ทางเท้าเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับคนมากกว่ารถ - Urban Creature

ครั้งหนึ่งในปี 1982 ‘เกาหลีใต้’ เคยเป็นประเทศให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมยานยนต์และเศรษฐกิจโดยรวม ชนิดที่มีการออกกฎหมายพิเศษ ยกเว้นโทษให้ผู้กระทำผิดที่ละเมิดกฎจราจรบนถนนให้ไม่ต้องถูกดำเนินคดีอาญา ตราบใดที่บุคคลนั้นมีประกันภัยครอบคลุม จนตามมาซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับคนเดินเท้าสูงกว่าในประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ถึง 7.7 เท่า

เพื่อแก้ไขสถานการณ์อันน่าเป็นกังวลนี้ ในปี 1998 ‘Seoul Metropolitan Government (SMG)’ ได้ดำเนินโครงการ ‘Creation of pedestrian-friendly walkways’ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมอันน่ารื่นรมย์และปลอดภัยให้กับการเดินเท้า โดยมีจุดมุ่งหมายในการเปลี่ยนให้โซลกลายเป็นเมืองที่เป็นมิตร และช่วยลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับคนเดินเท้า พร้อมทั้งพัฒนามาเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอตามข้อกำหนดของกฎหมายที่กล่าวว่า ทาง SMG จะต้องจัดทำ ‘แผนพื้นฐานสำหรับสภาพแวดล้อมสำหรับคนเดินเท้า’ เป็นประจำทุกๆ ห้าปี เพื่อปรับทางเท้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนเดินเท้าและลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุให้ได้มากที่สุด

เริ่มจากการแก้ไข 4 ปัญหาหลัก ได้แก่ 
1) อันตรายจากการเดินข้ามถนนโดยผิดกฎหมาย อันเนื่องมาจากการขาดทางม้าลาย 
2) การยึดครองถนนในเขตที่อยู่อาศัยโดยรถยนต์จำนวนมาก
3) สะพานลอยสำหรับคนเดินเท้าและทางเดินใต้ดินมีมากเกินไป
4) ทางเดินมีความกว้างไม่เท่ากัน

ทางเท้าเกาหลีใต้

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลกรุงโซลจึงติดตั้งทางม้าลายแนวทแยงบริเวณทางแยกในจุดที่มีการจราจรคับคั่ง เช่น ย่านสถานี Itaewon หน้าห้างสรรพสินค้าชื่อ Shinsegae ใกล้ๆ โรงเรียนประถมฯ หลายแห่ง เพื่อบรรเทาความไม่สะดวกของคนเดินเท้าที่เคยต้องเดินอ้อมเส้นทางไกลๆ ในช่วงก่อนหน้า รวมไปถึงการสร้างสภาพแวดล้อมของทางข้ามที่ปลอดภัยสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว และยังมีการอำนวยความสะดวกด้วยการติดตั้งทางม้าลายต่างๆ เพิ่มเติมในส่วนทางเดินเท้าที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับทางเดินอื่นๆ

ส่วนฝั่งถนนก็มีนโยบาย ‘Safe Speed 5030’ ที่ลดขีดจำกัดความเร็วของยานพาหนะบนถนนสายรองในพื้นที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนในเขตที่อยู่อาศัยบนถนนสองเลน จาก 40 กม./ชม. เป็น 30 กม./ชม. และบนถนนสี่เลน จาก 60 กม./ชม. เป็น 50 กม./ชม. ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของกรุงโซล

ทางเท้าเกาหลีใต้

อีกทั้งยังมีการดึงการออกแบบเข้ามาช่วยลดอุบัติเหตุบริเวณทางข้าม อย่างโครงการ Yellow Carpet ที่ทาสีเหลืองสะท้อนแสงบริเวณพื้นที่ยืนรอ คล้ายกับดวงไฟสปอตไลต์ที่ฉายลงมาบนถนนใกล้กับสถานศึกษา เพื่อให้คนขับสังเกตเห็นเด็กที่ยืนรอข้ามถนนในมุมอับสายตาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มความปลอดภัยบนทางเท้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อแก้ปัญหา ‘สมาร์ตโฟนซอมบี’ หรือผู้คนที่เดินไปพร้อมกับจ้องมองโทรศัพท์มือถือ ด้วยการติดตั้งเรดาร์และกล้องตรวจจับความร้อนบริเวณทางม้าลายเพื่อตรวจจับความเคลื่อนไหว และแจ้งเตือนไปยังระบบควบคุมส่วนกลาง สั่งการให้เปิดไฟ LED ที่เรียงกันเป็นแถวทั้งสองด้านของทางเดินเพื่อแจ้งให้ผู้ขับขี่ที่กำลังเข้าใกล้ทราบว่ามีคนอยู่ใกล้ๆ นอกจากนี้ ระบบยังส่งเสียงเตือนไปยังโทรศัพท์ และฉายภาพเตือนลงบนพื้นทางเท้าบริเวณทางข้ามในระดับสายตาของผู้ที่ก้มหน้าเล่นโทรศัพท์เพื่อเตือนให้พวกเขาตื่นตัวอยู่เสมอ

ทางเท้าเกาหลีใต้

Sources :
Independent | t.ly/Pt1b6
Law Viewer | t.ly/LQ0xy
Media Hub | t.ly/Y16QL
Seoul Solution | t.ly/bYhwJ
SMG | t.ly/6tZQT
WIRED | t.ly/D-lh2

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.