เปลี่ยนที่ท่องเที่ยวตามแนวคิด Inclusive Tourism - Urban Creature

การท่องเที่ยวสำหรับหลายคนคือการพักผ่อน ปลดล็อกตัวเองออกจากพันธนาการในชีวิตประจำวัน แต่สำหรับผู้พิการ การท่องเที่ยวคือความลำบากอันยิ่งยวด

“อยากเห็นโบราณสถานว่าเป็นอย่างไรก็เห็นไม่ได้ แต่อยู่ด้านหน้า เพราะเราเข้าไปไม่ได้ อะไรอย่างนี้คือสิ่งพื้นฐานที่เราเจอประจำเวลาเที่ยว”

‘นำโชค เพชรแสน’ นักวิเคราะห์ข้อมูลและการสื่อสารดิจิทัลของโครงการอาสาสมัครแห่งสหประชาชาติและโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ เป็นคนที่มีใจรักในการเดินทางเป็นทุนเดิม ทว่าการออกเดินทางสำหรับเขาช่างเป็นเรื่องยาก ต้องคิดหนักหลายตลบ เนื่องจากสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งไม่ได้ไยดีกับตัวเขาที่เป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวและต้องใช้ชีวิตอยู่กับวีลแชร์

“ถ้าเป็นคนไม่พิการ อยากไปไหนก็เดินทางไปได้เลย แต่ผมเสียเวลามากนะ เพราะต้องหาข้อมูลดูว่าจะเดินทางไปสถานที่นั้นอย่างไร มีรถขนส่งสาธารณะที่ผู้พิการใช้ได้ไหม โรงแรมเป็นอย่างไร ทำการบ้านเยอะมาก หลายข้อมูลก็ไม่ได้มีในเว็บไซต์ทั่วไป ต้องเปิดดูวิดีโอรีวิวที่คนถ่ายไว้เพื่อให้รู้ว่าเราจะไปได้หรือเปล่า”

ชีวิตของนำโชคคงไม่ได้อยู่ในโหมด Very Hard ถ้าสภาพแวดล้อมที่ท่องเที่ยวไม่พิกลพิการ จนทำคนอย่างเขาต้องหนักใจทุกทีเวลาหอบเป้พเนจร และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้แนวคิด ‘Inclusive Tourism’ หรือ ‘การท่องเที่ยวที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ เป็นแนวคิดสำคัญที่ทุกคนควรคำนึง

Inclusive Tourism เพราะทุกคนควรได้ท่องเที่ยว

Inclusive Tourism หรือการท่องเที่ยวที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นแนวคิดที่มองว่าทุกคนสมควรเข้าถึงการท่องเที่ยวได้อย่างเท่าเทียม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ

ในปี 2565 UNICEF ประเมินว่า ประเทศไทยมีผู้พิการอยู่มากถึง 4.19 ล้านคน หรือกว่า 6 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั่วประเทศ หากสถานที่ท่องเที่ยวออกแบบมาโดยเห็นความสำคัญของผู้พิการ คนกว่าสี่ล้านคนก็จะไม่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง ได้เพลิดเพลินใจกับการท่องโลกเหมือนใครเขา

และไม่ใช่แค่ผู้พิการ เพราะแนวคิด Inclusive Tourism มองครอบคลุมคนทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ยิ่งประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ แนวคิดนี้ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นไปอีก จากข้อมูลระบบสถิติทางการทะเบียนในปี 2565 ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ประเทศไทยมีผู้สูงอายุมากถึง 12,116,199 คน หรือคิดเป็นกว่า 18.3 เปอร์เซ็นต์ การพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวให้เป็นมิตรกับคนทั้งมวล จะทำให้ประชากรผู้สูงอายุไทยไม่ต้องติดบ้านติดเตียงให้ห่อเหี่ยว แต่สามารถออกนอกบ้านไปใช้ชีวิต สูดอากาศสดชื่นให้กระชุ่มกระชวยใจ

เมื่อสถานที่ท่องเที่ยวโอบรับกับคนวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือใครก็ตาม โอกาสที่นักท่องเที่ยวจะมาเยี่ยมเยือนก็มีมากขึ้น และนั่นแปลว่าโอกาสที่เม็ดเงินจะไหลมาเทมายังสถานที่ท่องเที่ยวก็มีมากตาม ลองมาดูตัวอย่างไอเดียพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวไปพร้อมกัน เผื่อจะได้แนวทางปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่ท่องเที่ยว เพื่อให้ทุกคนได้ออกไปสัญจรอย่างสำราญ

ทางลาดเพื่อให้ผู้ใช้วีลแชร์ไปไหนได้สะดวก

Inclusive Tourism การท่องเที่ยว การออกแบบ universal design คนพิการ ผู้พิการ สถานที่ท่องเที่ยว

เนื่องจากผู้พิการที่นั่งวีลแชร์จะไม่สามารถขึ้น-ลงบันไดได้ ทางลาดเลยเป็นตัวช่วยสำคัญในการอำนวยผู้พิการให้ขึ้นพื้นที่ต่างระดับได้สะดวก แต่ไม่ใช่ว่าทางลาดจะชันหรือเล็กเท่าไหร่ก็ได้ เพราะถ้าทางลาดชันมากไป เล็กเกินไป ผู้พิการก็ใช้งานไม่ได้เหมือนกัน

กฎกระทรวง กำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 กำหนดมาตรฐานทางลาดว่า ต้องมีความลาดชันไม่เกิน 1 : 12 หรือว่าง่ายๆ คือ ถ้าไต่ระดับสูง 1 เมตร ความยาวระดับขนานพื้นของทางลาดจะต้องยาวมากกว่า 12 เมตร ไม่เพียงเท่านั้น พื้นผิวทางลาดต้องเป็นวัสดุที่ไม่ลื่น และมีความกว้างทางไม่น้อยกว่า 90 ซม.

นอกจากนั้นแล้ว ในกฎกระทรวงฯ ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับทางลาดไว้เพิ่มเติม หากต้องการสร้างทางลาดที่มั่นใจว่าผู้พิการใช้ได้จริง ก็เปิดกฎกระทรวงฯ เป็นมาตรฐานอ้างอิงให้อุ่นใจได้

แผ่นแกะสลักให้ผู้พิการทางสายตาได้สัมผัสสถาปัตยกรรม 

Inclusive Tourism การท่องเที่ยว การออกแบบ universal design คนพิการ ผู้พิการ สถานที่ท่องเที่ยว

“ทุกคนครับ นี่คือเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย ถ้าสังเกตจะเห็นว่าตัวองค์เจดีย์เป็นวงกลมเหมือนระฆังที่คว่ำอยู่”

เสียงไกด์พูดพลางชี้ไปที่เจดีย์ข้างหน้า ถ้าเป็นคนทั่วไป เมื่อมองไปที่เจดีย์ก็รู้ได้ว่า ‘องค์เจดีย์เป็นวงกลมเหมือนระฆังคว่ำ’ ที่ไกด์ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร แต่สำหรับผู้พิการทางสายตา คงยากที่จะจินตนาการเจดีย์ทรงระฆังขึ้นมาในหัว

ใช่ว่าผู้พิการทางสายตาจะนึกภาพสถาปัตยกรรมอันสวยงามนี้ไม่ได้เลย เพราะถ้าลองทำโมเดลแกะสลักจำลองตัวสถาปัตยกรรมดู ผู้พิการทางสายตาก็สามารถนึกภาพผ่านการลูบคลำจับต้องแผ่นแกะสลัก แม้จะมองด้วยตาไม่เห็น แต่ก็สัมผัสความงดงามของสถานที่ท่องเที่ยวได้ไม่ต่างกับคนตาดี

แม้ว่าแผ่นแกะสลักขนาดใหญ่จะทำให้ผู้พิการรับรู้รายละเอียดสถาปัตยกรรมได้ดีกว่า แต่ตัวแผ่นจะเทอะทะ ไม่เป็นมิตรกับไกด์ที่ต้องคอยขนแบกไปไหนต่อไหน ดังนั้นแล้วตัวแผ่นควรมีขนาดพอดีกับการแบกถือของไกด์ เพราะไกด์ก็เป็นหนึ่งในผู้ใช้งานแผ่นแกะสลักเช่นกัน การท่องเที่ยวที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังต้องใส่ใจกับคนทุกกลุ่ม รวมไปถึงคนให้บริการด้วย

อัปโหลดภาพหรือวิดีโอสิ่งอำนวยความสะดวกในที่ท่องเที่ยว

Inclusive Tourism การท่องเที่ยว การออกแบบ universal design คนพิการ ผู้พิการ สถานที่ท่องเที่ยว

ยังไม่ทันก้าวขาออกจากบ้านไปที่ท่องเที่ยว ผู้พิการก็เผชิญความยากลำบากตั้งแต่ตอนเตรียมตัว แม้ในอินเทอร์เน็ตจะมีข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ร้านค้า ห้องน้ำ แต่น้อยครั้งที่จะมีข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกผู้พิการ เช่น ทางลาด ห้องน้ำผู้พิการ หรือปุ่มเตือนภัย ก่อนจะออกจากบ้านไปเที่ยวที ผู้พิการจึงต้องทำการบ้านอย่างหนัก ค้นเว็บนู้นที เว็บนี้เพิ่ม เพื่อให้มั่นใจว่าเวลาถึงจุดหมายแล้วจะได้ท่องเที่ยวแบบไร้กังวล

เพราะฉะนั้นคงจะดีกว่าหากมีข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกผู้พิการอยู่บนอินเทอร์เน็ต การสร้างแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลสำหรับผู้พิการเป็นไอเดียที่น่าสนใจ แต่ระหว่างรอให้แพลตฟอร์มเกิดขึ้น อีกตัวเลือกที่ทำได้เลยคือการอัปโหลดรูปภาพหรือวิดีโอสิ่งอำนวยความสะดวกลงไปบนแพลตฟอร์มที่ผู้คนนิยมใช้งาน เช่น Google Maps หรือเพจ Facebook เพื่อให้ค้นหาข้อมูลได้ง่ายดายขึ้น การอัปโหลดข้อมูลเป็นรูปภาพหรือวิดีโอ ช่วยยืนยันให้ผู้พิการมั่นใจว่าสถานที่นั้นจะมีโครงสร้างกับเครื่องมืออุปกรณ์รองรับจริงๆ

เวลาอัปโหลดภาพ ถ้าแพลตฟอร์มไหนมีให้กรอก Alt Text หรือ Alternative Text ก็อย่าลืมกรอกเข้าไปด้วย เพราะ Alt Text คือคำอธิบายภาพที่ติดอยู่กับรูปภาพในโลกอินเทอร์เน็ต เวลาผู้พิการทางสายตาใช้งานสมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์ ระบบปฏิบัติการจะสามารถอ่าน Alt Text ออกมาเป็นเสียง ถ้าเรากรอก Alt Text เขียนอธิบายรายละเอียดภาพ ผู้พิการจะรับรู้ว่าภาพนั้นคือภาพอะไรแม้จะมองไม่เห็นก็ตาม

ระบบขนส่งมวลชนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

Inclusive Tourism การท่องเที่ยว การออกแบบ universal design คนพิการ ผู้พิการ สถานที่ท่องเที่ยว

เมื่อเดินทางไปท่องเที่ยวแล้วต้องการประหยัด ขนส่งมวลชนคือทางเลือกที่หลายคนมองหาเวลาเดินทาง เพราะขนส่งมวลชนมีราคาย่อมเยา ทว่าขนส่งมวลชนตามสถานที่ท่องเที่ยวในไทยมักไม่เป็นมิตรกับการใช้งานของผู้พิการ อย่างรถเมล์ที่ไม่มีทางลาดให้ผู้พิการเข็นวีลแชร์ขึ้นไปได้

การปรับปรุงขนส่งมวลชนให้ผู้พิการเข้าถึงได้สามารถทำได้ในหลายมิติ เช่น การทำที่นั่งสำหรับผู้พิการให้กว้างขวางพอคนนั่งวีลแชร์ ตระเตรียมพื้นผิวต่างสัมผัสบริเวณทางขึ้น-ลงรถ อำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตา ประตูรถที่กว้างเพียงพอกับวีลแชร์ เป็นต้น

นอกจากตัวรถโดยสาร สถานีพักคอยรถก็ควรออกแบบมาให้ผู้พิการใช้งานอย่างเหมาะสม ด้วยการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ทางลาด ราวจับ พื้นผิวต่างสัมผัส ซึ่งดูรายการสิ่งอำนวยความสะดวกที่ควรจัดให้มีเพิ่มเติมได้ใน ‘กฎกระทรวง กำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ หรือบริการสาธารณะอื่น เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ. 2555’

ปรับ Mindset คนบริการให้เป็นมิตร

Inclusive Tourism การท่องเที่ยว การออกแบบ universal design คนพิการ ผู้พิการ สถานที่ท่องเที่ยว

ถ้าหากเข็นวีลแชร์ไปเที่ยวสักที่ แล้วเจอคนขายตั๋วพูดใส่ว่า “จะมาทำไมให้ลำบากเนี่ย” หัวใจที่กำลังพองโตกับการเดินทางก็กลายมาห่อเหี่ยว ไม่อยากจะออกไปไหนอีกแล้ว

การเตรียมสถานที่ท่องเที่ยวให้เป็นมิตรกับคนทั้งมวลเป็นมากกว่าการปรับเปลี่ยนสิ่งที่จับต้องได้อย่างทางลาดหรือข้อมูลดิจิทัล แต่รวมไปถึงสิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่าง Mindset หรือทัศนคติของคนให้บริการด้วย

สายตาของคนให้บริการที่ดูแคลน คืออุปสรรคการท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้บันไดที่ไม่มีทางลาด หากพนักงานมองผู้พิการว่าเป็นคนเท่ากัน มีความปรารถนาอยากเดินทางเหมือนคนอื่นๆ และปฏิบัติต่อผู้พิการไม่ต่างกับคนทั่วไป ผู้พิการก็จะท่องเที่ยวอย่างอุ่นใจ

จัดกิจกรรมกระตุ้นให้เห็นว่ามีผู้พิการอยากเที่ยวเหมือนกัน 

Inclusive Tourism การท่องเที่ยว การออกแบบ universal design คนพิการ ผู้พิการ สถานที่ท่องเที่ยว

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขแหล่งท่องเที่ยวกันด้วย ในเมื่อไม่เห็นมีผู้พิการออกมานอกบ้านกันเท่าไหร่ แต่ความจริงแล้วมีผู้พิการอีกเยอะที่อยากก้าวขาจากประตูบ้านมาสำรวจโลกกว้าง เพียงแต่สภาพแวดล้อมด้านนอกไม่เอื้ออำนวยจนตัดสินใจไม่ออกมา

เพื่อให้คนทั่วไปเห็นว่ายังมีผู้พิการอยากใช้ชีวิตนอกบ้าน การจัดอีเวนต์เป็นหนึ่งหนทางที่ทำได้ ยกตัวอย่าง งาน ‘วิ่งด้วยกัน’ ที่มูลนิธิด้วยกัน เพื่อคนพิการและสังคม จัดเป็นทุกปี โดยเปิดโอกาสให้ผู้พิการได้วิ่งรวมกันกับคนไม่พิการ

นอกจากจะเป็นพื้นที่ให้ฟิตร่างกาย งานนี้ก็เป็นเวทีที่แสดงให้เห็นว่า มีผู้พิการอีกมากมายที่ต้องการออกมาวิ่งนอกบ้านไม่ต่างกับคนทั่วไป และการวิ่งก็เป็นกิจกรรมที่ผู้พิการทำได้ ไม่ต่างกับคนไม่พิการ

ออกแบบร่วมกับผู้พิการเพื่อพิสูจน์ว่าเวิร์กจริง

จริงอยู่ที่มีกฎหมายและมาตรฐานบอกว่าต้องตระเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกไว้อย่างไร ผู้พิการถึงจะสามารถใช้งานได้จริง ถึงอย่างนั้น การชวนผู้พิการมาร่วมออกแบบตั้งแต่ต้น อาจทำให้ได้เห็นแง่มุมที่มากไปกว่าตัวเลขความกว้างความยาวมาตรฐานที่ระบุไว้ในแผ่นกระดาษ

ยกตัวอย่าง การปรับปรุงทางลาดที่ศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์เมืองสุโขทัย ที่ UNDP Accelerator Lab ประเทศไทย ได้เข้าไปนำร่องพัฒนาร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)

“ทางลาดที่เราลองแก้ไขจากทางลาดเดิม เราเน้นปรับปรุงให้ความลาดชันได้มาตรฐาน เราเลยทำทางลาดใหม่ให้ยาวขึ้น มีความชันเหมาะสม” พัทธมน รุ่งชวาลนนท์ Head of Solutions Mapping จาก UNDP Accelerator Lab Thailand เล่า

“เหมือนจะดี แต่พอทางลาดยาวขึ้น ทางเลยต้องพาดยาวจากด้านหน้าอาคารไปด้านข้าง พอผู้พิการมาลองใช้แล้วรู้สึกแปลกแยกกับคนอื่น เพราะเขาต้องอ้อมไปขึ้นตึกจากข้างหลัง เวอร์ชันต่อมาเลยปรับให้อยู่ทางเข้าด้านหน้าทั้งหมด ทำให้ทุกคนใช้งานร่วมกันได้โดยไม่รู้สึกแตกต่าง

“ถ้าเราทำเองโดยไม่เอาผู้ใช้งานจริงมาร่วมออกแบบ ของที่ออกมาก็จะถูกๆ ผิดๆ ไม่ได้เกิดจากความเข้าใจจริง เพราะท้ายที่สุดแล้ว เวลาสร้างออกมา คนทำต้องได้ใช้ และคนใช้ต้องได้ทำด้วย”

ท้ายที่สุดแล้ว ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยหลายอย่างที่ต้องคำนึงเพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นไปโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งมิติความพิการที่หลากหลาย การเคลื่อนไหว สายตา การได้ยิน จิตใจ หรือสติปัญญา กระทั่งการเชื่อมต่อภาคส่วนธุรกิจต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่น ร้านอาหาร โรงแรม เพื่อทำให้ประสบการณ์การท่องเที่ยวราบรื่นทุกจุด เพราะฉะนั้นแล้ว การพัฒนาที่ท่องเที่ยวเลยต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากคนหลายฝ่าย มาช่วยคิด ระดมสมอง เพื่อให้จุดมุ่งหมายนั้นเป็นมิตรกับคนทุกกลุ่ม

เพราะทุกคนสมควรได้มีความสุขกับการท่องเที่ยว


Source :
UNDP | bit.ly/4d2UdSH

ผลงานชิ้นนี้ผลิตภายใต้โครงการ UNDP Media Fellowship on Sustainable Development และผลิตโดยผู้เข้าร่วมที่ผ่านโครงการ UNDP Media Fellowship on Sustainable Development

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.