ฟังเสียง ความเจ็บปวดของคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ - Urban Creature

วันที่ 25 ตุลาคม 2564 เป็นวันครบรอบ 17 ปี ของเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส หนึ่งในโศกนาฏกรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมให้กับชีวิตของผู้คนมาจนถึงทุกวันนี้

เป็นเวลากว่า 17 ปีแล้ว ที่สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ยังคงคุกรุ่นเสมอมา และ 17 คือจำนวนปีทั้งหมดที่รัฐไทยตัดสินใจใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ ก่อนปรับเป็นการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 ซึ่งยังคงถูกบังคับใช้ และต่ออายุทุกๆ 3 เดือนจนกระทั่งปัจจุบัน

และช่วงเวลาอันยาวนานนี้เองที่ผู้คนในพื้นที่สามจังหวัดฯ ไม่เคยได้เลือกกำหนดชีวิตตัวเอง และอยู่ภายใต้ความ ‘ผิดปกติ’ จนกลายเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ นำมาสู่คำถามสำคัญที่ว่าเราทุกคนเคยรู้ไหมว่า #คนที่สามจังหวัดเป็นยังไงบ้าง

ในมุมมองของคนเมืองอย่างเราๆ สิ่งที่นึกถึงเมื่อพูดถึงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือคำว่า ‘ความรุนแรง’ ที่เกือบทั้งหมดระบุไม่ได้ชัดเจนว่า ความรุนแรงนี้เกิดจากใคร? ฝ่ายใดเป็นผู้กระทำผิด? หรือควรมีทางออกร่วมกันอย่างไร? ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงอยู่ภายใต้พื้นที่สีเทาที่คลุมเครือ

เพื่อให้สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกพูดถึง ทำความเข้าใจ และร่วมหาทางแก้ไขมากขึ้น ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ (Peace Resource Collaborative; PRC) จึงอยากให้ทุกคนเริ่มต้นรับฟัง ‘เสียง’ ของผู้คนที่หลากหลายในพื้นที่ เพราะหากในตอนนี้คุณยังไม่รู้จะยืนอยู่ข้างใคร ก็ขอให้ยืนข้าง ‘ความเป็นมนุษย์’

Glow Story และ PRC จับมือกันทำเว็บไซต์ เพื่อร่วมรับฟังเรื่องราวและ ‘เสียง’ จากผู้คนหลากหลายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ร่วมยืนอยู่ข้างความเป็นมนุษย์กับ #คนที่สามจังหวัดเป็นยังไงบ้างได้ที่ howareyoupatani.com

ส่วนที่มาของชื่อเว็บไซต์ คำว่า *ปตานี (Patani) คือคำเรียกพื้นที่ที่ผู้อาศัยส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูมุสลิมและเป็นพื้นที่ของความขัดแย้ง อันประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของจังหวัดสงขลา หรือที่สื่อและคนทั่วไปเรียกว่าสามจังหวัดชายแดนใต้

เว็บไซต์นี้จะบรรจุ 10 เสียงจริง เรื่องราวจริง ความรู้สึกจริง จากคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งหมดคือมุมมองสะท้อนปัญหาที่ต้องการในพื้นที่ พูดคุยเพื่อหาทางออกจากทุกคนในสังคม

เราจะได้ฟังเสียงของคนที่เติบโตมากับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ลูกสาวที่พ่อถูกอุ้มหาย, คนที่สูญเสียเพื่อนไปจากเหตุการณ์ความไม่สงบ, หนึ่งในคนที่ถูกซ้อมทรมาน, เยาวชนที่อยากทำให้สังคมดีขึ้น, คนที่ถูกลูกหลงจากความรุนแรง และอื่นๆ 

รับฟัง เรียนรู้ เข้าใจ ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ร่วมแชร์ความเห็น พูดคุยหาทางออกบนพื้นฐานของการยืนข้างความเป็นมนุษย์ และเมื่อได้ฟังทุกเสียงครบแล้ว คุณอาจได้คำตอบว่าเราควรปล่อยให้เพื่อนร่วมชาติของเราประสบกับความเลวร้ายเพียงลำพัง หรือควรช่วยกันปกป้อง ป้องกัน และแก้ไขให้ทุกอย่างดีขึ้นร่วมกันแน่

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.