ลัดเลาะย่านฮิป นานา-เยาวราช-ทรงวาด - Urban Creature

ณ ที่แห่งนี้มีอะไรซ่อนอยู่ Urban Creature จะพาไปเดินเที่ยวย่านเมืองเก่า “นานา-เยาวราช-ทรงวาด” แหล่งแฮงก์เอ้าท์สุดฮิปที่เป็นดั่ง Hidden Gem ใจกลางกรุงเทพฯ ดื่มด่ำบรรยากาศสุดชิล ไม่ว่าจะเป็นคาเฟ่ ร้านดอกไม้ แกลเลอรี่ และบาร์ ดูตึกรามบ้านช่องที่แฝงมนต์เสน่ห์สถาปัตยกรรมโคโลเนียล

ย่านที่เคยเงียบเหงาถูกปลุกให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจพัฒนาทำเลเมืองเก่า เราจะแวะไปเยี่ยมเจ้าของบ้าน ตั้งแต่ร้านดอกไม้และคาเฟ่สุดฮิป “Oneday Wallflowers”, ทายาทรุ่น 4 ของร้านขายยาโบราณ “บ้านหมอหวาน”, และสองสาวเจ้าของบาร์สุดคูล “Shuu Shuu” เพื่อชวนพูดคุยถึงแพชชั่นที่จะทำให้ตึกเก่าทรุดโทรมเหล่านี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ตึกโคโลเนียล มีที่มาจากยุคล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก เช่น โปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศส อังกฤษ ที่เข้ามาสร้างอาคารบ้านเรือนในเมืองขึ้น แม้ประเทศไทยจะไม่เคยเป็นอาณานิคม แต่ก็ได้รับอิทธิพลด้านศิลปะ วัฒนธรรม การแต่งกาย รวมไปถึงสถาปัตยกรรมโคโลเนียล ที่ผู้คนในสมัยนั้นเรียกว่า “ตึกฝรั่ง” ซึ่งแพร่หลายในช่วง ร.5- ร.6 ผสมผสานกับช่างพื้นถิ่น โดยปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพอากาศและวิถีชีวิตคนไทย หลอมรวมสองวัฒนธรรมจนเกิดเป็นสไตล์ที่มีเอกลักษณ์

สถาปัตยกรรมโคโลเนียลในไทย มีรูปแบบที่หยิบยืมมาจากศิลปะกรีกโรมัน เช่น หน้าต่างวงโค้งเกือกม้า การตกแต่งปูนปั้น หรือหัวเสาแบบไอโอนิก และคอรินเทียน นอกจากนี้ยังออกแบบพิเศษเพื่อช่วยลดความร้อน อย่างการตีผนังไม้ซ้อนเกล็ดสลับกับผนังปูน หรือการเพิ่มช่องระบายอากาศ เช่น ไม้ลายฉลุที่เรียกว่า “เรือนขนมปังขิง” ซึ่งเป็นรูปแบบของกลุ่มมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนา บางคนจึงเรียกตึกโคโลเนียลในไทยว่า “นีโอคลาสสิก” ซึ่งเป็นการนำรูปแบบคลาสสิกกลับมาใช้

| Hip Happening : “Soi Nana”

ห่างจากวงเวียน 22 กรกฎาคม ไม่ไกล มีถนนสายสั้นๆ ชื่อ “ซอยนานา” ย่านฮิปที่เพิ่งเกิดมาไม่นาน แต่หากย้อนไปเมื่อ 50 ปีก่อน ซอยนานาเป็นย่านขายยาสมุนไพรจีน คนจีนส่วนใหญ่เรียกว่า “ตรอกหมอ” หรือ “ซินแซโกย” พอวันเวลาเปลี่ยน แพทย์แผนจีนก็ได้รับความนิยมน้อยลง สิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ คือสถาปัตยกรรมโคโลเนียลที่มีความคลาสสิก
หลายปีที่ผ่านมา กลุ่มคนรุ่นใหม่มองเห็นคุณค่าของมรดกจากคนรุ่นก่อน ปลุกซอยนานาเป็นไนต์ไลฟ์ซีนของคนชอบกินดื่มและเสพงานศิลปะ ปัจจุบันย่านนี้เต็มไปด้วยบาร์ คาเฟ่ และแกลเลอรี่ ผสมปนเปกับร้านโลคอลอย่างร้านราดหน้าผัดซีอิ๊ว ร้านขายของชำ และร้านกาแฟโบราณ

Modern day teahouse “103 Bed & Brews”

หัวมุมซอยนานาบ้านเลขที่ 103 คือ ที่ตั้งร้าน “103 Bed & Brews” ที่รีโนเวทตึกเก่าเป็นคาเฟ่และร้านกาแฟ ส่วนด้านบนเป็นที่พักสไตล์โคโลเนียล โดยดึงเอาเอกลักษณ์ของซอยนานาซึ่งเคยเป็นตรอกขายยาจีน ผสานกลิ่นอายสถาปัตยกรรมไทย-จีนในสมัยก่อน ทั้งเพดานไม้และพื้นกระเบื้องสไตล์ชิโน-โปรตุกีส มาเป็นคอนเซ็ปต์โรงน้ำชา เปิดประตูต้อนรับลูกค้าประจำและนักท่องเที่ยว

เสน่ห์วันวานถูกบันทึกไว้บนข้าวของสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นประตูบานเฟี้ยม ประตูเหล็ก ช่องลมโบราณ โต๊ะไม้ เก้าอี้กลม กาน้ำชา และถ้วยจานเซรามิก รวมถึงกระด้งสมุนไพรจีน สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในย่านนี้ แล้วเพิ่มเติมผนังให้มีสไตล์ร่วมสมัยด้วยงานสตรีทอาร์ตจาก “NEV3R BANGKOK”

คาเฟ่แห่งนี้มีจุดขายที่กาแฟ Cold Brew หรือกาแฟสกัดเย็น เราจึงประเดิมด้วยเมนูซิกเนเจอร์อย่าง Coffee Tonic – Som Jeed (100 ฿) กาแฟ Cold Brew ผสมไซรัปส้มและโซดา ที่สัมผัสได้ถึงความเข้มของกาแฟ แต่ก็แซงด้วยรสเปรี้ยวซ่า ที่ทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นมาในวันอากาศร้อนๆ

เมนูอื่นที่น่าลองก็มีกาแฟไนโตร ชาเย็นรสดั้งเดิม และน้ำอัญชันมะนาว ปิดท้ายด้วยเค้กที่ใครมาก็ต้องสั่ง White Chocolate Cake (150 ฿) เค้กเนื้อนุ่มละมุนลิ้น ทานคู่กับกาแฟฟินๆ กินแล้วติดใจ

Secret garden at “Oneday Wallflowers”

ลัดเลาะเข้ามาในตรอกเล็กๆ จากซอยนานา จะพบร้านดอกไม้ “Oneday Wallflowers” หลบมุมอยู่ในซอกหลืบดูลึกลับ แต่เมื่อเข้ามาในร้านจะพบกับความงามอีกโลก ราวกับหลุดมาอยู่ในสวนอังกฤษที่เต็มไปด้วยดอกไม้ จากจุดเริ่มต้นเป็นที่นั่งทำงานและพื้นที่สร้างสรรค์ของ “คุณลักษณ์-ณัฐพัชร สุริยะกำพล” เจ้าของร้านผู้เคยออกแบบให้คาเฟ่ Casa Lapin และติดใจการใช้ดอกไม้กับงานดีไซน์ ทั้งในงานสถาปัตย์และอินทีเรีย ซึ่งคุณลักษณ์บอกกับเราว่า “จากห้องที่รู้สึกว่าขาดอะไรไป แค่ใส่ดอกไม้ในแจกันอารมณ์ก็เปลี่ยน”

สไตล์การตกแต่งที่โดดเด่น ซึ่งยังคงโครงสร้างตึกแถวเก่าเอาไว้ ทำให้ได้กลิ่นอายโคโลเนียล และความดิบ เท่ ไม่น่าเชื่อว่าตึกแถวเล็กๆ นี้ จะประกอบไปด้วยหลายมุมที่ดูซับซ้อน มีบันไดโปร่งที่เชื่อมกับพื้นที่นั่งเล่น และเรือนกระจกสไตล์ English Cottage ที่ให้บรรยากาศโล่งสบาย ด้วยเพดานสูงและการเจาะช่องแสงให้แดดส่องลงมาทั่วถึง รายล้อมไปด้วยไม้ดอก ไม้ประดับ รวมถึงของสะสมวินเทจ และเจ้าแมวที่เดินป้วนเปี้ยนในร้าน ทำให้บรรยากาศดูรีแล็กซ์ขึ้น

เดินผ่านสวนหลังบ้านภาย ขึ้นบันไดมาบนชั้นสองจะเจอกับ “Nana Coffee Roaster” คาเฟ่หอมกลิ่นกาแฟคั่วบด ที่เบลนด์ของร้านจะเน้นกลิ่นดอกไม้เข้าคอนเซ็ปต์ และรีเฟรชกับเครื่องดื่ม Non-Coffee อย่าง Sparkling Water ไม่ว่าจะเป็นส้มยูสุ ราสเบอรี่ บลูเบอรี่ ใบเซจ รวมถึงเบเกอรี่สูตรโฮมเมด ที่ตกแต่งด้วยดอกไม้กินได้ ทั้งเมนูเค้ก บราวนี่ หรือทาร์ตที่อบกันสดๆ แถมรสชาติยังนุ่มละมุน

นอกจากกาแฟเข้มๆ ตัดความละมุนละไมของมวลดอกไม้ ยังมีพื้นที่สำหรับแฮงก์เอ้าท์ นั่งรับลมสบายๆ บนรูฟท็อปบาร์ “Wallflowers Upstairs” อีกทั้งมีแพลนจะเปิดโซนใหม่ “The Ground of Wallflowers” ที่เป็นร้านอาหารคอนเซปต์เดียวกัน มาเซอร์ไพรส์แฟนๆ เร็วๆ นี้

เสน่ห์ของตึกเก่าในมุมมองนักออกแบบ ?

คุณลักษณ์ : “เราว่าตัวตึกมันสวยอยู่แล้ว ของเก่าก็มีเสน่ห์ของมัน หลายชิ้นไม่สามารถทำขึ้นมาใหม่ได้ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกาลเวลา เราจึงคิดว่าอะไรที่มันควรจะโชว์ความเป็นมา มันก็เป็นงานดีไซน์ที่สวย จะเรียกว่าดิบก็ได้ มันเป็นธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่ง”

“ยุคนี้คนไม่ค่อยพิถีพิถัน ช่างฝีมือก็น้อยลง สมัยก่อนขอบหน้าต่างยังต้องมีรายละเอียดของลายบัว แต่ยุคนี้ต้องตัดออกไปหมด เราว่าตึกเก่ามันมีเรื่องราว มีความตั้งใจที่ไม่ใช่แค่ความสวยงามแต่มีฟังก์ชั่นด้วยอย่าง High Ceiling หรือ Courtyard”

“ทุกอย่างที่ช่างสมัยก่อนทำไว้มันไม่ใช่แค่แปะๆ ให้มันสวยหวาน แต่มันมีหน้าที่ของมันหมดเลย”

| Lost in China Town : “Yaowarat”

“ถนนเยาวราช” หรือที่รู้จักกันในนาม “ไชน่าทาวน์” ย่านชุมชนคนจีนที่เป็นถนนสายสำคัญมาตั้งแต่อดีต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนเส้นนี้ขึ้นเพื่อส่งเสริมการค้า ในอดีตเคยเป็นถนนสายแรกที่มีตึกสูงที่สุดในไทย คือตึก 7 ชั้น และตึก 9 ชั้น ถือเป็นย่านยอดฮิตในยุคนั้น เต็มไปด้วยภัตตาคารอาหารจีน โรงหนังทันสมัย ร้านขายทอง และยังเป็นแหล่งอาหารสด อาหารแห้ง มาจนถึงปัจจุบัน

เยาวราชในยามค่ำคืนเรียกว่าเป็น “ถนนสายสตรีทฟู้ด” ที่ยาวที่สุด มีทั้งหูฉลาม ซุปรังนก บะหมี่ ก๋วยจั๊บ แพะตุ๋นยาจีน เกาเหลาเครื่องใน อาหารทะเล เกาลัดคั่ว ของหวานละลานตา ที่ขายตามร้านริมถนน ร้านรถเข็น ไปจนถึงภัตตาคารหรู ท่ามกลางแสงสีจากป้ายร้านตลอดสองฝั่งถนน

Colonial art gallery “Cacha Bed Heritage Hostel”

ตึกโคโลเนียลที่เรียกได้ว่าเป็นแลนด์มาร์กแยกวังบูรพา “Cacha Bed Heritage Hostel” ที่ยังคงรักษาโครงสร้างอาคารเก่าแก่อายุเกือบ 100 ปี ไว้อย่างดีเยี่ยม ภายในโดดเด่นด้วยเสาโรมันและพื้นกระเบื้องโบราณ เบรกสายตาด้วยโทนสีขาว และกระจกบานใหญ่มองออกไปเห็นด้านนอก

โถงชั้นล่างกว้างขวาง ถูกใช้เป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะชื่อ “Kaja Gallery” ซึ่งมีนิทรรศการภายถ่ายผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาตลอดปี เสพงานศิลป์กันแล้วมาสโลวไลฟ์กับ “Gallery Coffee Drip Wangbrewpa” คาเฟ่กาแฟดริปที่มีสาขาแรกอยู่ที่หอศิลป์ BACC โดยใช้มุมหนึ่งของแกลเลอรี่เป็นเคาท์เตอร์ชงกาแฟ ตกแต่งด้วยไม้สีอ่อนกับเก้าอี้ไม้เนื้อธรรมชาติ

โฮสเทลด้านบนตกแต่งอย่างเรียบง่ายสไตล์มินิมอล แทรกบรรยากาศเก่าๆ ด้วยภาพเพ้นต์ตึกรามบ้านช่อง และภาพถ่ายกรุงเทพสมัยก่อนที่กระจายอยู่ตามโถงทางเดิน และที่พลาดไม่ได้คือพื้นที่ชิลเอ้าท์บนดาดฟ้า ที่สามารถมองเห็นเส้นสายของตึกฝั่งตรงข้าม ซึ่งตั้งอยู่บนแยกถนนพอดิบพอดี นอกจากนี้ถัดจากโฮสเทลก็กำลังสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสามยอด ที่ภายนอกเน้นสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโน-โปรตุกีส สอดคล้องกับอาคารเก่าริมถนนเจริญกรุง

Traditional Pharmacy “Baan Mowaan”

ตรอกเล็กๆ บนถนนบำรุงเมือง ยังมีร้านขายยาโบราณแอบซ่อนอยู่ในย่านเสาชิงช้า ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “บ้านหมอหวาน” ขุมความรู้เรื่องการปรุงยาแพทย์แผนไทย ในตึกโคโลเนียลอายุกว่า 100 ปี ที่สืบทอดตำรับยาหมอหวานเก่าแก่ โดย “คุณเอ๊ะ-ภาสินี ญาโณทัย” ทายาทรุ่นที่ 4

“หมอหวาน” เกิดช่วงต้นรัชกาลที่ 5 มีอาชีพเป็นหมอแผนโบราณ ในยุครัชกาลที่ 5-6 วงการแพทย์ไทยมีการพัฒนาให้ทันสมัยทัดเทียมกับตะวันตก หมอไทยในยุคนั้นจึงต้องปรับตัวหลังจากมีการตราพระราชบัญญัติการแพทย์ขึ้น ในปี 2467 หมอหวานจึงสร้างอาคาร “บำรุงชาติสาสนายาไทย” ให้เป็นร้านขายยา สถานที่ปรุงยา และคลีนิกตามแบบฝรั่ง แต่ยังยืนหยัดที่จะรักษาวิชาชีพปรุงยาไทยแผนโบราณไว้

ตำรับยาที่ขึ้นชื่อของหมอหวานเลยก็คือ “ยาหอม” ที่เชื่อว่าเป็นลมหายใจแห่งชีวิต กินได้ตั้งแต่เกิดยันแก่ ยาหอมเกิดขึ้นมาในรั้วในวังตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่เป็นที่นิยมมากในสมัย ร.5 เพราะใช้กันอย่างแพร่หลาย มีสรรพคุณดูแลร่างกาย ทำให้เลือดลมไหลเวียน ร่างกายสดชื่น เป็นยาสามัญประจำบ้าน ที่ใครไปมาหาสู่ก็ต้องหาซื้อมาฝากกัน เป็นที่มาของสำนวนพูดให้กำลังใจว่า “โปรยยาหอม”

ปัจจุบัน มีการพัฒนายาหอมมาเป็นรูปแบบ “ยาอมชื่นจิตต์” ที่ขมน้อยลง และมาในกล่องสแตนเลสสุดคลาสสิกสีพาสเทล ซึ่งพอมาเป็นแบรนด์ “บ้านหมอหวาน” ก็มีการหยิบรายละเอียดดั้งเดิมมาใช้ อย่างโลโก้ที่มาจากป้ายบ้าน และสัญลักษณ์รูปดาวที่เป็นเครื่องลางของหมอสมัยก่อน ถุงผ้าที่ใช้จ่ายยาก็ดีไซน์มาจากผ้ากรองสมุนไพร ไปจนถึงกล่องยาหอมที่ได้แรงบันดาลใจ มาจากกล่องไม้ที่หมอหวานได้รับพระราชทานจากวัง

ร้านขายยาแบบฝรั่งในยุค ร.5 เป็นอย่างไร ?

คุณเอ๊ะ : “หมอหวานสร้างบ้านหลังนี้ขึ้นเป็นร้านขายยา สถานที่ปรุงยา คลีนิก และบ้านพักอาศัยเหมือนกับโฮมออฟฟิศ องค์ประกอบร้านก็จะมีประตูบานเล็กๆ แคบๆ สองข้างประกอบด้วยตู้กระจกเป็นวินโดว์ดิสเพลส์ มีเคาน์เตอร์อยู่กลางห้อง ด้านหลังมีตู้บรรจุขวดยา เพราะรูปแบบร้านขายยาฝรั่งในยุคก่อนจะเน้นฟังก์ชั่นและดิสเพลย์ คือมีไว้บรรจุยา จัดเก็บยา จ่ายยา ให้กับคนไข้ ขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนที่คนมานั่งคุยเหมือนเป็นโซเชียลคลับ ดั่งนั้นห้องขายยาต้องเป็นห้องรับแขกได้ด้วย ตู้ต้องสวย ขวดก็ต้องมีจริต ทุกอย่างไม่ใช่แค่วางแล้วใช้งานอย่างเดียว ต้องเป็นของตกแต่งได้ด้วย

สิ่งที่ทำให้ตำรับยาหมอหวานยังคงดำรงอยู่ได้ถึงทุกวันนี้ ?

“หมอหวานสร้างที่นี่ขึ้นหลังจากเกิดพระราชบัญญัติตราการแพทย์ขึ้น แม้ว่าจะเป็นร้านยาไทยแต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธที่จะรับเอาความเจริญ หรือวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา แต่เจตนารมณ์ที่จะบำรุงชาติศาสนายาไทยก็ยังคงอยู่ นอกจากอุปกรณ์ในการปรุงยา เช่น บล็อกบดยา หินบดยา  หรือรางบดยาที่ใช้สำหรับยาไทย ขณะเดียวกันหมอหวานก็ยังมีหูฟัง ปรอทวัดไข้  ใช้ประกอบการตรวจรักษา คือใช้เครื่องมือแบบฝรั่งเข้ามาร่วมด้วย รูปแบบของยานอกจากจะเป็นยาต้ม ยาหม้อ ยาผง หมอหวานก็มีรูปแบบของยาเม็ดที่มันกินง่าย พกพาสะดวก”

“สถานที่นี้จึงเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นความพยายามปรับตัวของหมอไทยในยุคนั้น”

| Old meets new : “Song Wat”

ถัดจากเยาวราช-สำเพ็ง คือ “ถนนทรงวาด” ย่านการค้าเก่าแก่ของกรุงเทพฯ เกิดขึ้นตั้งแต่สมัย ร.5 หลังจากไฟไหม้ครั้งใหญ่ในย่านสำเพ็ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนทรงวาดขึ้น ซึ่งมีตรอกซอกซอยสู่ท่าเรือกลไฟ และท่าเรือใบขนสินค้าขึ้นล่องไปตามหัวเมืองชายทะเล จึงเป็นย่านขนส่งอาหารทะเล และสมุนไพรเครื่องเทศที่สำคัญในพระนคร

อาคารที่เห็นขนานกันสองฝั่งถนน อดีตเคยเป็นที่ตั้งของบริษัทห้างร้าน เป็นตึกแถวยุคแรกของพระนคร ฝั่งริมแม่น้ำเป็นตึก 3 ชั้น มีหน้าบันโค้งประดับลายปูนปั้น แต่งช่องหน้าต่างเป็นซุ้มโค้ง ฝั่งตรงข้ามเป็นตึก 2 ชั้น ประดับปูนปั้นลายเถาดอกไม้และผลไม้ มีเสาแบบคอรินเทียน ซุ้มหน้าต่างโค้งกรุกระจกสี ปัจจุบัน ถนนทรงวาดยังคงเป็นแหล่งค้าขายของแห้ง เมล็ดพันธุ์ ข้าวสาร แป้งสาลี มวนยาเส้น สมุนไพรและเครื่องเทศต่างๆ

It’s a hidden place “Shuu Shuu!”, please be quiet.

ในเวลาค่ำที่ตลาดสำเพ็งเริ่มซา เยาวราชเริ่มคึกคัก ยังมีมุมสงบบนถนนทรงวาด ที่แสงไฟนีออนสีชมพู เล็ดลอดออกมาจากตรอกเล็กๆ หน้าร้าน “Shuu Shuu” บาร์เหล้าบ๊วย ที่มีลูกพลัมสุดทะเล้นเป็นมาสคอต มองอีกทีเหมือนเอานิ้วจิ้มก้น นอกจากโลโก้ที่ดูกวนๆ สองแง่สองง่าม ชื่อร้าน “Shuu Shuu” ยังมีสองความหมายคือ Umeshu หรือเหล้าบ๊วยญี่ปุ่น และการ “ชู่วๆ” ให้คุยกันเบาๆ เพราะชั้นบนเป็นที่พักสุดคูลชื่อ “Pieces Cafe & Bed”

บาร์ลับแห่งนี้ เกิดขึ้นโดยสองสาว “คุณพิมพ์-ชโลชา นิลธรรมชาติ” เจ้าของ Nahim Cafe ซอยนานา และ “คุณเหมียว – ปิยาภา วิเชียรสาร” เจ้าของ Pieces cafe & bed เกสต์เฮาส์ที่รีโนเวทจากตึกแถวเก่าบนถนนทรงวาด และแชร์พื้นที่ชั้นล่างกับบาร์เหล้าบ๊วย ที่นี่จึงมี 2 คาแรกเตอร์ หากมาตอนกลางวันจะเจอร้านกาแฟสีเอิร์ธโทนลุคนิ่งๆ แต่พอตกกลางคืนก็กลายเป็นป๊อปอัพสนุกๆ ตั้งแท่งไฟนีออน โหลเหล้าบ๊วย และสองสาวนักดับเพลิงในยูนิฟอร์มสีชมพู

ความชอบเหล้าบ๊วยขั้นจริงจังขนาดดองกินเองที่บ้าน “Shuu Shuu” จึงไม่ใช่แค่ร้านเหล้าทั่วไป แต่เป็นมุมเล็กๆ ที่ลูกค้าจะมานั่งคุยกัน พลัดกันชิมเหล้าบ๊วยที่เปลี่ยนไปในแต่ละวีค

หากไม่เคยกินเหล้าบ๊วยมาก่อน อาจจะทำความรู้จักจากเมนู 101 – SHUUSHUU’s choice (150 ฿) ที่ถือเป็นตัวเริ่มต้น เพราะคัดสรรจากซิกเนเจอร์ของเหล้าบ๊วย คือมีความชุ่มคอและกลิ่นที่เป็นออริจินอล

ส่วนที่แนะนำเลยก็เลขที่ร้าน 214 – Kotsuzumi Baishinshunju (180 ฿) เป็นเหล้าบ๊วยที่สองสาวชอบที่สุด เพราะปกติเหล้าบ๊วยจะสีใสๆ แต่ตัวนี้มีความเข้มข้นของเนื้อบ๊วย รสหวานกำลังดี ส่วนมากผู้หญิงจะชอบ

และทีเด็ดเบอร์ตอง 888 – Aotan No Yuzushu (250 ฿) เหล้าบ๊วยกลิ่นหอมเตะจมูกของส้มยูสุ รสฟรุตตี้กินง่าย ระดับแอลกอฮอล์เบาๆ ที่ขาดไม่ได้ต้องมีของกินแกล้มอย่าง แมคคาเดียเมีย (50 ฿) ที่มาพร้อมอุปกรณ์ให้นั่งแกะกันเพลินๆ

คิดยังไงที่คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเมืองเก่ามากขึ้น ?

คุณพิม : “ตอนแรกเรากังวลว่า ถ้ามันแฮปเพนนิ่งขึ้นมาแล้ว สเน่ห์มันจะหายไป แต่มันกลายเป็นข้อดีที่ทราฟิกมันเยอะขึ้น คนรู้จักเรา ตอนแรกกว่าจะอธิบายได้ ลูกค้ามาร้านไม่ถูกเลย ตอนนี้เหมือนทุกคนบอกต่อๆ กันว่าที่นี่มีอะไร ไม่งั้นคนก็จะไปกระจุกกันอยู่ อารีย์ ทองหล่อ”

คิดว่าสเน่ห์เมืองเก่าที่ดึงดูดคนเข้ามาคืออะไร ?

“มันไม่สามารถสร้างใหม่ให้เป็นแบบนี้ได้อีกแล้ว ถึงจะให้เลียนแบบแค่ไหนก็รู้ว่ามันปลอม คนพยายามทำมิวเซียมที่มันเป็นของใหม่เพื่อที่จะเลียนแบบของเก่าตั้งเยอะแยะ”

“สุดท้ายประตูเฟี้ยมที่ร้านเราเมื่อ 50 ปีที่แล้วก็ยังใช้ได้อยู่  มันก็คลาสสิคในแบบของมัน”

Old time in old town at “Pieces café & bed”

ตรอกเล็กๆ ระหว่างสำเพ็งกับถนนทรงวาด ที่ซ่อนตัวของ “Pieces café & bed” คาเฟ่และเกสต์เฮ้าส์ที่ตกแต่งด้วยคอนเซปต์ง่ายๆ เป็นการรวบรวมความชอบของ “เหมียว – ปิยาภา วิเชียรสาร” ชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาปะติดปะต่อกันตามสไตล์มนุษย์กราฟิก ออกมาเป็นดีไซน์ที่ไม่มีชื่อเรียก แต่คุมมู้ดแอนด์โทนได้อย่างธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสีเขียวใบไม้ สีฟ้าน้ำทะเล และสีของปูนที่มีความดิบในตัวเอง ทั้งยังใส่ใจรายละเอียด ตั้งแต่เท็กเจอร์สี การปาดปูน ไปจนถึงการจัดวางเฟอร์นิเจอร์สีตุ่นที่ให้ฟีลเรโทรๆ

ในส่วนของคาเฟ่จะเปิดวันศุกร์ถึงจันทร์ เพราะนอกจากคุณเหมียวจะทำงานเป็นกราฟิกฟรีแลนซ์ ยังรับหน้าที่ดูแลทั้งส่วนคาเฟ่และเกสต์เฮ้าส์เองทั้งหมด อารมณ์เหมือนเจ้าของบ้านเปิดห้องต้อนรับแบบเป็นกันเอง ซึ่งจะมีอยู่ด้วยกันสองห้องนอน หากอยากมาพักก็สามารถจองผ่าน Airbnb หรือเฟซบุ้ค “Pieces café & bed” ได้เลย

อย่างที่ Pieces café & bed มีการปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง?

“เราอยู่แถวนี้มาตั้งแต่เด็กเลยมีความคุ้นเคย ตึกเก่ามันมีสเน่ห์มาก ร่องรอยต่างๆ ที่ทิ้งเอาไว้ โครงสร้างเดิม พวกบันได พื้นกระเบื้อง พื้นไม้ ตอนแรกห้องแถวนี้มันก็เป็นย่านค้าขายแหละ ซอยนี้จะเป็นย่านขายเทียนพรรษา ห้องนี้ก็เคยเป็นโกดังเก็บเทียน เป็นห้องเปล่าๆ เหมียวก็พยายามจะเก็บของเดิมเอาไว้ให้มากที่สุด จะตกแต่งซ่อมแซมแค่ที่มันเสียหาย แล้วก็เพิ่มห้องน้ำเข้าไป”

ทำไมถึงมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะเปิดคาเฟ่ในย่านนี้ ?

คุณเหมียว : “พูดตรงๆ เราไม่ได้คาดหวังว่าคนจะรู้จักมากมาย เราคาดหวังว่าคนที่มาร้านคือคนสไตล์เดียวกัน เราอยู่ใน hidden place ในตรอกซอกซอย ตอนแรกที่เหมียวมาเจอที่นี่ ทุกคนก็จะบอกว่าเรามาเปิดตรงนี้ทำไม  ใครจะมองเห็น แต่เราว่าตรอกซอกซอยที่นี่มันซับซ้อนดี แบบมุมนี้จ๊ะเอ๋ไปมุมนั้น อยู่ดีๆ เข้าซอยนี้แล้วไปเจออีกตั้งหลายซอย”

“เดิมทีถนนเส้นนี้มันคึกคักอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าอนาคตคนรุ่นใหม่จะทำให้มันเป็นยังไง แล้วจะอนุรักษ์เก็บไว้ยังไงมากกว่า”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.