กาลครั้งหนึ่ง…เมื่อต้องคุยกับคนแปลกหน้า - Urban Creature

“ห้ามคุยกับคนแปลกหน้า”
“คนแปลกหน้าอันตราย”
“อย่ารับของจากคนที่ไม่รู้จัก”

 

ประโยคเชิงลบถึงคนแปลกหน้าที่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนเริ่ม แต่ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อนก็ขยันเพิ่มลงซีรีบรัมตั้งแต่เด็ก พร้อมย้ำซ้ำๆ ให้จำกันขึ้นใจอีกว่า ‘คนแปลกหน้า = อันตราย’ เราและหลายคนจึงถูกกระบวนการทางสังคมหล่อหลอม (socialization) ให้เติบโตและใช้ชีวิตกับกรอบความเชื่อแบบนั้นโดยอัตโนมัติ เรากังวลเวลาอยู่ใกล้พวกเขา เพราะเราไม่มีข้อมูล เราไม่รู้ว่าเจตนาของพวกเขาคืออะไร เราจึงจัดพวกเขาไว้ในกล่องของ “คนแปลกหน้า”

จนถึงยุคที่สังคมโลกถูกแทรกแซงด้วยคำว่า ‘สังคมไซเบอร์’ เกิดแพลทฟอร์มต่างๆ ที่ทำให้เราได้ทักทายกับคนแปลกหน้าผ่านตัวอักษร หรือแม้กระทั่งการตั้ง status บอกใครสักคนบนโลกให้ผ่านมาเห็น โดยอาจลืมคิดไปว่า สิ่งนั้นคือจุดเริ่มต้นของการพูดคุยกับคนแปลกหน้า เราจึงขอชวนทุกคนมาเปิดโลกอีกมุมในการมองคนแปลกหน้า ที่กลายเป็นความสบายใจภายใต้การไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ

Hello Strangers

“When you talk to strangers, you’re making beautiful interruptions into the expected narrative of your daily life — and theirs,”

ประโยคชวนคิดจาก ‘ไคโอ สตาร์ค (Kio Stark)’ หญิงสาวที่ขึ้นกล่าวปาฐกถาน่าสนใจบนเวที TED2016 ในประเด็นที่ว่า “ทำไมเราต้องคุยกับคนแปลกหน้า” เป็นเวลากว่า 7 ปีที่เธอหลงใหลการทักทายคนแปลกหน้า เก็บเกี่ยวช่วงเวลา ณ ขณะได้พูดคุย รับฟัง และให้ความช่วยเหลือลงสู่สมุดบันทึก

โดยการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส คืออาวุธที่จะช่วยเราทลายกล่องคนแปลกหน้าและความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมาแต่เก่าก่อน ซึ่งเราควรใช้ความรู้สึกเริ่มต้นมองคนแปลกหน้าแทนที่ความกลัว และจะค้นพบข้อดีของการเริ่นต้นคุยกับคนแปลกหน้าที่ซ่อนอยู่ในนั้น 2 ข้อ

  • Be Free

ข้อดีข้อที่ 1 ที่ความรู้สึกมอบให้ คือมันปลดปล่อยให้เราเป็นอิสระจากกล่องอคติ เพราะ การที่เรามองใครต่อใคร ไม่ว่าจะเพศ วัย หรือชนชาติไหนผ่านกระบวนการทางสมอง เขาเหล่านั้นจะถูกจัดหมวดหมู่ตามที่สมองเราประมวลทันที และก็ใช้ข้อมูลเพียงหยิบมือตรงนั้นไปตัดสินพวกเขาอย่างรวดเร็ว กลายเป็นอคติในที่สุด และนั่นหมายถึงว่า เราไม่ได้มองพวกเขาในฐานะปัจเจกบุคคล

  • Closer than ever

ข้อดีข้อที่ 2 คือความใกล้ชิด อาจคิดกันว่าความใกล้ชิดเดินสวนทางกับโลกของคนแปลกหน้าอย่างสิ้นเชิง แต่การใช้ความรู้สึกมองหรือทักทายคนแปลกหน้า จะทำให้เกิด “ความใกล้ชิดชั่วขณะ” ผ่านประสบการณ์สั้นๆ ที่ได้รับจากการกระทำที่เกิดขึ้น เช่น การช่วยเหลือคุณยายถือของข้ามถนน หรือการพูดคุยกับพี่วินมอเตอร์ไซค์ที่เรากำลังซ้อนท้าย ความห่างเหินที่เคยคิด ก็จะกลายเป็นความใกล้ชิดผ่านความรู้สึก

Enclosure with Strangers

นอกจากการคุยกับคนแปลกหน้าจะทำให้เราค้นพบข้อดีแล้ว นักวิจัยยังพบว่า คนเราจะรู้สึกผ่อนคลาย และจะเปิดเผยตัวตนกับคนแปลกหน้าอย่างตรงไปตรงมามากกว่าครอบครัว เพื่อน และคนใกล้ชิด เพราะเมื่อเราเปิดประเด็นสักเรื่องปรึกษากับคนใกล้ตัวที่คิดไว้ว่ารู้จักเรา ในใจจะคาดหวังไว้แล้วกว่า 70% ว่าพวกเขาต้องเข้าใจ เราคาดหวังให้พวกเขาอ่านใจเราออก แต่เมื่อผลออกมาไม่เป็นดั่งใจหวัง ความรู้สึกเฟลก็จะเข้ายึดพื้นที่

กลับกันหากเราเลือกคุยกับคนแปลกหน้า เราไปแบบว่างเปล่าและไร้ความคาดหวัง เล่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น ส่งต่อความรู้สึกกับใครสักคนที่พร้อมรับฟังเราแบบไม่มีภาพจำความเป็นตัวเรา มันทำให้บางครั้งพวกเขาเข้าใจเรามากกว่า

“SMILE AT STRANGERS, SEE WHAT HAPPENS”

Culture VS Strangers

การเริ่มคุยกับคนแปลกหน้า มีหนึ่งสิ่งที่เราต้องให้ความใส่ใจกันสักเล็กน้อย นั่นคือ วัฒนธรรมที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เพราะใช่ว่าคนแปลกหน้าบนท้องถนน จะยินดีเริ่มบทสนทนากับเราทุกคนไป บางวัฒนธรรมผู้คนอาจกลัวที่จะทักทาย เช่น ประเทศเดนมาร์กที่กลัวการพูดคุยกับคนแปลกหน้า จนบางครั้งพวกเขานั่งรถเมล์เลยป้าย เพราะมัวแต่ใช้วิธีขยับของและใช้ตัวดันเพื่อบอกให้รู้ว่าจะไป แทนการพูดว่า “ขอโทษครับ/ค่ะ” กลับกันในอียิปต์ การเมินคนแปลกหน้าถือเป็นเรื่องเสียมารยาท เพียงแค่เราลองไปถามทางจากคนพื้นที่ พวกเขาอาจจะเชิญเราไปดื่มกาแฟสักแก้วที่บ้านก็ได้

You meet Strangers

นี่คือ “โลกของคนแปลกหน้า” ที่เราชักชวนให้ทุกคนมาสัมผัส ถ้างั้นลองย้อนมองรอบตัวคุณ ว่าทุกวันนี้คุณเคยสร้าง “ความสัมพันธ์แบบยินดีที่ไม่รู้จัก” เริ่มคุยกับคนแปลกหน้าบ้างหรือเปล่า หรือคุณยังโยนอคติแบบเดิมๆ ให้กับเขาเหล่านั้นอยู่ เราอยากให้ทุกคนลองเปิดใจ ทดลองง่ายๆ กับเพื่อนบ้านของคุณในประตูถัดไป ลองก๊อกก๊อก เปิดประตู แล้วทักทาย 2 คำง่ายๆ เหมือนที่เราอยากบอกกับคุณคนอ่านว่า

“สวัสดี ยินดีที่ได้รู้จักนะ”

 


photo credit:
Tom Barrett
Ryoji Iwata

theodysseyonline.com
Kaaget.Com

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.