจากพืชตัวอื่นๆ คือ ถ้าขายผลสดไม่ได้ มันก็สามารถแปรรูปเป็นเมล็ดโกโก้แห้ง มีอายุอย่างน้อยสองปี และสามารถเก็บไปทำช็อกโกแลตได้
ในช่วงที่คราฟต์ช็อกโกแลตไทยยังไม่เป็นที่นิยม ธนาคือหนึ่งในคนที่ศึกษาและลงมือทำอย่างจริงจัง เขาอ่านเปเปอร์เกี่ยวกับคราฟต์ช็อกโกแลตในไทยและต่างประเทศ เดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ไปดูไร่โกโก้ของเกษตรกรผู้เคยทำมาก่อน แล้วเริ่มหว่านเมล็ดโกโก้ของตัวเองในสวนเล็กๆ ที่บ้าน
เวลาผันผ่าน ต้นโกโก้ของธนาก็เติบโตพร้อมกับกระแสคราฟต์ช็อกโกแลตในไทยที่ค่อยๆ บูม เมื่อเห็นว่ามีผู้เล่นหน้าใหม่กระโดดเข้ามาในวงการมากขึ้น ชายหนุ่มก็มองเห็นความหวัง ความคิดว่าสิ่งที่ทำอาจมีประโยชน์กับผู้สนใจในอนาคตยิ่งทำให้เขารู้สึกสนุก
รู้ตัวอีกที ความพยายามของธนาก็ออกดอกออกผล หลังจากลองผิดลองถูกกับการฟูมฟักเมล็ดโกโก้มาสองปีจนได้รสชาติที่ดี (“วัดจากคนใกล้ตัวที่เคยทานแล้วบ้วนทิ้ง คราวนี้เขาเริ่มกลืนได้” ธนาบอกกลั้วหัวเราะ) วาเลนไทน์ปี 2563 ชายหนุ่มก็จับมือกับนิรมลผู้เป็นน้องสาวเปิดร้านคราฟต์ช็อกโกแลตออนไลน์ขึ้นมา
ใช่ แบรนด์ ‘กานเวลา’ เริ่มต้นจากตอนนั้น
ช็อกโกแลตของครอบครัว
ตามนิยามของคราฟต์ช็อกโกแลตที่หลายคนรู้ นั่นคือช็อกโกแลตสเกลโฮมเมดที่ปรุงแต่งน้อยที่สุดและให้ความสำคัญกับวัตถุดิบมากที่สุด คราฟต์ช็อกโกแลตของกานเวลาก็เดินตามสูตรนั้น
“พอปรุงแต่งน้อยที่สุดเราจึงต้องใส่ใจตั้งแต่ต้นทาง เราพัฒนาการปลูก หมัก การดึงรสชาติวัตถุดิบให้ชัด เราไม่มีการเติมวานิลลา สารปรับกรด ลดเปรี้ยว สารให้ความเหลว ทุกอย่างคือวัตถุดิบจากธรรมชาติเพราะเราอยากขายความเป็นธรรมชาติที่อร่อย ให้คนที่เขามาได้ทานความเป็นช็อกโกแลตจริงๆ” ธนาบอกเหตุผลที่ทำให้เขาและน้องสาวต้องเข้าไปกำกับดูแลในทุกกระบวนการทำ
เมื่อถามถึงชื่อแบรนด์กานเวลา ธนาอธิบายเหตุผล 3 ข้อให้ฉันฟังด้วยรอยยิ้ม
“ข้อแรกคือผมให้ความสำคัญกับเวลา ก่อนจะมาทำสวนผมเคยทำงานสายเงินๆ ทองๆ เป็นคนนิสัยไม่ดีคนหนึ่งที่คิดว่าเวลาต้องเป็นเงินเป็นทอง หลายครั้งเราไม่อยากไปทำสิ่งต่างๆ เพราะมันไม่ทำให้เกิดรายได้ การคิดแบบนี้ทำให้เราหลงลืมตัวเองไป เราจึงอยากใช้คำว่าเวลาเพื่อเตือนตัวเองว่าเราควรให้ความสำคัญกับทุกๆ กระบวนการของชีวิต รวมถึงการทำช็อกโกแลตด้วย
“เหตุผลข้อที่สอง เรารู้สึกว่าลูกค้าที่มาซื้อของเราเขาสละเวลามาลองทานสินค้าของเรา เราต้องให้เขาได้ของที่มีคุณภาพดี คุ้มค่าที่สุด เหมือนเป็นการเตือนทั้งตัวเองและพนักงานว่าต้องตั้งใจ ประณีต มุ่งมั่นที่จะทำแบรนด์นี้ด้วยกัน
“เหตุผลข้อสุดท้ายอาจเป็นเรื่องส่วนตัวหน่อย จะเห็นได้ว่าคำว่ากานในชื่อร้านใช้ น.หนู เพราะเราเอามาจากพยางค์หนึ่งในชื่อของภรรยากับลูกชาย มันเลยกลายมาเป็น ‘กานเวลา’ ที่เราใช้เตือนตัวเองว่าควรมีเวลาให้ครอบครัว”
ช็อกโกแลตของคนเชียงใหม่
เมื่อประสบความสำเร็จกับการขายทางออนไลน์ (ไฮไลต์ไว้ตัวโตๆ ว่าภายในเวลา 5 เดือนเท่านั้น!) ธนากับนิรมลก็ขยับขยายมาเปิดหน้าร้านที่ตั้งอยู่ริมถนนหน้ากองบิน 41 ท่ามกลางภูเขาสีเขียวของเชียงใหม่ที่อยู่รายล้อม
เพราะความตั้งใจแรกของกานเวลาคือพวกเขาอยากเป็นคราฟต์ช็อกโกแลตไทยที่มีคุณภาพไม่แพ้ใครในโลก ร้านจึงถูกออกแบบให้มีลักษณะคล้ายโชว์รูมเพื่อโชว์เคสสินค้าใหม่ๆ ให้ลูกค้าได้เลือกสรร อีกปัจจัยหนึ่งที่กานเวลาให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือราคาที่คนส่วนใหญ่เข้าถึง
“ตอนเปิดร้าน เราเคยคิดว่าถ้าเราตั้งราคาสูงกว่านี้อีกสักยี่สิบเปอร์เซ็นต์ก็น่าจะขายได้ แต่นั่นอาจทำให้คนหลายๆ กลุ่มเข้าไม่ถึงสินค้าของเรา อย่างที่บอกว่าจุดเริ่มต้นของเราคืออยากให้คนไทยได้ทานช็อกโกแลตที่ดี ให้เขาเปิดใจว่าช็อกโกแลตไทยไม่ได้แพ้ช็อกโกแลตสวิสหรือเบลเยียมที่เขาลอง ซึ่งการทำแบบนี้มันอาจจะเปิดทางให้ช็อกโกแลตไทยรายอื่นๆ ในอนาคตเขาสามารถขายได้ด้วย”
ในช่วงแรกเริ่ม ธนาเคยมองว่าช็อกโกแลตของเขาเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่เน้นขายคนเชียงใหม่ ทุกคนสามารถซื้อกลับไปเก็บไว้ในตู้เย็นที่บ้าน หมดแล้วกลับมาซื้อใหม่ แต่พอเปิดร้านมาสักพัก สินค้าของกานเวลาก็เริ่มกลายเป็นของฝากนักท่องเที่ยว ด้วยกระแสบอกต่อปากต่อปากจากคนในท้องที่และชาวออนไลน์
“ที่ขายดีที่สุดน่าจะเป็นบงบง” ธนาพูดถึงช็อกโกแลตก้อนกลมสีสันสดใสที่พนักงานเพิ่งยกมาเสิร์ฟ แล้วเชิญชวนให้ฉันละเลียดมันไปพร้อมกับฟังเรื่องเล่าของเขา
‘บงบง’ คือช็อกโกแลตแบบแรกของร้านกานเวลาที่นิรมลสร้างสรรค์ขึ้นมาจากความชอบกินบวกกับชอบศิลปะ ฉันหยิบก้อนสีเขียวที่มีลายจุดแดงแต่งแต้มเข้าปาก กัดเข้าไปคำหนึ่งก็รู้ทันทีว่าได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร
“บงบงรสฝรั่งพริกเกลือ ตัวนี้ได้เหรียญเงินจากเวที Academy of Chocolate ตอนแรกเราก็เคยถามน้องสาวอยู่ว่ามันจะกินได้หรือเปล่า แต่พอกินแล้วผมชอบนะ มันคือไวต์ช็อกโกแลตที่ใส่รสฝรั่งเข้าไป มีความเผ็ดและเค็มนิดๆ จากคาราเมลและพริกป่น ตัวนี้น้องสาวได้แรงบันดาลใจมาจากผลไม้ที่แม่ชอบปอกให้กินตอนเด็ก”
ในกล่องเดียวกันยังมีบงบงสีฟ้าแต้มลายสีรุ้งที่เป็นรสตะโก้เผือก ซึ่งนิรมลอยากมิกซ์วัฒนธรรมการกินขนมไทยเข้ากับช็อกโกแลตที่เป็นขนมฝรั่ง ข้างกันยังมีก้อนสีม่วงเขียวรสสังขยาใบเตย มะพร้าวคั่วรสชาติหวานหอม และท้ายสุดคือบงบงรสเฮเซลนัทที่ทำให้กินแล้วรู้สึกว่าคำเดียวไม่พอ อยากกินต่อเรื่อยๆ
นอกจากตัวขายดีตัวนี้ ธนากับนิรมลยังสนุกสนานกับการสอดแทรกความเป็นช็อกโกแลตลงไปในเมนูอันหลากหลาย ทั้งช็อกโกแลตบาร์ เค้ก เครื่องดื่ม ชา ถั่วเคลือบ กับสารพัดสินค้าที่ลูกค้าสามารถนั่งกินที่ร้านหรือซื้อกลับได้ตามใจ หรือถ้าใครอยากเลี่ยงความเป็นช็อกโกแลตก็มีเมนูอื่นๆ อาทิ ชีสเค้ก ไว้ให้ได้เอนจอยเช่นกัน
ช็อกโกแลตของเกษตรกรไทย
ระหว่างที่ฉันละเลียดรสชาติหวานขมจากขนมและเครื่องดื่ม ธนาก็เล่าถึงที่มาของมันให้ฉันฟังว่า ช็อกโกแลตในปากฉันมาจากทั้งภาคเหนือ กลาง และใต้ ในสวนที่ธนาปลูกเองและเกษตรกรที่ทำงานร่วมกัน
“เมล็ดโกโก้ที่ร้านใช้คือสายพันธุ์ชุมพร 1 หมดเลย มาจากศูนย์วิจัยพืชสวนที่ชุมพรเป็นคนเลือกสายพันธุ์นี้มาให้เกษตรกรไทยปลูกเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว” ชายหนุ่มบอก แล้วเล่าต่อว่าตอนนี้มีเกษตรกรที่ปลูกโกโก้กับกานเวลาประมาณ 150 ครอบครัวจากหลากหลายจังหวัด ซึ่งธนาลงไปช่วยตั้งแต่การจัดเตรียมเมล็ดให้
“ความจริงใจคือสิ่งสำคัญในการทำงานกับเกษตรกร เราให้ข้อเท็จจริงกับเขาเสมอว่าปลูกโกโก้ต้องทำยังไงบ้าง แล้วให้เขาตัดสินใจเองว่าอยากปลูกไหม เพราะส่วนใหญ่เกษตรกรจะปลูกพืชอื่นมาก่อน แต่เขาเจอปัญหาทางการเกษตรทั่วไปคือมีรายได้แค่ปีละไม่กี่ครั้ง ในขณะที่โกโก้ออกผลทั้งปี แต่อาจไม่ได้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ เราก็แนะนำให้เขาปลูกโกโก้ในสวนที่เขาเคยทำนั่นแหละ
“เรารับซื้อผลผลิตในราคาสูงกว่าตลาดจากเกษตรกรทุกคน เราช่วยเขาเพราะเราถือว่าเราอยู่ได้เพราะเขา ถ้าเราหวังกำไรมากสุดนั่นคือเราต้องกดราคาให้ต่ำสุด แต่มันจะย้อนแย้งกับการที่เราอยากทำสินค้าคุณภาพ ถ้าเราอยากทำสินค้าคุณภาพแต่คนที่ปลูกโกโก้ให้เราเขาไม่มีความสุข มันก็ไม่มีคุณภาพแน่นอน ผมเชื่ออย่างนั้นนะ” ชายหนุ่มยิ้ม
ช็อกโกแลตของการบินไทย
คงเหมือนกับคนทำธุรกิจหลายคน ธนาฝันอยากให้สินค้าของตัวเองเดินทางออกไปเจอผู้คนในวงกว้างที่สุด “สมัยก่อนตอนที่ยังไม่มีโควิด เราเดินทางไปต่างประเทศ เห็นว่าบนเครื่องบินเขาจะแจกช็อกโกแลต ก็คิดว่าถ้าวันหนึ่งช็อกโกแลตของเราได้ขึ้นมาอยู่บนสายการบินแห่งชาติ เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างชาติก็น่าจะดี”
แต่ใครจะคิดว่าความฝันของธนาจะกลายเป็นจริง วันหนึ่งหลังจากที่กานเวลาเปิดตัวมาได้สักพัก คนรู้จักที่ได้ชิมช็อกโกแลตของเขาก็แนะนำให้ธนาไปคุยกับสายการบินระดับชาติดู
“ผมก็เข้าไปแนะนำตัว ถือสินค้าไปให้ผู้บริหารเขาลอง ปรากฏว่าเขาชอบมากและรู้สึกว่ามันดี เพราะหนึ่งมันเป็นสินค้าไทย สองคือได้ช่วยเหลือเกษตรกรไทยทางอ้อม เขาเลยบอกว่าลองเอามาเสิร์ฟบนเครื่องไหม เราก็ส่งสินค้าให้เขาเลือก”
รู้ตัวอีกที เจ้าบงบงก้อนกลมที่เราเคยได้กินก่อนหน้านี้ก็ขึ้นไปเสิร์ฟอยู่บนชั้นเฟิร์สคลาสของเครื่องบินการบินไทยที่จะบินไปสู่ยุโรป ออสเตรเลีย เกาหลี และญี่ปุ่น ในขณะที่ผู้โดยสารชั้นธุรกิจจะได้ลิ้มลองช็อกโกแลตบาร์แบบวีแกน ดาร์ก 72 เปอร์เซ็นต์ คลองลอยออริจิ้น ซึ่งเรียกตามชื่อของแหล่งปลูกต้นโกโก้ ณ หมู่บ้านคลองลอย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
“จริงๆ ผมเป็นคนเสนอว่าอยากให้ใช้ตัวคลองลอย เพราะชาวบ้านเขาจะภูมิใจมากนะที่ช็อกโกแลตของเขาซึ่งเป็นผลผลิตในชุมชนของเขาได้ขึ้นไปบนท้องฟ้า มันเหมือนได้ทำความฝันของเกษตรกรที่หมู่บ้านคลองลอยให้เป็นจริง”
ช็อกโกแลตของโลก
ความปังของกานเวลายังไม่หยุดแค่นั้น เพราะคราฟต์ช็อกโกแลตของธนาและน้องสาวยังมีโอกาสได้ไปโลดแล่นบนเวทีรางวัลที่มอบให้คราฟต์ช็อกโกแลตทั่วโลกอย่าง Academy of Chocolate และ International Chocolate Awards
ช็อกโกแลตบาร์ ‘คลองลอย’ และบงบงฝรั่งพริกเกลือคว้ารางวัล International Chocolate Awards ได้ตั้งแต่ธนายังไม่ได้เปิดหน้าร้านด้วยซ้ำ ส่วนบนเวที Academy of Chocolate ที่พวกเขาส่งไปแข่งในปี 2021 เป็นปีแรก ก็ได้รางวัลมาถึง 9 จากที่ส่งสินค้าไปแข่ง 12 ตัว แถมยังได้รางวัล International Rising Star หรือรางวัลแบรนด์คราฟต์ช็อกโกแลตดาวรุ่งระดับอินเตอร์ ซึ่งกานเวลาเป็นแบรนด์ไทยแบรนด์แรกที่ได้รับรางวัลนี้
ถึงอย่างนั้น ธนาก็ออกตัวว่ารางวัลที่ได้นั้นคือผลพลอยได้ที่พวกเขาภูมิใจ แต่ไม่ใช่สาเหตุที่ส่งไปแข่งขันตั้งแต่แรก
“แน่นอนว่ารางวัลช่วยเรื่องการตลาดและการรับรองมาตรฐาน มันมีประโยชน์ตรงนั้น แต่สาเหตุที่ส่งจริงๆ คือฟีดแบ็ก เวทีพวกนี้เขาจะให้ฟีดแบ็กกลับมาว่าเราได้รางวัลเพราะกรรมการชอบตรงไหน มีตรงไหนที่ยังพัฒนา ปรับปรุงได้ เขาจะมีเกณฑ์ของเขา หรือตัวไหนที่ไม่ได้รางวัลเพราะอะไร เราหวังฟีดแบ็กตรงนี้เพราะอยากพัฒนาต่อ”
“ถ้ารางวัลไม่ใช่จุดวัดความสำเร็จ แล้วจุดวัดความสำเร็จของกานเวลาคืออะไร” เราสงสัย
“ลูกค้า” ธนาตอบตรง “ถ้าลูกค้าทานช็อกโกแลตเราแล้วเขาอร่อย เขาบอกต่อ กลับมาทานซ้ำ ผมว่ามันคือความสำเร็จของคนทำอาหารเครื่องดื่มนะ แปลว่าเราทำสินค้าที่ดีจนสามารถสร้าง Perception ที่ดีได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ที่สุดแล้วครับ”
และถึงจะได้รางวัลระดับสากลมาแล้ว ธนาก็ยังยืนยันกับฉันว่ากานเวลายังไม่หยุดที่จะ ‘คราฟต์’ ช็อกโกแลตของตัวเองต่อไป เช่นเดียวกับการเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาวงการคราฟต์ช็อกโกแลตให้ดียิ่งขึ้น
“กานเวลามีความหมายกับผมในแง่ที่ว่าผมสามารถทำอะไรสนุกๆ และมันสามารถเกิดประโยชน์กับคนอื่น เมื่อก่อนผมทำงานการเงิน เป็นนักลงทุน เล่นหุ้น ชีวิตตื่นมาวันหนึ่งก็เหมือนไม่ค่อยมีคุณค่า แต่ทุกวันนี้ ผมมีความสุขมากเวลาที่เราไปหาเกษตรกรแล้วเขาต้อนรับด้วยรอยยิ้ม ทำกับข้าวให้เรากิน มันเป็นชีวิตที่ผมและทีมงานจะไม่ได้สัมผัสเลย ถ้าเราไม่ได้ทำคราฟต์ช็อกโกแลต” ชายหนุ่มยิ้ม
ติดตามแบรนด์กานเวลาได้ที่ กานเวลา KanVela Craft Chocolate