คุยกับเคท ครั้งพิบูลย์ ถึงอำนาจนิยมผ่านการตัดผมนักเรียน - Urban Creature

ฉับ! ฉันสูญเสียผม 5 ซม. แรกไปพร้อมความอับอายหน้าโรงเรียน
ฉับ! ฉันสูญเสียผม 10 ซม. ถัดมาด้วยกรอบที่ครูบอกว่า “เธอไม่เรียบร้อย”
ฉับ! ฉันสูญเสียผม 15 ซม. ก่อนถูกตีตราว่า “ถ้าแค่นี้ทำตามระเบียบไม่ได้ โตไปก็อยู่ไม่ได้หรอก”
และ ฉับ! ฉันสูญเสียผมและน้ำตานับครั้งไม่ถ้วน แต่คนตัดอ้างโล่กำบัง “ทำไปเพราะหวังดี” หรือ “เธอต้องเชื่อฟัง” แม้สิ่งนั้นจะคือการลิดรอนสิทธิมนุษยชนของฉัน

ฉับ! ฉับ! ฉับ! ในวัยเด็กฉันร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียนหรือออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน เพราะความเป็นตัวเองที่ฉันอยากเลือก กลับไม่เคยได้เลือกในโรงเรียนไทย จนโตมาพอเข้าใจได้ว่าประโยค โรงเรียน = บ้านหลังที่ 2 ไม่น่าจะจริงเท่าประโยค โรงเรียน = คุกแห่งแรกที่เด็กต้องเจอ เพราะมันดันน่าเชื่อถือกว่าน่ะสิ

เสียงกรรไกรในอดีตและเสียงปัตตาเลี่ยนที่ได้ยินกันจนชินในเช้าวันตรวจระเบียบ พัดตัวฉันและผมที่ปลิวไหวมาอยู่บนตึกคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อคุยกับ อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงการบังคับให้อยู่ภายใต้อำนาจผ่านการตัดผมของนักเรียน คนบางอาชีพ หรือผู้ต้องหาในเรือนจำ ที่รู้ตัวอีกทีคนเหล่านั้นก็ถูกลดทอนความเป็นคนมาอย่างยาวนาน

01 เธอจะเป็นคนดีนะ ถ้า…

ต่อให้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 จะให้นักเรียนชายไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ แต่! กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย และนักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ แต่! กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย ไอ้คำว่า ‘แต่’ มันมีความเหมาะสมเรียบร้อยที่เป็นช่องว่างในการจำกัดสิทธิของเด็กนักเรียนอยู่ สุดท้ายเด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิง หรือเด็ก LGBTQ+ ก็ยังไม่สามารถไว้ทรงผมที่อยากทำอยู่ดี

“ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการยังมีการใช้อำนาจต่อรองอยู่ว่าเธอต้องถูกควบคุม ซึ่งนั่นทำให้ครูยังมีความมั่นใจในการหยิบกรรไกรออกมาตัดผมนักเรียน”

พอได้ยินประโยคนี้ของอาจารย์เคท สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคืออำนาจที่เด็กในอดีตหรือเด็กในวันนี้เจอคือการถูกกำหนดและปลูกฝังให้อยู่ภายใต้อำนาจและความไม่เท่าเทียมผ่านผมและเนื้อตัวร่างกาย ซึ่งอาจารย์เคทบอกฉันว่า การปลูกฝังค่านิยมแบบนี้มีนัยสะท้อนการใช้อำนาจที่ต้องการ ‘ควบคุม’ แม้จะไม่ใช่การตี บีบแขน หรือทำร้ายร่างกายแล้วบังคับว่าต้องทำอย่างไร แต่มันคือการทำร้ายจิตใจและสั่งว่านักเรียนต้องตัดผมแบบนี้เท่านั้นจึงจะได้รับการยอมรับว่าเป็น ‘คนดี’ และนักเรียนมีหน้าที่แค่ ‘เชื่อ’ หรือถ้าใครไม่เชื่อแต่ไม่กล้ายืนกรานต่อต้านก็ต้องยอมจำนน เพราะกลัวการถูกลงโทษ เช่น ถูกไถ 3 ด้านเป็นรอยแหว่ง หรือครูใช้ไม้บรรทัดวัดผมว่ายาวเกินที่กำหนดหรือเปล่าก่อนหยิบกรรไกรมาตัดมันทิ้งให้สิ้นซาก ก็หมดหน้าที่ของครูในช่วงเช้าแล้ว

เช่นเดียวกับกรอบความดีของผู้มีอำนาจในการสั่งการตัดผมคนอื่น อาจารย์เคทอธิบายว่าคนเหล่านั้นพอใจที่ได้ควบคุม เพราะหากควบคุมคนหรือทำให้คนอยู่ภายใต้อำนาจของตัวเองได้ นี่แหละคือความดี ความเจ๋ง ที่พวกเขาคิดว่าทำได้ทุกอย่าง เพราะหากไม่ดีพอคงไม่สามารถควบคุมใครได้เลย ซึ่งน่าเศร้าที่ยิ่งผู้ถือครองอำนาจทำเลว สังคมที่ยังไม่ถูกปลดแอกจากระบบลำดับชั้นก็จะยกประโยค “แต่เขาทำดีมาตั้งเยอะแยะนะ เขาเป็นคนดี” มาลดทอนความผิดให้หายไปในท้ายที่สุด

02 ก็ ‘แค่ (?)’ ผมเอง คิดมากทำไม

เส้นผมเปรียบเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตใครหลายคน เพราะมันคือหนึ่งในสิ่งที่ทำให้เด็กมีความมั่นใจในการแสดงความเป็นตัวเอง ฉันเชื่อแบบนั้น อาจารย์เคทก็เชื่อแบบนั้น และอธิบายต่อว่า มิติเรื่องผมสามารถยึดโยงไปถึงเรื่อง ‘กล่องความเป็นเพศ’ ที่สังคมคาดหวังว่าเพศสภาพหญิงจะต้องเรียบร้อย ทรงผมสุภาพ ห้ามซอยผม เพราะเป็นแบบอย่างกุลสตรี และเพศสภาพชายจะต้องผมสั้น เนี้ยบ เข้มแข็ง ห้ามอ่อนแอ แบบสุภาพบุรุษ ซึ่งลองคิดดู คนที่ไม่ได้อยากอยู่ในกล่องเพศที่สังคมกำหนดจะรู้สึกอึดอัดแค่ไหน แล้วถ้ามองลึกไปถึงเด็กจากกล่องเพศชายที่อยากข้ามไปกล่องเพศหญิง ผิดเหรอ หรือเด็กกล่องเพศหญิงอยากข้ามไปกล่องเพศชายจะเจ็บปวดขนาดไหนในวัยเด็กที่อยู่ในโรงเรียนที่ไม่ยอมให้ข้ามไปเป็นตัวเองจากการกีดกันเรื่องทรงผมและเครื่องแต่งกาย

ลมที่พัดปลิวเส้นผมของอาจารย์เคทเบาๆ ทำให้เธอครุ่นคิดอะไรบางอย่างก่อนจับเส้นผมช้าๆ แล้วพูดกับฉันต่อว่า 6 ปีในชั้นประถมฯ และอีก 6 ปีในชั้นมัธยมฯ โรงเรียนครอบงำให้เด็กกังวลตลอดเวลา ตื่นขึ้นมาก็เหมือนถูกควบคุม ต้องคิดในหัวตลอดว่าวันนี้จะโดนทำโทษเพราะผมไม่ถูกระเบียบไหม ถ้าชุดนักเรียนแห้งไม่ทัน ใส่ชุดพละไปจะโดนตีไหม กลายเป็นว่าพื้นที่สำหรับเด็กในโรงเรียนถูกปิดกั้นไปหมด และความสำเร็จของผู้มีอำนาจก็คือการควบคุมให้คนกลัวได้สำเร็จนั่นแหละ

การควบคุมเนื้อตัวร่างกายยังส่งผลไปถึงการควบคุมถึงการแสดงออกและความคิด คนผมหยิกที่อยู่ในสังคมที่บอกว่าผมตรงดีที่สุด หรือคนผมสีแดง แต่อยู่ในสังคมที่ยอมรับแค่สีดำ จะถูกผลักออกและกลายเป็นจุดบอดในการถูกบังคับมากเข้าไปอีก

“มีใครพูดได้ไหมว่าตัดผมสั้น ย้อมผมดำ หรือเข้าแถวแบ่งชาย-หญิง ได้ประโยชน์อะไร ทั้งหมดล้วนเป็นกรอบที่สังคมต้องการให้เด็กแสดงออกแบบชายและหญิงในอุดมคติแบบที่ผู้มีอำนาจต้องการ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่อง เพราะเด็กใช้สมองเรียน ไม่ใช่ผมหรือการแบ่งเพศ”

03 อำนาจที่บิดเบี้ยว เลี้ยวซ้ายก็ผิด เลี้ยวขวาก็ผิด

“เราเคยไปฝึกงานที่อเมริกาในโรงเรียนหนึ่ง พบว่าสิ่งที่เด็กบ้านเขาพูดมาโดยตลอดคือเรื่องสิทธิมนุษยชน แม้แต่เด็กอนุบาลยังรู้เลยว่าการเคารพกันต้องทำอย่างไร เพราะครูที่นั่นปลูกฝังการเคารพความแตกต่างหลากหลาย เขาสามารถพูดได้ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร และภาคภูมิใจที่ตัวเองแต่งตัว ทำทรงผมที่เป็นตัวเองมาเรียนอย่างมีความสุข

“ครูที่อเมริกาจะพูดเสมอเวลาเด็กคนหนึ่งเดินเข้ามาในห้องเรียนว่า วันนี้เธอสวยจัง หล่อจัง ฉันชอบชุดเธอมากเลย ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เขาสร้างพลังให้กับเด็ก หรือโรงเรียนในนิวซีแลนด์ เด็กๆ จะเรียนรู้ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ผิวขาว ดำ เอเชีย ครูต้องปลูกฝังตั้งแต่ตอนนั้นให้มองเห็นเพื่อนเป็นคนเท่ากัน”

ตัดภาพมาที่คนไทยที่ไม่เคยถูกสอนให้มีความสุขจากการชื่นชมคนอื่น สถาบันการศึกษาไม่ได้สนับสนุนเด็กในการเลือกเป็นตัวเอง ทั้งๆ ที่เป็นแต้มต่อสำคัญในการพัฒนาตัวเอง อาจารย์เคทยังพูดติดตลกร้ายกับเราอีกว่า “แค่แต่งหน้าไปโรงเรียน ครูก็ด่าแล้ว และเชิญผู้ปกครองมาด่าซ้ำอีก

“โรงเรียนไทยเน้นย้ำการสอนประวัติศาสตร์ชาติไทย การสร้างคุณค่าในการสร้างชาติ ปลูกฝังว่าบรรพบุรุษสร้างมาต้องเชื่อฟัง แต่แค่เรื่องพื้นฐานอย่างสิทธิเสรีภาพของนักเรียนกลับไม่สอน”

เมื่อผู้มีอำนาจคิดว่าการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนกลายเป็นการสร้างคนหัวรุนแรง (แค่คิดต่าง) พวกเขาจึงเชื่อว่าอำนาจที่กดเนื้อตัวร่างกายของเด็กให้เป็นแบบเดียวกันหมดจะทำให้ไม่เกิดปัญหาในการทำให้อำนาจของเขาลดลง หากเขาสั่งให้หันซ้าย แล้วเด็กหันซ้ายตาม หรือสั่งให้หันขวา แล้วเด็กกลัวจนต้องหัน คือการสะท้อนกลไกการควบคุมคน

“ถ้าไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้ อนาคตจะเป็นอย่างไร” / “เชื่อเถอะ ถ้าอยู่ในระเบียบคุณจะได้รับการยอมรับ” คือ 2 ประโยคที่อาจารย์เคทมองว่าคือสิ่งที่ทำให้เด็กบางคนกลัวการเปลี่ยนแปลง เพราะยังหวังว่าจะได้ Privillege หรือการได้สิทธิพิเศษเหนือคนอื่น เช่น ไม่ถูกทำโทษ กลายเป็นว่าความเรียบร้อย ความเหมาะสม ถูกเอามาใช้ในการวิจารณ์เรื่องอื่นเสมอ อย่างเวลามีข่าวใครทำอะไรผิดแปลกจากค่านิยมสังคม จะถูกยกเรื่องทรงผม การแต่งตัวมาติติง ต่อว่า ซ้ำเติมได้ตลอด

ส่วนเด็กที่กล้าจะเป็นตัวเอง อาจารย์เคทยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างการเป็นติ่งเกาหลี ก็จะถูกโยงมาว่าถูกคนเกาหลีครอบงำ ไม่รักความเป็นไทย และโดนด่าเสมอว่าไร้สาระ ทั้งที่จริงแล้วติ่งเกาหลีก็มีความสามารถในแบบของตัวเอง หรืองานรับปริญญายิ่งชัดเลยว่าเด็กต้องย้อมผมสีดำ ห้ามติดขนตา ซึ่งมันคือการควบคุมความคิด ค่านิยม และเนื้อตัวร่างกายที่ใช้บังคับคนจริงๆ

04 โรงเรียน = คุก?

‘ทรงผม’ เป็นสัญญะเล็กๆ ที่ผู้มีอำนาจใช้รักษาอำนาจของตัวเอง ไม่เว้นแต่ในโรงเรียน…ว่าแต่โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ควบคุมเรื่องพฤติกรรมตั้งแต่ตอนไหน ไม่ใช่พื้นที่ในการให้ความรู้กับเด็กแล้วเหรอ

“โรงเรียน = คุก ไม่เกินจริง เพราะมาตรฐานการใช้อำนาจกดขี่คือวิธีเดียวกันเลย กรณี ‘รุ้ง ปนัสยา’ แกนนำคณะราษฎรที่ถูกคุมตัวหลังปราศรัยเรียกร้องประชาธิปไตย ยิ่งเห็นชัดเลยว่าการที่รุ้งถูกตัดผม ถูกย้อมสีผมจากบลอนด์เป็นดำ และเปลี่ยนกรอบแว่น คือวิธีเดียวกับครูไทย”

อาจารย์เคทเสริมอีกว่า มาตรฐานของราชทัณฑ์ที่ควรเป็นพื้นที่ควบคุมพฤติกรรมคนที่อ้างว่าคืนคนดีสู่สังคม กลับใช้การตัดผมเพื่อลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นตัวเอง เหมือนกับโรงเรียนที่ระเบียบก็ละม้ายคล้ายโครงสร้างลำดับชั้นของทหาร ที่เต็มไปด้วยอำนาจนิยม และมีคำว่า ‘เพื่อชาติ’ ‘เพื่อความสงบ’ หรือ ‘เพื่อสันติสุข’ มาครอบให้การกระทำทุกอย่างของคนอาชีพนี้เป็นไปอย่างชอบธรรม

05 ตื่นเถิดชาวไทย อย่ามัวเพิกเฉยลุ่มหลง

“ร่างกายของฉันคือสิทธิของฉัน” คือสิ่งที่ทุกคนควรเข้าใจ ทว่าคนกลับเข้าใจเรื่องนี้แค่เฉพาะกลุ่ม อาจารย์เคทบอกว่าหากลองเปิดดูละครหลังข่าว ยังคงผลิตซ้ำในการกดสาวใช้และการเป็นทาสที่มองคนไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นเรื่องเล็กๆ ที่คนไม่ได้ตระหนักเท่าที่ควร อีกทั้งบางคนจะไม่สนใจเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพราะไม่ถูกกระทบ แต่วันหนึ่งหากเป็นคุณที่โดนถูกจับตัดผม ถูกอาชญากรรม ถูกเลือกปฏิบัติ จะทำอย่างไร หรือต้องให้คนเสียชีวิตไปกับการฆ่าตัวตายหรือถูกทำร้ายจากความเกลียดชัง

“ถ้าเรานิ่งเฉย เราจะไม่ได้รับผลดีอะไรที่เป็นความยุติธรรมเลย จากประสบการณ์เราเอง ถ้าเราลุกขึ้นมาพูด โอกาสที่ได้เข้าถึงความเป็นธรรมมีมากกว่ายอมทนอยู่นิ่งๆ”

สายตามุ่งมั่นของอาจารย์เคท ทำให้ฉันนึกถึงตอนที่เธอสมัครเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแต่มหาวิทยาลัยไม่รับเธอเพราะเป็นผู้หญิงข้ามเพศ สิ่งที่เธอทำคือการไม่ยอมและลุกขึ้นมาฟ้อง จนวันนี้เธอได้เป็นอาจารย์ในแบบที่เธอใฝ่ฝันและสร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน

“เด็กหลายคนออกมาพูดเรื่องการถูกบังคับตัดผมหรือความรุนแรงในโรงเรียน แต่สถานะทางครอบครัวไม่เอื้อในการฟ้องร้อง บางโรงเรียนยัดเงินแล้วครอบครัวต้องยอมความ ซึ่งก็กลายเป็นความเหลื่อมล้ำที่เขาเจออีก”

หน้าที่ของคนที่มีกำลังในการต่อสู้ให้เกิดความเท่าเทียม จึงเป็นเรื่องของ ‘ทุกคน’ ที่ต้องช่วยกันผลักดันให้ฝั่งฝันของการมีสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่เกิดได้จริง แม้จะเป็นพื้นฐานที่เราทุกคนควรได้ก็เถอะ

“เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเห็นคนที่ไม่มีโอกาสเท่าคุณ คุณต้องไม่มองแค่ว่าคนเหล่านี้สถานะทางสังคมไม่ดี ไม่ขยัน สงสารจังโดนครูทำร้าย แต่เปลี่ยนวิธีคิดว่า เราจะเพิกเฉยและเดินผ่านไปหรือจะช่วยเขาต่อสู้ตอนนั้นเลยดี”

‘คุณ’ มีส่วนในการช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และ ‘คุณ’ ก็มีส่วนที่ทำให้เขามีชีวิตย่ำอยู่ที่เดิมเหมือนกัน

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.