พูดถึงเกาะศิลปะของญี่ปุ่น ชื่อของ Naoshima คงขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ ใครมีเวลามากหน่อย อาจจะเคยแวะไป Teshima หรือ Shodoshima ที่อยู่ใกล้ๆ กัน จริงๆ แล้วในน่านน้ำทะเล Seto Inland ยังมี Inujima เกาะศิลปะอีกแห่งที่กรุบกริบไม่แพ้กัน แถมยังมีสตอรี่เข้มข้นและสภาพแวดล้อมแตกต่างจากเกาะศิลปะอื่นๆ
ที่นี่เคยเป็นอดีตที่ตั้งโรงถลุงแร่ทองแดงซึ่งตัวโรงงานยังอยู่ในสภาพดีและถูกปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะสุดเท่ แถมยังมี Art House กระจายตัวอยู่ทั่วเกาะอย่างเก๋ ดูเผินๆ ก็กรุบกริบตามมาตรฐานจริตงานอาร์ตร่วมสมัยญี่ปุ่น แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่สถาปัตยกรรมและงานศิลปะบนเกาะนี้กำลังพยายามทำคือการสร้างมูลค่าใหม่ให้กับโรงงานที่อดีตเคยสร้างความเสียหายให้สิ่งแวดล้อมและนำความเดือดร้อนมาให้คนในชุมชน
ถ้ายังไม่เคยไป วันนี้เราจะขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับความใส่ใจที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนของอินุจิมะ เกาะศิลปะไซซ์เอสที่มีความยาวรอบเกาะ 36 กม. พื้นที่ 0.54 ตร.กม. และคนอยู่อาศัยประมาณ 50 คน
Inujima Seirensho Art Museum
อินุจิมะอยู่ในเขตจังหวัดโอคะยะมะ เป็นเกาะหลักในบรรดาหมู่เกาะอินุจิมะและเป็นเกาะเดียวที่มีคนอาศัยอยู่ เป็นเกาะชิลๆ ที่เดินประมาณ 2 – 3 ชั่วโมงก็ทั่วแล้ว สมัยก่อนนิยมตั้งบนเกาะเพราะอยากลดมลภาวะทางอากาศในตัวเมืองและเพื่อความสะดวกในการขนส่งวัสดุต่างๆ คนในเกาะลงทุนตั้งโรงงานถลุงแร่ทองแดงในปี 1909 แต่อยู่ได้แค่ 10 ปีก็ต้องปิดตัวเพราะราคาทองแดงตกอย่างมาก ปัจจุบันอาคารยังอยู่ในสภาพดี สะท้อนให้เห็นความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในยุค Modernization เลย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญทางด้านอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของญี่ปุ่น
มองไปรอบๆ ทะเลสวย ฟ้าใส ต้นไม้ใบเขียว ช่างขัดกับคำว่าอุตสาหกรรมเสียเหลือเกิน ในปัจจุบันตัวอาคารอาจจะมีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม แต่สมัยก่อนการมีอยู่ของโรงงานนี้สร้างปัญหาไม่น้อย ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การทิ้งของเสียลงทะเลและปัญหาสังคมอื่นๆ เมื่อ Fukutake Foundation ตัดสินใจพัฒนา Art Project บนเกาะนี้ เขาจึงเลือกให้ความสำคัญกับธรรมชาติเป็นอันดับหนึ่ง ในอดีตการทำเหมืองเคยทำร้ายสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันอาคารต้องเป็นมิตรกับธรรมชาติ เพื่อตั้งคำถามเรื่องความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่ต้องแลกมาด้วยการทำลายสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็นำเสนอความสัมพันธ์ในอุดมคติที่ทั้งสองอยู่ร่วมกันได้
หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการต่อยอดแนวคิดนั้นให้เป็นจริงคือ Hiroshi Sambuichi สถาปนิกตัวท็อปและ Yukinori Yanagi ศิลปินชื่อดัง
Recycle the Heritage
Hiroshi Sambuichi เป็นสถาปนิกที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการใช้ประโยชน์จากสภาพทางภูมิศาสตร์และพลังงานธรรมชาติอย่างมาก เมื่อได้รับโจทย์ว่าคอนเซปต์ของที่นี่คือ ‘การสร้างสิ่งอยากจะเป็นจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว’ อาคารของ Inujima Seirensho Art Museum จึงถูกออกแบบให้มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เน้นพึ่งพาแสงแดด อากาศ สายลม และสายน้ำเท่าที่จะทำได้ และใช้ประโยชน์จากปล่องควัน จุดเด่นของอาคารให้ได้มากที่สุด ซี่งนำมาสู่ความกรุบกริบที่แอบประทับใจมากเป็นการส่วนตัว
ความกรุบกริบข้อที่ 1 ที่นี่ไม่ใช้ไฟฟ้าในการปรับอากาศหรือแสงสว่างในอาคารเลย
อากาศเย็นเพราะพลังงานความร้อนใต้ดินและอบอุ่นด้วยพลังงานจากแสงอาทิตย์ ไฟด้านในเป็นแสงธรรมชาติทั้งหมด อาคารในมิวเซียมถูกแบ่งเป็น 4 ส่วนเพื่อใช้ประโยชน์จากพลังงานธรรมชาติ ได้แก่ Earth Gallery, Sun Gallery, Chimney Hall และ Energy Hall
ตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ เช่น Earth Gallery ด่านแรกที่เราได้เจอเมื่อเดินเข้าไปในมิวเซียม ทางเดินมืดๆ ที่ดูแล้วน่าจะอับๆ ร้อนๆ กลับเย็นสบาย มีกระจกและแสงนำทางชวนงงแต่ไม่หลงและสนุกอย่างมหัศจรรย์ พี่เขาบอกว่า อากาศเย็นเพราะเหล็กของโครงสร้างอุณหภูมิต่ำกว่าร่างกายมนุษย์ เลยทำให้เกิด Cooling Radiation Effect ผนังเหล็กที่เป็นคลื่นมีความยาวมากพอและการสำรวจทิศทางลมซึ่งเข้ามาจากปล่องควันช่วยลดความร้อนในอากาศ ส่วนในช่วงฤดูหนาวลมจะถูกสกัดไว้ไม่ให้นำความเย็นจากภายนอกเข้ามา กระจกสะท้อนเพื่อเพิ่มความสว่างในอาคารด้วยแสงธรรมชาติ อากาศในโซนนี้จึงสบายๆ ตลอดปี
ส่วน Sun Gallery สร้างความอบอุ่นสมชื่อด้วยการดูดความร้อนจากแสงอาทิตย์แล้วส่งอากาศอุ่นๆ ไปยัง Energy Hall ในฤดูหนาว หลังคาโซนนี้จึงเป็นกระจกใสที่ทนทานต่อสภาพอากาศและกักเก็บความร้อนได้ดีเพื่อให้ดูดแสงอาทิตย์ได้เต็มที่ พื้นและผนังใช้ Karami Brick ซึ่งทำจากแก้ว 35 เปอร์เซ็นต์และเหล็ก 60 เปอร์เซ็นต์ เลยอุ่นง่าย เย็นยาก
Karami Brick นี่ก็น่าสนใจ อิฐดำๆ ดูถึกๆ แปลกตานี้คือผลพลอยได้จากการถลุงทองแดง ทำมาจากเศษแร่ ซึ่งสมัยก่อนโยนทิ้งลงทะเลเป็นมลภาวะ เขาจึงนำมาใช้สร้างโกดัง ปูพื้น และอื่นๆ แทน ในพิพิธภัณฑ์นี้ Karami Brick อีก 17,000 ชิ้นยังถูกนำไปใช้ปูพื้นใน Chimney Hall และ Earth Gallery ด้วย เพื่อค้นหาคุณค่าใหม่จากวัสดุที่เคยถูกมองข้าม โดยนำมาผสมผสานกับพลังจากธรรมชาติอื่นๆ
ความกรุบกริบข้อที่ 2 คือ ที่นี่ใช้ระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่ทิ้งน้ำลงทะเลแม้แต่หยดเดียว
ฮิโรชิสำรวจเกาะ ทำรีเสิร์ชหาพืชที่เหมาะกับดินและสภาพอากาศของเกาะอินุจิมะ คุณพี่ดีไซเนอร์หวังว่า ยิ่งคนมาเยอะพืชพรรณที่นี่จะยิ่งงอกงาม เพราะว่าใช้ระบบที่เรียกว่า Bio-geo Filter เป็นระบบบำบัดน้ำเสียจากห้องน้ำที่ไม่ปล่อยน้ำลงทะเลเลยเพราะกรองน้ำผ่านฟิลเตอร์ที่มีทั้งหินภูเขาไฟและอื่นๆ จากนั้นส่งต่อให้พืชก็ดูดน้ำไปใช้ ถ้าเจอแนวต้นส้มปลูกเรียงกันสวยๆ ในเขตมิวเซียมนั่นแหละ ความงอกงามจากการเข้าห้องน้ำของพวกเราเอง
Reassemble the Message
จุดเริ่มต้นของงานศิลปะภายในมิวเซียมคือ วัสดุก่อสร้างที่ได้จากการรื้อบ้าน Yukio Mishima นักเขียนชื่อดังของญี่ปุ่น
เมื่อรู้ข่าวว่าอดีตบ้านนักเขียนดังที่ชิบุยะจะโดนรื้อทิ้ง ประธานมูลนิธิ Fukutake Foundation จึงขอซื้อวัสดุและส่วนประกอบต่างๆ เก็บไว้รอวันนำไปประกอบใหม่ ยุกิโอะเป็นนักเขียนนิยายที่ผลงานมักสะท้อนสังคมญี่ปุ่นเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร็วเกินไปของญี่ปุ่นจนนำไปสู่ปัญหาการฆ่าตัวตาย เมสเซจของผลงานเขาสอดคล้องกับเรื่องราวบนเกาะพอดี ท่านประธานมูลนิธิเลยอยากนำส่วนประกอบของบ้านเหล่านั้นมาใช้เป็นงานศิลปะสำหรับจัดแสดงที่นี่
ส่วนศิลปินที่รับหน้าที่นำวัตถุดิบไปปรุงต่อคือ Yukinori Yanagi ผู้เริ่มมีความสนใจเกาะอินุจิมะตั้งแต่มาจัด Solo Exhibition ที่นะโอะชิมะ เพราะตอนนั้นเขาออกสำรวจเกาะและบริเวณข้างเคียง จึงได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับโรงถลุงแร่และชุมชน ตัวเขาเองก็ถนัดการเล่าเรื่องผ่านการใช้สัญลักษณ์และมักตั้งคำถามเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วเกินไปของญี่ปุ่น ทุกอย่างเลยลงตัว ออกมาเป็นผลงานที่สะท้อนเรื่องราวในอดีตและนำเสนอการอยู่ร่วมกันในปัจจุบัน ส่วนแต่ละห้องเป็นอย่างไรนั้น ขอไม่สปอยล์ มันดีมาก ไฮไลต์ธรรมชาติ อาคาร และเรื่องราวได้ยอดเยี่ยม
Art House Project
มูฟออนจากมิวเซียม ขอพาไปรู้จักอาคารอื่นๆ บนเกาะบ้าง ถ้าเคยไป Naoshima น่าจะคุ้นเคยกับโปรเจกต์ Art House ที่บ้านแต่ละหลังกระจายตัวอยู่ทั่วเกาะ ทำหน้าที่เป็นแกลเลอรี นำเสนอผลงานศิลปะในรูปแบบที่แตกต่างกันไป
อินุจิมะก็มี Art House หลายหลัง จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้ไม่ใช่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเกาะ ให้คนในชุมชนมองเห็นถึงความสวยงามในชีวิตประจำวันและความงามของธรรมชาติที่อยู่เหนือไปกว่างานศิลปะ ตัวอาคารส่วนมากสร้างขึ้นมาจากวัสดุหลากหลายชนิดที่ได้จากบ้านเก่าด้วย
ตัวอย่างแกลเลอรีที่น่าสนใจ เช่น F-Art House ได้ Kohei Nawa ศิลปินดังที่เรามักเห็นผลงานของเขาอยู่เรื่อยๆ ตามงานเทศกาลศิลปะ เขาใช้งานชิ้นเล็กๆ (และใหญ่มาก) สื่อถึงพืชพรรณและสรรพสัตว์, S-Art House ศิลปิน Haruka Kojin นำเลนส์หลายขนาดต่างโฟกัสมาใช้เพื่อปรับมุมมองวิวรอบๆ ตัว, A-Art House ชอบอันนี้มากเป็นการส่วนตัวเพราะ Beatriz Milhazes สำรวจพืช ต้นไม้ ดอกไม้บนเกาะจริงๆ แล้วนำจุดเด่นของแต่ละอย่างที่ชอบมาสร้างความป็อป และ C-Art House นานๆ ทีจะได้เห็นงานไม้แกะสลัก งานก็ไม้ บ้านก็ไม้ เป็นอดีตที่ชุมนุมในชุมชน ได้แรงบันดาลใจมาจากเอเนอร์จีของชาวเกาะที่สื่อถึงพลังชีวิตของเกาะที่จะยังพัฒนาต่อไป งานกรุบกริบทั่วเกาะนี้อยู่ภายใต้การนำทีมของ Yuko Hasegawa อาร์ตไดเรกเตอร์ตัวท็อปของญี่ปุ่น เธอเป็นทั้งไดเรกเตอร์ของ 21st Century Museum of Contemporary Art ที่คะนะซะวะ, Artistic Director of the Museum of Contemporary Art, Tokyo และเป็นผู้จัดงานเทศกาลศิลปะมานับไม่ถ้วนในต่างประเทศ รวมไปถึงงาน Thailand Biennale, Korat 2021 ด้วย จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เธอให้ความสำคัญอยู่เสมอคือพื้นที่ สิ่งแวดล้อม ผู้คน
การเดินชมแกลเลอรีตามจุดต่างๆ ของเมืองทำให้เราได้มีโอกาสสำรวจภูมิประเทศ ชื่นชมธรรมชาติ แอบสังเกตความเป็นอยู่ของชาวบ้านไปแบบเนียนๆ ตอนเราไปเจอเด็กๆ มาเล่นที่ Art House ซึ่งวาดรูปสัตว์และพืชลงบนพื้นโดยได้แรงบันดาลใจมาจากความทรงจำที่คนมีต่อที่นี่ น้องๆ ดูสดใสรับกับความสดชื่นของธรรมชาติ ผู้สูงอายุแถวนั้นก็แสนใจดี กลัวลูกหลานรบกวนพวกเรา ในขณะที่เราก็ไม่อยากไปเกะกะการใช้ชีวิตของพวกเรา พอคุณยายเดินมาขอบคุณที่แวะมาเที่ยว ถึงกับรู้สึกอิ่มใจอย่างประหลาด เริ่มเข้าใจความตั้งใจของทีมงานในการปรับปรุงพื้นที่นี้ให้ชาวเมืองและผู้มาเยือนได้ใกล้ชิดกัน
นอกจากพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี อินุจิมะยังมี Inujima Life Garden สวนดอกไม้/สมุนไพร/ผักผลไม้ ฯลฯ สุดกรุบกริบที่อยากเชื่อมโยงผู้คนจากในและนอกเกาะผ่านความสุขที่ได้อยู่ร่วมกับพืชพรรณ ในอนาคตตั้งเป้าจะทำ Bio-geo Filter และสร้าง Biotope ด้วย ขอรอชมความคืบหน้าของสวนนี้เลย เผื่อจะรู้จักกับความกรุบกริบใหม่ๆ สายสดชื่น