“อย่าทำให้เสียงของนักข่าวหายไป” หทัยรัตน์ พหลทัพ บ.ก. The Isaan Record กับเสียงที่ส่งเพื่อแลกสังคมที่ดี - Urban Creature

มวลชนร้องมาตรา 112 ต้องยกเลิกเหตุเพราะ…นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนถูกอุ้มหาย ใครเป็นผู้อยู่เบื้องห…ผู้ลี้ภัยถูกฆาตกรรมแล้วโยนลงที่…อากง SMS ไม่ได้ส่งข้อ…รัฐใช้งบแสนล้านโดยไม่ผ่านรัฐสภาในโครงการ…

อย่าทำให้เสี…งของนักข่าว…ายไป

นักข่าวพก ‘จรรยาบรรณสื่อ’ เพื่อเสาะหาความจริงให้ประจักษ์ต่อผู้คน ขณะเดียวกันบางคนพก ‘ความกลัว’ ไว้ใต้จิตสำนึกในประเด็นที่รู้อยู่แก่ใจว่าคือสิ่งที่ผู้คนควรรู้ แต่นักข่าวบางคนไม่อยากให้รู้ หรืออาจถูกบีบให้ห้ามพูด เพราะกลัวตัวเองหายไปจากวิชาชีพหรือถูกบังคับให้หายไปตลอดกาล ทว่าเวทีสื่อตอนนี้มาถึงทางเลือกว่าจะ ‘กลัว’ แล้วย่ำอยู่ในสังคมแสนประหลาดที่แม้แต่เสียงในการกล่าวความจริงตรงหน้าก็ไม่สามารถพูดได้ กับ ‘กล้า’ กระหายความเปลี่ยนแปลงและลงมือเจาะลึกความอยุติธรรมในสังคมเพื่อคืนความยุติธรรมกลับมา ‘พี่วิส-หทัยรัตน์ พหลทัพ’ บรรณาธิการสำนักข่าว The Isaan Record คือหนึ่งคนที่เลือกกล้า ละทิ้งกลัว และบอกฉันอย่างมุ่งมั่นว่าเสียงของนักข่าวสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง

“ถ้ามันเป็นความเสี่ยงที่คุ้มค่าต่อการแลก ถ้าเรายืนยันในการรายงานข่าวเชิงลึกตามหลักวิชาชีพสื่อ และถ้าการติดคุกมันคุ้มค่าต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดี พี่ก็ไม่กลัว”

สวัสดีแหล่งข่าว โปรดป่าวประกาศเรื่องที่อยากพูด

เป็นคนอีสาน อยู่หนองบัวลำภู นักข่าว บรรณาธิการสำนักข่าว The Isaan Record ประชาธิปไตย ขจัดความเหลื่อมล้ำ ความเท่าเทียม การเปลี่ยนแปลง หลากองค์ประกอบที่ว่ามาล้วนประกอบสร้างและฝังลึกในตัว ‘พี่วิส’

“The Isaan Record ขอประกาศตัวไว้เลยว่า แม้อำนาจมืดใดจะอยู่เบื้องหลังความอยุติธรรม พวกเราก็จะทวงคืนความยุติธรรมกลับมาให้ปวงชน ถึงแม้จะเป็นทีมเล็กๆ แต่ก็จะทำให้ดูเลย”

20 ปีที่คร่ำหวอดในวงการสื่อมวลชน ลุยงานองค์กรเล็กเสนอข่าวลงหน้าหนังสือพิมพ์ แวะเวียนองค์กรใหญ่รายงานข่าวบนหน้าจอโทรทัศน์ และล่าสุดกับบทบาทบรรณาธิการ The Isaan Record สำนักข่าวออนไลน์เล็กๆ แต่พกความกล้าอันยิ่งใหญ่มาบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอีสานเพื่อคนอีสานที่กำลังต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมอยู่ ณ ขณะนี้ แต่ไม่ได้รับความสนใจจากสื่อกระแสหลักเท่าที่ควร เธอจึงมอบเวทีสปอตไลต์ให้เหล่าคนอีสานได้พูดในสิ่งที่อยากพูด และนำเสนอข่าวที่ไม่หลงลืมพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ควรทิ้งใครไว้ด้านหลัง

เวทีแรกที่พี่วิสสนใจถกประเด็นสังคมหรือความเหลื่อมล้ำจากระบบทุนนิยมครอบโลกเริ่มต้นที่ ‘พรรคสานแสนทอง’ พรรคการเมืองนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ใช่แล้ว เธอโตมากับการเป็นนักกิจกรรมและการจัดม็อบเพื่อเรียกร้องปัญหาทุกข์ยากของประชาชน หลงใหลการอ่านหนังสือ มีความฝันอยากเป็นนักเขียนจึงผลักดันตัวเองด้วยการเขียนเรื่องสั้น บทความ กลอน ลงสำนักพิมพ์มติชนและสุดสัปดาห์ พร้อมๆ กับการมีไอดอลเป็น คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือนามปากกา ‘ศรีบูรพา’ นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ผู้เต็มไปด้วยความกล้าและมองการท้าทายอำนาจเผด็จการเป็นส่วนหนึ่งที่สื่อต้องทำ แม้เขาจะถูกคุมขังและลี้ภัยทางการเมือง

อะอ้าว…แบบนี้เท่ากับว่าเสียงของนักข่าวในอดีตถึงปัจจุบันล้วนหายไปพร้อมการทำข่าวการเมือง ? เผด็จการ ? อำนาจมืด ? ฉันชักสงสัยเหมือนกันว่านี่เรากำลังอยู่ในประเทศแบบไหนกันแน่ (ประเทศไทยไง) แล้วเราจะทนอยู่ในประเทศแบบนี้โดยไม่ทำอะไรจริงเหรอ ? นั่นแหละเหตุผลที่พี่วิส ‘ต้องทำ’ เพื่อการเปลี่ยนแปลง

นักข่าวเปิดเครื่องอัดเสียง แต่อย่าปิดจรรยาบรรณ

ในวันที่เทคโนโลยีการบันทึกเสียงไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม สื่อมีเครื่องบันทึกเสียงประกอบการสัมภาษณ์ แต่เรื่องใหม่ในวันนี้กลับเป็นการอัดเสียงที่หลายถ้อยคำไม่ได้ถูกนำมาใช้ทำข่าว

พี่วิสเรียกตัวเองและถูกเรียกว่า ‘นักข่าว’ จากการทำงานหนังสือพิมพ์แนวหน้าที่ทำให้เธอได้เข้าไปทำข่าวในทำเนียบ สภาฯ และกระทรวงศึกษาธิการ เลยเป็นชนวนให้เธอเข้าใจโครงสร้างของบ้านเมือง เขยิบมาอีกนิดเธอย้ายที่ทำงานมาอยู่สำนักพิมพ์มติชน ได้โฟกัสข้างในรัฐสภา ถัดมาอีกหน่อยเธอเป็นนักข่าวที่สำนักข่าว Thai PBS ซึ่งเธอได้เรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจและเข้าใจการเมืองในระบบ และการเมืองภาคประชาชนมากขึ้น ก่อนจะมารับบทบาทล่าสุดในการเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญแห่ง The Isaan Record

“อะไรบ้างที่ทำให้เสียงของนักข่าวหาย ?” ฉันถามพี่วิส

ปัจจัยต่างๆ ถูกแบ่งเป็นองค์กรเล็กด้านเงินทุนและองค์กรใหญ่ด้านนโยบาย พี่วิสอธิบายว่าจากประสบการณ์ส่วนตัวหากเป็นองค์กรเล็กที่ทีมงานมีความกล้าหาญในการทำข่าว แต่ปัจจัยกำลังคนและงบประมาณน้อย สิ่งที่ทำได้คือการใช้เสรีภาพอย่างเต็มที่ แต่ไม่สามารถลงพื้นที่ไปทำประเด็นที่ใช้งบประมาณมากได้ตลอด และถ้าเทียบกับสื่อกระแสหลัก สารขององค์กรเล็กก็ยังไปถึงคนน้อยกว่า เสียงจึงไม่ถึง แต่ไม่ได้หมายความว่ามันหายไป ส่วนองค์กรใหญ่มักติดกับดักความกลัว ทั้งกลัวผลข้างเคียงที่จะเกิดหรือกลัวจะเสียลูกค้าโฆษณา มาถึงตรงนี้พี่วิสเน้นเสียงกับฉันต่อว่า “ต้องมาคลี่ว่าผู้บริหารมีความเข้าใจความเป็นสื่อมวลชนมากน้อยแค่ไหน ถึงไม่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง”

เพราะบางสำนักข่าวมีความกลัวบดบังดวงตาหนึ่งข้าง แม้เห็นทนโท่ว่าเรื่องตรงหน้าผิดแต่กลับไม่ทำข่าว นั่นทำให้ฉันรู้ว่าเครื่องบันทึกเสียงของนักข่าวจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าไม่ได้ถูกนำออกมาใช้

บังคับให้เสียงหาย เสี่ยงละลายความเป็นคน

ฉันชวนพี่วิสลงลึกถึงเคสตัวอย่างที่เธอเคยถูกทำให้เสียงหายและเสียดายที่ไม่ได้ลงมือทำข่าวมาจนถึงทุกวันนี้

เริ่มที่กรณีการเสียชีวิตของ ‘หมอหยอง-สุริยัน สุจริตพลวงศ์’ ผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา 112 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” พี่วิสเล่าว่าช่วงนั้นหลายสำนักข่าวเกาะติดสถานการณ์ตอนเขาถูกจับ แต่เมื่อเสียชีวิตเนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด กลับไม่มีใครไปทำข่าวต่อ ไร้แววข้อมูลเชิงพิสูจน์ศพ ทั้งๆ ที่ควรเป็นสิ่งที่สังคมควรทราบ พี่วิสตั้งคำถามในหัวว่า “ทำไมเขาถึงติดเชื้อในกระแสเลือด ?” และ “ใครเป็นคนทำ ?” แล้วนำไปคุยกับกองบรรณาธิการรายการข่าวสืบสวนสอบสวนว่าให้พิจารณาการทำ แต่องค์กรใหญ่องค์กรนี้ตอบกลับว่าไม่อยากให้แตะมาตรา 112 มันเสี่ยง

หรือคดีอากง SMS ที่ทำให้พี่วิสเสียใจมาจนถึงทุกวันนี้ที่ไม่มีโอกาสทำ คดีนี้เป็นคดีที่ ‘อากงอำพล ตั้งนพกุล’ ชายวัย 62 ปี ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง ถูกจับด้วยมาตรา 112 เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ 4 ข้อความ จนศาลตัดสินความผิดลงโทษจำคุก 20 ปี และเขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งระหว่างจำคุก นำไปสู่การตั้งข้อสงสัยว่าผู้สูงอายุสายตาไม่ดี ใช้โทรศัพท์มือถือจอขาวดำ และส่ง SMS ไม่เป็น จะเป็นคนส่งข้อความได้อย่างไร ? มิหนำซ้ำอากงยังถูกจับเข้าคุกตั้งแต่วันแรกที่ถูกกล่าวหา และห้ามประกันตัว เขาและครอบครัวไม่มีแม้โอกาสที่จะพิสูจน์ความจริง

“ถ้าอากงไม่ได้เป็นคนส่งข้อความ ไม่รู้แม้กระทั่งเบอร์ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวิธีส่งคืออะไร แล้วทำไมแกต้องจากไปอย่างไร้ความยุติธรรม ไร้การตรวจสอบ ตอนนั้นกองบรรณาธิการบอกพี่ว่าไม่มีนโยบายทำเรื่อง 112 พี่โกรธมาก เพราะการที่องค์กรมีงบในการทำข่าวต่างประเทศได้ แต่เรื่องในไทยกลับไม่ทำ ทำให้พี่รู้สึกเสียใจที่ไม่ได้สร้างความยุติธรรมให้พวกเขา”

“ที่น้องถามว่าทำไมเสียงของนักข่าวหายไป มันคือความกลัวนั่นแหละ ถ้าไม่กลัวจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย เราอาจจะคืนความยุติธรรมให้กับหลายครอบครัว ถ้าเราตรวจสอบ และจับคนกระทำผิดจริงๆ กลายเป็นว่าเราอยู่ใต้บรรยากาศความกลัวที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งควรจบได้แล้ว”

ถ้าทุกสื่อกล้าพูด อำนาจมืดจะลบเสียงนักข่าวมิได้

ตลอดการสนทนากับพี่วิสวันนี้ทำให้ฉันไม่สามารถหลุดโฟกัสขณะสัมภาษณ์เธอได้แม้แต่เสี้ยวนาที ในฐานะที่ฉันเป็นหนึ่งในสื่อมวลชนที่เรียนการทำข่าวมา จึงเข้าใจพี่วิสดีว่าการนำเสนอเรื่องราวความจริงของผู้คนและบ้านเมืองเพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างย่อมสำคัญกว่าการทำข่าวเพื่อเรียกยอดไลก์หรือยอดแชร์ที่ข้างในไม่ได้นำไปสู่การตั้งคำถามต่อสังคม

“พี่ทำข่าวเรื่องเหมืองทองพิจิตร ที่รัฐบาลใช้ ม.44 สั่งปิดเหมือง และบริษัทเอกชนฟ้องชาวบ้านละแวกนั้น พี่ใช้เวลาตามข่าว 2 ปี ถึงรู้ว่ามันมีสารเคมีตกค้างในเลือดของชาวบ้าน และนำไปสู่การตรวจเลือดแล้วพบสารเคมีจริงๆ ซึ่งกฎหมายควรเอาผิดเอกชนที่ปล่อยสารเคมีรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม”

“พี่กำลังทำข่าววาทกรรมภัยแล้ง โครงการโขง ชี มูล ที่รัฐบาล คสช. สร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก จังหวัดเลย งบประมาณสูงมากด้วยการระเบิดภูเขามากกว่าแสนล้านบาท ซึ่งเป็นการรื้อโครงการนี้ที่มีตั้งแต่ พ.ศ. 2536 โดยไม่ผ่านรัฐสภา”

“พี่กำลังทำซีรีส์ ‘พลังนักศึกษา’ ในภาคอีสาน ซึ่งพบว่านักศึกษา LGBTQ+ ส่วนใหญ่เป็นผู้จัดการการชุมนุม ทั้งศรีสะเกษ บุรีรัมย์ คนที่ถูกฟ้องข้อหา 112 ที่แต่งตัวคล้ายคนในวังก็เป็น LGBTQ+ ถูกคุกคามจนต้องออกจากจังหวัด”

“หรือการทำเรื่องรัฐประหารที่ทหารตั้งงบซื้ออาวุธและรถถัง ในฐานะผู้เสียภาษี คนก็ตาสว่างและรับไม่ได้กับการใช้อำนาจแบบนี้ แม้กระทั่งการสัมภาษณ์ทนายอานนท์ หรือ สุรักษ์ ศิวรักษ์ ถึงประเด็น 112 พี่กับน้องๆ ในออฟฟิศก็โดนคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ แต่ถามว่ากลัวไหม ไม่กลัว เพราะถ้าไปดูเนื้อความมันไม่มีอะไรหมิ่น ยกเว้นคุณจะยัดข้อหานั่นแหละ”

ราว 2 ชั่วโมงที่ฉันได้คุยกับพี่วิส เธอทิ้งท้ายและฝากถึงสื่อมวลชนทั้งสื่อหลักและสื่อทางเลือกว่า หากไม่อยากให้ประเทศมีชะตาดิ่งลงเหว สื่อมวลชนต้องลุกขึ้นมาเปิดพื้นที่ถกเถียงและนำเสนอข่าวเพื่อการเปลี่ยนแปลง เพราะตอนนี้มีเพียงไม่กี่ช่องและไม่กี่สื่อที่นำเสนอ

และในโมงยามอันคับขัน เหล่านักศึกษาและคนรุ่นใหม่ไม่ได้รับข่าวสารสถานการณ์บ้านเมืองที่ถูกต้องและครบถ้วนจากสื่อหลักที่พวกเขาคุ้นเคยอีกต่อไป โลกอินเทอร์เน็ตและหนังสือจากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่ผลิตคอนเทนต์เรื่องราวประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับการเมืองและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ จึงกลายเป็นหนังสือติดมือที่คิดนอกกรอบจนทุกคนต้องถือแทน

ภาพจินตนาการของฉัน เมื่อวันที่ ‘ข่าว’ ถูกทำงานด้วย ‘นักข่าว’ พร้อมๆ กับการกระตือรือร้นหาความจริงในโลกปัจจุบันของเหล่าคนรุ่นใหม่มาถึง อำนาจมืดจากแห่งหนใดจะไม่สามารถทำลายเสียงของนักข่าวและประชาชนได้อีกต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าการปั้นจินตนาการให้เกิดขึ้นเป็นภาพจริงนั้น กำลังแรงของทุกสื่อมีส่วนสำคัญเสมอ

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.