ญี่ปุ่นเปลี่ยนโรงอาบน้ำ เป็นบาร์ Koganeyu เซนโต - Urban Creature

หลายคนที่รู้จัก ‘อนเซ็น’ อาจจะยังไม่รู้จัก ‘เซนโต’ หรือโรงอาบน้ำสาธารณะ

อธิบายง่ายๆ อนเซ็นใช้น้ำแร่ เซนโตใช้น้ำร้อน เป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ใช้การแช่ช่วยคลายความเหนื่อยล้าและเสริมสุขภาพให้คนญี่ปุ่นมานาน

สมัยก่อนในโตเกียวมีเซนโตเยอะพอๆ กับร้านสะดวกซื้อ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คนสะดวกอาบน้ำที่บ้านมากกว่า จำนวนเซนโตจึงค่อยๆ ลดลงอย่างน่าใจหาย จากปี 1975 ที่เคยมี 2,500 แห่ง ตอนนี้เหลือเพียง 473 แห่ง

โชคดีที่ Koganeyu เป็นหนึ่งในนั้น

ฃเซนโตแห่งย่านคินชิโจนี้เป็นเซนโตเก่าแก่ที่อยู่คู่ชุมชนมานาน ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และเพิ่งรีโนเวตเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2020 Koganeyu กลับมาในดีไซน์สุดเท่ที่ได้ดีไซเนอร์ชื่อดังหลายคนมาช่วยออกแบบ พร้อมคราฟต์เบียร์บาร์และบูทดีเจ แจ่มไม่แจ่มก็ได้ลง Monocle และนิตยสารอีกเพียบ รวมไปถึงได้รางวัล Suanachelin (รางวัลสำหรับซาวน่ากรุบกริบ) ประจำปี 2020 ด้วย

กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ไม่ใช่การเดินทางที่สะดวกรวดเร็วเหมือนชินคันเซ็น วัฒนธรรมชวนแช่อันเวรี่เจแปนนีสนี้จะอยู่รอดได้อย่างไร วันนี้เราได้สองสามีภรรยา Shinbo เจ้าของ Koganeyu มาเล่าให้ฟังถึงเสน่ห์ของการอาบน้ำนอกบ้านและการปรับตัวเข้ากับยุคสมัยได้อย่างน่าทึ่ง


Glocal Sento ภารกิจเผยแพร่วัฒนธรรมการแช่

Koganeyu อยู่ห่างจากสถานีคินชิโจเพียง 10 นาที ในย่านนั้นค่อนข้างคึกคัก มีทั้งห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ และโรงยิม คนที่แวะมาที่นี่จึงมีทั้งคนที่กำลังกลับบ้าน หรือกลับจากการออกกำลังกาย และแน่นอนคนแก่ในชุมชนที่เป็นลูกค้ากันมายาวนาน

“เซนโตในสมัยเอโดะเป็นที่อาบน้ำ เพราะไม่มีห้องอาบน้ำที่บ้าน แต่ตอนนี้บ้านทุกคนมีที่อาบน้ำแล้ว แต่ที่คนยังมากันเพราะอยากสังสรรค์กับผู้คน อยากมาพักผ่อน กลายเป็นสถานที่สำหรับความบันเทิงและการผ่อนคลายครับ” คุณชินโบะชายเริ่มเล่า

สองสามีภรรยาชินโบะเพิ่งรับช่วงต่อกิจการมาได้ 2 ปี เพราะเจ้าของเดิมซึ่งอายุมากแล้วไปปรึกษาว่าอาจจะเลิกกิจการเพราะลูกชายไม่สืบทอดต่อ พวกเขาซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของ Daikoku-yu เซนโตเก่าแก่อีกแห่งในย่านนี้จึงรู้สึกว่าต้องช่วยปกป้องวัฒนธรรมนี้เอาไว้

“ผมเข้าใจลูกชายเขานะ ค่าใช้บริการเซนโตทั่วโตเกียวถูกกำหนดไว้ที่สี่ร้อยเจ็ดสิบเยน ห้ามขึ้นและห้ามลดราคา ซึ่งราคานี้มันถูกมากและลำบากมากที่จะบริหารให้ได้กำไร แต่พวกผมก็มาคิดดูแล้วว่ายังไงก็อยากให้มีเซนโตอีกแห่งอยู่รอดต่อไป เลยตัดสินใจทำต่อโดยปรับให้ Koganeyu แตกต่างจาก Daikoku-yu ไปเลย เป็นเซนโตรูปแบบใหม่ที่ปรับตัวเข้ากับโลกโดยยังคงรักษาคุณค่าเดิมที่คนในท้องถิ่นรักและผูกพัน”

นั่นคือที่มาของคอนเซปต์ Glocal Sento คือยกระดับเซนโตจาก Local สู่ Global เพราะย่านนี้อยู่ใกล้ Tokyo Skytree มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากมาย เซนโตน่าจะเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่คนต่างชาติสนใจและเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการสังสรรค์ร่วมกันกับคนในชุมชน

“ผมอยากทำเซนโตที่ทุกคนชื่นชอบภายใต้ข้อจำกัดเรื่องราคาสี่ร้อยเจ็ดสิบเยนให้ได้ อาจจะยากแต่ก็อยากใช้เซนโตเป็นศูนย์กลางความสนุกหลายๆ รูปแบบ เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถสนุกด้วยกัน มันเลยออกมาเป็นเซนโตคล้ายเดิม เพิ่มเติมคือคราฟต์เบียร์บาร์และบูทดีเจ ส่วนชั้นสองจะทำเป็นโฮสเทลด้วย เตรียมเปิดให้บริการเดือนเมษายนนี้ และจะมีบริการนวดขัดผิวด้วยครับ”

ส่วนชาวต่างชาติที่ไม่ชินการแช่น้ำร้อน ชินโบะซังบอกว่าไม่ต้องกังวล เพราะ Koganeyu มีน้ำร้อนให้เลือกถึง 3 ระดับอุณหภูมิ ตั้งแต่อุ่น ร้อน ร้อนมาก น้ำเย็นเฉยๆ ก็มี และมีบ่อพิเศษที่เปลี่ยนกิมมิกทุกวัน เช่น บ่อน้ำสมุนไพร บ่อส้มยูซึ บ่อบลูเบอร์รี หรือบ่อแคร์รอต

นอกจากนี้ ซาวน่าก็เป็นวัฒนธรรมสำคัญมากสำหรับกับชาวยุ่น ซึ่งถึงแม้เพิ่งจะมาบูมจัดๆ เมื่อไม่กี่ปีนี้ แต่จริงๆ ก็หยั่งรากฐานในญี่ปุ่นมานาน

“ก่อนรีโนเวตที่นี่ไม่มีซาวน่าครับ เพิ่งมาเพิ่มตอนหลัง จริงๆ แล้ว เซนโตทั่วไปมีทั้งแบบที่มีและไม่มีซาวน่า สมัยก่อนเป็นวัฒนธรรมของผู้ชายมากกว่าที่ชอบมาเข้าซาวน่าให้เหงื่อออกให้ร่างกายเบาสบายแล้วไปทำงาน แต่ตอนนี้มันเริ่มฮิตในหมู่ผู้หญิงด้วย เพราะซาวน่าช่วยเรื่องความงาม กระตุ้นเรื่องการไหลเวียนของเลือด รีเซตความเครียดทำให้สมองโล่ง ปกติเข้าซาวน่าเราจะราดน้ำเย็นสลับ เราทำอ่างน้ำเย็นลึกเก้าสิบเซนติเมตรให้แช่ด้วย เพราะพอได้แช่น้ำเยอะๆ สบายๆ มันยิ่งทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น”

ผู้เชี่ยวชาญด้านการอาบอบแช่ว่าไว้อย่างนั้น


แช่ ชน ชิล ไปกับ DJ คราฟต์เบียร์ และแผ่นเสียง 

หน้าที่หลักของคราฟต์เบียร์และบูทดีเจคือรวบรวมผู้คนให้มาสนุกร่วมกัน ถ้าไม่ติดเรื่อง Social Distancing ที่นี่มีแผนจะจัดอีเวนต์ที่ชวนดีเจมาเปิดแผ่นตอนกลางคืน สร้างความครื้นเครงเคล้าออริจินัลเบียร์ที่ชินโบะซังตั้งใจสร้างสรรค์ แต่คนที่ไม่จิบแอลฯ ไม่ต้องน้อยใจ เขามีนมในขวดแก้วแบบที่เราคุ้นตากันในการ์ตูน รวมไปถึงเครื่องดื่มอื่นๆ วางขายด้วย

“Koganeyu Beer เป็นคราฟต์เบียร์สไตล์ Pale Ale ที่ผมไปขอให้โรงบ่มเบียร์ทำให้เป็นพิเศษ เพราะผมคิดว่าจะมีเบียร์ทั้งที ควรเป็นเบียร์ที่ผมคิดว่าอร่อยและเข้ากับเซนโต เหมาะกับการจิบหลังขึ้นจากน้ำ”

และถึงตอนนี้จะจัดอีเวนต์ไม่ได้ แต่แวะมาฟังเพลงเพราะๆ จากแผ่นเสียงได้เสมอ เพราะเขาเปิดให้ฟังทั้งวัน Koganeyu ไม่ได้เอาแผ่นเสียงมาตั้งเท่ๆ ตามสมัยนิยม แต่เป็นโรงอาบน้ำที่มีความผูกพันกับแผ่นเสียงอย่างลึกซึ้ง

ตั้งแต่สมัยก่อนรีโนเวต ที่นี่มักใช้เวลานอกเวลาทำการจัดตลาดนัดแผ่นเสียงให้คนในชุมชนเอาแผ่นเสียงมาขายแบบกันเอง ถึงจะแปลงโฉมใหม่ เปิดทำการเช้าขึ้น จนอาจจะจัดตลาดนัดไม่ได้แล้ว แต่แผ่นเสียงที่เคยเป็นหัวใจของที่นี่ก็ยังคงเป็นหนึ่งในพระเอกคนสำคัญ

“แผ่นเสียงที่นี่ได้มาจากคนในชุมชนนำคอลเลกชันส่วนตัวมาแบ่งให้ จริงๆ แล้วทั้งเครื่องเล่นและเพลงเลยครับ เราเลยมีเพลงหลากหลายสไตล์

“แผ่นเสียงเป็นวัฒนธรรมที่มีมานาน คนสูงอายุก็ชอบ ตอนนี้เด็กรุ่นใหม่ก็มองว่าแผ่นเสียงเท่ มันเลยกลายเป็นสื่อกลางที่คนสองรุ่นพูดคุยกันได้ เกิดบทสนทนา จะบอกว่าสิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของที่นี่เลยก็ว่าได้ครับ สถานที่ที่สามารถเชื่อมโยงคนต่างวัย” 

Design สุดเท่ที่ได้ตัวท็อปมาร่วมออกแบบ

Koganeyu เปิดบริการมา 89 ปีแล้ว ตัวตึกซึ่งอายุ 35 ปียังไหวอยู่ แต่ที่ไม่ไหวคือระบบท่อที่เริ่มมีน้ำรั่ว หรือระบบทำความร้อนต่างๆ ที่หม้อต้มที่ยังใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงเริ่มมีปัญหา เรียกได้ว่าถึงเวลาต้องปรับปรุงให้ที่นี่อยู่รอดต่อไปในสภาพดี แต่ถ้าคิดเองทั้งหมดก็จะไม่สามารถหลุดจากกรอบเดิมๆ ชินโบะซังเลยขอยืมพลังจากเหล่าครีเอเตอร์/ดีไซเนอร์ ซึ่งได้คนดังมาร่วมงานมากมาย

“ผมมีโนฮาวเรื่องการทำเซนโตอยู่แล้ว เช่น เรื่องอุณหภูมิน้ำที่เหมาะสม ความสบายในการแช่ต่างๆ การปรับอุณหภูมิซาวน่า แต่เรื่องดีไซน์ให้พวกเขาจัดการเลย ผมแค่ให้ข้อมูลเรื่องการใช้งานจริงของลูกค้า เพราะสวยแล้วต้องใช้งานสะดวกด้วย ที่นี่เลยเกิดจากการนำความรู้ของสองฝั่งมาผสมกัน”

เริ่มจาก Yoriko Hoshi ซึ่งคนไทยรู้จักกันดีในฐานะผู้วาด Kyou no Nekomura-san เธอได้รับมอบหมายให้วาดภูเขาไฟฟูจิบนผนัง ซึ่งเป็นแนวทางที่สืบทอดกันมานานของเซนโตที่จะวาดภูเขาไฟฟูจิหรือวิวธรรมชาติเพื่อทำให้รู้สึกว่าอยู่ในที่กว้างท่ามกลางธรรมชาติ ส่งเสริมความผ่อนคลายขึ้นไปอีกระดับ ภูเขาไฟฟูจิในแบบของโยะริโกะน่ารักมาก อาจจะไม่โอ่อ่าตามขนบแต่คาวาอี้สุดๆ รับรองแฟนคลับมีกรี๊ด

ส่วนผู้รับผิดชอบออกแบบโลโก้ ป้ายในอาคาร และสินค้าออริจินัลต่างๆ คือ Hiroko Takahashi ศิลปินผู้ปฏิวัติลวดลายกิโมโนแบบดั้งเดิมให้โมเดิร์นซึ่งเธอได้ร่วมงานกับแบรนด์ดังมากมาย เช่น FENDI, APPLE, เครื่องสำอาง Clinique

และงานอินทีเรียนั้นได้ Jo Nagasaka แห่ง Schemata Architects ผู้ออกแบบร้านกาแฟ Blue Bottle Coffee และ hay ในญี่ปุ่นมาดูแล ซึ่งเขาทำให้เซนโตอายุเกือบร้อยปีเท่ขึ้นแถมยังใช้งานได้ตามความตั้งใจของชินโบะซังที่อยากให้สวยและดี และเป็นที่รวมตัวของผู้คน

เช่นเคาน์เตอร์เกาะกลางร้านที่ตั้งใจให้คนมารวมตัวสังสรรค์รอบๆ จึงมีทั้งคราฟต์เบียร์บาร์และบูทดีเจ นอกจากนี้ ยังตั้งใจให้กำแพงสูง 2.5 เมตร แต่เพดานโปร่งทำให้บรรยากาศสบายๆ อบอุ่น แม้จะเป็นคอนกรีตปูนเปลือยที่ดูดิบๆ

ฟังเขาเล่ามามีแต่ตัวท็อปทั้งนั้น แอบสงสัยเล็กๆ ว่าจ่ายค่าตัวไหวเหรอ คุณชินโบะผู้เป็นสามีเหมือนอ่านใจเราออก เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า “พูดตามตรง ปกติดีไซเนอร์ดังๆ อาจจะไม่มารับงานแบบนี้ ค่าตัวแพงก็เกินกว่าที่เซนโตซึ่งเก็บเงินครั้งละสี่ร้อยเจ็ดสิบเยนจะจ้างไหว แต่พวกเขารักเซนโต อยากช่วยรักษาวัฒนธรรมนี้เอาไว้ เลยมาช่วยกันทำแบบไม่ซีเรียสเรื่องเงินครับ” 

Crowdfunding การซัปพอร์ตด้วยเงินที่ส่งผลกระทบถึงหัวใจ

งานดีไซน์จะได้รับความร่วมมือจากเหล่าคนดัง แต่จริงๆ แล้วถ้าจะรีโนเวตแบบฟูลสเกล น่าจะต้องใช้เงินหลัก 100 ล้านเยน กิจการเซนโตที่เก็บเงินเพียง สี่ร้อยเจ็ดสิบเยนจะไปจ่ายไหวได้ยังไง หรือกว่าจะคุ้มทุนน่าจะใช้เวลาหลายปี แม้จะเจอหนทางรีโนเวตที่ประหยัดงบลงมาได้ แต่มาเจอโควิด-19 บุกช่วงเพิ่งเริ่มรีโนเวตพอดีอีก ค่าก่อสร้างบานปลายในขณะที่ Daikoku-yu ก็มีลูกค้าลดน้อยลงเกือบครึ่ง ทางรอดที่สองสามีภรรยาเลือกคือ การทำ Crowdfunding

พวกเขาตั้งเป้าไว้ที่ 3,000,000 เยนซึ่งสามารถทำยอดใน 5 วัน!

ยอดสุดท้ายจบที่ 6 ล้านกว่าๆ โดยที่เหล่าผู้สนับสนุนจะได้รับเสื้อเชิ้ต ของที่ระลึกดีไซน์เท่ผลงานของฮิโรโกะและ บัตรแช่น้ำต่างๆ การระดมทุนในครั้งนี้ทำให้ทายาทกิจการโรงอาบน้ำผู้เคยไม่อินกับวัฒนธรรมนี้สักเท่าไหร่ในวัยเด็กตื้นตันมาก

“ตอนเด็กๆ ผมก็ไม่ได้สนใจกิจการทางบ้านเท่าไหร่ แต่พอได้ไปทำงานที่อื่น ถึงได้รู้ว่าวัฒนธรรมนี้สำคัญ จริงๆ แล้วงานที่บ้านเราน่าสนใจนะ ผมเลยอยากรับช่วงต่อเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นถัดไปได้รู้จักเหมือนกัน แต่ผมไม่คิดว่าการระดมทุนจะได้ผลขนาดนี้ การที่มีคนมาร่วมลงทุนรวมกว่าหกล้านเยนในเวลาไม่นาน มันแสดงให้เห็นว่ายังมีคนรักเซนโตเยอะนะ ผมสัมผัสได้ถึงความรักจากทุกคน ซึ่งกลายเป็นกำลังใจสำคัญให้พวกเราสู้ต่อไป”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.