เช้าวันอาทิตย์นี้ เราตื่นไวกว่าทุกวัน เพื่อแวะไปเยี่ยมคุณยายที่วงเวียน 1 ของหมู่บ้านเศรษฐกิจ ท่ามกลางรถที่ขวักไขว่ ร้านค้าที่ออกมาตั้งแผง และผู้คนที่ออกมาจับจ่ายใช้สอย ซื้ออาหารคาวหวานที่ตลาดสดข้างวงเวียน ‘ร้านค้าขายพวงมาลัย’ เป็นอีกหนึ่งร้านในวงเวียนที่พบเห็นในทุกเช้า
.
“วันนี้วันพระ” คือป้ายที่เราพบเห็นเพื่อเชิญชวนผู้ซื้อในเช้านี้
.
ซึ่งจากร้านขายพวงมาลัยมากมายรอบวงเวียน ท่ามกลางกลิ่นหอมของดอกไม้เหล่านั้น ‘พี่ดาหวัน’ พ่อค้าในชุดเสื้อกล้ามขาวโชว์รอยสัก ใส่มาสก์ดำลายกล้วย คือคนที่โดดเด่นจนเราต้องเดินเข้าไปเริ่มบทสนทนา
เรา : เอาพวงมาลัยหนึ่งพวง พวงเท่าไหร่ครับ
พี่ดาหวัน : 10 บาท
เรา : ไม่ต้องใส่ถุงครับ คือว่า…พี่ครับผมอยากคุยด้วย
พี่ดาหวัน : เอ่อ…ได้ รอพี่ว่างก่อน ประมาณสิบโมงครึ่งนะ
เรา : ได้ครับพี่ ขอบคุณมากเลยครับ/ยกมือไหว้
ถึงเวลานัดสิบโมงครึ่ง เราเดินไปหาพี่ดาหวัน พร้อมเปิดการพูดคุยครั้งนี้ด้วยการให้แนะนำตัวเอง
“พี่ชื่อดาหวัน ขายพวงมาลัยอยู่หมู่บ้านเศรษฐกิจ อายุสี่สิบสองปี งานประจำขายพวงมาลัย แต่งานอย่างอื่นพี่ก็ทำได้นะ เย็บผ้า ทำบายศรีพี่ก็ทำ แต่ก่อนพี่ก็เคยทำงานบริษัท”
ทำไมพี่ดาหวันถึงมาทำอาชีพขายพวงมาลัยเหรอครับ?
“ก่อนหน้านี้พี่อยู่พัทยาเป็น ‘มาม่าซังบาร์เกย์’ แล้วพออยู่พัทยาได้เจ็ดปี พี่ก็รู้สึกเบื่อๆ อิ่มตัวแล้วเนอะ เลยออกจากพัทยามาอยู่นนทบุรี ขายอาหารตามสั่งแล้วมันไม่เวิร์ก พี่ก็เลยมาดูทำเลที่นี่ แล้วหาว่าอาชีพอะไรเหมาะสมกับพี่ ที่คิดว่าทำได้ อยู่กับมันได้ ก็เลยคิดว่าเป็นอาชีพขายพวงมาลัย
“งานของพี่ก็เริ่มจากการไปปากคลองตั้งแต่ตอนเย็น พี่จะได้ดอกไม้ที่เขาเพิ่งลงจากรถ วันไหนที่เป็นวันพระ วันโกนจะเตรียมดอกไม้เยอะ เราต้องพยายามเก็บลูกค้าให้ได้ ถ้าเกิดมีของให้เขา เราได้ขาย ถ้าเราไม่มีของเราก็จบ เพราะร้านพวงมาลัยไม่ได้มีร้านเดียว”
เห็นพี่เล่าว่าเคยทำงานเป็น ‘มาม่าซัง’ ที่พัทยา บอกได้ไหมครับว่าเป็นอย่างไรบ้าง?
“ได้สิ เหมือนละครเลยนะเว้ย! เพราะว่าเราไม่มีความรู้ พี่จบประถมหก มานีมานะสมัยนั้น เราก็มีความสามารถไง พี่ก็เลยเลือกไปทำงานพัทยา ไปสมัครเด็กเสิร์ฟ แต่พอสัมภาษณ์แล้วเจ้าของร้านบอกว่า ฉันไม่ให้เธอเป็นเด็กเสิร์ฟหรอก ฉันให้เธอมาเป็นพนักงานต้อนรับ ตอนนั้นพี่ก็ไม่เข้าใจหรอกว่าคืออะไร พี่ก็ต้อนรับลูกค้าคนไทย ส่วนคนต่างชาติพี่ไม่ได้ภาษา แต่พี่ความจำดี เลยครูพักลักจำว่าคำนี้คืออะไร มีความหมายอย่างไร หลังจากอยู่ที่นั่นสามสี่ปีพี่ก็ออก
“เพราะอยากไปเจออะไรใหม่ๆ เลยสมัครบาร์เกย์ ถามว่าเจ้าของร้านรับไหม เขาก็รับนะ แต่ตัวเรากลับไม่กล้าทำ ไม่ใช่ว่าพี่เขินหรืออายนะ แต่รู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่นเยอะ พอไปสมัครร้านอื่น เขาก็ถามว่าเป็นมาม่าซังไหม หน้าที่ก็คือดูแลเด็กในร้านประมาณเก้าสิบคน เด็กอยู่ภายใต้คอนโทรลเราทั้งหมด พี่ก็เลยโอเค ทำได้”
“สวัสดีค่ะ มาม่าซังดาหวัน จากซอยบัวขาว ถิ่นพัทยา”
“เริ่มงานมาม่าซัง เขาจะสอนเทคนิคว่า มาม่าซังมีหน้าที่อะไร เราจะต้องเชียร์ลูกค้า แนะนำสินค้า เครื่องดื่ม เรายังมีหน้าที่ทำให้เด็กทุกคนได้เปิดขวด เพราะถ้าเขาได้ดื่ม ในหนึ่งชั่วโมงก็จะมีรายได้สองร้อยบาทต่อขวด ซึ่งพี่อยู่ได้ประมาณเจ็ดแปดปี มันเป็นงานสบาย รายได้ดี เดือนละหนึ่งหมื่นเจ็ดพันบาท ได้ทิปอีกวันละสามสี่พันบาท เดือนหนึ่งพี่จ่ายค่าเช่าบ้านเดือนละเก้าพันสามร้อย น้ำไฟรวมห้องเฟอร์ครบ พี่ก็อยู่จนเบื่อ เลยลาออก”
แล้วจุดเปลี่ยนในชีวิตพี่ดาหวันคืออะไรเหรอครับ?
“แต่ก่อนพี่ไว้ผมยาว แต่งหญิง พออายุมากขึ้นก็รู้สึกเบื่อๆ อีกอย่างอายุจะสี่สิบแล้ว การแต่งตัวค่อนข้างกระจุกกระจิก พี่เลยรู้สึกว่าทำไมพี่ไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง เป็นตุ๊ดผมสั้น พี่ก็เลยตัดสินใจไปร้านตัดผม แต่ร้านไม่ตัดให้ เพราะผมพี่สวย…
แต่กูอยากตัด กูจ่ายตังค์ กูก็ต้องได้ตัดสิ!
“เลยไปตัดอีกร้านที่เป็นเกย์ เขาก็เข้าใจว่าเราอยากเปลี่ยน เราเบื่อแล้วไง เพราะเขาก็เคยไว้ผมยาวแต่งหญิงเหมือนกัน
“พอได้ตัดผม เหมือนได้เริ่มขึ้นว่า โอ๊ย เราทำงานที่พัทยามาหลายปี เงินเดือนก็หลักหมื่น แต่กลับไม่มีเงินเก็บเลย แล้วก็ได้รู้ว่า ตอนนั้นเราคงหลงแสงสี ติดเพื่อนฝูง เจอคนโกงบ้าง หมดเงินไปเยอะ ก็คิดว่าดีแล้วที่ออกมาขายพวงมาลัย”
ทุกวันนี้ความสุขจากการขายพวงมาลัยของพี่ดาหวันคืออะไร?
“ความสุขของพี่คือการได้เจอกับผู้คนมากมาย จากคนที่ไม่เคยรู้จักเลยมาซื้อของกับพี่ก็กลายเป็นคนรู้จักกัน รู้จักกันวันนี้ พรุ่งนี้ มะรืนนี้ก็กลายเป็นเพื่อนสนิท ได้ถามสารทุกข์สุกดิบกัน ตอนเช้าพยักหน้าให้กันสวัสดีค่ะ สวัสดีครับ จากคนที่ไม่รู้จักใครเลย กลายเป็นรู้จักหมดแล้ว”
ถ้าอย่างนั้นพี่มีความทุกข์บ้างไหม?
“พี่เป็นคนร่าเริงสดใส แต่ถ้าถามว่าพี่มีทุกข์ไหม พี่มีแต่พี่ต้องแสดงออกให้ใครเห็นไหม..ไม่ค่ะ เช่น ฉันมีตังค์หรือฉันไม่มีตังค์ไม่มีใครรู้หรอก (หัวเราะ) เราก็ใช้ชีวิตแบบไม่ต้องเอาความทุกข์ไปใส่คนอื่น ฉันก็ยิ้ม เช้าตรู่ขาย สามโมงเช้าปิด อยากกินอะไรก็กิน อยากนอนก็นอน (หัวเราะ)
“แต่ถ้าเมื่อไหร่พี่มีทุกข์ พี่ก็จะยิ้มรับแม้ในใจจะทุกข์ เราก็ไปวัด แต่ไม่ได้ไปกราบไหว้ขอพรอะไร ไม่ใช่ว่าต้องไปนั่งกราบพระ กลับมาแล้วสบายใจ แต่การไปวัดของฉันคือการให้อาหารปลา นั่งเรือ นั่งเล่นเอาขาจุ่มน้ำ สบายใจแล้วก็กลับ”
พี่รู้สึกว่าการเป็น LGBTQ+ ต้องดิ้นรนมากกว่าคนอื่นไหม?
“ไม่! ไม่ต้องดิ้นรนมากกว่าคนอื่น แค่นกน้อยสร้างรังแต่พอตัว เราจะไม่ทำจนเกินตัว เราจะไม่ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ไง คือฉันทำได้แค่นี้ ฉันมีแค่นี้ ฉันก็มีความสุข ไม่ต้องดิ้นรนอยากมีอย่างใครเขา หรือต้องเก่งกว่าใครตามสังคมกำหนด แต่ถ้าเราไม่มีกินหรืออดตายอันนั้นแหละที่เราต้องดิ้นรน
“พี่คิดว่าที่พี่อยู่ได้ทุกวันนี้ คนอาจจะมองว่าพี่เป็นตุ๊ด เป็นเกย์ เป็นกะเทยหัวโปกกะโหลกกะลา พี่ช่างมัน แต่ทุกคนที่คุยกับพี่ เขาจริงใจกับพี่ทุกคน เพราะพี่จริงใจกับเขาไง พี่ไม่ได้เสแสร้ง ชอบก็คือชอบ แต่ถ้าไม่ชอบก็ไม่เป็นไร แต่เราก็ยังยิ้มให้เขาเหมือนเดิม”
ถ้าพี่เปรียบตัวเองเป็นดอกไม้หนึ่งชนิด อยากเป็นดอกอะไร?
“แม้พี่จะขายพวงมาลัย แต่พี่ไม่จำเป็นต้องเป็นดอกกุหลาบที่สวยงามหรือสีสันสดใสหรอก”
“เพราะสิ่งที่พี่อยากเป็นคือ ‘ดอกรัก’ อยากรักใครก็ได้ ใครรักเราก็ได้ เป็นที่รักของคนอื่น ถ้าคนมอบความรักให้แก่กัน พี่ว่าโลกและสังคมจะดีขึ้นมากๆ อย่างที่เห็นสังคมทุกวันนี้มันเลวร้ายไง มันไม่ได้รักกันหรือเปล่า แก่งแย่งชิงดี แบ่งแยกกัน สังคมทุกวันมันเป็นแบบนั้นจริงๆ”
หลังจากพูดคุยกับพี่ดาหวันเสร็จ เราบอกลาด้วยการกล่าวขอบคุณแล้วเดินกลับบ้าน ระหว่างทางก็คิดได้ว่า “ทุกคนก็เหมือนดอกไม้ เติบโตจากเมล็ดพันธุ์ เป็นต้นกล้า ผลิบาน และมีช่วงเวลาที่แห้งเหี่ยว” เหมือนชีวิตที่สุข เศร้า เหงาปนกันไป แต่เราก็ได้เข้าใจและเติบโตในทุกๆ วัน
แล้วทุกคนล่ะ คิดว่าตัวเองเป็นดอกไม้อะไรในโลกใบใหญ่แห่งนี้?