หนึ่งในภาพยนตร์ที่ถูกจดจำในยุคสมัยใหม่นี้ ทั้งแง่ของการเป็นหนังอาร์ตขวัญใจนักวิจารณ์ และหนังที่มีความบันเทิงแบบบล็อกบัสเตอร์อยู่เต็มเปี่ยม คงหนีไม่พ้น Mad Max : Fury Road (2015) หนังที่อัดแน่นไปด้วยซีนแอ็กชันสูบฉีดอะดรีนาลีนแบบ Non-stop ตั้งแต่ต้นเรื่องยันท้ายเรื่อง และภาพเชิงสัญญะที่เปิดช่องว่างให้คนดูตีความกันได้
ไหนจะงานสร้างสุดอลังการที่เนรมิต Wasteland ดินแดนรกร้างหลังโลกาวินาศออกมาได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ฉากแอ็กชันขับเคลื่อนเรื่องราวที่สมจริง ทั้งยานยนต์ทั้งหลาย บรรดาสตันท์ผาดโผน ความรุนแรงต่างๆ นานา มันจึงสมกับความบ้าคลั่งของโลกในภาพยนตร์สุดๆ อย่างที่ไม่เคยมีเรื่องไหนทำได้มาก่อน
หนึ่งสิ่งที่ผู้ชมต่างจดจำในภาคนี้คือตัวละคร Furiosa ที่แสดงโดย Charlize Theron ผู้ลงทุนโกนหัวสกินเฮดจนกลายเป็นที่จดจำไปโดยปริยายเสียยิ่งกว่าตัวละคร Max Rockatansky ผู้เป็นตัวเอกของหนังชุด Mad Max เสียอีก
คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงหากจะบอกว่าฟูริโอซ่าเป็นตัวละครที่ Empower ผู้หญิงอย่างแนบเนียน สมเป็นหนึ่งในตัวละครหญิงแกร่งไอคอนิกของยุคสมัยใหม่ ประจักษ์ได้จากการที่เธอเป็นผู้นำลุกขึ้นสู้กับอำนาจในโลกที่ปกครองโดยผู้ชาย และปลดแอกการกดทับที่มีต่อบรรดาตัวละครหญิงในเรื่อง ซึ่งผู้ชมบางส่วนอาจไม่ทันรู้สึกถึงสิ่งเหล่านี้หากไม่ได้ตั้งใจมองลึกลงไป เพราะด้วยความที่ Fury Road เน้นไปที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เล่าเรื่องด้วยภาพมากกว่าคำพูดที่มีไม่กี่ถ้อยคำ นำมาสู่ช่องว่างที่เปิดโอกาสให้เรื่องราวประวัติของสิ่งต่างๆ มากมายในโลก Wasteland ที่ไม่ได้เล่า จนนำมาทำเป็นเรื่องราวส่วนขยายได้
ด้วยประการฉะนี้ ภาพยนตร์ Furiosa : A Mad Max Saga จึงเกิดขึ้น ผ่านบทหนังที่ถูกเขียนไว้อย่างยาวนานตั้งแต่ก่อน Fury Road เพื่อทำหน้าที่เป็นแบ็กสตอรีให้ Charlize Theron มีภูมิหลังใช้ในการสวมบทบาทเป็นฟูริโอซ่า ซึ่งก็มีเรื่องราวของ Immortan Joe และดินแดนที่เขาปกครองประกอบอยู่ด้วยเช่นกัน รวมถึงความสนใจของผู้กำกับ George Miller ที่อยากนำเสนอเรื่องราวของฝั่งผู้หญิงบ้าง หลังจากที่แฟรนไชส์ Mad Max นำเสนอเรื่องราวผ่านตัวละครนำชายเป็นหลักมาเสมอ
จินตนาการถึงโลกดิสโทเปียที่เกิดจากสงครามและน้ำมือมนุษย์
ผู้กำกับชาวออสเตรเลียเจ้าแห่งวิสัยทัศน์ George Miller สร้างสรรค์จินตนาการถึงโลกที่เต็มไปด้วยความบ้าคลั่งขั้นสุด มวลมนุษย์ผู้สูญสิ้นความเป็นคน และทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายจนต้องแก่งแย่งคร่าชีวิตกัน ปรากฏเป็นภาพยนตร์ชุด Mad Max ที่เป็นต้นขั้วไอเดียของภาพโลกดิสโทเปีย และมีอิทธิพลต่อป็อปคัลเจอร์มากมาย อาทิ การ์ตูนฤทธิ์หมัดดาวเหนือ หรือเกม Fallout
ทั้งนี้ อิทธิพลที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับคือ ภาพผู้คนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์บนท้องถนนจากการเคยทำงานเป็นหมอในแผนกฉุกเฉิน ร่วมกับวิกฤตน้ำมันปี 1973 ที่การขาดแคลนน้ำมันในเวลา 10 วันนำไปสู่การฆ่ากันในที่สุด และคำกล่าวของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ว่า “ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าสงครามโลกครั้งที่สามจะใช้อาวุธอะไร แต่ครั้งถัดไปหลังจากนั้นจะเป็นก้อนหินและไม้” อันหมายถึงมนุษย์จะสู้รบกันอย่างถึงที่สุดจนโลกนี้ไม่เหลือสิ่งใดและหวนกลับไปสู่ยุคเริ่มแรก
ความหวาดกลัวเหล่านี้เป็นตัวจุดประกายสำคัญที่นำไปสู่การจินตนาการถึงโลกที่พังพินาศจากสงคราม เหลือเพียงความรุนแรงจากเครื่องยนต์รถ และผู้คนที่บ้าคลั่งจากการฆ่าฟันแย่งชิงทรัพยากรที่ยังเหลืออยู่น้อยนิดในโลกใบนี้ ซึ่งในที่นี้อาจหมายถึงความเป็นมนุษย์ด้วยเช่นกัน
ภาพของบรรดาสิ่งมีชีวิตวิปลาสที่เหลืออยู่ในดินแดนรกร้างที่ห้ำหั่นกันเพื่อทรัพยากรอันน้อยนิด ด้วยแรงผลักดันแค่ให้ยานยนต์ของพวกเขาเคลื่อนไปข้างหน้า ได้รับอิทธิพลมาจากบรรดาหนังที่มีฉากไล่ล่าด้วยพาหนะอันดุเดือดอย่าง Ben-Hur (1959) และ Bullitt (1968) ร่วมกับตัวละครเอกสไตล์หนังคาวบอยอย่าง Once Upon a Time in the West (1968) ที่ George Miller ต้องการถ่ายทอดออกมา เพื่อย้ำเตือนถึงอนาคตอันเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้จากน้ำมือมนุษย์ด้วยกัน
นอกเหนือไปกว่านั้น บรรดาตัวละครหลักในหนังของเขามักเป็นคาแรกเตอร์ที่อยู่ท่ามกลางผู้คนที่มีรูปแบบวิธีคิดและโลกที่ต่างออกไปจากปกติอย่างสิ้นเชิง จนตัวละครนั้นถูกท้าทายว่าจะยังคงเชื่อในสิ่งที่ตนเองเป็น หรือจะโอนอ่อนคล้อยตามแนวคิดที่โลกรายล้อมตัวเขาเป็นอยู่ ซึ่งแนวคิดนี้ไม่ได้ปรากฏแค่ในหนังชุด Mad Max แต่ยังปรากฏในหนังเรื่องอื่นๆ ของเขาที่มีสไตล์ต่างขั้วคนละโลกอย่าง Babe (1995) และ Happy Feet (2006)
ส่วนภาพโลกของ Mad Max ที่สุดแสนเซอร์เรียล เต็มไปด้วยวิชวลจินตนาการสุดบ้าคลั่ง George Miller ได้รับอิทธิพลด้านภาพมาจากงานจิตรกรรมของ Salvador Dali ร่วมกับซีนเหนือจินตนาการจากหนังอย่าง Kagemusha (1980) ของสุดยอดผู้กำกับ Akira Kurosawa งานทัศนียภาพสุดยิ่งใหญ่ของ Lawrence of Arabia (1962)
โดยครั้งนี้ ในโลกของ Furiosa : A Mad Max Saga เราจะได้เห็นภาพของ Wasteland ชัดเจนมากขึ้น การปกครองของแต่ละหัวเมืองที่หลงเหลืออยู่อย่าง Citadel เมืองที่มีทรัพยากรครบครันทั้งพืชที่อุดมสมบูรณ์และแหล่งน้ำ แต่ถูกกักเก็บไว้ด้วยการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จของ Immortan Joe ซึ่งมีพลพรรคสมุนผู้พร้อมพลีชีพเพื่อตัวเขาอย่างเหล่า War Boys
ถัดมาคือเมือง Gas Town แหล่งขุดเจาะน้ำมันใหญ่ทรัพยากรสำคัญของยานยนต์ทั้งหลาย และ Bullet Farm เมืองที่เป็นคลังอาวุธ การขนส่งทรัพยากรจากเมืองหนึ่งสู่เมืองหนึ่งด้วยรถบรรทุกมหากาฬ War Rig และที่มาที่ไปความยิ่งใหญ่ของตำแหน่งคนขับ Imperator ภาพของดินแดน Green Place สรวงสวรรค์อันอุดมสมบูรณ์ที่เหล่าตัวละครออกตามหา รวมถึงกลุ่มคนกลุ่มใหม่ๆ ที่ไม่ได้ปรากฏในภาคก่อนหน้าอย่างกลุ่ม Biker Horde กลุ่มสิงห์นักบิดภายใต้การนำของ Dementus ตัวร้ายประจำภาคนี้ และบรรดามอเตอร์ไซค์ที่จะมาสร้างซีนแอ็กชันที่แปลกใหม่
การขับเคี่ยวของเพศกับอำนาจ ที่ผู้หญิงต้องเอาตัวรอดในโลกของผู้ชาย
แม้จะเป็นหนังชุด Mad Max และผู้กำกับคนเดียวกันก็ตาม แต่ Furiosa : A Mad Max Saga ดำเนินเรื่องราวในแบบที่แตกต่างจาก Fury Road ที่เล่าแบบซีเควนซ์แอ็กชันยาวต่อเนื่องเต็มสูบตลอดทั้งเรื่องโดยสิ้นเชิง แถมไร้ซึ่งการเล่าที่มาที่ไป ใช้เพียงภาษาภาพและการกระทำของตัวละครเป็นการเล่าเรื่องในเชิงที่มีช่องว่างทางสัญญะให้ผู้ชมมีโอกาสตีความตามความเข้าใจของตนเอง
Furiosa ใช้วิธีการเล่าสตอรีที่เป็นเรื่องเป็นราวอย่างชัดเจน โดยแบ่งเป็นแต่ละบท ไทม์ไลน์ในเรื่องที่กินเวลากว่า 15 ปี ไม่ได้เป็นเหตุการณ์เดียวต่อเนื่องเช่นภาคก่อน ส่วนนี้ทำให้ความเป็นแอ็กชันบ้าคลั่งลดลง ทว่าเน้นการอธิบายสิ่งต่างๆ อย่างชัดเจน
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันจะตื่นเต้นเร้าใจน้อยลงแต่อย่างใด แม้ซาวนด์ที่เร่งเร้าอารมณ์จะหายไปแต่หนังก็ให้ความสำคัญกับเสียงบรรยากาศมากขึ้น ทำให้ภาคนี้มีโครงสร้างแบบภาพยนตร์มากกว่าการเป็นงานอาร์ตโชว์พลังแบบในภาคก่อนหน้า เมื่อหนังเริ่มให้ความหมายกับที่มาที่ไปและเหตุผลต่อสิ่งต่างๆ ที่ตัวละครทำ ความบ้าคลั่งแบบไร้ตรรกะ ไม่มีเหตุผลของโลก Mad Max เลยค่อยๆ ลดลงตามไปด้วย
ภาคนี้ดำเนินเรื่องดั่งตำนานนิทานปรัมปรา โดยเริ่มต้นขึ้นเมื่อฟูริโอซ่าย่างกรายออกจาก Green Place ดินแดนอุดมสมบูรณ์ที่ยังหลงเหลืออยู่ ดินแดนที่เปรียบเสมือนตัวตนของเธออันได้รับการดูแลจากเหล่า Vuvalini หรือ The Many Mothers ที่เปรียบเสมือนอ้อมอกของเหล่าแม่ แต่เมื่อพ้นจากกรีนเพลสไป ดินแดนรกร้างคือสถานที่ที่ถูกปกครองโดยเหล่าตัวละครชายที่กุมอำนาจ แย่งชิงความเป็นใหญ่กัน หนทางรอดของฟูริโอซ่าจึงเป็นการพยายามซ่อนความเป็นหญิงในตัว และแสดงบทบาทเป็นชายอีกหนึ่งคนที่ยอมรับในความบ้าคลั่งของโลกใบนี้
บทเรียนที่ดินแดน Wasteland มอบให้แก่ฟูริโอซ่าคือ หากต้องการจะอยู่รอดในสถานที่แห่งนี้ เธอจะต้องยอมทิ้งตัวตนที่เคยเป็นมาทั้งหมด เพราะความเป็นตัวเอง ความดีงาม และความเป็นมนุษย์นั้นไม่มีค่าแต่อย่างใดในดินแดนแห่งนี้ ถ้าย้อนกลับไปใน Fury Road ตัวละครนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยความหวัง ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่ผลักดันให้เธอและคนอื่นๆ ต้องไปยังสถานที่ที่ไม่รู้ว่าคือที่ใด และมีจริงหรือไม่ แต่สำหรับเรื่องราวในครั้งนี้ มันคือการไล่ล่าด้วยความอาฆาตพยาบาท แรงแค้นถือเป็นแรงขับเคลื่อนอันทรงพลัง คล้ายเชื้อเพลิงที่เติมให้ยานยนต์ในดินแดนเวิ้งว้างทะยานมุ่งหน้าออกไป
และแม้จะเป็นดินแดนที่ไร้ซึ่งความหวัง ทว่าทุกตัวละครที่ดิ้นรนใน Wasteland ก็ล้วนแล้วแต่มีความปรารถนาที่ยากจะเป็นไปได้ซุกซ่อนอยู่ ยกตัวอย่าง Immortan Joe ที่ปรารถนาทายาทผู้สืบทอดอำนาจที่มีร่างกายสมบูรณ์แบบ, Dementus ที่อยากยึดครองสิ่งต่างๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าทุกสิ่งจะเป็นของตน และตัวละครที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือเหล่า War Boys ที่ต่อสู้โดยไม่สนสิ่งใดแม้แต่ชีวิตของตนเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งความตายอย่างมีเกียรติที่จะนำพาพวกเขาไปสู่ ‘วัลฮัลลา’ หรือการนิพพาน
ในโลกที่ไม่เหลือสิ่งอื่นใด จะเห็นได้ว่าการสร้างความหวังเล็กๆ ให้แก่คนที่ไร้หนทาง ทำให้พวกเขามีพลังต่อสู้ดิ้นรนอย่างบ้าคลั่งในดินแดนแห่งนี้ เช่นเดียวกับฟูริโอซ่าที่หวังจะกลับไปยัง Green Place บ้านของเธอ แต่ความบ้าคลั่งที่เต็มไปด้วยความชายเป็นใหญ่ใน Wasteland ก็ค่อยๆ พังทลายความปรารถนาของเธอ ความหวังค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นความเกลียดชัง กลายเป็นความเคียดแค้นอันแรงกล้าที่คอยผลักดันให้เธอมีชีวิตต่อไป ความบ้าคลั่งในเรื่องนี้จึงเป็นความบ้าคลั่งของหญิงสาวที่ยอมแลกทุกสิ่งกับการรอคอยวันที่เธอจะได้ลิ้มรสชาติของการล้างแค้นให้สาสมที่สุด
ท่ามกลางความรกร้างว่างเปล่า จงอย่าได้สูญเสียตัวตนและความเชื่อมั่น
เมื่อสังเกตอย่างถี่ถ้วน บรรดาตัวละครทั้งหลายในเรื่องล้วนแล้วแต่ขับเคลื่อนยานยนต์ของพวกเขาไปข้างหน้ายังแห่งหนใดนั้นสักแห่ง ไม่สำคัญว่าจะเป็นที่ใด และไม่ได้มีจุดหมายแน่นอน ต่างคนต่างมุ่งไปด้วยความต้องการว่าพวกเขาจะค้นพบตัวตนที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันในดินแดนรกร้างแห่งนี้ ที่ซึ่งแต่ละคนล้วนแล้วแต่ละทิ้งตัวตนความเป็นคนของพวกเขาไปหมดสิ้นแล้ว หลงเหลือแต่ความบ้าคลั่งจนหลงลืมไปว่าเดิมทีก่อนหน้านี้พวกเขาเคยเป็นคนเช่นไร
เช่นเดียวกับบทเพลงที่ใช้ประกอบในตัวอย่างหนังอย่าง The Man Who Sold The World ของ David Bowie ที่พรรณนาถึงผู้คนที่สูญเสียความเป็นตัวเองไปจนเขาเองก็ไม่อาจจดจำตัวเองได้ เพลงนี้ยิ่งตอกย้ำเมสเซจนั้นเมื่อ Kurt Cobain นำไปร้องในการแสดงสด MTV Unplugged in New York ด้วยน้ำเสียงราวกับคนที่สูญเสียบางสิ่งบางอย่างในตนเอง ทำให้นึกไปถึงบรรดาผู้ที่ก้าวมาสู่ดินแดน Wasteland ที่ต่างสูญสิ้นบางอย่างไปเพื่อที่จะมีชีวิตรอดในสถานที่แห่งนี้ จนกลายเป็นคำถามที่ปรากฏในท้ายเรื่อง Fury Road ที่ว่า “Where must we go…we who wander this Wasteland in search of our better selves?”
คำพูดที่แม่ของฟูริโอซ่ากล่าวไว้และวนเวียนอยู่กับเธอเสมอคือ “ไม่ว่ายังไง จงหาหนทางกลับบ้านให้ได้” แต่บ้านในที่นี้นั้นหมายถึงที่แห่งหนใด ในเมื่อที่พำนักสุดท้ายแห่งนั้นถึงที่สุดแล้วอาจจะไม่เหลืออยู่ บางทีประโยคที่บอกให้หาหนทางกลับบ้านให้ได้ จริงๆ อาจไม่ได้หมายถึงการให้กลับบ้านจริงๆ แต่เป็นการพร่ำบอกกับฟูริโอซ่าว่า ไม่ว่าจะยังไง เธอจงอย่าหลงลืมตัวตนที่เธอเป็นมา อย่าได้สูญเสียตัวตนให้แก่ดินแดนรกร้างแห่งนี้ ดินแดนที่ซึ่งบรรดาตัวละครทั้งหลายต่างออกตามหาบางสิ่งบางอย่างเพื่อที่จะค้นพบชีวิตที่ดีกว่า หากแต่แท้จริงแล้วสิ่งที่พวกเขาค้นหาไม่พบกลับเป็นตัวตนของพวกเขาเองที่สูญหายไปพร้อมความบ้าคลั่งของโลกใบนี้
และในดินแดนที่ตัวตนสูญสลาย ไม่ว่าใครก็ดูผิดปกติไปเสียหมด หากมองผ่านเลนส์ของอำนาจ Immortan Joe นั้นเปรียบเสมือนผู้นำที่ปกครองอย่างมีระบบแบบแผน เขาปลูกฝังความเชื่อบูชาตัวบุคคลอย่างบ้าคลั่ง จน War Boys พร้อมสู้อย่างถวายชีวิต และบริหารทรัพยากรได้แม้ว่าจะด้วยอำนาจการกดขี่ก็ตาม ในทางกลับกัน Dementus กลับเปรียบเสมือนขุนศึกในประวัติศาสตร์ที่มีแต่จะเดินทางอย่างทัพกองโจรยึดครองพื้นที่ต่างๆ ไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้มีความคิดว่าจะบริหารจัดการสิ่งที่ได้มาอย่างไร จนเมื่อเวลาผ่านไปสิ่งที่เขามีก็เริ่มเสื่อมสลายไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา
ท้ายที่สุด Dementus ก็จำต้องยอมรับว่าตัวเขานั้นไม่ได้ยิ่งใหญ่ดั่งที่พยายามไขว่คว้า ไม่มีที่ให้ไป มีแค่การยึดครองสิ่งต่างๆ ไปเรื่อยๆ ทำให้เขาถูกพรากสิ่งที่มีซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนสำหรับเขาแล้วคนที่ออกมาอยู่ในดินแดน Wasteland ล้วนแต่เป็นคนที่ตายไปแล้วทั้งสิ้น พวกเขาได้ทิ้งการมีชีวิตอยู่ไปโดยปริยาย การที่เขาถูกพรากลูกพรากครอบครัวไป ทำให้เขาถือสิทธิ์ว่าสามารถยึดคืนทุกสิ่งจากโลกใบนี้ได้
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ฟูริโอซ่าเรียกร้องต้องการให้ได้คืนมาจาก Dementus อาจไม่ใช่ชีวิตของแม่เธอหรือวัยเยาว์ที่ผ่านพ้นมาแล้ว แต่อาจจะเป็นตัวตนที่เธอสูญเสียไปเพื่อแลกกับการใช้ชีวิตในดินแดนแห่งนี้ ดินแดนที่ทั้งชีวิตของเธอถูกขับเคลื่อนด้วยความแค้นเท่านั้นจนยากที่จะยอมรับ ถึงอย่างนั้นเธอกับคนอย่าง Dementus ก็เป็นคนจำพวกเดียวกัน เพราะในท้ายที่สุด Dementus หล่อหลอมให้ตัวฟูริโอซ่าเป็นเธอดั่งที่เป็น ดินแดนแห่งนี้ทำให้พวกเขาไม่ต่างกันสักเท่าไหร่ เป็นคนบ้าที่ขายโลกทั้งใบทิ้งเพื่อให้อยู่รอดไปเสียแล้ว
สิ่งนี้นำทางไปสู่การกระทำใน Fury Road การออกเดินทางเพื่อที่จะกลับบ้านของฟูริโอซ่าอีกครั้งไม่ใช่การกระทำเพื่อตัวเธอเอง เพราะเธอไม่ได้มีความหวังใดๆ ต่อโลกนี้อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการกระทำเพื่อคนที่ยังมีโอกาสเริ่มต้นใหม่ในโลกที่หลงเหลืออยู่แห่งนี้
หนังเรื่องนี้จึงวนกลับมาที่การค้นหาตัวตน ในวันที่ผู้คนรอบตัวสูญเสียตัวตนของตนเองไป เราจะยังคงแน่วแน่กับสิ่งที่เราเป็นได้อยู่หรือไม่