ขณะที่เรื่องราวของ ‘ผ้าอนามัยย่อยสลายได้’ กำลังถูกพูดถึงในวงกว้าง ฉันจึงเปิดห้องเรียนเล็กๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างฉันกับ ‘รุ้ง-วรางทิพย์ สัจจทิพวรรณ’ ผู้ตั้งโจทย์ว่าอยากให้ ‘ประจำเดือน’ ถูกมองเป็นเรื่องปกติ และที่สำคัญมันต้องดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
Homeroom : แชร์เรื่องเมนส์ จากผู้หญิงสู่ทุกคน
ถ้าตอนนี้ฉันกำลังนั่งอยู่ในห้องเรียน มันคงเป็นวิชาโฮมรูมที่ครูประจำชั้นเปิดพื้นที่ให้แชร์เรื่องราวต่างๆ ได้ ซึ่งเราสองคนคุยหัวข้อ ‘ประจำเดือน’ อย่างไม่เคอะเขิน
ฉันมีประสบการณ์การเป็นประจำเดือนครั้งแรกที่โคตรตลก เพราะตอนนั้นฉันไม่เข้าใจว่าเลือดที่ ‘ทะลัก’ ออกมาจากน้องสาวมันคืออะไร คิดแค่ว่า “กำลังป่วยใกล้ตายแน่ๆ” เพราะร่างกายดูอ่อนเพลียผิดกับวันก่อนที่เล่นกับเพื่อนอย่างเอาเป็นเอาตาย
มันเป็นความตลกที่เวลานั้นดันขำไม่ออก คล้ายคนเพิ่งเจอเหตุการณ์สะเทือนใจแล้วทำตัวไม่ถูกเลยขอเก็บตัวเงียบๆ นั่งน้ำตาซึมแล้วเขียนจดหมายบอกรักพ่อกับแม่เป็นครั้งสุดท้าย เผอิญว่าแม่ดันมาเห็นเลือดที่เปื้อนกางเกงลิงซะก่อน ถึงรู้ว่า
“มึงไม่ได้ป่วยใกล้ตาย มึงแค่เป็นเมนส์!”
ส่วน ‘รุ้ง–วรางทิพย์ สัจจทิพวรรณ’ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Ira ผ้าอนามัยย่อยสลายได้ กลับเจอประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป เพราะรุ้งไม่รู้ว่าการมีเลือดไหลออกจากช่องคลอดตัวเองตลอด 3 เดือนเป็นเรื่องที่แปลกกว่าคนอื่น
“ประสบการณ์เกี่ยวกับประจำเดือนของรุ้งมันแย่มาตั้งแต่เด็กเลย คือเรามีเมนส์ยาวติดกัน 3 เดือน แต่ไม่รู้ว่ามันผิดปกติ จนมีอยู่วันหนึ่งต้องไปเรียนวิชาว่ายน้ำ เราก็เลยบอกครูว่า ‘ไม่ว่าย เพราะประจำเดือนมา’ ซึ่งเขาไม่เชื่อเลยโทรไปฟ้องแม่ว่ารุ้งโกหก พอกลับบ้านแม่เขาเห็นว่าเราซื้อผ้าอนามัยมาตุนเยอะผิดปกติ เขาเลยถามว่าซื้อมาขนาดนั้นเราใช้เหรอ เราก็ตอบไปว่าใช่ เขาเลยเห็นท่าไม่ดีเลยพาเราไปหาหมอ สรุปคือมันผิดปกตินะ”
คาบที่ 1 : ทำความเข้าใจเรื่องประจำเดือน
ใครจะไปคิดว่าหลังจากการเป็นเมนส์ในวันนั้น จะทำให้ฉันต้องเผชิญกับมันต่อไปอย่างน้อยอีก 30 ปี กิจวัตรที่ต้องเผชิญทุกเดือนอย่างการแกะห่อ ฉีกซองพลาสติก แปะผ้าอนามัยลงกลางเป้า พับปีกลงสองข้าง และสวมกางเกงลิงกลายเป็นเรื่องช่ำชอง
แถมเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เพราะการเป็นประจำเดือนคือเยื่อบุโพรงมดลูกของเราจะหลุดออกมาทุกรอบเดือน ซึ่งจะมีเลือดออกมาจากช่องคลอดเฉลี่ย 4 – 7 วัน และต้องใช้ผ้าอนามัยอย่างน้อยวันละ 3 – 4 แผ่น แน่นอนว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างต่ำ 2,000 บาทต่อปี ยิ่งไปกว่านั้น รุ้งอธิบายให้เราฟังอย่างตั้งใจว่าผ้าอนามัย 1 แผ่น เท่ากับการใช้พลาสติก 4 ถุง และใช้ระยะเวลาย่อยสลาย 500 – 800 ปี เพราะมันทำมาจากพลาสติก!
คาบที่ 2 : ร่างไอเดียผลิต ‘ผ้าอนามัย’
“ตอนเราแพ้ผ้าอนามัย ก็ลองเปลี่ยนยี่ห้อไปเรื่อยๆ
แล้วมันก็ต้องทนใช้ไป แต่เรารู้สึกว่าทำไมเราต้องทนด้วยล่ะ
มันเป็นปัญหาที่ผู้หญิงหลายคนเป็น
แล้วทำไมถึงไม่มี ‘อะไร’ เข้ามาช่วยเราเรื่องนี้อีก”
รุ้งพรั่งพรูความรู้สึกที่ต้องอดทนใส่ผ้าอนามัยตามท้องตลาด ซึ่งทำให้เธอมีอาการแพ้ และระคายเคืองจนไม่สบายตัว แถมยังต้อง ทน ทน ทน! อาการคันต่อไปเรื่อยๆ อย่างไร้ความหวัง เพราะไม่มีสินค้าใดเข้ามาตอบโจทย์การใช้งานของเธอได้
“เราเพิ่งรู้ว่าผู้หญิงหลายคนมีอาการแพ้ผ้าอนามัย บางคนแพ้น้ำหอม บางคนแพ้น้ำยาฟอกขาว หรือบางคนระคายเคืองเพราะการเสียดสีกับวัสดุใยสังเคราะห์ รุ้งเคยเห็นผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัยที่เขาเคลมว่าเป็นออร์แกนิก แต่ราคาสูงเกือบเท่าตัว ทำให้รุ้งรู้สึกว่าทำไมฉันต้องจ่ายเพิ่มด้วย อีกอย่างคือรุ้งตกใจที่บางคนไม่รู้ตัวว่าแพ้ผ้าอนามัย เพราะใส่ยี่ห้อไหนก็รู้สึกคันเลยไม่ได้เอะใจ คิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ จนเขามาใช้ของเราถึงรู้ว่าที่ผ่านมาเขาแพ้ผ้าอนามัยมาตลอด”
พอฟังอย่างนั้น ฉันเองก็เพิ่งรู้ว่ามีคนแพ้ผ้าอนามัยด้วย และแอบกลับมาสังเกตตัวเองนิดๆ ว่าเราแพ้ผ้าอนามัยที่ใช้อยู่แต่ไม่รู้ตัวหรือเปล่า ซึ่งรุ้งเอาประสบการณ์แพ้ของตัวเองมาก่อร่างเป็นไอเดียทีละเล็กทีละน้อย และหวังว่าจะมี ‘ผ้าอนามัยออร์แกนิก’ และ ‘ราคาเป็นมิตร’ เพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่าย
“รุ้งไปศึกษาทางออกของผ้าอนามัยว่าพอจะมีวิธีไหนบ้าง ที่คนใส่จะไม่แพ้และดีกับสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งพบว่าผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ค่อนข้างเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคไปเลย เช่น การใช้แบบถ้วย มันต้องเรียนรู้วิธีการพับและการสอด หรือผ้าอนามัยแบบซักได้ที่ต้องอาศัยการดูแลความสะอาดมากเป็นพิเศษ
“แล้วบางคนก็ใช้แผ่นผ้าอนามัยรองอีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันการเลอะกางเกงใน ซึ่งพอเห็นอย่างนั้นรุ้งรู้สึกว่ามันควรจะมีอะไรที่เป็นตรงกลางให้กับผู้บริโภคไหม อีกอย่างคนยังใช้ผ้าอนามัยแบบเดิมเยอะอยู่ รุ้งเลยมองว่าทำไมเราไม่พัฒนาของเดิมที่มีอยู่ให้มันดีขึ้นล่ะ”
ฉันค่อยๆ คิดตามที่รุ้งพูดอย่างละเอียดถี่ถ้วน ว่ายายเราใช้ผ้าอนามัยแบบไหน ทุกวันนี้เราก็ใช้แบบเดียวกัน อาจมีเพียงกลิ่น ขนาด ความหนา-บาง ที่เปลี่ยนไป ซึ่งเธอเห็นว่าไม่ใช่ทุกคนที่ใช้โปรดักต์เติมแต่งเหล่านั้นได้ จึงอยากลุกขึ้นมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัยให้ ‘เป็นกลาง’ ที่สุด เพื่อให้ทุกคนใช้ได้โดยไม่รู้สึกแพ้
“อันที่จริง ตัวผ้าอนามัยรุ้งศึกษาเองทั้งหมด โดยเริ่มจากสิ่งที่มีอยู่ในท้องตลาดนั่นแหละ แล้วรู้สึกหงุดหงิดว่าทำไมข้อมูลที่เราควรรู้มันมีน้อยมาก มันไม่ได้อธิบายว่ามันทำมาจากอะไร ผลิตมาเพื่ออะไร คือถ้าเราอยากรู้ก็ต้องเอาเลข อย. ไปเช็ก แล้วมันเป็นคำศัพท์เฉพาะอีก ซึ่งในฐานะผู้บริโภคเราต้องทำถึงขั้นนั้นเลยเหรอ”
คาบที่ 3 : สูตรที่ใช่ ‘นุ่มสบาย’ และ ‘ดีต่อสิ่งแวดล้อม’
“นุ่ม สบาย ย่อยสลายได้”
คือสูตรผ้าอนามัยที่รุ้งเห็นว่าดีต่อผู้มีประจำเดือน
“ด้านบนเราใช้ใยไม้ไผ่ผสมกับใยข้าวโพด เพราะไม้ไผ่เป็นวัสดุที่ยั่งยืนมากกว่าการใช้คอตตอนที่อาศัยทรัพยากรเยอะมากในการปลูก แต่ไผ่เลี้ยงง่ายใช้เวลาสามถึงสี่เดือนก็โตเต็มวัยแล้ว อีกอย่างมันมีแอนตี้แบคทีเรียอยู่ในตัวมันเอง ยิ่งเวลาแปลงมาเป็นใยไม้ไผ่แล้วเอามาทำผ้าอนามัย เท่ากับเราไม่ต้องใส่สารเคมีลงไปเลย อีกอย่างเนื้อสัมผัสค่อนข้างนุ่มต่อการใช้งาน
“ชั้นตรงกลางคือเยื่อไม้ ส่วนชั้นด้านล่างสุดและตัวห่อเป็นฟิล์มไบโอพลาสติกที่ทำมาจาก Polylactic Acid กับ PBAT ซึ่งจะมีคุณสมบัติคล้ายกับถุงขยะที่ย่อยสลายได้ ที่สำคัญคือไม่มีสารเคมี ไม่มีน้ำหอม ไม่มีน้ำยาฟอกขาว ทำให้ผู้ใช้จะไม่เกิดอาการแพ้จากสารเคมี
“เราไม่ใส่สาร SAP (Superabsorbent Polymer) หรือที่เรียกว่าผงเปลี่ยน ‘น้ำ’ ให้กลายเป็น ‘เจล’ ซึ่งจะใส่อยู่ในผ้าอนามัยเพื่อจับเลือดประจำเดือนของเราให้เป็นเจล ทำให้เรารู้สึกแห้ง สบาย และใส่ได้ทั้งวัน แต่ส่วนนี้มันไม่สามารถย่อยสลายได้ เพราะถ้าดูจริงๆ ผงถูกโรยไปในชั้นพลาสติก เมื่อประจำเดือนเราเกาะเป็นเจลแล้วมันดันติดอยู่กับพลาสติก ซึ่งเวลาทิ้งมันไม่สามารถแยกชิ้นส่วนกันได้ ที่สำคัญคือ ผู้หญิงหลายคนไม่ค่อยเปลี่ยนผ้าอนามัยเพราะคิดว่าประจำเดือนมาน้อย ซึ่งมันไม่ถูกสุขอนามัยเท่าที่ควร รุ้งเลยคิดว่างั้นเราไม่ใส่สารตัวนี้ดีกว่า”
ต้องบอกก่อนว่าผ้าอนามัยย่อยสลายได้ ไม่ใช่ว่ามันจะสลายหายวับไปทันที แต่ต้องอาศัยการย่อยสลายอย่างถูกต้องด้วย ซึ่งหลังจากเราใช้เสร็จสามารถย่อยสลายจากการฝังกลบภายใน 6 – 12 เดือน และจะย่อยได้ประสิทธิภาพสูงสุดหากนำไปใส่ถังหมักปุ๋ย เพื่อให้ควบคุมตัวแปรของมันได้ เช่น อุณหภูมิ จุลินทรีย์ ความชื้น และออกซิเจน
โดยรุ้งเน้นย้ำว่ายิ่งร้อนมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ย่อยสลายได้เร็วขึ้น หากใครกลัวว่า ‘เลือดประจำเดือน’ จะปนเปื้อนกับปุ๋ยหรือเปล่า รุ้งให้คำตอบกับเราว่า “ไม่มีกฎข้อไหนที่บอกว่าห้ามย่อยสลายผ้าอนามัยตัวเอง เพราะมันไม่ได้ถือว่าเป็นเครื่องมือแพทย์” ดังนั้นอุ่นใจได้เลย
แต่สำหรับผ้าอนามัยของ Ira สามารถย่อยสลายได้เพียง 99 เปอร์เซ็นต์ เพราะส่วนที่เป็น ‘กาว’ รุ้งยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่ามันเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อแบรนด์มาก เนื่องจากยังไม่มีกาวชนิดไหนที่สามารถย่อยสลายได้ ซึ่งตอนนี้แบรนด์เลือกใช้แบบ Hot-melt คือเวลาย่อยสลาย กาวจะไม่กลายเป็นไมโครพลาสติก เพียงแค่เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาเท่านั้น ซึ่งมันคือสิ่งที่ดีที่สุดที่แบรนด์จะหาได้ในขณะนี้
นอกจากนี้ รุ้งยังคิดเผื่อสำหรับวิธีการเผา ที่บางบ้านอาจคุ้นชินในการย่อยขยะ ซึ่งการไม่ใส่สารเคมีลงไปในผ้าอนามัยทำให้เวลาเผาจะไม่เพิ่มสารเคมีปนเปื้อนในอากาศ
คาบที่ 4 : คำนึงถึงคนทุกเพศ
ฉันเคยโดนครูฟาด เพราะถือห่อผ้าอนามัยไปเข้าห้องน้ำอย่างโจ่งครึ่ม พร้อมประโยคสุดคลาสสิกว่า “ดูไม่เป็นกุลสตรีเอาซะเลย” หรือไม่ก็ “เอาผ้าอนามัยมาวางบนโต๊ะทำไม มันไม่สุภาพ” จนต้องคอยหลบๆ ซ่อนๆ ราวกับมันเป็นของผิดกฎหมายอย่างไรอย่างนั้น หรือบางคนต้องยอมเสียค่าถุง 2 บาทในร้านสะดวกซื้อ เพื่อไม่ให้ใครรู้ว่ามาซื้อผ้าอนามัย!
เชื่อว่าบางคนอาจรู้สึกเคอะเขิน เวลาต้องถือห่อผ้าอนามัยอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งการดีไซน์แพ็กเกจจิ้งของ Ira จะไม่ทำให้เรารู้สึกแบบนั้น เพราะการออกแบบอันแสนเรียบง่ายกลับทำให้เรารู้สึกสบายใจกว่าที่เคย โดยรุ้งดึงเอาข้อมูลที่ ‘ทุกคนควรรู้’ ให้เป็นความสำคัญอันดับต้นๆ ในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่บ่งบอกว่าคุณกำลังใช้ผลิตภัณฑ์แบบไหน มีวัสดุอะไรบ้าง หรือมีคุณสมบัติอย่างไร เพื่อส่งถึงมือผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
“แพ็กเกจจิ้งทำยากมาก ยากพอๆ กับโปรดักต์เลยด้วยซ้ำ ตอนนั้นคิดหนักเลยนะ คือหลายคนอาจจะติดกับคำว่า ‘ออร์แกนิก’ ต้องมีใบไม้ มีสีเขียวหรือสีน้ำตาลอะไรแบบนั้น แต่เรารู้สึกว่าไม่ใช่อะ สิ่งที่เราควรทำจริงๆ คือการบอกข้อมูลที่ ‘จำเป็น’ ต่อผู้บริโภคมากกว่า”
.
ระหว่างการสัมภาษณ์ รุ้งหยิบกล่องผลิตภัณฑ์สีขาวตรงหน้าที่มีตัวอักษรสีดำเนี้ยบขึ้นมานำเสนอแต่ละส่วนอย่างตั้งใจ ก่อนจะเผยให้เห็นสีแดงด้านในกล่อง ซึ่งเป็นสีที่รุ้งกับนักออกแบบตั้งใจเลือกโทนสีนี้เพื่อสื่อถึง ‘เลือดประจำเดือน’ โดยเฉพาะ ถึงแม้ภาพรวมของมันแอบ ‘แปลกตา’ ผิดกับการดีไซน์ผ้าอนามัยทั่วไปในท้องตลาดที่บ่งบอกให้รู้ว่า “นี่คือผ้าอนามัย และเป็นสินค้าสำหรับคุณผู้หญิง” แต่มันทำให้ฉันรู้สึกว่า “เอาล่ะ กรอบของการออกแบบมันถูกฉีกออกเรียบร้อยแล้ว”
“ตอนเราไปโชว์ให้เพื่อนผู้หญิงดู เขาจะบอกว่ามันดูไม่ค่อยออกว่าเป็นผ้าอนามัย ควรเพิ่มหยดน้ำให้รู้สึกซึมซับได้ดี หรือมีดอกไม้เพื่อสื่อถึงโปรดักต์ของผู้หญิงอะไรแบบนั้นไหม ซึ่งเรารู้สึกว่าไม่อะ (หัวเราะ)
“อันที่จริง สิ่งที่แบรนด์ออกแบบมา มันสอดคล้องความตั้งใจของเราที่ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้นถึงใช้ได้ เพราะเรารู้สึกว่าไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่มีมดลูก และไม่ใช่ทุกคนที่มีมดลูกจะเป็นผู้หญิง เราเห็นหลายแบรนด์ทำขึ้นมา ‘Woman for Woman’ แต่สำหรับเราคิดว่ามันควรเป็น ‘by woman but for everyone’ มากกว่า”
คาบที่ 5 : อนาคตที่อยากให้ ‘ประจำเดือน’ เป็นเรื่องปกติ
มาถึงคาบเรียนโค้งสุดท้าย หลังจากที่เราสองคนค่อยๆ แชร์เรื่องเล่าเกี่ยวกับ ‘เมนส์’ ที่เคยพบเจอ ก่อนจะพบว่าทุกคนเจอเรื่องราวที่ไม่เหมือนกัน แต่มี ‘ความจำเป็น’ ต้องใช้เหมือนกัน
“ถามว่า Ira ทำเป็นแบรนด์พรีเมียมได้ไหม มันทำได้นะ แต่ความตั้งใจเราไม่ใช่แบบนั้น เราอยากให้ผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัยมันสามารถเข้าถึงได้ทุกคน เราจึงพยายามตั้งราคาให้ถูกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าหากอนาคตมีปริมาณการผลิตที่เยอะกว่านี้ เราก็อยากลดราคาลงอีกด้วย
“เราไม่อยากให้มันจบแค่ผ้าอนามัย อยากทำอย่างอื่นด้วยที่มันทำให้ผู้หญิงใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น รุ้งมีความคิดว่าอยากทำสินค้าที่สามารถช่วยลดการปวดประจำเดือน หรือพัฒนาระบบเทคโนโลยีของเราให้เป็นโปรดักต์สำหรับผู้หญิงและทุกๆ คนมากกว่านี้
“มีเรื่องหนึ่งที่อยากแชร์ หลังจากที่เรามาทำผ้าอนามัยกลายเป็นว่าเพื่อนของเราทุกเพศ กล้าคุยเรื่องประจำเดือนมากขึ้น เกิดการถกเถียงกัน เกิดการตั้งคำถาม เรารู้สึกว่านี่แหละคือสิ่งที่ฉันต้องการ ถึงแม้มันจะเป็นอิมแพกต์เล็กๆ แต่เราเชื่อว่าเอฟเฟกต์มันค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต”