ฉันเป็นเด็กในเมืองที่ใช้ชีวิตท่ามกลางป่าคอนกรีต กว่าจะแล่นรถออกไปชายทะเลก็ต้องรอโอกาสเหมาะสม เช่น พักร้อน หรือวันหยุดเทศกาล มันเลยทำให้ฉันไม่ได้คลุกคลีกับหาดทรายและผืนทะเลบ่อยนัก จนกระทั่งฉันสะดุดประเด็น #กำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA บนโลกออนไลน์ ที่ต้องคลิกเข้าไปดูความเป็นไปของชายหาด ฉันจึงพบว่าผลลัพธ์ของมันสร้าง ‘รอยเว้า’ และ ‘กลืนกินชายหาด’ อย่างไม่น่าเชื่อ
การกัดเซาะที่มาของกำแพงกันคลื่น
ฉันคว้าความสงสัยที่มีต่อสายตรงหา ผศ. ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสารคาม อาจารย์เล่าให้ฟังว่า ‘การกัดเซาะชายฝั่ง’ คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาจาก ‘คลื่น’ หรือ ‘ลม’ โดยพัดตะกอนจากที่หนึ่งไปทับถมอีกที่หนึ่ง ทำให้แนวชายฝั่งเดิมเปลี่ยนแปลงไป
ข้อมูลบนเว็บไซต์ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง แบ่งออกเป็น 3 แนวทาง ดังนี้
- แก้ปัญหาโดยวิธีธรรมชาติ เช่น ฟื้นฟูป่าชายเลน ป่าชายหาด หรือปะการัง
- แก้ปัญหาโดยไม่ใช้โครงสร้าง เช่น การปลูกพืช ปักแนวไผ่กันคลื่น หรือเสริมทรายชายหาด
- แก้ปัญหาโดยโครงสร้างวิศวกรรม เช่น กำแพงกันคลื่น คันดักทราย เขื่อนกันคลื่น หรือเขื่อนกันทรายและคลื่น
ส่วนใหญ่ในประเทศไทยนิยมใช้วิศวกรรมทางชายฝั่งเชิงโครงสร้างแบบ ‘กำแพงกันคลื่น’ สร้างติดชายฝั่ง ทำหน้าที่ป้องกันการกัดเซาะของดินจากคลื่นและกระแสน้ำ เพื่อไม่ให้พื้นที่หลังกำแพงเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเชื่อว่าสิ่งก่อสร้างเหล่านี้จะช่วย ‘ชะลอ’ หรือ ‘ลด’ การกัดเซาะชายฝั่งได้ดีกว่าวิธีอื่นๆ อย่างไรก็ตาม แม้กำแพงกันคลื่นจะช่วยแก้ปัญหาได้จริง แต่กลับไม่ครอบคลุมพื้นที่ใกล้เคียง
ตามปกติแล้วคลื่นจะซัดชายฝั่งเข้า-ออก ทำให้ทรายไหลไปตามคลื่นและกระแสน้ำ โดยมีหาดทรายเป็นตัวชะลอความแรงของคลื่น ซึ่งหากสร้างกำแพงกันคลื่นขึ้นมา คลื่นจะกระทบกำแพงอย่างรุนแรง แล้วเพิ่มการกัดเซาะบริเวณปลายกำแพง และทำให้หาดทรายในพื้นที่ใกล้เคียงเว้าเข้าไปมากขึ้น
“แต่เดิมชายหาดมันทอดยาว และอาจมีโค้งเล็กน้อย
เมื่อกำแพงกันคลื่นถูกสร้างขึ้น จะพบว่าบริเวณหาดมีลักษณะเว้าเข้าไปคล้ายวงพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว”
นอกเหนือจากลักษณะทางกายภาพที่เปลี่ยนแปลงไป อาจารย์ยังเสริมว่ากำแพงกันคลื่นส่งผลต่อระบบนิเวศของชายหาดด้วย เพราะชายหาดเป็นถิ่นอาศัยของบรรดาสัตว์น้ำในบริเวณนั้น เช่น การวางไข่ หรือการล่าอาหารของสัตว์น้ำขนาดเล็ก ดังนั้น หากพื้นที่ชายหาดหายไป สัตว์เหล่านี้ก็จะไร้ที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร
บาดแผลจากกำแพงกันคลื่น
ข้อมูลจากการรวบรวมของ Beach for life กลุ่มเยาวชนที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพชายหาด ระบุว่า ช่วง พ.ศ. 2556 – 2562 มีกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้นทั้งหมด 74 โครงการ รวมระยะทางกว่า 34,875 เมตร ตลอดแนวชายฝั่ง คิดเป็นงบประมาณมากกว่า 6,900 ล้านบาท
เนื่องจากปี 2556 ประเทศไทยยกเว้นการจัดทำ ‘รายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Impact Assessment (EIA)’ จากโครงการกำแพงกันคลื่นริมชายฝั่งความยาวตั้งแต่ 200 เมตรขึ้นไป ด้วยเหตุผลเรื่อง ‘ความรวดเร็ว’ เพราะหากมี EIA หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ทันที
แน่นอนว่าผลลัพธ์ของการยกเว้นรายงาน EIA ส่งผลให้กำแพงกันคลื่นผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และต่างทิ้งร่องรอยบาดแผลของกำแพงกันคลื่นเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นชายหาดชะอำใต้ จังหวัดเพชรบุรี ชายหาดอ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชายหาดปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หรือหาดทรายแก้ว จังหวัดสงขลา ที่ทำให้หาดทรายหายไป เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง และวิถีชีวิตของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไป
#Saveหาดม่วงงาม คือแฮชแท็กที่ฉันเห็นผ่านตาเมื่อปีก่อน เป็นโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ระยะ 720 เมตร ซึ่งเป็นทั้งที่พักผ่อนของนักท่องเที่ยวและแหล่งรายได้หล่อเลี้ยงชีวิตคนในพื้นที่ แต่มีเอกสารและวิจัยเผยว่า บริเวณชายหาดถูกทะเลกัดเซาะจำนวนมาก นอกจากนี้ภายใน 5 – 10 ปี อาจเกิดการกัดเซาะที่รุนแรงขึ้นถึง 100 เมตร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน
ขณะที่โครงการเริ่มการดำเนินการเตรียมพื้นที่ เสียงจากชาวบ้านกลับเห็นต่าง และลุกขึ้นมาแสดงจุดยืนว่า “ไม่ต้องการเขื่อนกันคลื่น” เพราะหาดม่วงงามไม่มีการกัดเซาะอย่างถาวร แต่เกิดจากฤดูกาล จึงไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างแข็ง และหากโครงการนี้เสร็จสิ้น มันจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างหนัก รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการทำ EIA ขึ้นมาก่อน ท้ายที่สุดแล้วการสร้างเขื่อนป้องกันจึงถูกยกเลิกไปชั่วคราว
เหตุการณ์คล้ายเดิมที่กำลังเกิดขึ้นอีกครั้งกับ #Saveหาดมหาราช แฮชแท็กประเด็นร้อนที่ถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์ ซึ่งมีแผนทำเขื่อนกันคลื่นบริเวณชุมชนเลียบหาดมหาราช อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา โดยกลุ่ม Beach for life ได้รวบรวมภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของชายหาด พบว่าไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงจนมีความจำเป็นต้องสร้างกำแพงกันคลื่นยาว 1,102 เมตร เพราะการกัดเซาะดังกล่าวเกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดในช่วงมรสุมเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เมื่อมรสุมผ่านพ้นไปชายหาดจะฟื้นคืนสภาพกลับมาสวยงามดังเดิม แต่โครงการนี้ยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากประชาชน
#กำแพงกันคลื่นต้องทำEIA
หากใครเล่นโซเชียลต้องเคยเห็นแฮชแท็ก #กำแพงกันคลื่นต้องทำEIA ผ่านตาบ้าง มันเกิดขึ้นจากกลุ่ม Beach for life ซึ่งต้องการรวบรวมรายชื่อเพื่อเรียกร้องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำกำแพงกันคลื่นกลับไปเป็นโครงการที่ต้องทำ EIA เช่นเดิม
นอกจากนี้ อาจารย์ไชยณรงค์บอกฉันว่า ประเทศไทยส่วนใหญ่ มักจะทำแนวกันคลื่นแบบโครงสร้างแข็ง ซึ่งผลกระทบที่ตามมามันรุนแรงมากกว่าแนวทางป้องกันอื่นๆ หากเป็นเช่นนั้นแน่นอนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องอาศัยกระบวนการอย่างน้อย 3 อย่าง คือ
ชุมชนต้องมีส่วนร่วม-คิดวิธีการแก้ไข-ศึกษาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด
ข้อที่ 1 – การดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริง โดยเริ่มจากชุมชนเข้ามาประเมินว่าควรทำ ‘แนวกันคลื่น’ เพื่อป้องกันชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะหรือไม่ และต้องมีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เพราะ EIA คือ การประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในแง่มุมต่างๆ และป้องกันให้ผลกระทบเกิดขึ้นน้อยที่สุด หรือไม่เกิดขึ้นเลย
ข้อที่ 2 – เมื่อเกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงต้องนำประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผน เพื่อคิดวิธีการแก้ไขว่าเป็นอย่างไร
ข้อที่ 3 – หลังจากรู้ว่าต้องแก้ไข ต้องศึกษาต่อไปว่าวิธีการไหนที่จะนำมาใช้ทำแนวกันคลื่นได้บ้าง ซึ่งอาจไม่ใช่โครงสร้างแข็งก็ได้ และขั้นตอนนี้ต้องมีนักวิชา หรือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อประเมินว่าแนวทางไหนกระทบน้อยที่สุด หรือไม่กระทบเลย
บ่อยครั้งที่ฉันเห็นประชาชนลุกขึ้นมาเพื่อเรียกร้องให้ ‘หยุดทำ’ เพราะโครงการส่วนใหญ่ไม่ได้รวม ‘ประชาชนในพื้นที่’ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโครงการด้วย ซึ่งหากมีการฟังเสียงสะท้อนของประชาชน จะไม่เกิดปรากฏการณ์ #Saveชายหาดทั่วประเทศ อีกทั้งยังทำให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบำรุงรักษา และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า
อย่าให้เสียงสะท้อนของประชาชนหายไปจาก EIA
ธรรมชาติจะรักษาตัวเอง
“ผมมองว่าประเทศไทยไม่ควรมีกำแพงกันคลื่นเลยด้วยซ้ำ
เพราะว่าระบบนิเวศปรับตัวตามธรรมชาติอยู่แล้ว”
หลายคนเข้าใจผิดว่า ‘การกัดเซาะชายฝั่ง’ คือ ‘ปัญหา’ แต่ความจริงแล้วมันคือกระบวนการธรรมชาติ เพราะเม็ดทรายบนหาดจะเคลื่อนที่ตามแรงพัดของกระแสคลื่นและลม เกิดการทับถมเป็นหาดทรายที่มีความสมดุลตามธรรมชาติ หากหาดทรายถูกกัดเซาะในช่วงฤดูมรสุม มันจะถูกทดแทนด้วยทรายที่ถูกพัดคืนกลับมาตามเดิมในฤดูลมสงบ ซึ่งถ้าหากมีกำแพงกันคลื่น โอกาสกลับมาของชายหาดจะเท่ากับศูนย์
“ตอนนี้ต้องหันกลับไปมองว่าจุดประสงค์ที่เราทำกำแพงกันคลื่นขึ้นมาเพื่อป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่ง แต่ผลลัพธ์ของมันกลับทำให้เกิดการกัดเซาะเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากให้ระบบนิเวศเสียหายไปมากกว่านี้ เราต้องนำกำแพงกันคลื่นออกไป”
ธรรมชาติ คือเครื่องมือป้องกันการกัดเซาะที่เหมาะสมที่สุด
Sources :
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
การกัดเซาะชายหาดมหาราช
กำแพงกันคลื่น : หายนะหาดทรายไทย
จาก #Saveหาดม่วงงาม ถึง #Saveหาดมหาราช ให้กำแพงกันคลื่นหยุดที่รุ่นเรา
จับตากำแพงคลื่น
ฐานข้อมูลความรู้ทางทะเล
เมื่อกำแพงกันคลื่นระบาด บนชายหาดประเทศไทย