‘เดปอถู่’ แบรนด์ผ้าทอชาวปกาเกอะญอ ที่สานด้วยพลังชุมชนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต - Urban Creature

ชวนเดินทางไปยังชุมชนกัลยาณิวัฒนา ก้าวเท้าขึ้นเขาที่อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 200 กิโลเมตร เพื่อพบกับแหล่งกำเนิดแบรนด์เดปอถู่ ผ้าทอลายสวยจากฝืมือชาวปกาเกอะญอ ที่ทำด้วยสองมือของชาวบ้านอย่างละเอียดลออ โดยกว่าจะเป็นผ้าทอแต่ละผืนนั้น มีความหมายมากกว่าเป็นสินค้าพื้นถิ่น แต่ยังทักถอด้วยเรื่องราวมากมายที่สร้างคุณค่าต่อคนทำและช่วยเหลือชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตดีมากขึ้นอีกด้วย 

ศิลปะทอผ้า นำภูมิปัญญาหล่อเลี้ยงชุมชน

ก่อนจะเข้าถึงดีเทลของเนื้อผ้า ชวนไปรู้จักที่มาของแบรนด์เดปอถู่นั้นเริ่มจาก แม่หลวงเปิ้ล หรือผู้ใหญ่บ้าน อานันต์ศรี แก้วเลิศตระกูล ผู้ริเริ่มทำแบรนด์เดปอถู่ ที่ตั้งใจสร้างแหล่งงานให้กับชาวบ้านในชุมชนกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการรวมตัวของชุมชน 3 อำเภอ คือตำบลแจ่มหลวง บ้านจันทร์และแม่แดด โดยส่วนใหญ่คนในชุมชนจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน ทั้งชาวปกาเกอะญอ ชาวม้ง และชาวลีซู ที่ประสบปัญหามากมาย ทั้งหนี้สิน โรคภัยไข้เจ็บ การศึกษา หรือแม้กระทั่งเรื่องค่านิยมทางเพศที่ต้องได้รับการแก้ไข

สาเหตุที่ใช้ชื่อ เดปอถู่ นั้นมีความหมายมาจากภาษาของชาวปกาเกอะญอ หมายถึงต้นไม้ที่ชาวปกาเกอะญอใช้ผูกสายสะดือของเด็กทารกเพื่อเป็นสายใยระหว่างจิตวิญญาณของคนกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในพิธีกรรมหลังทารกเกิด โดยแบรนด์เดปอถู่ของชุมชนกัลยาณิวัฒนาได้หยิบยกเอามาเป็นความเชื่อที่ยกระดับจิตวิญญาณของผู้คนให้ดีขึ้น

เราไม่เน้นขาย แต่เราอยากให้คนในชุมชนมีจิตใจดีขึ้น

แม่หลวงเปิ้ลกล่าวว่า การสร้างแบรนด์เดปอถู่ไม่ได้หวังที่จะขายเอากำไร แต่อยากให้คนในชุมชนมีกำลังใจในการสู้ชีวิตต่อไปมากกว่า “เพราะเราไม่ได้หวังเงินทอง แต่เราทำให้คนมีรอยยิ้มให้กันและไม่มีใครที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ก่อนหน้านี้ชุมชนของเรามีปัญหาเรื่องความเป็นอยู่และมีผู้ด้อยโอกาสเยอะ โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง ซึ่งในหมู่บ้านเรามีผู้หญิงที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวอยู่ถึง 48 คน เราจึงอยากทำโครงการเพื่อช่วยคนกลุ่มนี้ให้มีพื้นที่ทำงาน โดยเริ่มจากการนำภูมิปัญญาที่พวกเขามีอยู่แล้ว นั่นคือการทอผ้าแบบปกาเกอะญอแท้ๆ หรือการทอผ้าด้วยกี่เอวมาเป็นอาชีพเสริมให้กับคนในชุมชน”

ผ้าทอจากมือและวัตถุดิบธรรมชาติ

การทอผ้าของชาวปกาเกอะญอ เรียกว่าเป็นซิกเนเจอร์ของชุมชน ด้วยลวดลายดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร แม่หลวงเปิ้ลจึงนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอดเป็น โครงการพัฒนาอาชีพของกลุ่มสตรีปกาเกอะญอผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ซึ่งอยู่ในการดูแลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทำให้แม่หลวงเปิ้ลสามารถรวบรวมสมาชิกได้มากกว่า 150 คน และยังได้รับความช่วยเหลือ ทั้งการสอนทักษะทอผ้าและการทำลายผ้าจากภูมิปัญญาดั้งเดิม รวมไปถึงการขายสินค้าเพื่อให้ชาวบ้านเลี้ยงดูตัวเองได้

สิ่งสำคัญไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่คือการได้ลงมือทำ

เมื่อถึงเวลาทอผ้า แม่หลวงเปิ้ลจะแบ่งหน้าที่ให้สมาชิกทุกคนเลือกทำตามความถนัดของตัวเอง หากใครชอบทอผ้า ปักผ้า ก็รับหน้าที่นี้ไป หรือจะเป็นสายม้วนด้าย ย้อมสี หรือถ่ายภาพก็อาสาทำได้ตามความสมัครใจ เพื่อให้ทุกคนได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ และสร้างความภูมิใจให้กับตัวเองที่ได้ลงมือทำ

“สิ่งสำคัญคือต้องให้เขาได้ลองลงมือทำ เพราะผู้ด้อยโอกาสหลายคนไม่กล้าที่จะลองอะไรใหม่ๆ ส่วนหนึ่งเราจึงต้องทำเป็นตัวอย่างให้ดูก่อน อีกส่วนคือการพูดให้กำลังใจ เราชอบบอกทุกคนว่าให้ทดลองทำไปก่อน ไม่ต้องกังวลว่ามันจะออกมาดีหรือไม่ดี”

ผ้าทุกผืนของเดปอถู่เป็นงานแฮนด์เมดจากฝีมือชุมชน ที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นจากธรรมชาติทั้งหมด ย้อมสีเส้นไหมจากสมุนไพรพื้นบ้าน ที่มาจากพืชท้องถิ่นใกล้ตัว เช่น สีแดง จากสารขับถ่ายของแมลงครั่ง สีน้ำตาลอ่อนจากหยวกกล้วย หรือสีน้ำเงิน จากต้นครามที่ทำให้ผ้าทอของเดปอถู่มีโทนสีสดใสเป็นเอกลักษณ์

จากเส้นด้ายถูกถักทอเป็นผ้าผืนงาม ถึงคราวรับไม้ต่อด้วยการแต่งแต้มลายผ้าแบบกะเหรี่ยงโบราณ ซึ่งเป็นจุดเด่นของผ้าเดปอถู่ โดยออกแบบจากชาวปกาเกอะญอที่ดีไซน์แพทเทิร์นแต่ละผืนไม่เหมือนกัน ซึ่งที่มาของลายต่างๆ ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติและสิ่งใกล้ตัว เช่น ลายก้นหอย ลายดอกบัวตอง หรือลายปักมะเขือพวง พร้อมร้อยประดับด้วยลูกเดือย ที่มีลักษณะคล้ายกับเมล็ดข้าวเย็บติดไปกับเนื้อผ้า ไม่เพียงตกแต่งให้ความสวยงาม แต่ยังผูกความเชื่อที่ว่าจะสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตคนใส่ด้วย 

ซึ่งกว่าจะกลายเป็นผ้าทอพร้อมนุ่งห่มต้องใช้เวลาในการทำสุดพิถีพิถัน อย่างเสื้อผู้ชายใช้เวลา 3 – 5 วันแต่ถ้าเป็นเสื้อผู้หญิงจะใช้เวลาเกือบ 1 เดือนเลยทีเดียว เพราะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก กว่าจะออกมาเป็นผ้าทอแสนประณีต พร้อมวางจำหน่ายเพื่อหารายได้ให้กับชุมชนต่อไป

จากผ้าทอสู่ของใช้ใกล้ตัว

เมื่อผ้าทอของชุมชนนำมาวางขายจนติดตลาด ทำให้ชาวบ้านสนใจเข้าร่วมโครงการมากขึ้น และสามารถมีรายได้เสริมไว้เลี้ยงดูตัวเองได้ ทีมจึงมีไอเดียต่อยอดผ้าทอเป็นการทำโปรดักต์ต่างๆ รวมไปถึงการตั้งชื่อแบรนด์เดปอถู่อย่างเป็นทางการ เพื่อให้คนรู้จักง่ายและมีชื่อเรียกเป็นที่รู้จักมากกว่าเคย

“เรามองต่อไปว่า เราจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอเป็นอะไรได้บ้าง ก็พยายามต่อยอดทำเสื้อผ้า กระเป๋า ผ้าพันคอ และผ้าถุงที่มีลวดลายละเอียดขึ้น อีกส่วนหนึ่งก็สร้างของใช้ภายในบ้าน เช่น น้ำยาล้างจานและน้ำยาซักผ้า เพื่อให้คนในชุมชนสามารถผลิตแล้วใช้เองได้ เมื่อเรามีสินค้าออกมาหลากหลาย ทีมก็คิดกันว่าคงถึงเวลาแล้วที่ต้องทำชื่อแบรนด์ออกมาเป็นที่รู้จัก จนสุดท้ายได้ชื่อว่า เดปอถู่ นี่แหละ”

เดปอถู่ ช่วยฟื้นฟูจิตใจให้แข็งแรง

หลังจากชุมชนได้เข้าร่วมโครงการ สิ่งที่พวกเขาสัมผัสได้จากการทำกิจกรรม คือการรักษาจิตใจของคนในชุมชนให้มีกำลังใจสู้ชีวิตต่อไปได้ โดยเฉพาะปัญหาอาการป่วยด้วยโรคซึมเศร้าหรือโรคเครียดของคนในพื้นที่ค่อยๆ จางหายไป

การทำงานร่วมกัน มันทำให้พวกเขายิ้มได้

“ก่อนหน้านี้ชุมชนเรามีคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเยอะมาก มีอยู่เดือนหนึ่งที่มีคนฆ่าตัวตาย 4 คน โดยทั้งหมดเป็นผู้ชายและเป็นเสาหลักของครอบครัว ทำให้ภรรยาของพวกเขากลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวและมีความเครียดเพิ่มมากขึ้น บางคนมีอาการเป็นโรคซึมเศร้าตามมา ซึ่งการได้ทำงานร่วมกัน มันทำให้เราได้พูดคุยกัน กินข้าวด้วยกัน มีคนให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ช่วยกันหาทางออก มันทำให้พวกเขาไม่ต้องจมอยู่กับความเครียดคนเดียว พอผ่านไปสักพักเขาก็จะเริ่มยิ้มออก ซึ่งแค่เราได้เห็นรอยยิ้มพวกนั้น เราก็สุขใจแล้ว”

อีกหนึ่งสมาชิกในชุมชน ซึ่งเป็นชาวปกาเกอะญอที่พูดภาษาไทยไม่ได้ และเคยโดนกีดกันจากสังคมเนื่องจากเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หลังจากเขาได้เข้าร่วมโครงการก็สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้กินและมีคนยอมรับมากกว่าเดิม 

“สมัยก่อนไม่มีเสื้อผ้าใส่ ไม่มีที่อยู่ ไม่ได้พบปะผู้คน แม้แต่ตัวเมืองเชียงใหม่ก็ยังไม่เคยได้ไป แต่ตอนนี้มีความสุขมากที่ได้กลับมาใช้ชีวิตและทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นในชุมชนได้ โดยที่ไม่มีใครมากีดกันแล้ว”

รอยยิ้มของชุมชน มาจากทุกคนร่วมใจ

เพราะเห็นรอยยิ้มจากทุกคน ในวันที่สามารถขายสินค้าจนติดตลาด จึงทำให้พวกเขารู้ว่าการทำแบรนด์เดปอถู่นั้นเป็นมากกว่าการสร้างอาชีพให้กับชุมชน แต่ยังผูกสายสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นตัวเชื่อมวัฒนธรรมและสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีมากกว่าเคย อย่างการแก้ปัญหาโรคเครียดและซึมเศร้า รวมถึงช่วยเหลือกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้

“สิ่งที่ทำให้ทุกวันนี้ทีมงานของเรามีความสุขและพ้นจากความเครียดได้ เพราะเป้าหมายของพวกเราไม่ใช่การผลิตเพื่อจะขายเพียงอย่างเดียว แต่เราให้ความสำคัญกับการที่คนในชุมชนได้ออกมาพบเจอกัน ได้มาพูดคุยกัน และมาแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน”

สำหรับเดปอถู่ เราทำทุกอย่างออกมาจากหัวใจ
ซึ่งมันก็ได้มอบคุณค่ากลับมาให้กับจิตใจของคนทำด้วยเช่นกัน

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.