สิงคโปร์ พลิกฟื้นสลัมสู่เมืองแนวตั้งและชุมชนทันสมัย - Urban Creature

จากชุมชนชาวประมงเล็กๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่าเกาะภูเก็ตเพียงเล็กน้อย ปัจจุบัน ‘สิงคโปร์’ กลายเป็นหนึ่งในประเทศศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยโอกาสและเม็ดเงินมหาศาลจากทั่วโลก แต่ถึงอย่างนั้น ทุกเมืองทุกพื้นที่ย่อมมีข้อจำกัดของตัวเอง

ด้วยความที่เป็นเกาะขนาดเล็กและมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะแรงงานต่างชาติ ทำให้ดินแดนแห่งเมอร์ไลออนกลายเป็นประเทศที่มีความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ติดอันดับหนึ่งในสามของโลกอยู่เสมอ แต่ด้วยความสามารถในการจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้สิงคโปร์ยังรองรับผู้คนจากทั่วโลกได้โดยไร้ข้อบกพร่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายการสร้างความมั่นคงทางที่อยู่อาศัยด้วย ‘HDB Flat’ หรือแฟลตรัฐบาลที่เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในราคาที่จับต้องได้

และนอกจากโมเดลที่อยู่อาศัยแนวตั้งสำหรับชาวสิงคโปร์ อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชน รวมถึงความท้าทายใน ‘แฟลตของประชาชน’ ที่ยังมีข้อจำกัดในกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นงานของรัฐบาลที่ต้องหาทางแก้ไขต่อไป

จากชุมชนแออัดสู่ตึกอาคารชุดโดยรัฐ

หลังจากหลุดพ้นการเป็นหนึ่งในอาณานิคมของประเทศอังกฤษในปี 1959 เกาะสิงคโปร์ต้องเผชิญกับคลื่นผู้อพยพจากผู้คนหลากหลายเชื้อชาติทั้งชาวจีน อินเดีย และมาเลเซีย ซึ่งทั้งหมดได้กลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศในเวลาต่อมา ด้วยเหตุดังกล่าว ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้

ในปี 1960 รัฐบาลสิงคโปร์นำโดยนายกรัฐมนตรี ‘ลี กวน ยู’ ได้เริ่มต้นวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศโดยจัดตั้ง Housing & Development Board (HDB) หรือหน่วยการเคหะแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย โดยรัฐบาลได้กว้านซื้อที่ดินสลัมทั่วประเทศและเปลี่ยนเป็นพื้นที่สำหรับพัฒนาเมือง 

Singapore HDB Flat

ปัจจุบันประชากรในสิงคโปร์กว่า 80 เปอร์เซ็นต์อาศัยอยู่ใน HDB แฟลต ซึ่งเป็นตึกที่อยู่อาศัยแนวตั้งเพื่อป้องกันปัญหาความแออัด โดยที่รัฐเป็นผู้วางแผนทั้งหมด ผู้เช่าอาศัยจะได้รับสิทธิ์อยู่อาศัยเป็นเวลา 99 ปี หลังจากนั้นห้องจะกลับคืนมาเป็นของรัฐ

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในแรงจูงใจที่ทำให้แฟลตรัฐบาลยังคงได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบันคือ การที่รัฐจำกัดราคาค่าเช่า HDB แฟลต ให้ต่ำกว่าอะพาร์ตเมนต์หรือคอนโดมิเนียมของเอกชนกว่า 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งที่ดินส่วนใหญ่เกือบทั้งประเทศเป็นของรัฐบาล และมีการควบคุมการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติ ส่งผลให้สิงคโปร์สามารถจัดสรรพื้นที่สำหรับสร้างที่อยู่อาศัยของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าในประเทศขนาดเล็กแห่งอื่นๆ

Singapore HDB Flat

ขณะเดียวกัน ก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่หลายคนอาจติดภาพที่อยู่อาศัยที่จัดสรรโดยรัฐบาลว่ามีไว้สำหรับประชากรผู้มีรายได้น้อย หรือกระทั่งภาพความแออัดในชุมชนและคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีไม่เท่าคอนโดมิเนียมเอกชน แต่ทั้งหมดนี้กลับตรงกันข้ามกับ HDB แฟลตในสิงคโปร์ 

สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัย

แม้จะเป็นอาคารชุดขนาดใหญ่ แต่ ‘แฟลตประชาชน’ กลับมีปัญหาความแออัดน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เนื่องจากหนึ่งในนโยบายหลักของเมืองสิงคโปร์คือ การให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัย ลดความเครียดจากพื้นที่คับแคบในแฟลต และสร้างสังคมสำหรับผู้ที่มาอาศัยพื้นที่ร่วมกัน 

คอนเซปต์ของการออกแบบ HDB แฟลต จึงไม่ใช่เพียงตัวอาคาร แต่ทั้งหมดคือพื้นที่คลัสเตอร์ขนาดย่อม ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะขนาดเล็ก สนามเด็กเล่น เครื่องออกกำลังกาย และ Hawker Centre หรือศูนย์อาหารแหล่งรวมสตรีทฟู้ด ที่ได้รับการจัดสรรพื้นที่อย่างเป็นระเบียบ

Singapore HDB Flat
Singapore HDB Flat

นอกจากพื้นที่ส่วนกลางสำหรับลูกบ้าน ตำแหน่งที่ตั้งของแฟลตเองก็ผ่านการคิดมาแล้วเป็นอย่างดีเช่นกัน เพราะสถานที่สำคัญๆ ทั้งโรงเรียน สถานีรถไฟฟ้า และศูนย์การค้า ทั้งหมดล้วนถูกจัดวางในตำแหน่งที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับคลัสเตอร์กลุ่มอื่นๆ เพื่อสร้างสังคมขนาดย่อมและสะดวกในการเดินทาง

คุณภาพชีวิตที่ดีในราคาที่สมเหตุสมผล นี่คือแรงจูงใจที่มากพอจะทำให้ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแฟลตของรัฐบาล ซึ่งทุกอย่างดูเหมือนจะสมบูรณ์แบบ แต่เคหสถานในฝันแห่งนี้กลับไม่ได้สร้างมาสำหรับชาวสิงคโปร์ทุกคนหรือ ‘ทุกเพศ’ 

ข้อจำกัดจากความหลากหลายที่กีดกันการเข้าถึงที่อยู่อาศัย

ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของเกาะสิงคโปร์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่ก้าวขึ้นมาในหน้าที่การงาน ซึ่งส่วนมากกำลังมองหาที่อยู่อาศัยที่ทันสมัยและราคาจับต้องได้ 

แต่ด้วยข้อกำจัดบางอย่างของรัฐ ทำให้คนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยเหล่านี้ได้ ผนวกกับการเรียกร้องในประเด็นของ ‘เพศและเสรีภาพ’ จึงส่งผลให้แฟลตของประชาชนต้องพบกับความท้าทายด้านการเปิดกว้างสำหรับทุกคน

Singapore HDB Flat

เพราะในวัยเริ่มต้นทำงาน หากใครสามารถอาศัยอยู่กับครอบครัวได้ก็ถือว่าโชคดี แต่ถ้าชาวเฟิสต์จ็อบเบอร์คนไหนต้องการซื้อห้องแฟลตของรัฐบาล คุณอาจจะต้องผ่านกฎเกณฑ์เหล่านี้เสียก่อน นั่นคือ 1) ถ้าคุณโสด คุณต้องรอถึงอายุ 35 ปีถึงจะซื้อห้องได้ 2) ข่าวดีคือ ถ้าคุณเป็นคู่รักที่แต่งงานแล้วสามารถซื้อห้องได้ทันที แต่ข่าวร้ายคือ ประเทศสิงคโปร์ยังไม่ยอมรับคู่สมรสเพศเดียวกัน และสุดท้าย 3) คุณสามารถเป็นเจ้าของแฟลตก่อนอายุ 35 ปีได้ ถ้าคุณเป็นเด็กกำพร้าที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป หรือเป็นผู้แต่งงานแล้วที่สามีหรือภรรยาเสียชีวิต

จะเห็นได้ว่าการเป็นโสดก็มีข้อเสียเหมือนกัน แม้จะเป็นนโยบายกระตุ้นให้คนแต่งงาน แต่การที่ต้องเช่าที่อยู่อาศัยในราคาแพงกว่าปกติ อีกทั้งสิทธิความเท่าเทียมในใบสมรสก็ยังถูกกีดกันเรื่องเพศ จึงทำให้คนบางกลุ่มหันกลับมาตั้งคำถามต่อสิทธิของประชาชนและ HDB แฟลต

แม้ประเทศสิงคโปร์จะจัดการเรื่องของปัญหาที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หลายคนยังคงตั้งข้อสงสัยต่อ ‘ความเข้มงวด’ ของรัฐ และ ‘เสรีภาพ’ ของประชาชน 

แน่นอนว่าโลกกำลังหมุนไปพร้อมกับความคิดที่แตกต่างจากคนรุ่นใหม่ และความท้าทายในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอาจเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับ HDB แฟลต กับคำถามที่ว่า สิ่งนี้คือเคหสถานสำหรับชาวสิงคโปร์ ‘ทุกคน’ จริงหรือ


Sources :
Housing & Development Board | bit.ly/3NrGqL3
The Cloud | bit.ly/3ZZjMkH
workpointTODAY | bit.ly/4dMTy8q

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.