ภาชนะกรีนจากแกลบเหลือทิ้ง รักษ์โลก ช่วยชาวนาไทย - Urban Creature

“สิ้นเดือนกินแกลบ”

ช่วงใกล้สิ้นเดือนมนุษย์งานทั้งหลายคงคุ้นเคยกับสำนวนนี้ ซึ่งเปรียบเปรยถึงยามยากที่ไม่มีเงินซื้อข้าวจนต้องกินแกลบ แกลบที่ดูไร้ค่ามีประโยชน์อย่างมากก็แค่เป็นส่วนผสมในข้าวหมู เราเองก็นึกไม่ถึงว่าจะเพิ่มมูลค่าได้อย่างไร แต่เมื่อเราได้มาเจอภาชนะรูปทรงเก๋ในชื่อแบรนด์ ‘Husk Décor Objects’ ที่ดึงดูดให้เราหยิบขึ้นมาดูใกล้ๆ ก็พบว่ามันทำมาจากแกลบ !  

เราเดินทางมาถึงออฟฟิศ SONITE Innovative Surfaces ผู้อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์รักษ์โลกนี้ ที่ไม่ได้ทำแค่ภาชนะจากแกลบเท่านั้น !  หากยังนำวัสดุเหลือทิ้งหลากหลายชนิด มาทดลองเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาให้เป็นชิ้นเป็นอัน ไล่ตั้งแต่เศษจากโรงงาน กากกาแฟ ใยมะพร้าว เปลือกไข่ ขยะพลาสติกในทะเล ไปจนธนบัตรชำรุด

ถ้าสงสัยว่าที่นี่ทำอะไร ถึงเปลี่ยนวัสดุที่คนมองข้ามหรือเรียกว่าขยะให้กลับมามีค่าได้ ‘คุณวิว – ไพรพรรณ วิเศษจินดา’ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ จะมาเผยแนวคิดของ SONITE ก่อนไปเจาะลึกทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

จุดเริ่มจากอุตสาหกรรม

ใครมาเยี่ยม SONITE เป็นครั้งแรกคงแปลกใจที่ออฟฟิศอยู่ในอาณาจักรโรงงาน ‘ซิปวีนัส’ ซึ่งผลิตพวกซิป กระดุม ด้าย ไหมพรม ที่เราคุ้นตาในร้านเย็บปักถักร้อย คุณวิวไขข้อข้องใจว่า SONITE แตกไลน์มาจากบริษัทสหยูเนี่ยนที่ทำเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผลิต ‘โมเซก’ ที่ใช้ในงานประดิษฐ์อย่างกรอบรูป หรือเครื่องประดับ จนพัฒนาเป็นวัสดุตกแต่งบ้านในปัจจุบัน

หลายคนฟังแล้วคงนึกไม่ออกว่า อะไรคือแรงบันดาลใจให้ SONITE หันมาทำผลิตภัณฑ์รักษ์โลก คุณวิวเล่าย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เธอได้พบกับ ‘ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต’ หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ที่จุดประกายให้ SONITE เล็งเห็นว่า เศษวัสดุที่เหลือจากโรงงานควรนำมาต่อยอดดีกว่าทิ้งให้เสียเปล่า


โจทย์ที่ 1 : เศษกระดุม


เศษพลาสติกที่เหลือจากการผลิตกระดุมหรือโมเสก เดิมทีที่นำไปทิ้งก็นำมาแปลงร่างเป็น ‘หินสังเคราะห์’ ปกติร้านอาหารหรือโรงแรมจะใช้หินสังเคราะห์ดีไซน์เรียบๆ มาทำเคาน์เตอร์ แต่ SONITE สร้างความแตกต่างด้วยการนำเศษเล็กเศษน้อยจากโรงงานมาประกอบกันเป็นลวดลายที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งทดแทนโพลิเมอร์ได้ถึง 40%

หลังจากประสบความสำเร็จไอเดียนี้ก็ไปเข้าหู ‘Starbucks Thailand’ ที่ตอนนั้นกำลังประสบปัญหา ‘กากกาแฟ’ เหลือทิ้งกองโต แม้จะแจกลูกค้านำกลับไปทำปุ๋ยใส่ต้นไม้ที่บ้าน แต่แจกเท่าไหร่ก็ไม่หมด SONITE จึงแปลงโฉมโต๊ะและเคาน์เตอร์ในร้านจากที่เคยใช้ไม้ก็เปลี่ยนมาใช้วัสดุจากกากกาแฟ ลามไปถึงถาด และจานรองแก้ว

โจทย์ที่ 2 : แกลบ


เมื่อได้โจทย์ใหม่ให้หา “วัสดุธรรมชาติที่เหลือทิ้ง มีตลอด มีจำนวนมาก และหาได้ในประเทศไทย” SONITE ใช้เวลาขบคิดอยู่นานถึง 2 ปี กว่าจะได้ไอเดียจากข้าวที่เรากินกันทุกวัน กระทั่งได้สารตั้งต้นเป็น ‘แกลบ’ ซึ่งสาเหตุที่ต้องเป็นแกลบคุณวิวตอบว่า จุดประสงค์หลักคือได้ช่วยเกษตรกร และหากย้อนไปดูต้นตอของมลพิษทางอากาศ จะพบว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่ชาวนากำจัดแกลบด้วยการเผาเป็นจำนวนมาก มันจึงได้ช่วยทั้งชาวนาและสิ่งแวดล้อม

“ช่วยชาวนาเพิ่มรายได้ ช่วยโลกลด PM 2.5”


‘โรงสี’ สู่โปรดักท์

คุณวิวยอมรับว่าไม่รู้จะตั้งต้นอย่างไรในตอนแรก จึงติดต่อซื้อแกลบจากพ่อค้าคนกลาง แต่เมื่อสามารถเข้าถึงชาวนาตัวเล็กๆ ก็พยายามเสาะหากลุ่มชาวนาในหลายพื้นที่ เพราะเชื่อว่ารายได้จะกระจายไปถึงพวกเขามากกว่าการขอซื้อจากนาของนายทุน ความยากคือชาวนาน้อยคนจะมีเครื่องสีข้าวเป็นของตัวเอง บางคนปลูกข้าวแต่ต้องไปซื้อข้าวกิน การจะหาแกลบได้จึงต้องอาศัยบอกกันปากต่อปาก

พอได้แกลบมาแล้วก็ต้องทำความสะอาด เพราะเปลือกข้าวที่เก็บไว้ในโรงสีจะมีแมลงตัวเล็กๆ ปะปนอยู่ถึง 5% จึงต้องใช้เครื่องร่อนเพื่อกรองออกก่อน เสร็จแล้วนำไปตากแดดไล่ความชื้นและเชื้อรา ตบท้ายด้วยการเข้าเครื่องอบ เพื่อให้มั่นใจว่าผ่านการพาสเจอร์ไรส์แล้ว และเก็บไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ก่อนนำมาประกอบร่างด้วย ‘โพลิเมอร์’ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวประสานและขึ้นรูปให้มีความคงทน แม้แกลบจะแทนที่พลาสติกไม่ได้ 100%  แต่อย่างน้อยลดปริมาณพลาสติกได้สักครึ่งหนึ่ง ยังดีกว่าใช้พลาสติกล้วนๆ

‘โพลิเมอร์’ ไม่ใช่ผู้ร้าย


หลายคนมองว่าโพลิเมอร์ หรือ ‘พลาสติก’ สวนทางกับแนวคิดรักษ์โลก คุณวิวให้เหตุผลว่า คำว่า ‘Biodegradable’ หรือ ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ นั้นเป็นหลุมพลางเพราะมันใช้ได้ครั้งเดียวแต่กว่าจะย่อยสลายต้องใช้เวลาอีก 20 ปี 

คำถามคือทำอย่างไรถึงจะใช้พลาสติกอย่างคุ้มค่า ?  อีกหนึ่งสมการที่เข้ามาเติมเต็มคือ “ต้องนำกลับมาใช้ได้อีก”  คุณวิวยกตัวอย่างจากที่ทำงานร่วมกับ ‘Bangkok Airways’ ซึ่งมีกฎว่าถาดเสิร์ฟต้องใช้วนไม่เกิน 3-5 ปี โดยปกติถาดพลาสติกที่ครบกำหนดก็จะถูกโละทิ้ง แต่ถาดจาก SONITE สามารถทำความสะอาดแล้วส่งกลับมาบดเป็นเศษเพื่อนำไปขึ้นรูปใหม่ ซึ่งคุณวิวเรียกกระบวนการรีไซเคิลนี้ว่า “เศษต่อเศษ”

‘ความเรียบง่าย’ ที่มาพร้อมฟังก์ชัน


ไม่เพียงผิวสัมผัสที่มีเสน่ห์แบบคราฟต์ๆ และกลิ่นอายท้องถิ่นที่สะท้อนออกมาเป็นอย่างดี ความเรียบง่าย เข้าได้กับทุกสไตล์ และใช้ได้ไม่เบื่อ ก็ทำให้หลายคนอยากซื้อกลับไปใช้บ้านได้ไม่ยาก แถมยังมีหลายแบบหลายไซซ์ให้เลือก ไม่ว่าจะเป็น ถาดกลม ถาดเหลี่ยม จานข้าว จานรองแก้ว กระปุกใส่ของ และกระถางต้นไม้ใบจิ๋ว

ผลิตภัณฑ์จากแกลบดูเหมือนจะยังไม่มีขีดจำกัด เพราะดีไซน์สุดโมเดิร์นนี้ไปเข้าตา ‘โรงแรมสินธร เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ’ ที่แกลบบ้านๆ ได้กลายเป็นเซ็ตน้ำชายามบ่ายสุดหรู ในชื่อ ‘ชีวา’ Chevaa Afternoon Tea

‘ต่อยอด’ วัสดุใกล้ตัว

อย่างที่บอกไปตอนแรกว่า SONITE ไม่ได้หยุดอยู่แค่เศษจากโรงงาน กากกาแฟ และเปลือกข้าว หากยังมีโจทย์ใหม่ๆ เข้ามาท้าทายเสมอ อย่าง ‘ธนบัตร’ ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน รู้หรือเปล่าว่า ในแต่ละเดือนจะมีธนบัตรขาดหรือชำรุดกว่า 3,000 ตัน มากองไว้ที่แบงค์ชาติ ซึ่งธนบัตรเหล่านี้ไม่ใช่กระดาษทั่วๆ ไป แต่เป็นไนลอนที่มีความแข็งแรงและทำลายยากมาก จึงต้องใช้การเผาอย่างถูกวิธี SONITE จึงเปลี่ยนธนบัตรชำรุดเหล่านี้ให้กลับมามีมูลค่าอีกครั้ง กลายมาเป็นโปรดักท์ที่ยังคงสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ของธนบัตรไว้

และวัสดุน้องใหม่อย่าง ‘ใยมะพร้าว’ ที่คุณสมบัติของมันคือความเหนียว ส่วนใหญ่เอาไปปลูกต้นไม้ ใช้เป็นส่วนผสมในการถมที่ หรือทำฟูกที่นอน แต่ด้วยเส้นใยที่มีขดสวยงามตามธรรมชาติ SONITE จึงหยิบมาดีไซน์ใหม่และใส่สีสันให้สนุกขึ้น

‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ ต้องรู้ว่า ‘ต้นน้ำ’ สำคัญ

เราทิ้งท้ายคำถามว่า อุตสาหกรรมแบบไหนที่จะยั่งยืนต่อไปในอนาคต ?  คีย์เวิร์ดสั้นๆ จากคุณวิวคือ ‘Circular Economy’ ที่คุณวิวมองย้อนกลับไปที่ต้นน้ำว่าจะต้องเดินไปด้วยกัน ยิ่งเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ทำให้คนระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แนวคิดนี้จะยิ่งชัดขึ้นเรื่อยๆ

“เรามีนโยบายขั้นสูงสุดว่า ทำอย่างไรให้ไม่ต้องนำเข้าวัสดุจากนอกประเทศเลย
ตอนนี้เรายังต้องพึ่งจีน พึ่งไต้หวัน แต่วันหนึ่งเราจะสามารถผลิตโพลิเมอร์ของไทยได้เอง”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.