ในช่วงแรกๆ ที่ผู้เขียนเริ่มทำงานเป็นนักจิตบำบัด มีคนไข้อยู่ในช่วงวัยรุ่นตั้งแต่มัธยมฯ จนถึงมหาวิทยาลัยค่อนข้างเยอะ ซึ่งเวลาอยู่ในชั่วโมงบำบัดจะเกิดความรู้สึกที่แปลกมาก เพราะสังเกตว่าใจตัวเองเต้นตึกๆ รู้สึกร้อนผ่าวอยู่หลายครั้ง ทั้งๆ ที่เราก็ไม่ได้กำลังเผชิญเหตุการณ์ที่อีกฝ่ายเขาเจออยู่
เมื่อได้มาคุยกับ Supervisor และค่อยๆ กะเทาะเข้าไปทำความเข้าใจตัวเองเรื่อยๆ ถึงได้รู้ว่า ความรู้สึกหนักๆ ที่เกิดขึ้นเมื่ออยู่ในชั่วโมงบำบัดนั้น มันคือความรู้สึกโดนกระทบแรงๆ (Triggered) ที่ทำให้ตัวเองย้อนกลับไปนึกถึงช่วงวัยรุ่นที่ผ่านเหตุการณ์ยากลำบากต่อจิตใจคนเดียว
ตอนนั้นไม่รู้จะเล่าให้ใครฟัง รู้สึกอาย และเชื่อว่าเรื่องราวของเราควรเก็บมันไว้ในใจ ไม่ให้ใครข้างนอกเห็นว่าเรามีจุดที่อ่อนแอ กลายเป็นว่าช่วงเวลาที่ผู้เขียนได้ทำหน้าที่เป็นนักจิตบำบัดให้น้องๆ เหล่านั้น ความรู้สึกหนักๆ ก้อนใหญ่ได้เด้งกลับไปที่เจ้าเด็กมะเฟืองในช่วงวัยรุ่น
ตอนนั้นเธอไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร ทั้งที่ลึกๆ แล้วเธอก็อยากได้คนอย่าง Therapist มาคอยรับฟัง อยู่เป็นเพื่อนโดยไม่ตัดสินอะไร และไม่ทำให้ผู้เขียนต้องรู้สึกแย่กับตัวเองกว่าเดิม
เด็กคนนั้นโตมากลายเป็นเธอ
เราอยากชวนทุกคนมารู้จักกับคำว่า ‘Inner Child’ ที่แปลง่ายๆ คือ ‘เด็กคนนั้นที่อยู่ในตัวเรา’
เพราะตอนที่เราเป็นเด็ก สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคงหนีไม่พ้นความสนุก ความรัก และความรู้สึกปลอดภัย
หากในวัยเด็กของเราเติบโตมาด้วยความรู้สึกขาดหรือโหยหาบางสิ่งที่เราอยากได้ แต่ในตอนนั้นเรามีตรรกะหรือความเข้าใจต่อโลกไม่มากพอที่จะรับมือกับความอัดอั้นในใจ จึงทำให้อธิบายออกมาเป็นคำพูดที่ต้องการไม่ได้
และหากเรามีความทรงจำวัยเด็กบางเหตุการณ์ที่ส่งผลให้จิตใจสั่นคลอน โดยเฉพาะความทรงจำที่เกิดขึ้นในครอบครัว และเราต้องเจอเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นประจำในระยะเวลานาน มันง่ายมากที่เราซึ่งเป็นเด็กในตอนนั้นจะกดบาดแผลที่มองไม่เห็นให้ลึกสุดใจ
แต่ขณะเดียวกัน บาดแผลนั้นก็ยังไม่ไปไหน มันแค่แปลงร่างกลายเป็นเราในเวอร์ชันเด็กที่ซุกซ่อนอยู่ในเสี้ยวใดเสี้ยวหนึ่งของจิตสำนึก และพร้อมจะออกมาเรียกร้องความสนใจทุกครั้งที่จิตใจในปัจจุบันของเราโดนกระทบจากเหตุการณ์ที่คุ้นชินเหมือนที่เคยเจอในอดีต
สิ่งที่เคยเจอล้วนส่งผลต่อตัวตนของเรา
ด้วยเหตุนี้ ทำให้เราพอทำความเข้าใจได้ว่า ที่หลายๆ คนไม่ชอบเวลาคนใกล้ตัวทำอะไรบางอย่าง หรือกระทั่งมีความเจ็บปวดที่รุนแรงนั้นหลายครั้งเป็นผลของบาดแผลจาก Inner Child ที่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายรูปแบบ ดังนี้
– การแกล้ง/การหัวเราะเยาะ/การดูถูก
ใครที่ตอนเด็กเวลาพูดจาจริงจังหรือมีความภูมิใจอะไรบางอย่าง แล้วมักโดนผู้ใหญ่ล้อเลียนหรือทำให้กลายเป็นเรื่องตลก เมื่อโตขึ้น เป็นไปได้ที่เราจะรู้สึกกระทบเป็นพิเศษเวลาเพื่อนปล่อยมุกใส่หรือโดนแฟนแซว เพราะเราจะรู้สึกลึกๆ ว่ากำลังโดนทำร้ายหรือไม่ได้รับการใส่ใจ
– การเพิกเฉย/การถูกทอดทิ้ง
ใครที่ตอนเด็กมักถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว พอเราร้องไห้หรือเรียกหาใครก็ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนสนใจหรือกระตือรือร้นมาปลอบโยนเรา จนกลายเป็นการขาดความอบอุ่น เมื่อโตขึ้น เป็นไปได้ที่เราจะรู้สึกกระทบเป็นพิเศษเวลามีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง หรือเมื่อเริ่มสนิทกับใครก็ตาม จะกังวลขึ้นมาเองว่า คนนี้ต้องทิ้งเราไปแน่ๆ ไม่เชื่อใจ ไม่กล้าให้ใจใครอย่างเต็มที่ หรือไม่ก็เกิดความระแวง กระสับกระส่าย อยากอยู่ติดกับเขาแทบตลอดเวลาเพราะกลัวถูกทิ้ง ไม่สามารถอยู่คนเดียวได้
– การทำให้รู้สึกผิด
ใครที่ตอนเด็กมักโดนผู้ใหญ่โยนความผิดมาให้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไร มีคำพูดที่มักทำให้เรารู้สึกผิดหรือเสียใจที่เป็นภาระ เช่น “ถ้าฉันไม่มีเธอนะ ชีวิตฉันคงสบายกว่านี้” หรือ “เธอเล่นซนแบบนี้ ฉันอายคนอื่นหมดแล้ว” เมื่อโตขึ้น เป็นไปได้ที่เราจะรู้สึกกระทบเป็นพิเศษเวลาต้องร้องขอความช่วยเหลือจากใคร ง่ายมากที่จะโทษตัวเองก่อนเมื่อมีข้อผิดพลาดบางอย่างเกิดขึ้นกับส่วนรวม เช่น การทำงานกลุ่ม หรือการไปเที่ยวกับเพื่อนแล้วไม่เป็นไปตามแผน รีบขอโทษไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น กลัวเป็นอย่างมากที่จะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ด่าทอตัวเองอยู่เสมอ
– การโดนทรยศ
ใครที่ตอนเด็กมักโดนผู้ใหญ่ทรยศต่อความเชื่อใจ เช่น เราเล่าความลับให้พ่อหรือแม่ฟัง แล้วเจอว่าเขาเอาไปเมาท์กับเพื่อนต่ออย่างสนุกสนาน หรือพ่อแม่สัญญาอะไรบางอย่างแล้วทำไม่ได้ เช่น จะมารับที่โรงเรียนแต่ไม่มา จะพาไปสวนสัตว์ตอนปิดเทอมแต่ไม่พาไป จะมาเล่านิทานให้ฟังก่อนนอนแต่ไม่ทำ เป็นต้น เมื่อโตขึ้น เป็นไปได้ที่เราจะรู้สึกกระทบเป็นพิเศษเวลาจะเริ่มเปิดใจให้ใคร รู้สึกไม่ปลอดภัยทุกครั้งที่มีใครสนิทกับเรามากขึ้นอีกระดับ มักคิดในแง่ร้ายมากๆ ไว้ก่อนว่าเขาต้องทำร้ายหรือทำให้เราผิดหวังแน่ๆ ในที่สุด
– ความรักที่มีเงื่อนไข
ใครที่ตอนเด็กมักได้รับความสนใจหรือเห็นค่าก็ต่อเมื่อต้องทำตัวน่ารัก หรือสร้างผลงานบางอย่างสำเร็จ เช่น แม่จะเอาเราไปอวดกับเพื่อนๆ อย่างภูมิใจเสมอเมื่อเราสอบได้เกรดสี่หมดในเทอมนั้น แต่นอกจากช่วงนั้นแม่จะทำตัวห่างเหิน หรือยายที่ชอบพูดว่า “ถ้าเธอเป็นเด็กไม่เรียบร้อย ถ้าเธอไม่ยิ้มแย้ม จะไม่มีใครรักเธอ”
เมื่อโตขึ้น เป็นไปได้ที่เราจะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าถ้าไม่ได้เป็นคนที่ ‘เก่งที่สุด’ ‘สวยที่สุด’ ‘ตลกที่สุด’ ฯลฯ เราจะให้คุณค่าตัวตนผ่านความสำเร็จที่สังคมมองมาจนอาจลืมหาความสุขแท้ๆ ในตัวเอง ไม่เชื่อว่าตัวเองคู่ควรกับความรักหากยังไม่สมบูรณ์แบบในสิ่งที่ตัวเองคาดหวังไว้ เชื่อว่าความรักมักต้องแลกมาด้วยผลประโยชน์เสมอ
เยียวยาเด็กคนนั้นด้วยตัวเราเอง
แม้เราจะย้อนเวลากลับไปแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นหรือบอกกับคนใกล้ตัวในตอนเด็กไม่ได้ แต่เราในวัยผู้ใหญ่ที่มีความตระหนักรู้และอำนาจในตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว การเยียวยา Inner Child หรือเด็กคนนั้นในตัวเรา ก็คือการ ‘Reparenting’ หรือทำตัวเองให้เป็นผู้ใหญ่ที่เราต้องการในตอนนั้น และดูแลปกป้องตัวเองเหมือนที่เด็กคนนั้นเคยต้องการ พร้อมบอกตัวเองว่า “ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ฉันจะอยู่กับเธอเสมอ”
เมื่อไหร่ก็ตามที่สัมผัสได้ว่าใจโดนกระทบจากพฤติกรรมหรือคำพูดของใครสักคน โดยเฉพาะคนที่เรามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งด้วย ให้ค่อยๆ ทำความเข้าใจว่า ‘Trigger’ หรือความรู้สึกโดนกระทบในตอนนั้น มันคือสัญญาณที่ดีที่ทำให้เราฉุกคิดว่าเราจะดูแลความเจ็บของเราในตอนนี้ที่มีผลพวงมาจากอดีตยังไงได้บ้าง
วิธีไหนที่เราเคยโดนกระทำแล้วมันทำให้เราชอกช้ำกว่าเดิม แล้วเราจะอ่อนโยนกับตัวเองในตอนนี้กว่าเดิมขึ้นได้อย่างไร สิ่งไหนบ้างที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยและได้รับการเห็นค่า จงทำมันเพื่อเปลี่ยนเส้นเรื่องของชีวิตที่ผ่านมา จดจำไว้ว่า เราคือคนที่สำคัญและพิเศษเสมอนะ
ยอมรับ ให้อภัยตัวเอง แล้วก้าวต่อไป
สำหรับผู้เขียนเองได้ใช้เวลาแทบทุกคืนในการเขียนจดหมายถึง ‘ตัวเองตอนวัยรุ่น’ เพื่อคอนเฟิร์มทุกสิ่งที่เราในตอนนั้นต้องการจะได้ยินและรับรู้ รวมถึงทำให้ Inner Child ของเรามั่นใจขึ้นว่า เราในปัจจุบันนี้จะไม่มีวันทอดทิ้งเขาไปไหน ไม่ว่าความรู้สึกของเขาจะดิ่งลงอย่างไร
หลายคนเลือกกลับไปพูดคุยกับตัวเองในตอนเด็ก บอกสิ่งที่เด็กคนนั้นอยากฟัง เช่น เมื่อเจอปัญหาอะไรก็บอกว่า “ไม่ว่าเธอจะพลาดขนาดไหน เธอคู่ควรแก่การเป็นที่รักเสมอ”
หลายคนตั้งใจปรับพฤติกรรมตัวเองที่เคยแสดงออกเมื่อรู้สึกโดนกระทบ เช่น จากที่เคยเป็นแต่ผู้ให้และคอยเอาใจอีกฝ่ายเสมอ เพื่อให้ได้ความรักจากเขามาแม้ตัวเองจะเหนื่อยแค่ไหน ก็กลายเป็นลองหยุดนิ่งๆ แล้วถามตัวเองดูว่า แล้วเราอยากได้คนแบบนี้มาเป็นคนรักไหม คนที่ไม่สนใจและเห็นเราเป็นตัวเลือกสุดท้ายในชีวิต ลองใช้ความกล้าที่จะปล่อยใครออกไปจากชีวิตเมื่อรู้แล้วว่าเขาไม่คู่ควร หรืออาจจะแค่นั่งนิ่งๆ เพื่อกอดตัวเองแน่นๆ นานๆ ให้ความอบอุ่นมันแผ่ชโลมอยู่จนทั่วร่าง
แน่นอนว่าบางครั้งเราอาจรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว รู้สึกไม่ยุติธรรมเลย ทำไมฉันต้องเยียวยาบาดแผลของฉันด้วยตัวเอง คนที่ทำฉันเจ็บเขาไม่ได้เดือดร้อนอะไร และไม่เห็นจะมาช่วยรับผิดชอบในสิ่งนี้
นี่มักเป็นสิ่งที่คนเจ็บต้องเจอ ใช่แล้ว เจ็บเองก็ต้องกู้ตัวเองกลับมาเอง แต่ความรู้สึกว่า เรานี่แหละที่เป็นฮีโร่ของตัวเอง การรู้ว่าเรามีพลังมากพอที่จะเยียวยาตัวตนของเราโดยไม่ต้องยึดติดกับใครแล้ว คือหนึ่งในความรู้สึกที่เป็นอิสระที่สุดในหัวใจ
เมื่อความสัมพันธ์กับตัวเองได้รับการเติมเต็ม ความสัมพันธ์กับผู้อื่นก็จะเฮลตี้และเบิกบานตามไปด้วย