ความฝัน ความกลัว การเปลี่ยนผ่านวัยของ เด็กฝึกงาน - Urban Creature

ในหนึ่งรอบชีวิตของคนหนึ่งคน เรามักถูกเฝ้ามองเมื่อครบกำหนดที่ต้องเข้าสู่พิธีกรรมเปลี่ยนผ่านจากช่วงวัยหนึ่งสู่อีกช่วงวัยหนึ่งอยู่เสมอ

ยิ่งเป็นช่วงของ วัยรุ่นตอนปลาย ที่กำลังจะก้าวขาเผชิญหน้ากับความจริงในโลกของผู้ใหญ่ ยิ่งมีดวงตาที่ชื่อ ความคาดหวัง ความพร้อม และความเปลี่ยนแปลง มาเฝ้ามอง และลุ้นผลลัพธ์ที่จะเกิดในอนาคตมากขึ้นเป็นเท่าตัว

การเผชิญหน้าที่พูดถึง คงไม่มีใครสัมผัส และรู้สึกกับมันได้มากไปกว่ากลุ่มคนจำนวนหลายพันชีวิตที่ถูกจัดอยู่ในสเตตัส ‘นักศึกษา’ เราจึงชวนน้องฝึกงานรุ่นแรก 3 คนของออฟฟิศ มาพูดคุย และแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับ อาชีพในฝัน มุมมองโลกของการทำงาน และความพร้อมที่กำลังจะต้องเปลี่ยนผ่านสู่ชีวิต มนุษย์เงินเดือน

Designing Life With A Heart That Loves Design | Pun Khanhathai Prakaiphetkul

‘ปั้น’ คือน้องฝึกงานคนแรก จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เราขอตัวมานั่งคุยด้วยกัน ปั้นเป็นพี่คนโตในบรรดาแก๊งน้องฝึกงานในออฟฟิศ เพราะคณะน้องเรียน 5 ปี มาฝึกงานที่นี่จึงเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 แล้ว ปั้นสร้างรอยยิ้มให้กับออฟฟิศ พร้อมมอบมุมมองใหม่ๆ ในการทำงานแบบเด็กสถาปัตย์ให้กับเรา

โลกแปลกใหม่ คือคำนิยามที่ปั้นให้กับการทำงานก่อนมาสัมผัสจริง

“ปั้นมองว่า มันเป็นอีกโลกใบหนึ่งที่แปลก คนที่ทำงานเหมือนเป็นคนที่ผ่านการคัดกรองมาเยอะมาก ผ่านการใช้ชีวิตมาหลายๆ รูปแบบ แล้วก็มากระจุกตัวอยู่ที่ตรงนี้ ความต่างของคนที่จะเข้ามารวมกัน มันเยอะมาก ทำให้ปรับตัวเข้าหากันยาก”

พยายามปรับตัว คือความคิดหลังได้ฝึกงานจริง

“ก็เฉยๆ นะ ไม่ได้ดี ไม่ได้เลว อาจเพราะปั้นเป็นคนเฉยๆ อะไรก็ได้ ถามว่าต้องปรับตัวเยอะไหม ก็ไม่ได้ต้องปรับตัวเยอะขนาดนั้น พอลองมาทำจริง เหมือนว่าทุกคนก็ค่อยๆ ปรับตัวเข้าหากัน”

ฝึกงานช่วยให้ปั้นได้ค้นหาสิ่งที่ใช่

“การฝึกงานทำให้รู้ว่า ที่มาฝึกตรงนี้ ชอบหรือไม่ชอบจริงๆ หรือเปล่า สมมติว่าเราเรียนมาในจุดนี้ เราอาจจะเรียนมาได้ดี แต่พอมาทำจริงแล้วไม่ชอบ มันก็สะท้อนว่า เออ เราตัดชอยส์ได้ว่า เราจะไม่มาทำงานตรงนี้ มันเหมือนเป็นการค้นหาตัวเองอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งปั้นคิดว่ามันดีกว่าการนั่งเรียนในห้อง ปั้นอยากฝึกงานหลายๆ ที่ คือปั้นเข้าใจนะ ที่ต้องฝึกก่อนที่เราเรียนจะจบ มันก็ดี เพราะเราจะได้เอาทุกอย่างที่เรียนมาทดลองใช้ แต่ปั้นก็แอบรู้สึกว่า มันช้าไป มันควรที่จะมีระบบการฝึกงานตั้งแต่ปีแรกๆ หรือจะปีเดียวก็ได้ แต่ว่าให้ระยะมันยาวขึ้น มันทำให้เราได้ค้นหาตัวเองมากกว่าการนั่งเรียนในห้องเฉยๆ”

ใช้สิ่งที่เรียนมาสร้างสรรค์งานชิ้นที่รักที่สุด

“ปั้นใช้สิ่งที่เรียนในการฝึกงานเยอะมาก เพราะมันเหมือนกระบวนการทำงานของปั้นตอนเรียน ปั้นต้องรีเสิร์ชข้อมูลก่อน แล้วค่อยมาคิดว่าจะทำอะไรต่อ ที่นี่เหมือนฝึกให้ปั้นค้นหาข้อมูลได้มากขึ้น แล้วก็เอามาเขียนใหม่ให้คนเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น แล้วมันดีตรงที่ มันได้ทำอะไรในสิ่งที่เราไม่เคยทำ ได้เพิ่มสกิลของตัวเองด้วย”


https://urbancreature.co/bkk-material-district/

“ ‘BKK สารพัดวัสดุ’ คืองานชิ้นที่ปั้นชอบที่สุด มันสนุกสุด ได้ทำอะไรในสิ่งที่ชอบอยู่แล้ว แล้วมันเป็นเรื่องใหม่ เพราะถ้าตอนเรียนเราก็จะหยุดอยู่แค่พื้นที่เดียว แต่อันนี้ เราไปหลายย่าน ทำให้เราได้รับรู้พื้นที่มากขึ้น มันเอาไปอะแดปท์ใช้ต่อได้กับหลายๆ อย่าง”

งานในฝันคือการทำทุกอย่างเกี่ยวกับดีไซน์

“ปั้นอยากทำอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับดีไซน์ ไม่ว่าจะเชิงไหนก็ตาม อยากทำเกี่ยวกับดีไซน์ให้ได้ทุกๆ อย่าง อยากเรียนรู้เกี่ยวกับมัน เรารู้สึกว่า งานดีไซน์มันไม่น่าเบื่อ แล้วพอมาฝึกงานที่นี่ อาชีพในฝันเรายิ่งชัดเจนมากขึ้น เราพอมองเห็นว่าเราจะทำแบบไหน”

ไม่ชอบ ไม่ได้แปลว่าไม่ทน และอาชีพที่มั่นคงต้องมีแพชชั่น

“ปั้นชอบถูกปลูกฝังว่า ถ้าเราเริ่มจะทำงาน ก็ต้องอยู่กับที่นั้นในระยะเวลาหนึ่งซะก่อน ถ้าไม่ชอบแล้วขอออก มันก็จะดูแบบไม่มีความอดทน แต่จริงๆ ในความคิดเรา เราจะคิดว่า ก็ไม่ชอบอะ ให้ทนอยู่ไปก็ไม่ได้ เรารู้สึกว่า เราไม่ได้เป็นคนที่มีความอดทนต่ำ แต่ความอดทนมันต้องมาจากสิ่งที่เราชอบก่อน แล้วถ้าเจออุปสรรคจริงๆ ค่อยทนกับมัน อย่างจะให้เราเดินไปทางซ้าย แต่ว่าเราไม่ชอบ ถึงมันจะเป็นระยะเวลาสองเดือน หนึ่งเดือน หรือแค่อาทิตย์เดียว ก็รู้สึกว่ามันนาน ให้พยายามทำ มันก็ทำออกมาได้ไม่ดี”

“ปั้นว่าอาชีพที่มั่นคงไม่มีจริง มันไม่มีอาชีพไหนที่ไม่ล่มจม ถ้าคนหนึ่งทำอาชีพหนึ่ง แต่ไม่มีแพชชั่น ต่อให้ทำอาชีพไหนที่เขาว่ากันว่ามั่นคง มันก็จบนะ”

เวลา คือเครื่องมือแก้ปัญหาความ (ไม่) พร้อมในช่วงวัยใกล้เปลี่ยนผ่าน

“ปั้นรู้สึกว่า ในประเทศไทย ทุกคนตีกรอบว่า คุณอายุเท่านี้ คุณต้องทำเท่านี้ ซึ่งมันไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้ตัวเองว่า อายุ 18 แล้วจะทำอะไร หรือเรียนจบปุ๊บ รู้ว่าอยากทำงานอะไร ปั้นรู้สึกว่า ชีวิตมันยาวอะ ในหนึ่งชีวิตเราอาจจะให้เวลากับการเรียน การเทคคอร์สสั้นๆ หรือการไปเที่ยวมากกว่าการทำงานก็ได้ เพราะปั้นรู้สึกว่า มันคือประสบการณ์ชีวิต มันก็ต้องใช้เวลา เพื่อหาสิ่งที่เราชอบจริงๆ”

“ถ้าไม่พูดเรื่องเงิน ปั้นคิดว่าการนั่งทำงานเฉยๆ มันให้อะไรน้อยกว่าการที่เราไปเรียน เพราะถ้าเรียนหนึ่งคอร์ส เรารู้จักคนสิบคน ถ้าเราเปลี่ยนคอร์สอีก เราก็รู้จักคนเพิ่มขึ้นอีกสิบคน มันเป็นประสบการณ์ที่ดี มันคือการเปิดโลก”

Giving For Society Is the Best Work | KYU Panaikorn Worasilpmontri

น้องฝึกงานคนถัดมาคือ ‘คิว’ น้องจากคณะนิเทศศาสตร์, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ น้องที่มาพร้อมความชัดเจนในตัวตน และความตั้งใจที่จะมาฝึกทักษะการเขียนให้มีมากขึ้น คิวยังถ่ายทอดความสดใส และเสียงหัวเราะผ่านความเป็นธรรมชาติในแบบของคิวให้ออฟฟิศมีสีสันกว่าที่เคย

ทำงานยากกว่าเรียน คือภาพจำการทำงานก่อนคิวลองทำจริง

“ต้องบอกว่า เกิดมาตั้งแต่เด็กจนอายุ 20 เราก็เรียนมาตลอด ไม่เคยมีโอกาสได้ทำงานเองเลย แม้กระทั่งการทำงานพาร์ทไทม์ เราเลยเป็นเหมือนคนนอกที่มองคนในว่า คนทำงานมันมี 2 แบบ คือ 1. คนที่มีความสุขกับการทำงานจริงๆ และ 2. คนที่ทำงานที่อาจไม่ได้มีความสุขขนาดนั้น แต่ทำเพื่อให้ได้เงินมาซื้อความสุข มันก็ดูเหนื่อยแต่มีความสุขดี”

หลังทำงานจริงมันไม่ได้มีแค่สุข และมันช่วยให้ฉุกคิด

“ถึงแม้ว่าเราจะรู้ว่า เราไม่ได้มาทำงาน แต่เราก็จะเห็นคนที่เขาทำงานกันจริงๆ อย่างพวกพี่ๆ ก็มีมุมของความเครียดขึ้นมา เราก็เริ่มมองภาพของตัวเองในอนาคตว่า เราจะเป็นยังไง มันเลยทำให้เราได้คิดกับตัวเองให้ดีมากขึ้น ทำให้เรารู้ว่า ถ้าเราหาทางที่เราชอบได้เร็วแค่ไหน มันก็จะดีกับตัวเรามากขึ้น”

ฝึกงานช่วยร่างภาพในอนาคต

“อย่างภาคคิว ก็จะมีคนที่เลือกไม่ฝึกงาน เพราะไม่อยากไปจอยกับสังคมอื่นๆ อยากอยู่กับตัวเอง เป็นแค่นักศึกษา ก็ต้องเรียนอย่างเดียวสิ แต่คิวเลือกมาฝึกงาน เพราะมองว่า มันมีแต่ข้อดีนะ ถึงแม้ว่าบางคนจะฝึกงานแล้วเจอเรื่องไม่ดีบ้าง หรืออาจจะเจออะไรที่ชอบ สิ่งนั้นมันเป็นประโยชน์ทั้งนั้นเลย มันทำให้เราได้ลองดูว่ามันใช่กับเราหรือเปล่า”

ใช้สิ่งที่เรียน มาปรับเปลี่ยนให้เป็นชิ้นงานแบบฉบับคิว

“คิวเรียนนิเทศน์ วารสารศาสตร์ ซึ่งมันเป็นเรื่องของงานข่าว งานเขียนอยู่แล้ว ก็เอาทักษะการเขียนที่เราได้เรียนมาใช้กับการทำงานที่นี่เยอะมากๆ อย่างที่คิวเคยบอกพี่ๆ ว่าอยากปรับวิธีการเขียนให้มันดูไหลลื่นมากขึ้น เพราะตอนเรียนจะเน้นเป็นการเขียนงานข่าวที่มีฟอร์แม็ต ซึ่งตอนนี้คิวว่ามันดูซอฟท์ขึ้น และคิดว่าก็เริ่มทำได้ดีขึ้นประมาณหนึ่งแล้ว”

https://www.facebook.com/UrbanCreatureTH/videos/1922942848003942/

“คิวประทับใจงานชิ้น ‘เจ๊มุก ซัก อบ รีด’ ที่สุด เพราะต้องบอกก่อนว่า คำถามแรกก่อนเริ่มฝึกงานที่นี่ คือถามว่าอยากทำ หรือสนใจเรื่องอะไร คำตอบของคิวก็คือสนใจเรื่อง ‘คน’ ทางพี่บ.ก.เลยให้ทำ The Professional มันซะเลย ซึ่งตอนทำเจ๊มุกคิวถ่ายวิดิโอไม่เป็นเลย เพราะส่วนใหญ่ตอนเรียน คิวเป็นสายโปรดิวซ์มากกว่า พอได้ลองลงพื้นที่ไปถ่ายจริงๆ เราได้เรียนรู้หลายๆ อย่าง แล้วรู้สึกคิดไม่ผิดเลยที่เลือกเจ๊แก ขนาดแค่วันลงพื้นที่ยังสัมผัสได้ถึง passion ของเจ๊ แล้วพองานมันออกมาแล้วคนชอบ มันทำให้เราภูมิใจ”

เคยมีอาชีพในฝัน แต่ตอนนี้เริ่มสับสน

“ตอนเด็กมีนะ แต่พอเรียนมาเรื่อยๆ มันเริ่มสับสนว่า เราอยากจะทำอะไรมากที่สุด แต่พอมาฝึกงาน มันเป็นแรงกระตุ้นให้เราอีกด้านหนึ่ง ให้เราได้ฉุกคิดว่า อายุเท่านี้แล้วนะ ต้องรีบค้นหาตัวเอง เพราะสังคมไทยอะ เหมือนแอบถูกบีบบังคับนิดนึงว่า ยิ่งเราประสบความสำเร็จเร็วเท่าไหร่ มันจะทำให้เรามีความสุขเร็วขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ การฝึกงานมันยังทำให้เราเก่งขึ้น ทำให้เราคุยกับเพื่อนรุ่นเดียวกันได้โตขึ้น คุยกับอาจารย์ได้รู้เรื่องมากขึ้น คุยกับคนทำงานได้ดีขึ้น เข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น ไม่ใช่มองว่า เขาทำงานแล้วได้เงิน เรามีหน้าที่เรียนอย่างเดียว”

การทำงานคือสนามประลองวิชา และจะมั่นคงถ้าได้เรียนรู้

“คิวมองว่า คนเราสามารถเลือกอะไรก็ได้ให้กับชีวิตตัวเอง ถึงแม้ว่าคนๆ นั้น จะไม่ได้มีทักษะด้านนั้นอย่างเต็มที่ก็ตาม แต่สุดท้ายแล้ว การทำงานมันเป็นเหมือนสนามประลองวิชา เราจะได้ฝึก ได้เรียนรู้ และได้พัฒนาอยู่เสมอ และมองว่า การทำงานมันก็เหมือนการเรียน เราได้มีการเรียนรู้เหมือนกัน ยิ่งเดี๋ยวนี้เป็นยุคดิจิทัล การเรียนรู้ไม่ได้หยุดอยู่แค่งานประจำที่เราทำ แต่มันยังมีวิชาอื่นในโลกชีวิตจริง และในโลกโซเชียลให้ทดลอง”

การเรียนรู้ คือเครื่องมือแก้ปัญหาความ (ไม่) พร้อมในช่วงวัยใกล้เปลี่ยนผ่าน

“การเรียนรู้ในทุกๆ วัน เป็นสิ่งที่ดีมากๆ  อย่างตอนนี้คิวก็ยังเป็นนักศึกษา ยังเรียนรู้ ถึงเจอบางสิ่งที่เราไม่ชอบ เราก็ต้องไม่หนีมัน เพราะการที่เราเจอกับมัน เลือกที่จะต่อสู้กับมัน แปลว่าเราก็จะได้รู้จักมันจริงๆ มันจะสนุกตรงที่เราได้ไปสู้และเรียนรู้มัน คือคิวมีคติประจำใจว่า

“อุปสรรค มันจะมาเจอกับคนที่มันเลือกแล้วว่า คนนี้จะสามารถต่อสู้กับมันได้”

Living With Passion and Never Stop Chasing The Dream | Eik Tunlaya Suansan

น้องฝึกงานคนสุดท้ายในรุ่นแรกของเราคือ ‘อิ๊ก’ น้องจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, มหาวิทยาลัยศิลปากร เด็กหญิงผมสั้นที่มีความยูนีคในแบบของตัวเองอย่างสุดโต่ง อิ้กสร้างความสนุกสนานและบรรยากาศครื้นเครงให้กับที่นี่ แถมด้วยทัศนคติดีๆ ในมุมที่วัยทำงานอย่างเราๆ อาจมองข้ามไป

เพื่อประโยชน์ของตัวเอง อิ้กมองภาพการทำงานก่อนทดลองทำจริงไว้แบบนี้

“อิ๊กมองว่า การทำงานมันเหมือนทุกคนแข่งขันกันเพื่อตำแหน่ง และประโยชน์ของตัวเอง เหมือนทุกคนชอบทำงานคนเดียว แต่ก็ทำงานร่วมกันได้เพื่อให้บริษัทขับเคลื่อน แต่สุดท้ายทุกคนก็เลือกทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว”

เพื่อให้ทุกคนก้าวไปพร้อมกัน คือสิ่งที่การฝึกงานบอกให้รู้

“ได้มาฝึกงานจริงๆ สิ่งที่อิ้กคิดไว้มันเปลี่ยนไปเยอะมากเลย เพราะพอมาทำงานที่นี่ อิ๊กได้เห็นอีกพาร์ทหนึ่ง ที่ทุกคนมาทำงานแบบเพื่อนร่วมงานกันจริงๆ มาแชร์ไอเดียกัน ไม่ได้ทำงานเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด แต่ทำงานเพื่อให้ที่นี่เดินต่อไปได้”

ฝึกงานช่วยให้ได้ลองเป็นผู้ใหญ่ฝึกหัด

“ตอนเราอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยมา เราก็จะเจอกับการทำงานที่ทำงานกลุ่มแบบเด็กๆ แต่พอเราได้เข้ามาในโลกของผู้ใหญ่ที่โตไปอีกขั้นหนึ่ง เราได้เรียนรู้ว่า วิธีการทำงานจริงๆ มันเป็นแบบนี้ วิธีการจัดระบบมันเป็นแบบนี้ มันทำให้เราเอาไปปรับใช้ในอนาคตของเราได้ ซึ่งอิ้กคิดว่ามันสำคัญนะ เพราะมันเหมือนเราได้ลองกระโดดจากเด็กไปสู่ผู้ใหญ่วัยทำงานอย่างเต็มตัว”

ใช้สิ่งที่เรียน มาโชว์งานเจ๋งๆ สะท้อนสังคม

“อิ๊กเอาสิ่งที่เรียนมาปรับใช้ ถึงอาจจะไม่ได้ใช้เต็มที่ เพราะด้วยความที่อิ๊กเรียนวารสารหนังสือพิมพ์มา แต่เราก็ได้เอามุมเรื่องของจรรยาบรรณสื่อ และทักษะการถ่ายภาพ การทำกราฟิกมาใช้ แล้วเรายังได้ก้าวเข้าไปในสิ่งที่เราเรียนมาลึกมาขึ้น”

https://www.facebook.com/UrbanCreatureTH/posts/urban-intern-:-monster-on/1907695009528726/

“อิ๊กชอบงานชิ้น ‘monster on the street’ มากที่สุด เพราะอิ๊กมองประเด็นนี้ถึงเรื่องที่มันไม่ตอบสนองคนพิการแล้วเอามาเล่าผ่านตัวการ์ตูน เลยกลายเป็นว่า อิ๊กได้โชว์ในด้านที่เป็นปัญหาสังคมผ่านด้านที่ เป็น positive way แล้วพอมีคนเข้าใจตรงนี้ อิ๊กเลยรู้สึกว่าค่อนข้างภูมิใจมากเหมือนกัน”

ถ่ายภาพแฟชั่น คืองานในฝันที่ตามหา

“อิ้กอยากเป็นช่างภาพแม็กกาซีน พวกถ่ายแฟชั่นอะไรแบบนี้ ซึ่งเพิ่งมาเห็นชัดๆ เมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งมาทบทวนตัวเองตอนที่ฝึกงานเลยด้วยซ้ำ ว่าจริงๆ แล้วอยากทำอะไร แล้วรู้สึกว่า ถ่ายภาพแฟชั่นมันเป็นงานที่เราไปได้ เพราะมันเป็นวิชาที่เรียนแล้วเราทำได้ดี และมีความสุขกว่าวิชาอื่นๆ”

การทำงานคือการได้ทำสิ่งที่รัก และการพัฒนาแบบไม่หยุดพักคือความมั่นคง

“อิ๊กรู้สึกว่า ทำในสิ่งที่เรารัก และมีแพชชั่นกับมันตลอดเวลาคือสิ่งที่ดี อยากทำอะไรที่มันถูกจริตตัวเองด้วย และได้เงินด้วย แล้วมันเป็นแพชชั่นด้วย แล้วก็รู้สึกว่า คนไม่ค่อยอยากยึดติดอะไรเดิมๆ มากนัก ถ้ามันถึงจุดอิ่มตัว ก็อยากจะเปลี่ยน ไปหาอะไรที่มันน่าตื่นเต้นมากกว่า”

“มันยังต้องมีการเรียนรู้  เพื่อได้พัฒนาตัวเอง เพื่อให้มันมีความมั่นคง และยั่งยืนด้วย”

วิชา ครู เพื่อน คือเครื่องมือแก้ปัญหาความ (ไม่) พร้อมในช่วงวัยใกล้เปลี่ยนผ่าน

“วิชาที่เราเรียนมา มันจะช่วยให้เราได้รู้ว่า เรามีความสุขกับอะไร กับวิชาไหน ถึงที่จริงแล้ว อิ๊กไม่ได้ชอบเรียนวรสาร อยากทำพวกกราฟิก จัดเลย์เอาท์มากกว่า แต่พอเราลองเรียนมาเรื่อยๆ เราก็เจอสิ่งที่เราชอบจริงๆ อีกส่วนคือเราได้ครู และเพื่อนที่ดี ยิ่งเพื่อนยิ่งสำคัญมาก เพราะอย่างกลุ่มอิ๊ก เราจะมานั่งคุยกันว่า ความฝันที่แท้จริงของทุกคนคืออะไร แล้วก็จะช่วยกันหาความฝันที่แท้จริงของแต่ละคน”


การนั่งพูดคุยกับน้องๆ ฝึกงานรุ่นแรกของ Urban Creature นอกจากจะได้รับรู้มุมมองของน้องๆ เกี่ยวกับความฝัน ความกลัว และความพร้อมของเด็กวัย 20 แรกแย้ม ที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านสู่ชีวิต มนุษย์เงินเดือนแล้ว มันยังทำให้วัยทำงานอย่างเราได้ฉุกคิดว่า ในพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านของช่วงวัยครั้งต่อไป เราจะต้องพบเจออะไร และควรวางรอยเท้าของชีวิตไปทางไหนดี

สุดท้ายนี้ พวกเราหวังว่า สิ่งที่พวกเราแนะนำ และความรู้สึกที่เรามอบให้ จะกลายเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง ที่ช่วยต่อรอยฝัน และส่ง “ปั้น คิว อิ๊ก” น้องฝึกงานทั้งสามคนที่เรารัก ก้าวออกไปสู่โลกของการทำงานอย่างมีความสุข

กลับมาหา มาทักทายกันบ้างนะ 🙂

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.