ปตท.สผ. โครงการแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเล - Urban Creature

คลายล็อกดาวน์แล้วไปไหนดี?

ปลายปีแบบนี้ เมืองต่างๆ เริ่มมีแสงสีรับช่วงเวลา Festive ของปี ฤดูกาลแห่งชีพจรลงเท้าเริ่มสะกิดเรายิกๆ ว่าวันหยุดยาวใกล้เข้ามาทุกทีแล้วนะแก และเชื่อเลยว่าหลังจากเก็บตัวอยู่บ้านมาเป็นปีๆ หลายๆ คน (รวมตัวเราเองด้วย) ก็อยากปลีกตัวออกจากเมืองที่แสนวุ่นวาย ไปเที่ยวชิลๆ พาตัวไปแนบชิดธรรมชาติ ที่ตัวเลือกต่อคิวตบเท้าเข้าหายาวเหยียด ไม่ว่าจะเป็นเดินป่า เยี่ยมชมอุทยานฯ แคมป์ปิ้ง รวมไปถึงกิจกรรมยอดนิยมอย่าง ‘ดำน้ำ’ ซึ่งบรรยากาศดีๆ แบบตอนนี้น่าจะทำให้บางคนอดใจไม่ไหว อยากวาร์ปไปทะเลเดี๋ยวนี้เลย! เพื่อสัมผัสประสบการณ์ใต้น้ำ ส่องปะการัง และแหวกว่ายน้ำใสร่วมกับสัตว์น้ำน้อยใหญ่ ซึ่งประเทศไทยของเราก็มีแหล่งดำน้ำหลายแห่งที่เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ 

ไหนๆ จะแนะนำทั้งที เราเลยขอชวนสาวๆ หนุ่มๆ ผู้นิยม Sea Sand Sun ไปเยือนหนึ่งในแหล่งดำน้ำที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง ‘เรือหลวงปราบ-เรือหลวงสัตกูด’ แหล่งดำน้ำที่สร้างขึ้น ‘โดยมนุษย์’ ในจังหวัดชุมพรและจังหวัดสุราษฎร์ธานี 

ก่อนที่ใครจะกดจองตั๋ว Urban Creature ขอนำหน้าพาทุกคนดำดิ่งลงใต้ทะเล ที่นี่จะสวยงามและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำมากขนาดไหน ไปติดตามกันได้เลย!

PTTEP

เมื่อปะการังเปลี่ยนสี

ตอนนี้หลายคนคงกังวลเรื่อง ‘โลกร้อน’ และอยากหาที่เที่ยวทางธรรมชาติที่ทั้งสวยและแคร์สิ่งแวดล้อม ซึ่งในไทยเองก็มีแหล่งท่องเที่ยวแบบนี้เหมือนกัน

‘เรือหลวงปราบ-เรือหลวงสัตกูด’ แหล่งดำน้ำที่มีชื่อเสียงระดับโลก เป็นอีกเป้าหมายของนักดำน้ำทั้งหลาย ความน่าสนใจก็คือ ที่นี่เป็นแหล่งดำน้ำทดแทน ที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ ที่จะช่วยดึงนักดำน้ำออกจากแนวปะการังธรรมชาติ เพื่อให้แนวปะการังและระบบนิเวศทางทะเลได้ฟื้นตัว เรียกได้ว่าเป็นการปกป้องสิ่งแวดล้อม และยังกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวน้อยที่สุดด้วย

จากการริเริ่มของ ปตท.สผ. และความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กองทัพเรือ จังหวัดชุมพรและจังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมอุทยานแห่งชาติฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และตัวแทนผู้ประกอบการและชุมชนในพื้นที่ ได้ช่วยกันผลักดันโครงการแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเล ให้เกิดขึ้น โดยการนำเรือหลวงปลดประจำการทั้ง 2 ลำ มาวางที่ใต้ท้องทะเลในปี 2554

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เกิดขึ้นหลังจากในปี 2553 น้ำทะเลไทยมีอุณหภูมิสูงเกิน 30.5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้มหาสมุทรเกิดปรากฏการณ์ ‘ปะการังฟอกขาว’ เมื่อน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น ปะการังจะปล่อยสาหร่ายเซลล์เดียว ‘ซูแซนเทลลี’ (Zooxanthellae) ออกมาจากเนื้อเยื่อ จนทำให้ปะการังเปลี่ยนเป็นสีขาว และตายในที่สุด

PTTEP

‘เรือหลวงปราบ’ และ ‘เรือหลวงสัตกูด’ ที่นำมาวาง เป็นเรือรบปลดประจำการได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือ เหตุผลที่ใช้เรือสองลำนี้ก็เพราะเกียรติภูมิและขนาดของเรือที่มีความเหมาะสมสำหรับนำมาวางเป็นปะการังเทียมเพื่อเป็นแหล่งดำน้ำสำหรับนักท่องเที่ยว การวางเรือจึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่มนุษย์จะช่วยกอบกู้และรักษาสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลไว้

สองเรือหลวงในห้วงท้องทะเล

เรื่องการวางเรือ ไม่ใช่ว่าจะวางตรงไหนก็ได้นะ เพราะต้องเลือกพื้นที่วางเรือที่ “หนึ่ง” จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดกับแนวปะการังได้จริง “สอง” ต้องอยู่ในตำแหน่งที่นักดำน้ำเดินทางมาได้สะดวก และ “สาม” อยู่ไม่ไกลจากแนวปะการังท่องเที่ยวจุดเดิมมากเกินไป

และที่สำคัญ พิกัดวางเรือต้องคำนึงถึงความปลอดภัยต่อกิจการทางทะเลด้วย ไม่ให้กระทบการประมง การเดินทางสัญจรทางน้ำ และการเดินทางในอนาคต

หลังจากพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน คณะทำงานจึงตัดสินใจวางเรือหลวงปราบที่ ‘เกาะง่ามน้อย’ จังหวัดชุมพร และวางเรือหลวงสัตกูดที่ ‘เกาะเต่า’ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เหตุผลที่เลือกวางไว้คนละที่ก็เพราะการวางเรือทั้งสองลำมีจุดประสงค์หลักแตกต่างกัน อยากรู้แล้วใช่มั้ยล่ะ…

PTTEP
PTTEP

เรือหลวงปราบถูกวางที่เกาะง่ามน้อย ซึ่งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ที่นี่มีหน่วยงานกำกับดูแล เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาจำนวนมหาศาล และยังเป็นแหล่งดำน้ำยอดนิยมของชุมพร ซึ่งจะช่วยดึงดูดผู้คนออกจากแนวปะการังธรรมชาติได้

ส่วนเรือหลวงสัตกูดถูกนำไปวางไว้ที่เกาะเต่า เพื่อดึงคนออกมาจากแนวปะการังธรรมชาติ เพราะเกาะเต่ามีแนวปะการังจำกัดและมีการเรียนการสอนดำน้ำเยอะมาก โดยตำแหน่งวางเรือหลวงสัตกูดก็คือบริเวณใกล้กองหินขาว จุดดำน้ำสำคัญทางทิศตะวันตกของเกาะเต่า และยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์เกาะติดจำนวนมาก อย่างเช่น ปะการัง เห็ดทะเล ดอกไม้ทะเล กัลปังหา ปะการังดำ และฟองน้ำ

แหล่งดำน้ำทดแทนที่ฟื้นฟูระบบนิเวศใต้น้ำ

หากใครไปสัมผัสโครงการแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเลก็จะพบว่า ที่นี่เป็นจุดดำน้ำที่มีคุณค่าด้านความสวยงามและความสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลอย่างแท้จริง เพราะหลังจากวางเรือเมื่อ 10 ปีที่แล้วจวบจนถึงปัจจุบัน ชนิดของสัตว์น้ำและสัตว์เกาะติดก็เพิ่มขึ้น 60 – 70 ชนิดเลย 

โดยเฉพาะเรือหลวงปราบ จังหวัดชุมพร ที่มีสัตว์เกาะติด เช่น ปะการัง ฟองน้ำ ดอกไม้ทะเล รวมไปถึงสัตว์หายากเช่นปะการังดำเติบโตในบริเวณลำเรือมากขึ้น ที่น่าตื่นเต้นก็คือ นักดำน้ำมีโอกาสได้ทักทายกับฉลามวาฬยักษ์ด้วยนะ เพราะฉลามวาฬมักแวะเวียนมาที่เรือลำนี้บ่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน 

PTTEP
PTTEP

ส่วนที่เรือหลวงสัตกูด จังหวัดสุราษฎร์ธานี แม้จะมีจำนวนสัตว์น้ำน้อยกว่าที่เรือหลวงปราบ เนื่องจากเกาะเต่ามีนักดำน้ำหนาแน่น ตะกอนจึงฟุ้งกระจายและรบกวนสัตว์เกาะติด แต่นักดำน้ำส่วนใหญ่ก็พอใจกับการดำน้ำที่นี่ เพราะทั้งแปลกตาและอยู่ใกล้กับจุดดำน้ำอื่นๆ มากไปกว่านั้น การดำน้ำที่นี่ยังปลอดภัย ถ้าเกิดคลื่นลมระหว่างลงเรือมาดำน้ำ เรือก็แล่นเข้าสู่เกาะเต่าได้อย่างรวดเร็ว

แม้จำนวนสัตว์น้ำและชนิดของปลาบริเวณเรือทั้งสองลำจะมีต่างกันอยู่บ้าง แต่รับรองได้ว่า ทั้งสองที่นั้นจะเปิดโอกาสให้นักดำน้ำสำรวจปะการังบริเวณเรือหลวงไปพร้อมๆ กับฝูงปลาน้อยใหญ่แน่นอน

PTTEP

แหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเลประสบความสำเร็จและได้รับผลตอบรับดีมาก เห็นได้จากเรือหลายลำที่พานักท่องเที่ยวแวะเวียนมาดำน้ำชื่นชมความงดงามของธรรมชาติใต้ทะเล ไหนจะยังมีนักเรียนดำน้ำที่เข้ามาใช้พื้นที่เป็นสนามสอบดำน้ำ จนที่นี่กลายเป็นแหล่งดำน้ำยอดนิยมที่ทั่วโลกรู้จัก

เมื่อมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้น เศรษฐกิจในพื้นที่ก็ดีขึ้นตามไปด้วย ในแต่ละปีเรือหลวงทั้งสองลำสร้างรายได้ให้ชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่มากกว่า 59 ล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ กว่า 28,000 คนต่อปี เรียกได้ว่านอกจากปกป้องสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูระบบนิเวศ โครงการนี้ยังมีส่วนช่วยตอบแทนสังคมอีกด้วยนะ

PTTEP

แหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเลนี้ จึงเป็นอีกจุดหมายปลายทางที่ควรค่าแก่การแพ็กกระเป๋า เตรียมครีมกันแดด ชุดว่ายน้ำ ให้พร้อม แล้วไปกระโจนลงน้ำทะเลสีใสด้วยกัน! 

ใครที่เคยไปดำน้ำที่เรือหลวงปราบหรือเรือหลวงสัตกูดมาแล้ว ก็คงจะนึกภาพความสวยงามและบรรยากาศใต้ท้องทะเลตามได้ไม่ยาก ส่วนใครที่ยังไม่เคยไป ขอแอบกระซิบไว้เลยว่า ลองไปสัมผัสความน่าอัศจรรย์ของปะการังโดยฝีมือมนุษย์ในทะเลไทยสักครั้ง รับรองว่าจะเป็นประสบการณ์ที่เปรียบเสมือนการไปเยือนโลกอีกใบใต้ท้องทะเลแน่นอน

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.