“ใช้ชีวิตเป็นลูกสาว เป็นภรรยา เป็นแม่คน เป็นแม่ยาย
แล้วชีวิตฉันอยู่ตรงไหนกัน”
คือประโยคหนึ่งในหนังสือ Her name is… ที่สรุปสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะบอกไว้ได้ครบถ้วนที่สุด
เรื่องราวทั้ง 28 เรื่องในหนังสือเล่มนี้ เล่าถึงชีวิตจริงของผู้หญิงเกาหลีใต้ที่ต้องเผชิญการกดทับในสังคมชายเป็นใหญ่ตลอดทุกช่วงวัยของชีวิต ด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่ไม่ได้ฟูมฟายอย่างที่บทนำเขียนไว้ แต่ยิ่งอ่าน ยิ่งสะสมความรู้สึกอัดอั้นรอวันระเบิด เช่นเดียวกับที่ผู้หญิงในเกาหลีใต้เผชิญมาตลอด
ชื่อของเธอคือ…โชนัมจู
‘Her name is ชื่อของเธอคือ…’ เขียนโดย โชนัมจู นักเขียนชาวเกาหลีใต้ที่หลายคนรู้จักผ่านผลงาน ‘คิมจียอง เกิดปี 82’ นวนิยายชื่อดังที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เธอยังเป็นเจ้าของผลงานวรรณกรรมที่ได้รางวัล Today’s Artist Award ครั้งที่ 41 จากเรื่อง ‘แด่โคมาเนชิ’
หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยเรื่องสั้น 28 เรื่อง เขียนขึ้นจากเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงกว่า 60 คน ตั้งแต่เด็กสาวอายุ 19 ปี ไปจนถึงคุณยายอายุ 60 ปี ที่ใช้ชีวิตอย่างเงียบเชียบในสังคมชายเป็นใหญ่
เพื่อให้พวกเธอไม่ต้องมีชีวิตแบบนี้
โชนัมจูเขียนในคำนำไว้ว่า ผู้หญิงส่วนมากมักเริ่มต้นเล่าเรื่องของพวกเธออย่างเรียบง่าย เสมือนว่าเรื่องที่กำลังจะเล่าไม่ได้มีอะไรพิเศษ แต่ตลอดทั้งเล่มเราเห็นเส้นทางการต่อสู้ของพวกเธอที่ไม่ยอมต่อโครงสร้างสังคมเกาหลีใต้ ไม่ใช่ในฐานะผู้หญิง แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
เด็กประถม ที่ตั้งคำถามว่า ทำไมเธอต้องเสียเงินซื้อผ้าอนามัยราคาแพงในเมื่อเงินกินข้าวยังไม่พอ
เด็กมัธยมฯ ที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้เพื่อนผู้ได้รับอุบัติเหตุ
นักศึกษา ที่ถูกทำร้ายเพราะออกมากดดันให้อธิการบดีลาออกเนื่องจากรับสินบน
พนักงาน ที่ออกมาทวงสิทธิ์จากการถูกเอาเปรียบด้วยสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม
และในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่ต้องการทวงคืนชีวิตอิสระ โดยไม่ถูกจำกัดอยู่ในกรอบของลูกสาว ภรรยา คุณแม่ หรืออะไรก็ตามที่สังคมสร้างขึ้น
สิ่งที่เราเรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้คือ ผู้หญิงเกาหลีใต้ต่อสู้เพื่อสิทธิที่ตนเองควรได้รับมาตลอด แม้พวกเธอจะรู้สึกผิดหรือหวาดกลัวที่ต้องออกมาเคลื่อนไหวหรือเรียกร้องใดๆ แต่เหตุผลเดียวที่ทำให้พวกเธอลุกขึ้นยืนหยัด ก็เพราะพวกเธอไม่ต้องการให้คนอื่นต้องใช้ชีวิตแบบนี้ ไม่ต้องการให้มีผู้ถูกกระทำคนต่อไป และไม่ต้องการให้ลูกหลานเติบโตมาในสังคมที่เป็นอยู่
เราขอยกตัวอย่างเรื่อง ‘ข้าวกล่องของคนครัว’ เมื่อคนครัวประจำโรงอาหารของโรงเรียน หยุดงานประท้วงด้วยภาระงานที่เพิ่มขึ้นตามความคาดหวังของโรงเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งต้องการอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ แต่มีงบประมาณจำกัดและคนครัวไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน ทำให้เธอได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุและทำงานด้วยความเสี่ยงสูงตลอดเวลา การประท้วงหยุดงานเพียงไม่กี่ครั้งทำให้เธอรู้สึกผิดกับเด็กนักเรียนที่ต้องลำบากเตรียมข้าวมาเองจากบ้าน ถึงอย่างนั้นเธอก็ตอบคำถามเด็กๆ ถึงเหตุผลที่ต้องหยุดงานประท้วงว่า “เพื่อให้พวกเธอไม่ต้องมีชีวิตเหมือนป้า”
เราไม่เคยลืมว่าเธอเข้มแข็งมากเพียงใด
เวลาอ่านหนังสือสักเล่ม เรามักอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบความรู้สึกนึกคิดของเรากับเรื่องที่กำลังอ่านอยู่ หนังสือเล่มนี้ก็เช่นกัน เราเชื่อว่าเมื่อคุณได้ลองอ่านเรื่องราวของผู้หญิงทั้ง 28 คน ต้องมีสักเรื่องที่ทำให้คุณนึกถึงชีวิตตัวเอง
เราเห็นภาพการต่อสู้ของผู้หญิงในสังคมไทยท่ามกลางความรู้สึกไม่ปลอดภัย เมื่อออกมาส่งเสียงถามหาสิทธิที่ถูกกดทับมาตลอดหลายปี ทั้งสิทธิการลาคลอด สิทธิการทำแท้ง และสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย หรือแม้แต่การต้องรู้สึกอับอายไม่กล้าขอความช่วยเหลือเมื่อถูกคุกคามทางเพศ
มันทำให้เรานึกถึงเหตุการณ์ขณะที่สัมภาษณ์แหล่งข่าวคนหนึ่งที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ สิ่งที่เธอเผชิญมันหนักหน่วงและไม่ยุติธรรม แต่เธอยืนยันจะบอกเล่าเรื่องราวของเธอให้เราฟังอย่างเข้มแข็ง เพราะรู้ว่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นที่ต้องเจอเรื่องราวคล้ายกัน และเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ซ้ำอีกในสังคม
ตลอดช่วงเวลาที่เราคุยกัน เป็นเรื่องห้ามไม่ได้ที่น้ำตาเธอจะไหลลงมาอาบแก้ม และเราไม่เคยลืมว่าเธอเข้มแข็งมากเพียงใด
ไม่ว่าที่ไทยหรือเกาหลีใต้
ผู้หญิงล้วนถูกสังคมกดทับไม่ต่างกัน
ใช้ชีวิตให้เป็นตัวเอง
ถ้ามีใครขอให้แนะนำหนังสือเล่มนี้ เราคงบอกว่านี่เป็นหนังสือที่ไม่ได้บรรจุเรื่องราวดราม่า ฟูมฟายจนบีบหัวใจ มันราบเรียบ อ่านง่าย แต่ทิ้งตะกอนความรู้สึกที่สอนให้เรามีความหวังว่า ทุกๆ การต่อสู้จะนำมาซึ่งสิ่งที่ดีกว่า หากไม่ใช่กับตัวเราเองอย่างน้อยๆ ก็กับคนอื่น และสอนให้เรารู้ว่า
“เรามีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตเป็นตัวเราเอง เพื่อตัวเราเอง
ได้เช่นเดียวกับที่ใช้ชีวิตเพื่อคนอื่น”