คุยกับ Fungjai Seen Scene Space Have You Heard? - Urban Creature

เราเป็นคนหนึ่งที่ชอบปล่อยอารมณ์ตัวเองให้ลอยฟุ้งไปกับเสียงเพลง ยิ่งช่วงเวลาก่อนนอน เพลย์ลิทส์โปรดของเราที่เพื่อนชอบพูดกันว่า “ฟังเพลงอะไรวะ ไม่เห็นเคยได้ยิน” จะถูกเปิดเล่นวนซ้ำแบบไม่รู้เบื่อ เพลงอะไรวะ ที่คนรอบตัวพูดถึง คือ “เพลงนอกกระแส” ที่เราฟังตั้งเต่เด็ก คงเพราะเติบโตมากับคลื่น ‘วิทยุตัวอ้วน’ ชอบหาเพลงแปลกๆ ฟัง และชอบเสพอะไรที่ไม่แมส อะไรเหล่านั้นเปิดโลกให้เราได้รู้จักกับ เพลงนอกกระแส และชาวแก๊งอีกมากมายที่มีซาวด์แทร็กชีวิตเป็นเพลงอินดี้เหมือนกัน

เช่นเดียวกับ “ทีมโปรโมเตอร์ ” ผู้จัดคอนเสิร์ตตัวท็อปที่เราจองคิวขอคุยด้วยเอาไว้ ซึ่งเชื่อว่าคอเพลงอินดี้ต้องรู้จักกันเป็นอย่างดี พวกเขาเริ่มต้นจากการเป็นเพียงคนฟัง ก่อนจะเดินทางตามแพชชั่น เปลี่ยนตัวเองจากผู้ฟังสู่ผู้จัดงานคอนเสิร์ตที่สร้างซีน “เพลงอินดี้” ให้กลับมาอินกระแสอีกครั้ง และเรากำลังจะได้ทำตามฝัน เพื่อไปหา 3 โปรโมเตอร์ที่เราเป็นแฟนคลับ และเข้าเว็บฯ ไปกดบัตรเกือบทุกคอนเสิร์ตที่พวกเขาจัด

บ่ายวันหนึ่งที่บ้านฟังใจ เรามีนัดกับ “พี่ท็อป-ศรันย์ ภิญญรัตน์”  CEO Fungjai, “พี่แป๋ง พิมพ์พร เมธชนัน” นักร้องนำวง Yellow Fang ที่รวมตัวกับเพื่อนสร้าง HAVE YOU HEARD? และ “พี่ปูม-ปิยสุ โกมารทัต” ผู้จัดจากทีม Seen Scene Space เพื่อพูดคุยถึงการเดินทางในสายดนตรีที่หลงใหล รวมถึงตัวตน และความเป็นไปของเพลงอินดี้ในบ้านเรา

| ออกเดินทางสายอินดี้

พี่ท็อป : เราเริ่มต้นแบบ nobody มากๆ ครั้งแรกที่เจอพี่แป๋ง พี่ปูม ก็เป็นแค่คนฟังไปตามงาน รู้จักวงต่างๆ ตามวิทยุ เราชอบเปรียบเทียบว่า ‘เพลงนอกกระแส’ เหมือน ‘อาหาร’ ซึ่งถ้าย้อนไปสมัยวัยรุ่น เวลาวิทยุเปิดให้เราฟังเพลงอะไร ในทีวีเปิดให้เราดูอะไร เราก็ต้องดูตามนั้น มันไม่ได้มีสื่อทางเลือกเหมือนปัจจุบันนี้

“มันเหมือนเราโดนป้อนให้กินอาหารซ้ำๆ เหมือนกินกะเพราทุกวัน แล้ววันนึงเราได้กินอาหารอินเดีย ได้กินข้าวแกงกะหรี่ อาหารเวียดนาม ซึ่งตอนแรกเราไม่รู้ว่ามันอร่อยหรือเปล่า พอกินเข้าไปก็แปลกดี จนเริ่มชอบแล้วมันก็ติดใจ
เราก็เลยอยากลองอาหารประเทศอื่นๆ”

มันก็เหมือนกับพอเราได้เริ่มฟังเพลงนอกกระแส เราได้เปิดรสนิยมอะไรบางอย่างเรารู้สึกว่ามันมีเสน่ห์แล้วก็ติดตามมาตลอด

พี่แป๋ง : เราโตมาตั้งแต่ยุคเทป ซีดี ฟังวิทยุ ดู Channel V  ดู MTV ดาวน์โหลดเพลงเถื่อน จนมาถึงยุค streaming  คือเราผ่านมาทุกยุคทุกแพล็ตฟอร์ม ซึ่งถ้าเริ่มจริงๆ ก็คือดูทีวี ซึ่งมันโชคดีที่ว่ายุค 90  มันเป็นยุคที่ Alternative รุ่งเรือง เพราะฉะนั้น มันเลยมีเพลงนอกกระแสและในกระแสอยู่ในสื่อ ซึ่งเราก็มีโอกาสได้เห็นทั้ง 2 อย่าง แล้วก็เลือกว่า เราชอบเพลงนอกกระแสมากกว่า

เราสนุกไปกับการหาเพลงฟัง ได้ค้นหาเพลงจากคนอื่น ซึ่งมันเป็นการสุ่มมากเลยนะ บางทีเราเลือกจากการดูชื่อวง บางทีจะโหลดเพลงนึง แต่ดันไปเจอชื่อเพลงซ้ำมันก็ไปได้ของศิลปินคนอื่น รวมถึงในยุคนั้น มันเป็นยุคของ music curator ด้วย เราฟังเพลงผ่านวิทยุ มีช่วงเพลงต่างประเทศ เพลงนอกกระแสมาให้คนฟังได้เสพอย่างสาธารณะ ซึ่งเราอยู่ในยุคนั้น เรียกว่า “ยุคผ่านการแนะนำ” ก็แล้วกัน จนมาถึงยุค streaming ที่เริ่มสร้างโปรไฟล์ หลายคนก็จะมี algorithm ของตัวเอง มันกลายเป็นว่าทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา มันเกิดจากการดีไซน์ที่ออกมาจากตัวเรา มันสนุกดีนะ

“ดนตรีมันเจ๋งที่สามารถสร้างให้คนมารู้จักกัน เป็นโลกอีกใบของคนฟังเพลงที่น่าสนใจ และเราก็รู้สึกว่ามันเมจิกมาก”

พี่ปูม : เราก็เริ่มจากฟังเพลงเหมือนกัน ซึ่งส่วนตัวตอนเด็กๆ เราเล่นดนตรี เราฟังเพลงฟังทุกแนวเลย เริ่มตั้งแต่ม.ต้น ยุค Modern Dog เราฟอร์มวงจากความชอบเพลงสไตล์ Alternative ทำเพลงไปประกวด Hotwave Music Awards มาด้วยนะ ครั้งที่ 1 เลย รุ่น Bodyslam ยังชื่อวงละอ่อนชนะเลิศ แต่มันไม่โดนใจใคร แบบครั้งเดียวก็เลิกเลย (หัวเราะ) เลยรู้สึกว่าทำเพลงเองดีกว่า พอเข้ามหาวิทยาลัย ที่คณะเราก็ทำฝ่ายเสียง ซึ่งระหว่างนั้นก็ยังทำเพลงอยู่กับเพื่อนอีกคนหนึ่ง ช่วยกันเขียน ช่วยกันคิด จนสุดท้ายเพลงเราได้ปล่อยกับค่าย Black Sheep เครือ Sony Music ตอนนั้นชื่อวงว่า Twice A Day

แต่หลังจากนั้นเราต้องไปเรียนต่อที่เมืองนอก เกี่ยวกับ Music Production พอจบ 4 ปีกลับมาจะทำเพลงกับค่ายเดิมอีก ปรากฏว่าพี่ที่เคยคุยกับทาง Sony Music ออกไปแล้ว เราก็เลยมาตั้งค่ายเพลงเองชื่อว่า Parinam Music เพื่อที่จะจัดจำหน่ายงานของตัวเอง ซึ่งเปิดมา 11 ปีแล้ว

| จากผู้ฟังสู้ผู้จัด แต่ละทีมช่วยบอกความเป็นตัวเองให้ฟังหน่อย

พี่ท็อป : Fungjai เป็นคอมมูนิตี้ของนักดนตรีในไทยนะครับ ส่วนใหญ่เราโฟกัสไปที่ศิลปินอิสระ ศิลปินนอกกระแส ซึ่งพอเป็นคำว่าคอมมูนิตี้ เราเลยสร้างแพลตฟอร์มทั้งออนไลน์และออฟไลน์ขึ้นมา ทางฝั่งออนไลน์จะมี Music Streaming Online, Content Online Magazine ต่างๆ ส่วนฝั่งออฟไลน์เราเป็นโปรโมเตอร์จัดงานคอนเสิร์ต แล้วก็มีจัดงานสัมมนาให้ความรู้นักดนตรีรุ่นใหม่ๆ

พี่แป๋ง :HAVE YOU HEARD? เป็นโปรโมเตอร์พาศิลปินจากต่างประเทศมาจัดคอนเสิร์ต ส่วนใหญ่ก็จะเป็นศิลปินกึ่งๆ นอกกระแส เป็นเพลงอินดี้

พี่ปูม : Seen Scene Space ก็เป็นโปรโมเตอร์ที่พาวงต่างประเทศเข้ามาจัดคอนเสิร์ตเหมือนกัน แต่จับพลัดจับผลูยังไงไม่รู้กลายเป็นเมนฝั่งเอเชียซะส่วนใหญ่ แล้วก็จะเป็นวงนอกกระแสแน่นอนครับ

| ขอชื่อเพลงที่บอกตัวตนของแต่ละทีม

พี่ท็อป : ผมเอาศิลปินที่เคยมาเล่นให้ฟังใจแล้วกันนะครับ ในงานซิกส์เนเจอร์คอนเสิร์ตของเราอย่างงาน “เห็ดสด” คือเพลง ‘เรือชูชีพ’ ของ ‘DEATH OF A SALESMAN’ ซึ่งเป็นวงที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราทำฟังใจ เป็นวงอินดี้ที่ฟังตั้งแต่สมัยวัยรุ่น เป็นหนึ่งในวงที่เรารู้สึกว่าเขาเป็นตำนาน เขาเก่งมากเลย เขาทำเพลงป๊อปที่ล้ำสมัยมากๆ

เรารู้สึกว่า วงนี้อยู่ในดวงใจของเรามาตลอด แบบที่ถ้ามีเพื่อนต่างชาติมาถามว่า เพลงไทยเพลงไหนเจ๋งๆ ก็จะหยิบเพลงของ  DEATH OF A SALESMAN มาเล่าให้ฟัง ซึ่งตอนเราจัดเห็ดสดครั้งแรก ก็เชิญเขามาเล่นหลังจากไม่ได้เล่นมาประมาณ 10 ปีได้ เป็นอีกความภาคภูมิใจของตัวเองเล็กๆ ที่เราเคยเป็นแฟนเพลงมาก่อน แล้ววันนึงเราได้จัดงานที่เชิญพวกเขามาเล่น

พี่ปูม : จะพูดถึงวง ‘Prep’ แล้วกัน เพราะเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของ Seen Scene Space  ซึ่งไม่ใช่วงเอเชียด้วย เป็นวงจากอังกฤษ เขามีเพลงที่โดดเด่นขึ้นมาเพลงนึงคือเพลง ‘Who’s Got You Singing Again’ เรารู้สึกว่า มันเป็นเพลงที่เกี่ยวกับเพลงดี คือทุกคนจะร้องได้ แล้วเวลาเขามา คนจะร้องดังที่สุดตรงท่อนที่ร้องว่า ‘just tell me the truth, who’s got you singing again’ มันก็น่าจดจำดีและก็เพราะมากด้วย

พี่แป๋ง : ขอวงเก่าแล้วกันค่ะ ชื่อ ‘Cocteau Twins’ เพลง ‘Cherry-Coloured Funk’ เราชอบเปิดเพลงนี้ในงาน เพราะเรารู้สึกว่า HAVE YOU HEARD? ไม่ได้พูดถึงเพลงปัจจุบันหรือเพลงเทรนด์ดี้ เราพยายามพูดถึงเพลงเก่า เพลงใหม่ที่ดี หรือวงที่หลายๆ คนอาจจะลืมไปแล้ว แก่แล้วหรือ น้องๆ รุ่นใหม่ไม่เคยฟัง เราพยายามเอาดนตรีที่น่าสนใจในทุกสมัยกลับมาให้คนฟัง เพราะฉะนั้น เราไม่ได้พูดถึงปัจจุบันอย่างเดียว แต่วงดนตรีในแต่ละยุคสมัยที่น่าสนใจก็หยิบมาเล่น

| สถานะของวงการเพลงอินดี้ในไทยตอนนี้เป็นยังไง

พี่ท็อป : ส่วนตัวเท่าที่ทำฟังใจมา เรามองว่ามันหลากหลายขึ้น มีคนทำเพลงกับแนวเพลงที่เราไม่เคยเชื่อว่าจะมีคนทำขึ้นมามากขึ้น หรือแบบแนวนี้ที่เราเคยฟังในต่างประเทศ จู่ๆ ก็มีวงไทยทำขึ้นมาได้ เหมือนมันมีกลุ่มคนฟัง Post Rock โดยเฉพาะ คนชอบแนว Flok โดยเฉพาะ กลุ่มคนชอบฟัง Electronic เริ่มมีกลุ่มคนฟังย่อยๆ แบบนี้เยอะขึ้น

มันเริ่มมีความหลากหลายของทั้งคนทำและคนเสพที่มาเจอกัน และจัดกลุ่มเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ เยอะขึ้นเรื่อยๆ แล้วเดี๋ยวนี้ เพลงมันทำกันง่ายมาก มีแค่คอมฯ ซาวด์การ์ด ไมค์ ก็ได้เพลงแล้ว แต่มันก็มีข้อเสียนะ คือพอมันเริ่มง่าย บางคนทำซิงเกิลด้วยก็หายไปแล้ว

พี่แป๋ง : มันก็เลยกลายเป็นการเริ่มต้นที่เร็ว แล้วก็เลิกเร็วด้วย

| แต่ละทีมจัดคอนเสิร์ตมาหลายครั้ง คิดว่ากรุงเทพฯ บ้านเรา สามารถจัด Festival ได้ไหม

พี่ท็อป : กรุงเทพฯ มันมีความหลากหลายสูงมากของคนที่อยู่ มันเป็นจุดรวมของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งเราเชื่อว่า ความหลากหลายของรสนิยมตรงนี้ มันเหมาะมากที่จะจัดงานในลักษณะที่เป็นเฟสติวัล คือถ้าจะมีผู้จัดอื่นมาจัดกันเยอะๆ ยิ่งดีเลย มันจะทำให้กรุงเทพฯ เป็น destination ทางดนตรี

| ล่าสุดรู้มาว่า ทั้ง 3 ทีมร่วมมือกันจัดงาน “Maho Rasop Festival”

พี่ท็อป : คิดว่าเราทั้ง 3 คนน่าจะคิดคล้ายๆ กันว่า ทำไมมันมีเฟสติวัลแบบนี้ที่ประเทศเพื่อนบ้านเรา ทุกประเทศเลย แต่ไม่มีที่บ้านเราสักทีวะ สิงคโปร์มี Laneway, ฮ่องกงมี Clockenflap,อินโดนีเซียมี We The Fest,มาเลเซียมี Good Vibes แล้วทำไมประเทศไทยมันมีไม่ได้วะ ประเทศเราก็ใหญ่นะเว้ย

แล้วก็มีวงดนตรีบินมาเล่นเยอะพอสมควร พอประมาณช่วงกลางปีที่แล้ว เราก็ไปชวนพี่แป๋ง พี่กิก แล้วก็พี่ปูมมาทำด้วยกัน เพราะสเกลงานระดับนี้ คิดว่าที่มันยังไม่เกิดเพราะไม่มีโปรโมเตอร์เจ้าไหนบ้าพอที่จะยอมลงทุนกับงานสเกลนี้เจ้าเดียวอยู่แล้ว

พี่ปูม : เหมือนพวกเรามีความฝันเหมือนกัน ที่อยากจะให้มีเฟสติวัลแบบนี้ในเมืองไทยบ้าง จะได้ไม่ต้องบินไปดู Fuji Rock ไปดู Clockenflap แล้วยิ่งช่วงท็อปมาชวน เป็นช่วงที่พี่พาวง Gym and Swim ไปทัวร์ที่ต่างประเทศ มันกำลังอินอยู่เลย ก็เลยแบบ เฮ้ย ! มันต้องมีเว้ย มันก็ดูไม่ยากนี่หว่า

| วิธีการคัดเลือกแนวเพลงและศิลปินที่มาโชว์ของในงาน

พี่แป๋ง : จริงๆ โปรโมเตอร์ 3 คน เรามีเบสเหมือนกันอยู่แล้ว คือความ indipendent ดังนั้นเวลาเราเลือกศิลปิน เราก็จะต้องเช็คกันว่าดีหรือยัง เราไม่ได้มองว่า จะไม่มีวงแมสเลยนะ แต่เราอยากเมคชัวร์ว่ามันเป็นสิ่งที่เราคิดว่ามันดี ไม่ใช่แค่คนชอบอย่างเดียว แต่อาจจะเป็นวงที่มีการแสดงสดที่ดี โชว์ที่น่าสนใจ บางคนอาจจะไม่ได้ดังที่นี่ แต่ว่าพี่ปูมการันตีว่า มันเล่นดีจริงๆ ว่ะ อยากให้ทุกคนได้ดู เราเลยอยากให้ทุกคนมาในพื้นที่ที่ไม่จำเป็นว่า จะต้องมาดูวงโปรด แต่คุณดันฟลุ๊คไดเจอวงที่ดี แบบเฮ้ย ! วงนี้วงอะไรวะ ซึ่งมันเกิดขึ้นกับพวกเราที่ได้ไปดูเฟสติวัล เราได้ experience อะไรใหม่ๆ ด้วย

“เรากำลังสร้างโปรไฟล์ในการจัด festival ร่วมกัน ไม่ใช่แค่แง่ของคนจัดนะ แต่มันคือคนฟังด้วย ท่ีจะครีเอท vibes นี้ด้วยกัน สร้างอะไรที่เป็น word of mouth ไปบอกต่อว่า “Maho Rasop” คืออะไร แล้วมันจะไปไหนต่อ มันไม่ใช่แค่พวกเรา แต่มันคือพวกเราทุกคนที่ฟังเพลงแนวนี้”

| ของเด็ดอะไรที่คนมางาน Maho Rasop Festival จะได้เจอ

พี่ท็อป : คิดว่าสิ่งที่จะเด็ดที่สุด มันคือ Festival Experience คือเราไม่ได้อยากจะขายแค่ว่า มันมีวงดนตรีที่ดี มีวงดนตรีที่คุณฟังเพลงแล้วรู้จัก แต่เราว่ามันคือการที่ได้ใช้ชีวิต 1 วัน ในนั้น เราวิ่งจากเวทีนึง ไปอีกเวทีนึง เอ้าดูเหนื่อยแล้ว ก็ไปนั่งกินข้าว หรือเอนจอยด์กับงานศิลปะ หรือ Installation ที่เราจะออกแบบไว้

แล้วก็อย่างที่พี่แป๋งบอก คือโมเมนท์แบบนี้บางทีแม่งเจ๋งมาก เหมือนบางทีเราบินไป Clockenflap เราอยากดูวงนี้ ซึ่งก็รู้อยู่แล้วว่าวงนี้เล่นดีมาก พอไปดูแล้วแบบ โห โชว์มันดีมาก มันก็จะขยับขึ้นมา แต่มันก็ไม่ได้สุด แบบยังไงก็ชอบเหมือนเดิมนะ แต่ไอ้วงที่เราไม่รู้จัก มันไม่ได้มีความคาดหวังอะไร แล้วพอมันเล่นดี แม่งกระโดดขึ้นมาเลย จริงๆ ไอ้วงแบบนี้ แม่งโคตรเมจิกคัล ซึ่งเราอยากจะสร้างตรงนี้ให้คนที่มางาน

พี่ปูม : สรุปก็คือ ถึงเจอวงที่คุณไม่รู้จัก แต่ก็มาดูกันเหอะ เพราะเราคัดมาให้แล้ว

| ฝากถึงงาน Maho Rasop Festival ที่จะจัดขึ้น 17 พฤศจิกายนนี้

พี่ท็อป: เราไปเจอของดีมา ไปเจอประสบการณ์ที่ดีมา เราก็อยากจะเอามาแบ่งปัน มาแชร์ให้กับคนที่ยังไม่เคยได้ลอง แล้วเราเอามาวางใจกลางเมืองกรุงเทพฯ มันคือหน้าบ้านของทุกคนแล้ว ก็ไม่อยากให้พลาดกันจริงๆ กับงานรอบนี้

พี่แป๋ง : ถือว่าเป็นการซื้อประสบการณ์สนุกๆ มันอาจจะไม่ได้คืนมาเป็นสิ่งของอะไรกลับบ้าน แต่มันคือการพักผ่อนจากงาน จากความเคร่งเครียดในกรุงเทพฯ แล้วการได้มาพบปะพูดคุย ได้มาสัมผัสอะไรใหม่ๆ มันจะเปลี่ยนชีวิตเราเหมือนกันนะ ซึ่ง “Maho Rasop Festival” จะเป็น Life Experience ที่เราไม่อยากให้เพลาด มาเปิดซิงพร้อมกัน เราตั้งใจทำกันมากๆ

พี่ปูม : ไอ้คำว่า เฟสติวัล ในเมือง มันสามารถเป็นกิจกรรมครอบครัวได้ ซึ่งงานนี้อายุต่ำกว่า 7 ขวบเราให้เข้าฟรีเลย คือคนไทยถ้าเป็นผู้ใหญ่หน่อย ก็จะมามองว่า Music Festival เป็นของวัยรุ่น แต่เรามองไปไกลแบบ ไม่ต้องเป็นวัยรุ่นก็มาได้ เป็นผู้ใหญ่ เป็นเด็กก็มาได้ มีกิจกรรมที่เข้ากับทุกเพศทุกวัย เพราะดนตรีมันไม่มีกำแพงกั้นอยู่แล้ว มาลองเถอะ หรือพวกเราเอง ก็เป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสเฟสติวัลที่พระราม 9 ให้มันเหมือนไปเที่ยวสวนสนุก ไปเอนจอยด์ ไปเจออะไรใหม่ๆ ร่วมกัน

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.