Hometown Cha-Cha-Cha เมื่อหมอฟันสาวโซลซัดโซเซจากเมืองหลวงไปซบไหล่ ตจว. ในหมู่บ้านชายทะเลที่กงจิน - Urban Creature

พอนึกถึงซีรีส์เกาหลีใต้ทีไร ส่วนใหญ่โลเคชันหลักของเรื่องก็มักเกิดขึ้นในโซล เพราะโซลคือภาพแทนของเมืองหลวงสุดป็อป ที่เป็นภาพจำของคนทั้งโลก ในฐานะศูนย์กลางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม เทคโนโลยี การศึกษา การท่องเที่ยว และเป็นเมืองที่มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคนจนเรียกเป็น Megacity ของโลกใบนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

แต่ถ้าไม่ดำเนินเรื่องในโซล แล้วหันไปมองโลเคชันเมืองอื่นอย่างจังหวัดคังวอน พื้นที่ที่เค-ซีรีส์ส่วนใหญ่ไม่เลือกใช้ดำเนินเรื่องล่ะ คุณพอจะนึกถึงซีรีส์เรื่องไหนที่มีฉากหลังเป็นจังหวัดนี้ไหม

Mountain

ถ้านึกไม่ออก เราขอยก Hometown Cha-Cha-Cha ออริจินัลซีรีส์จาก Netflix มาเล่า เพราะนอกจากจะถ่ายทอดชีวิตคนในพื้นที่หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดคังวอน เรายังอยากชวนผู้ชมหลบจากกรุงโซลมาสำรวจเรื่องราวในพื้นที่นอกเมืองหลวงผ่านซีรีส์โรแมนติกคอเมดี้เรื่องนี้

คาจา! (ไปกัน) เดินทางไม่นานหรอก เพราะถ้ากะเส้นทางขับรถจากโซลไปคังวอนคร่าวๆ จะมีระยะทางประมาณ 100 กว่ากิโลเมตร มาเหยียบคันเร่งด้วยจังหวะ Cha-Cha-Cha จากเมืองหลวงสู่ปลายทางที่หมู่บ้านริมทะเลแสนสงบ (โลเคชันสมมติ) เพื่อพบกับเรื่องรักของทันตแพทย์สาวจากโซลที่ปิ๊งรักกับหนุ่ม ตจว.ไปพร้อมกันเลยดีกว่า

Landscape

ถ้าพร้อมแล้วคาดเข็มขัดให้มั่นเพราะตอนนี้เรากำลังอยู่บนรถของ Yoon Hye-jin (Shin Min-a) ทันตแพทย์สาวมั่นที่จำใจละทิ้งโซล เพราะดันไปมีความขัดแย้งกับผู้อำนวยการคลินิกทันตกรรมผู้มีคอนเนกชันกว้างขวางในเมืองหลวง ฮเย-จินเลยตกงาน เธอเศร้าจนต้องออกมานั่งเหม่อริมทะเลเงียบๆ คนเดียว ซึ่งซีนนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นชีวิตบทใหม่ของฮเย-จินแบบไม่อาจย้อนกลับ

Car

นอกจากจะเล่าเรื่องรักโรแมนติกเจือกับความโกลาหลที่เกิดขึ้น ยังมีแง่มุมเกี่ยวกับสังคมเมืองและสังคมชนบทให้เราได้สังเกตกันสนุกๆ แถมดูแล้วก็ได้อมยิ้มไปกับเคมีของ ชิน มิน-อา และ Kim Seon-ho (Du-sik) พระรองดาวรุ่งจาก Start-Up ที่มารับบทพระเอกเต็มตัวเสียด้วย

*คำเตือน มีการสปอยล์เนื้อหาบางส่วนต่อจากนี้นะ

I พลอตคลาสสิก : เมื่อคนอกหักจากเมืองหนีมาซบไหล่ต่างจังหวัด

South Korean

เวลาตัวละครในซีรีส์เป็นคนในโซลทีไร คนดูก็มักจะไม่ค่อยได้เห็นภาพความเชื่อมโยงของคนเมืองกับคนต่างจังหวัดสักเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ทำให้ Hometown Cha-Cha-Cha ไม่เหมือนใคร อาจเพราะมีตัวละครที่อกหักจากอาชีพที่ตัวเองรักในเมือง จนบังเอิญต้องตัดสินใจมาใช้ชีวิตที่ต่างจังหวัด ในกรณีของซีรีส์เรื่องนี้ ฮเย-จิน ทันตแพทย์สาวหัวแข็ง ถูกไล่ออกจากงานประจำเพราะความเถรตรง ที่ทำให้แตกหักกับหัวหน้างาน จนต้องหาหนทางออกมาเปิดคลินิกของตัวเองในชุมชนชาวประมงที่ชื่อว่า กงจิน

ว่ากันตามตรงพลอตประเภทนี้ไม่ได้น่าตื่นเต้นหรือแปลกใหม่ แต่ความน่าสนใจของตัวบท คือจุดพลิกผันที่ตัวละครหลักมี Turning Point ในชีวิต ฮเย-จิน ตกลงปลงใจกับตัวเองที่จะมาอยู่ชุมชนเงียบๆ เปลี่ยนทั้งที่อยู่ และที่ทำงานจากพื้นที่เมืองมาปักหลักสร้างตัวใหม่ในชนบท ภาพที่เราได้เห็นในซีรีส์เรื่องนี้บ่อยๆ จึงเป็นการปะทะกันระหว่างคนเมืองกับกลุ่มคนต่างจังหวัด และยังได้เห็นความพยายามปรับตัวของนางเอกที่ต้องอยู่ในพื้นที่ต่างเมืองให้ได้ แม้ยากเย็นและไม่ได้สะดวกเท่าเมืองหลวงที่มีทุกอย่างตอบโจทย์ความสบายอย่างโซลเลยก็ตาม

I การปะทะกันของสาวเมืองโซลกับชุมชนประมงกงจิน

Actress

อาจเป็นแนวโน้มของคนรุ่นใหม่ทั่วโลกที่มักเลือกเดินทางไปหาโอกาส หรือตามหาความฝันในเมืองใหญ่ๆ ในกรณีของชุมชนเล็กๆ อย่างหมู่บ้านกงจิน ก็ทำให้เราคาดเดาได้ในทำนองเดียวกันว่าทำไมที่นี่ถึงมีจำนวนเด็กและวัยรุ่นน้อย แต่กลับมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก 

จากสถิติ ในปี 2011 มีประชากรผู้สูงวัยในเกาหลีที่อายุมากกว่า 55 ปีจำนวนกว่า 11 ล้านคน แต่ในปี 2020 ที่ผ่านมา มีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นรวมเป็น 16.7 ล้านคน ในขณะที่อัตราส่วนการเกิดกลับสวนทางกันโดยสิ้นเชิง

ถ้าสังเกตจะเห็นได้ว่าชาวชุมชนกงจินยังคงอยู่กันด้วยจารีต ยึดถือค่านิยมหนักแน่น และมีความเชื่อรูปแบบดั้งเดิม ตรงกันข้ามกับนางเอกที่ปฏิบัติตัวอิสระตามแบบฉบับคนเมืองผู้คุ้นชินกับความสะดวกสบาย และมีทางเลือกที่หลากหลายในการดำเนินชีวิต 

เหตุการณ์ที่ยืนยันความแตกต่างทางมุมมองที่ชัดเจนตั้งแต่ช่วงเปิดเรื่อง คือกรณีที่ฮเย-จิน สวมเลกกิงรัดรูปวิ่งออกกำลังกายอย่างอิสระในโซล แต่เมื่อเธอใส่ชุดรูปแบบเดียวกันวิ่งรอบหมู่บ้านกงจิน กลับถูกสมาชิกในชุมชนมองว่าเธอกำลังวิ่งแก้ผ้าหน้าไม่อายไปทั่วหมู่บ้าน ยิ่งไปกว่านั้นกัม-รี อาจุมม่าวัยแปดสิบ ยังพูดเชิงตำหนิต่อหน้าวงประชุมหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยผู้อาวุโส และชาวบ้านวัยกลางคนว่า หมู่บ้านของเรามีบรรพบุรุษมังกรปกปักรักษา แต่อาจต้องร่ำไห้เพราะการกระทำอันหน้าไม่อายของนางเอก 

Run

ไม่ใช่แค่เรื่องจารีตของคนเจเนอเรชันสูงวัย แต่ในมุมมองของคนเมืองวัยสาวแบบนางเอก แม้แต่เรื่องวัฒนธรรมการดื่มกาแฟไวไวก่อนเข้าทำงาน ยังทำให้เธอหงุดหงิดเป็นบ้า เพราะถ้าคาเฟ่ที่มีอยู่เพียงไม่กี่ร้านในกงจินทำกาแฟไม่ถูกปาก ฮเย-จินก็เลือกจะไม่ดื่ม จนพระเอกผู้มากความสามารถอย่าง ดู-ชิก อาสาเข้ามาถ่ายทอดวิชาบาริสต้าให้เจ้าของร้านกาแฟปรับปรุงสูตรให้ดีขึ้น เพื่อจะทำให้รสชาติมีมาตรฐานที่ถูกใจนางเอก

ส่วนอาหารที่คนพื้นถิ่นกิน ฮเย-จิน ก็เห็นว่ามันดูน่าสกปรก ดังนั้นการตัดสินใจไม่กินสิ่งที่คนหยิบยื่นให้ยังดีเสียกว่า สำหรับเรา คอนเซปต์เรื่องความสะอาดเป็นเรื่องใหม่มาก ไอเดียความสะอาดนั้นเติบโตในสังคมมนุษย์มาเรื่อยๆ แต่รุ่งเรืองมากหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม และอาจเบ่งบานในสังคมเมืองมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในโลกทางการแพทย์ หมอฟันแบบนางเอกอาจคำนึงถึงเรื่องสุขอนามัยมากเป็นพิเศษ 

Soju

ขณะเดียวกันเมื่อมองความสัมพันธ์แบบคนหนุ่มสาว เรายังได้เห็นการปะทะกันระหว่าง ฮเย-จิน และ ดู-ชิก (หัวหน้าฮง) ผ่านบทสนทนาของทั้งคู่บ่อยครั้ง ในกรณีที่ชัดเจนมากในอีพีต้นๆ ผู้หญิงเมืองอย่างนางเอกนิยมการช้อปปิงเสื้อผ้าออนไลน์มากๆ ในขณะที่พระเอกบ่นว่าตัวเขาใส่เสื้อผ้าเพียงเพื่อฟังก์ชันเท่านั้น นั่นอาจแสดงว่าอยู่ต่างจังหวัดน่ะใส่เสื้อผ้าให้ทะมัดทะแมงก็ใช้ชีวิตได้อย่างง่ายดายแล้ว

I โซลยังไม่ดีพอ จึงต้องย้ายเมือง ย้ายประเทศ?

Woman

ตอนที่ฮเย-จินขับรถกลับมาร่วมงานแต่งของเพื่อนร่วมรุ่นในโซล บทสนทนาของกลุ่มเพื่อนบนโต๊ะอาหารนั้นเต็มไปด้วยการโอ้อวดความสุขและความสำเร็จในชีวิต แม้ตัวนางเอกจะเพิ่งเริ่มก่อตั้งคลินิกในกงจิน แต่เธอก็ต้องแสร้งตอกกลับเพื่อนๆ ที่ค่อนขอดตัวเธอว่าชีวิตต่างจังหวัดนั้นสุขสงบดี แถมคลินิกทันตกรรมที่มีเพียงแห่งเดียวในชุมชนยังสร้างรายได้อย่างมหาศาล ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมการรักษาหน้าตาและเสียหน้าไม่ได้ของคนเกาหลีนั้นแสนเข้มข้น ถ้าหากคุณอยู่ในเกาหลี คำถามพื้นฐานสุดคลาสสิกที่จะได้ยินบ่อยๆ ก็คืออายุเท่าไหร่ แต่งงานหรือยัง เรียนจบจากที่ไหน ทำงานที่บริษัทไหน และอื่นๆ ที่จะทำให้ตัวปัจเจกรู้สึกกดดันมากๆ

วัฒนธรรมรูปแบบนี้ทำให้หนุ่มสาวชาวเกาหลีมักเรียกตัวเองว่าพวกซัมโป (Sampo) ซึ่งมีความหมายประมาณว่าเจเนอเรชันแห่งการเสียสละ 3 ประการ ได้แก่ การเสียสละความสัมพันธ์ การเสียสละชีวิตแต่งงาน การเสียสละเพื่อไม่มีลูกหลาน เพียงเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดได้แบบไม่ลำบาก และดูเหมือนว่าจะไม่ใช่แค่การเสียสละสามอย่างเสียแล้ว เพราะคนเกาหลีกำลังไต่เพดานการแข่งขันทางสังคมไปสู่ปัจจัยข้ออื่นๆ ที่ต้องเอาชนะเพราะไม่อยากอับอาย

Lee Sang-yi

อี ซัง-อี โปรดิวเซอร์ของเรื่องได้บอกเล่าเกี่ยวกับกลุ่มคนเมืองที่ตัดสินใจไปอยู่ต่างจังหวัดเหมือนอย่างในกรณีของฮเย-จินว่า เขารู้จักคนจำนวนมากที่โยกย้ายตัวเองออกจากพื้นที่เมืองไปอยู่บนเกาะเชจู ซึ่งตอนนี้กำลังเป็นเทรนด์ฮิตของผู้คนในสังคมเกาหลีใต้ โปรดิวเซอร์อีเผยว่าตอนที่เขาอ่านบทซีรีส์เรื่องนี้ ก็เกิดความรู้สึกอยากจะย้ายบ้านไปอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ แบบในซีรีส์ที่เขาทำบ้างด้วยเหมือนกัน 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แม้โซลจะเจริญรุดหน้าไปไกลแค่ไหน หรือจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ล้ำเทคโนโลยีเพียงใด แต่ความแน่นขนัด ความป่วยไข้ และอัตราการแข่งขันทางสังคมในด้านต่างๆ กลับยิ่งส่งผลให้ผู้คนเคร่งเครียด และสิ้นหวังมากขึ้นเรื่อยๆ 

เราจึงได้เห็นคนเกาหลีก่นด่าประเทศตัวเอง หรือได้เห็นคนรุ่นใหม่บางส่วนพยายามเอาตัวรอดเพื่อมีชีวิตต่อไปให้ได้ในหลายๆ เคส ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของโปรเจกต์ชื่อ Don’t Worry Village ที่เกิดขึ้นเพราะโครงการพัฒนาพื้นที่เมืองท่า มกโพ (Mokpo) ซึ่งอยู่ติดชายทะเล และอยู่ห่างจากโซลกว่า 300 กิโลเมตร โปรเจกต์นี้รองรับผู้คนที่รู้สึกพ่ายแพ้ในสังคมเมือง ให้พวกเขาได้มาฟื้นฟู ชุบชูชีวิตจิตใจ และอาจ Re-skill ด้านความสามารถ และสร้างอาชีพใหม่ๆ เพื่อนำกลับไปใช้ชีวิตอย่างมีสมดุลให้ได้ ซึ่งสุดท้ายบางคนที่เข้าร่วมโปรเจกต์ก็เลือกจะประกอบอาชีพที่เมืองเล็กๆ แห่งนี้ต่อไป 

Super Star

ประเด็นที่ไปไกลกว่านั้นคือการที่คนรุ่นใหม่ในเกาหลีสิ้นหวังจนอยากหนีออกนอกประเทศ ไม่ต่างไปจากคนไทยหลายคนที่ต้องการออกไปจากแผ่นดินเกิด จากคลิปของนิวมีเดียช่อง Asian Boss ผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่เรียกประเทศของตัวเองว่า ​​นรกโชซอน (Hell Joseon) ภาพที่ข้ามสเต็ปยิ่งกว่าการหนีไปอยู่ต่างจังหวัด จึงเป็นการหนีไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ในปี 2017 สำนัก Statista รายงานสถิติว่าคนเกาหลีย้ายไปต่างประเทศมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน แคนาดา หรือออสเตรเลียซึ่งเป็นปลายทางยอดฮิตของเหล่าคนรุ่นใหม่

ยิ่งไปกว่านั้น งานสัมภาษณ์สั้นๆ ของ Asian Boss ยังทำให้เราเห็นได้ว่าคนเกาหลีหลายคนยินดีไปตายเอาดาบหน้าในต่างแดน เพราะพวกเขานึกไม่ออกว่าประเทศนี้มันมีดีอะไรให้อยู่ต่อไป ข้อเท็จจริงนี้ทำให้แฟนคลับกระแสเกาหลีอย่างเราได้ยินแล้วอึ้ง ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ทำให้สันนิษฐานได้คร่าวๆ ว่า ภาพที่รัฐเกาหลีพยายามนำเสนอมาสู่ภายนอก กับภาพของคนที่อาศัยอยู่ภายในจริงๆ อาจแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่เราก็คิดเล่นๆ เหมือนกันว่า ถ้าให้คนไทยหลายคนย้ายไปอยู่เกาหลีใต้แทน พวกเขาก็น่าจะพร้อมไปตายเอาดาบหน้าเหมือนกันนั่นแหละ (อย่างน้อยก็เราคนหนึ่ง)

I เพราะความรักจึงชนะความลำบาก

Shin Min-a

ถ้าได้เห็นวิถีชีวิตคนกงจินในซีรีส์ จะเห็นว่าพวกเขากินง่ายอยู่ง่าย ชุมชนมีการติดต่อสื่อสารกันอย่างใกล้ชิดและรวดเร็ว ช่วยกันแก้ไขปัญหาส่วนรวมอย่างเร็วไว แน่นอน มีการส่งต่อข่าวสารแบบปากต่อปาก ชนิดที่ว่าบางทีอาจเร็วกว่าการใช้แอปพลิเคชันแชตเสียด้วยซ้ำ 

ขณะที่ ฮเย-จิน ยังคงยึดคอนเซปต์ความเป็นส่วนตัวของปัจเจก เธอจึงไม่ชอบให้ใครมาล้ำเส้นหรือรบกวนใจ ตรงกันข้ามกับผู้ใหญ่ในหมู่บ้านที่ยังคงใช้ชีวิตแบบอิงอาศัย มีการนัดพบ ประชุม สังสรรค์บ่อยครั้ง และด้วยระบบจารีตที่เราพูดถึงมาแล้วข้างต้นนี่แหละ ที่ทำให้ความเป็นคอมมูนิตี้ของคนกงจินแข็งแรงมากๆ

Old Lady

อาจไม่ใช่แค่ความเป็นคนเมืองหรือคนในต่างจังหวัด แต่ในช่องว่างระหว่างช่วงวัย เมื่อยิ่งห่างเจเนอเรชัน ก็ยิ่งมีโลกทัศน์คนละแบบ (The Clash of Generation) ปมขัดแย้งของตัวละครระหว่างนางเอกที่เป็นสาวโซล กับพระเอก และชาวชุมชนกงจิน จึงไม่ลงรอยกันเป็นระยะ และนี่คือความสนุกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้คนดูต้องคอยเอาใจช่วยให้ทั้งคนนอกที่เป็นผู้มาใหม่ ได้ไกล่เกลี่ยและเข้าใจกับคนในพื้นที่ให้ได้ เราเห็นว่าสิ่งที่ตัวละครต่างสะท้อนซึ่งกันและกัน คือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมที่มาจากภูมิหลังคนละรูปแบบ แต่เมื่อมีคนเปิดใจจะรับฟัง และพยายามปรับตัวเข้าหากันก็ยิ่งทำให้เกิดความกลมเกลียวกันมากยิ่งขึ้น 

เอ่อ…ไม่แน่ที่เราพูดมาเสียยืดยาวมันอาจไม่ได้ซับซ้อนแบบที่คนเมืองหรือคนในโลกวิชาการชอบ Criticize หรือ Conceptualize ทุกอย่างในชีวิตประจำวันหรอก เพราะถ้ามองจากตัวบทที่ตั้งใจเล่าเรื่องง่ายๆ ให้น่ารัก สิ่งที่ทำให้ทั้งฮเย-จิน และดู-ชิก อยู่ด้วยกันได้อย่างดี อาจเป็นแค่ความรักแท้จริงตามขนบซีรีส์รอมคอมเกาหลี ก็เพราะในชีวิตจริง เมื่อคุณหอบหิ้วตัวเองออกจากเมืองไปอยู่อย่างโดดเดี่ยวในต่างจังหวัด เราอาจไม่ได้มีพระเอกขี่ม้าขาวอย่างดู-ชิก มาช่วยผสานความเข้าใจให้ผู้มาใหม่ได้อุ่นใจไปกับคนท้องถิ่นแบบนี้เสมอไป

สุดท้าย คำถามสำคัญก็คือว่า ถ้าหากนี่คือการหนีออกจากเมืองมาอยู่ต่างจังหวัดในชีวิตจริง โดยไม่มีคนอย่างหัวหน้าฮงขี่ม้าขาวมาช่วยเหลือใดๆ พวกเราจะจัดการกับปัญหาชีวิตอันสลับซับซ้อนของมนุษย์ในรูปแบบนี้ยังไงต่อไปดี

Handsome

Source:
History Learning Site
Koreaby Me
Satista
Asian Boss
Don’t Worry Village
Bloombergh

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.