เมื่อ ‘ดวงตา’ หน้าต่างของหัวใจไม่ปกติ - Urban Creature

‘ดวงตา’ เป็นอวัยวะสัมผัสที่สำคัญที่สุด เพราะการรับรู้และเรียนรู้ของคนเรามากกว่า 70% มาจากการมองเห็น แต่เรากลับละเลย ไม่ค่อยดูแลและให้ความสำคัญกับหน้าต่างของหัวใจบานนี้เท่าที่ควร

จากรายงานขององค์การอนามัยโลก พบว่าปัจจุบันมีประชาชนอย่างน้อย 2.2 พันล้านคนทั่วโลกที่มีปัญหาสายตาบกพร่องหรือตาบอด ในจำนวนนี้มีมากกว่า 1 พันล้านคน ที่มีชีวิตอยู่ด้วยสายตาที่บกพร่อง เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาที่จำเป็น ดังนั้นเราจึงชวนทุกคนมาเรียนรู้ และทำความเข้าใจสาเหตุและวิธีการรักษากับ 3 ภาวะความผิดปกติทางสายตา อย่าง สายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง

01 | สายตาสั้น (Myopia)

เมื่อปี ค.ศ. 2016 ทีมแพทย์นานาชาติได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์ผลการศึกษาวิจัยจากหลายประเทศทั่วโลก จึงได้ข้อสรุปว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า ประชากรโลกกว่า 4,758 ล้านคน หรือร้อยละ 49.8 ของประชากรโลกทั้งหมดจะมีภาวะสายตาสั้น นอกจากนี้ 163 ล้านคน จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติทางสายตาจนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้

สายตาสั้น คือปัญหาสายตาชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยประมาณ 25% ของเด็กในวัยเรียน เกิดจากภาวะความผิดปกติของสายตาที่ไม่สามารถรับแสงหักเหจากวัตถุที่มาโฟกัสตรงจอตาได้ ส่งผลให้เวลามองภาพหรือสิ่งของไม่ชัด โดยผู้ที่สายตาสั้นจะมองระยะไกลไม่ชัด หรือมองเห็นภาพมัวลง แต่จะมองเห็นสิ่งที่อยู่ใกล้ชัดเจน ซึ่งสายตาสั้นเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งการถ่ายทอดทางพันธุกรรม และการใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ ในที่ร่มมากเกินไป หรือการนั่งเพ่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตเป็นประจำและทำเป็นเวลานาน

โดยระดับความสั้นของสายตาสามารถแบ่งได้ 3 กลุ่ม 1. กลุ่มสายตาสั้นระดับต่ำ สั้น 600 หรือน้อยกว่า 2. กลุ่มสายตาสั้นระดับปานกลาง สั้น 600 ถึง 1000 3. กลุ่มสายตาสั้นระดับสูง สั้นมากกว่า 1000 สำหรับการรักษาสายตาสั้น สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใส่แว่นสายตา ใส่คอนแทคเลนส์ หรือเลือกผ่าตัด

แม้สายตาสั้นจะเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่เราก็สามารถยับยั้งไม่ให้สายตาสั้นลงอย่างรวดเร็วได้ ด้วยการตรวจสุขภาพดวงตาอย่างสม่ำเสมอ ควรใช้เลนส์ที่เหมาะกับค่าสายตาของตัวเอง สวมแว่นกันแดดทุกครั้งเมื่อออกไปเจอแสงจ้า ทานอาหารที่อุดมไปด้วยกรดโอเมก้า 3 เพื่อบำรุงดวงตา และควรพักสายตาจากการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์หรืออ่านหนังสือเป็นระยะๆ เพื่อเลี่ยงอาการตาล้า เป็นต้น

02 | สายตายาว (Hyperopia) 

สายตายาว คือภาวะกำลังหักเหแสงของตาผิดปกติ โดยผู้ที่มีสายตายาวจะมีตาเล็กเกินไปหรือกระจกตาไม่โค้งมนเพียงพอ ทำให้ระยะห่างระหว่างกระจกตาและจอประสาทตาสั้นลง เป็นสาเหตุทำให้แสงจากวัตถุไม่โฟกัสบนจอประสาทตา แต่ไปโฟกัสหลังจอประสาทตาแทน ซึ่งส่งผลให้เห็นภาพได้ไม่ชัดเจน ทำให้มองเห็นภาพหรือสิ่งของในระยะใกล้ราวๆ 30 ซม. ได้ไม่ชัด แต่มองในระยะไกลได้ชัดเจน ซึ่งสายตายาวในทางการแพทย์หมายถึง อาการสายตายาวที่เกิดตั้งแต่อายุยังน้อย (Hyperopia) และสายตายาวที่เกิดขึ้นเมื่อถึงวัยสูงอายุ เรียกว่า สายตายาวตามอายุ (Presbyopia)โดยสายตายาวเป็นภาวะที่พบได้มากในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ มักพบว่าเป็นกันหลายคนในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งในบ้านเรา พบว่าเด็กประมาณ 15 – 20% เป็นสายตายาว

การรักษาสายตายาว สำหรับเด็กเล็กอาจไม่มีความจำเป็นต้องรักษา เพราะว่าเลนส์ตามีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะปรับตัวและแก้ไขภาวะสายตายาวได้เอง แต่เมื่อมีอายุที่เพิ่มมากขึ้น ความยืดหยุ่นจึงลดลงและอาจมีความจำเป็นต้องใส่แว่นตาที่เป็นเลนส์นูนมีกำลังเป็นบวก (+) หรือคอนแทคเลนส์ในที่สุด

นอกจากนั้น ผู้ป่วยบางรายอาจเลือกที่จะแก้ปัญหาสายตายาวด้วยการผ่าตัด เพื่อแก้ไขปัญหาการหักเหของแสง สำหรับการป้องกันสายตายาว ก็จะคล้ายกันกับคนสายตาสั้น คือหมั่นตรวจเช็กสุขภาพดวงตาอย่างสม่ำเสมอ และเลือกใช้เลนส์ที่เหมาะกับสายตาตัวเอง หากต้องออกกลางแจ้งควรปกป้องดวงตาจากแสงอาทิตย์หรือรังสี UV ด้วยการใส่แว่นกันแดดทุกครั้ง และทุกครั้งที่ต้องใช้สายตาในการทำกิจกรรมต่างๆ ในร่มก็ควรเปิดไฟและใช้ไฟให้เหมาะสม

03 | สายตาเอียง (Astigmatism)

สายตาเอียง เป็นปัญหาสายตาที่เกิดจากกระจกตาหรือเลนส์ตามีความโค้งไม่เท่ากัน มีทั้งแบบสายตาเอียงแบบสม่ำเสมอและสายตาเอียงแบบไม่สม่ำเสมอ ซึ่งทั้งสองชนิดล้วนทำให้การมองเห็นภาพ หรือตัวอักษรบางตัวชัด บางตัวไม่ชัด เช่น เห็น ‘ก’ ชัดมาก แม้ตัวเล็ก แต่ไม่สามารถแยกความต่างระหว่าง ‘ข ฃ ค ฅ’ ได้ แม้จะมีขนาดใหญ่กว่าก็ตาม นอกจากนี้การมีสายตาเอียง ยังทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างอาการปวดหัว ปวดตา หรือตาล้าหลังจากใช้สายตาเป็นเวลานาน เช่น การอ่านหนังสือ หรือการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ 

โดยสายตาเอียงส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นร่วมกับสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาผู้สูงอายุ เพราะจากสถิติในประเทศไทยพบว่า ผู้ที่มีปัญหาสายตากว่า 30 – 50% มักจะมีค่าสายตาเอียงร่วมด้วย

แม้ปกติสายตาเอียงมักไม่ปรากฏอาการที่รุนแรงจนต้องทำการรักษา แต่เพื่อแก้ปัญหาการมองเห็น วิธีการรักษาและแก้ปัญหาสายตาเอียงสามารถทำได้โดยการสวมแว่นตาและใส่คอนแทคเลนส์ และในกรณีที่สายตามีปัญหาอย่างรุนแรงก็สามารถใช้การผ่าตัดเข้าช่วย อย่าง ทำเลสิก เลเสก พีอาร์เค อีพิเลสิก เป็นต้น

การป้องกันการเกิดสายตาเอียงแม้ไม่มีวิธีการที่ชัดเจน แต่เราสามารถทำได้โดยการดูแลรักษาดวงตา ป้องกันไม่ให้ได้ดวงตาได้รับความกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุต่างๆ และใช้สายตาอย่างเหมาะสม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของดวงตา

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.