‘ความสุขมักถูกซ่อนเอาไว้ในความเจ็บปวด’
คำกล่าวนี้ผู้เขียนไม่ได้ทึกทักขึ้นมาเอง แต่ความเจ็บสามารถสร้างความสุขแบบแปลกๆ ให้เราได้จริง จากฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน (Endorphins) หรือฮอร์โมนแห่งความสุขที่ปล่อยออกมาเวลาเราทำกิจกรรมที่สนุกหรือเพลิดเพลินไปกับมัน เช่น ออกกำลังกาย ทานของอร่อย นวดสปา หรือการมีเซ็กซ์
ขณะเดียวกัน ถ้าลองนึกดูดีๆ หลายครั้งเราก็ ‘เพลิดเพลิน’ ไปกับกิจกรรมที่มีความทรมานแฝงอยู่ มาก-น้อย ช้า-เร็วต่างกันไป เช่น การกินเผ็ด เล่นเครื่องเล่นหวาดเสียว ดูหนังผี ไปจนถึงการดูหนังหรือฟังเพลงเศร้า โดยเฉพาะช่วงที่เรากำลังอกหัก
สิ่งนี้เรียกว่า ‘Tragedy Paradox’ หรือความย้อนแย้ง ที่ใช้ในสถานการณ์เมื่อคนเราพยายามจะทำอะไรสักอย่างเพื่อลดหรือบรรเทาความเศร้าในชีวิต แต่ก็เจอความสุขในความสวยงามของความเศร้านั้นไปด้วย
นอกจากนี้ ในระหว่างที่เรากำลังฟังเพลงเศร้า ร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนโพรแลกทิน (Prolactin) ที่สร้างขึ้นเมื่อน้ำตาเราไหล ซึ่งจะช่วยให้เรารู้สึกบันเทิงไปกับเพลงที่ฟังดูเจ็บปวด หรือเมื่อกำลังมีประสบการณ์กับอารมณ์คลื่นความถี่ต่ำ เช่น เศร้า โหยหาถึงคนที่คิดถึง เครียด โดยจะช่วยให้รู้สึกผูกพันและเชื่อมต่อกับสิ่งที่เรารู้สึกว่ามีความหมาย ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้คือตัวเดียวกับฮอร์โมนที่จะปล่อยออกมาตอนที่เราจะได้เป็นพ่อคนแม่คน และได้ยินเสียงลูกร้องไห้
สิ่งที่ทำให้ฮอร์โมนตัวนี้เป็นฮอร์โมนที่ปลอดภัยต่ออารมณ์ความรู้สึกของเราทั้งที่ปล่อยออกมาตอนฟังเพลงเศร้า เป็นเพราะระบบรับรู้ของเราจับได้ว่า ‘เรากำลังฟังเพลงเศร้า เพื่อให้นึกถึงช่วงเวลาที่เศร้าตอนนั้น แต่เราไม่ได้กำลังอยู่ในเหตุการณ์ที่ทรมานหดหู่ตอนนี้’
ด้วยเหตุนี้ มันจึงเกิดการแยกกันระหว่างเรื่องจริงตรงหน้ากับอารมณ์ที่เกิดขึ้น (Dissociation) ความเจ็บปวดทางจิตใจที่หนักหนาจนใจรับไม่ไหวก็ไม่เกิดขึ้น ทว่ากลายเป็นความผ่อนคลายหรือสบายใจเข้ามาแทนที่
เพลงเศร้าที่เชื่อมโยงกับความสุข
จากบทความ The Pleasures of Sad Music ในปี 2015 กล่าวว่า การฟังเพลงเศร้าจะเป็นประโยชน์ต่อคนคนนั้นได้จริงก็ต่อเมื่อ
1) เจ้าตัวฟังแล้วไม่ได้รู้สึกว่ากำลังโดนจู่โจมหรือคุกคามจากเพลง
2) ฟังเพลงนั้นแล้วสัมผัสได้ถึงความสวยงามในความเศร้า (Aesthetic) เช่น ท่วงทำนองที่บาดใจแต่ไพเราะ หรือเนื้อร้องที่ลึกซึ้งเหลือเกิน
3) เพลงนั้นสร้างประโยชน์ทางจิตวิทยา เช่น เปลี่ยนอารมณ์ให้ดีขึ้น ช่วยสร้างความรู้สึกร่วมต่อผู้อื่น (Empathic Feelings) หรือช่วยให้จดจำและตกผลึกกับเหตุการณ์ในอดีตบางอย่าง
สิ่งสำคัญที่ผู้เขียนได้จากบทความนี้คือ การศึกษาที่ชี้ว่าใครก็ตามที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) กลุ่มคนเหล่านี้จะมีปฏิกิริยารุนแรง เศร้าและโมโหต่อการฟังเพลงเศร้ากว่าคนที่สุขภาพจิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะดูเหมือนเพลงเศร้ามากๆ จะกระตุ้นอาการซึมเศร้าให้แย่ลง
การฟังเพลงเศร้าจึงเหมาะกับคนที่มีสุขภาพจิตปกติ และฟังเพื่อการบันเทิงและผ่อนคลายมากกว่า ส่วนคนที่เป็นโรคซึมเศร้าก็เหมาะกับการฟังเพลงที่มีเนื้อหาหรือทำนองที่กระตุ้นความสุขใจมากกว่า
ร้านเหล้าคือสถานที่ที่ทำให้เพลงเศร้าสนุกขึ้น
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมเวลาอกหักหรือทุกข์ใจคนถึงชอบไปร้านเหล้า
การนึกถึงเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเองผ่านเพลงเศร้า ทำให้เรารับรู้ได้ว่า มันต้องมีคนเคยเจออะไรมาเหมือนๆ เรามั่งแหละ ปัญหาหัวใจที่เราเคยแบกไว้คงมีอีกหลายคนเลยเนอะที่ร่วมแบกกับเรา การได้แชร์อารมณ์และเป็นส่วนหนึ่งของท่วงทำนองบาดใจที่ตะโกนร้องออกมาดังๆ พร้อมกันในร้านเหล้า จึงทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายและโล่งใจได้อย่างน่าประหลาด
อย่าลืมว่าหนึ่งวิธีที่ทำให้สุขภาพจิตเราดีขึ้นคือ การรับรู้ว่า ‘เราไม่ได้อยู่กับสิ่งแย่ๆ นี้คนเดียว’ ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกับประโยชน์ของการมี Support Group หรือกลุ่มสนับสนุนชุบชูใจของคนที่เคยผ่านเรื่องราวหนักหนาต่างๆ เช่น ติดยา ติดเกม หย่าร้าง คนที่รักเสียชีวิต ฯลฯ ซึ่งได้มาเจอกันเป็นประจำและอยู่ให้กำลังใจกัน
เช็กความบันเทิงในความเจ็บปวดของตัวเองเสมอ
ผู้เขียนมักมีบทสนทนากับคนไข้ว่า ความทรมานบางอย่างก็สร้างความสุขให้กับคนได้ ดังที่ยกตัวอย่างไปเมื่อต้นบทความ แต่เราก็ต้องคอยเช็กกับตัวเองเสมอว่า ระหว่างที่เราใช้บริการเจ้าความเจ็บปวดนั้น มันทำให้เราผ่อนคลายหรือปลดปล่อย (Let Go) บางอย่างได้ หรือทำให้เราหมกมุ่น (Obsess) กว่าเดิมกันแน่
ยกตัวอย่าง การฟังเพลงของ Lana Del Rey ที่อาจทำให้ความเจ็บปวดจากอาการอกหักของเราสวยงามและมีเสน่ห์ขึ้นมาได้ แต่การคอยตามสืบผู้หญิงคนใหม่ของเขาไม่หยุด เข้าโลกโซเชียลของเพื่อนเขาว่าไปดื่มกันที่ไหนบ้าง มีผู้หญิงสวยๆ อยู่ด้วยหรือเปล่า ฯลฯ อาจทำให้เรายิ่งรู้สึกห่างไกลจากความเบาใจ เพราะในที่สุดแล้ว การหมกมุ่นต่ออะไรสักอย่างก็ทำงานกับสภาพจิตใจและสมองของเราแทบไม่ต่างจากการเสพยาเสพติด ซึ่งทำให้หาทางออกจากวังวนนั้นยาก หรือจะหยุดคิดก็หยุดไม่ได้สักทีนั่นเอง
ขณะเดียวกัน เราเองก็ต้องเตือนตัวเองเสมอว่า พลังงานแบบไหนที่คู่ควรกับเราในตอนนี้ และเราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างพลังงานนั้นออกมา เช่น เราคู่ควรกับพลังงานความรัก ความเบา ความอ่อนโยน ก็ควรเลือกทำกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมพลังงานเหล่านี้
เรามีสิทธิ์เลือกวิธีเยียวยาหัวใจตัวเอง
ไม่มีสูตรสำเร็จในการเยียวยาหัวใจ และเราควรเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองวิธีต่างๆ อย่างเปิดกว้าง เพื่อหาความสมดุลในการเยียวยา
ฟังเพลงเศร้าในช่วงเวลาไหน ระบายให้ใครฟังแล้วจะสบายใจขึ้น อยู่คนเดียวบ่อยแค่ไหน ควรออกไปเจอผู้คนเมื่อไหร่ หรือจะเล่นโยคะ สวดมนต์ เข้าโบสถ์ นั่งสมาธิ เต้นรำ ดูดวง เข้า Therapy ฯลฯ
ในช่วงแรกๆ เราอาจหาสมดุลของมันไม่ได้ เพราะความเจ็บปวดรวดร้าวนี้อาจเป็นสิ่งใหม่ ความกล้าหาญที่จะเยียวยาตัวเองและความเชื่อว่ายังไงมันก็ต้องดีขึ้นในไม่ช้าก็เร็ว คือหลักที่เราควรใช้ยึดเหนี่ยวในใจ
และหากวันไหนหัวใจของเรามีความสุขอย่างที่คาดหวังไม่ได้ การให้อภัยและอ่อนโยนต่อตัวเองคือสิ่งสำคัญที่สุดในวันที่เรารู้สึกอ่อนแอ
Sources :
JSTOR Daily | tinyurl.com/ybnmt5tv
Mental Health Linked to Music Listening Habits | tinyurl.com/2qgvy5ut
The Pleasures of Sad Music : A Systematic Review | tinyurl.com/2ozvjn6h