ลุงอ้วน กินกะเที่ยว นักรีวิวอาหารวัยเกษียณ - Urban Creature

อาหารเป็นปัจจัย 4 ที่ทุกคนขาดไม่ได้ แต่สำหรับบางคนอาหารมีความหมายมากไปกว่ากิน เพื่อประทังชีวิต รสชาติเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด เป็นเหมือนรสชาติของชีวิตที่แตกต่างกันไป และอาหารอร่อยก็เปรียบได้เหมือนกับขุมทรัพย์ที่มีคุณค่า วันนี้เราจึงอยากพาไปรู้จักกับนักล่าขุมทรัพย์อาหารที่ชื่อว่า ลุงอ้วน กินกะเที่ยว

หากในโลกออฟไลน์มีนักรีวิวอาหารระดับตำนานอย่างแม่ช้อยนางรำ ในโลกออนไลน์ก็คงมี ลุงอ้วนอนุสร ตันเจริญ นักรีวิววัยเกษียณ ที่รีวิวอาหารมาแล้วกว่า 2,000 ร้าน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ด้วยรูปแบบการรีวิวที่เฉพาะตัว เป็นกันเอง เหมือนญาติผู้ใหญ่จูงมือเราไปกินร้านอาหารอร่อยๆ และด้วยความเป็นนักชิมตัวยงที่กินอาหารมานับไม่ถ้วน ทำให้ชื่อ ลุงอ้วน กินกะเที่ยว อยู่ในลิสต์เชิญของมิชลินหรือเชฟดังๆ ในประเทศไทยเพื่อร่วมชิมเกือบทุกครั้ง ที่จัดงานหรือเปิดร้านอาหารใหม่

“พาผมไปร้านประจำของคุณลุงอ้วนหน่อยได้ไหมครับ”

คือโจทย์ที่เราให้ลุงอ้วน ขณะโทรนัดสัมภาษณ์ ซึ่งลุงอ้วนเลือกร้าน nuti สเต๊ก ย่านเมืองทองธานี ตรงข้ามกรมที่ดิน ซึ่งทำให้เราได้แต่คิดในใจว่าร้านอาหารร้านนี้ต้องมีอะไรพิเศษแน่ๆ ถึงทำให้นักรีวิวอาหารระดับตำนานเลือกทานเป็นร้านประจำ

เมื่อถึงเวลานัดหมาย ชายแต่งตัวภูมิฐาน ท่าทางใจดียิ้มแย้มแจ่มใสเดินเปิดประตูเข้ามาในร้าน เรารับรู้ได้ทันทีเลยว่าคือลุงอ้วนทั้งที่ใส่หน้ากากอนามัยอยู่ 

“ลุงอ้วนเริ่มต้นการเป็นนักชิมหรือนักรีวิวได้อย่างไรครับ” เราถาม

“มันไม่มีจุดเริ่มต้นขนาดนั้น มันเป็นความชอบในชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกคนผมว่าก็เหมือนกันหมด ใครๆ ก็อยากกินของอร่อย ใครๆ ก็อยากจะไปนู่นนี่ แต่ของผมอาจจะมากกว่านั้นหน่อย เพราะเป็นคนชอบหาร้านอาหารอร่อยๆ กิน ใครว่าร้านไหนเด่น ร้านไหนดังผมไปหมด จะอาหารคาวหวาน ถูกแพง ผมไม่เกี่ยง” ลุงอ้วนตอบ

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น Pantip แอ็กเคานต์ ‘ลุงอ้วน กินกะเที่ยว’ ถือกำเนิดขึ้นจาก คุณลุงเจ้าของธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตรา ผู้มีงานอดิเรกคือการกินเป็นชีวิตจิตใจ ด้วยรูปแบบธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องคอยพบปะลูกค้า ทำให้ลุงอ้วนมีเวลาออกไปตระเวนหาของกินอร่อยอยู่เสมอ 

การได้ตามอ่านโพสต์ซึ่งคนมาเล่าสู่กันฟังว่าร้านนู้นอร่อย ร้านนี้อร่อย ทำให้ลุงอ้วนได้พบเจอร้านอาหารที่ตนไม่เคยกินมาก่อน เมื่อตามไประยะหนึ่งก็พบว่าร้านอาหารต่างๆ ที่นำมารีวิวกันในโลกออนไลน์ ตนไปมาเกือบหมดแล้ว! 

แต่ยังมีร้านอาหารอร่อยๆ อีกหลายร้านที่ลุงอ้วนรู้จักแต่ ไม่เคยมีคนรีวิวมาก่อน ผนวกกับวิธีการนำเสนอของชาว Pantip ในช่วงเวลานั้น มักจะใช้รูปแบบข้อความบอกเล่าว่าร้านไหนอร่อย แต่ไม่มีภาพให้คนอ่านได้เห็น ทำให้ลุงอ้วนฉุกคิดขึ้นมาว่า น่าจะเสริมรูปถ่ายลงไปด้วย คนจะได้เห็นภาพบรรยากาศร้าน เห็นภาพอาหาร ทั้งสองสิ่งทำให้คุณลุงอ้วนในวัยย่างเข้า 50 ได้ก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์ สวมบทนักรีวิวอาหารเพื่อบอกต่อร้านอร่อย จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของมหากาพย์การรีวิวของลุงอ้วน

“ตอนนั้นคนรีวิวอาหารมีน้อยมาก และไม่ค่อยมีภาพให้ดู เพราะสมัยนั้นกล้องดิจิทัลเพิ่งเริ่มเข้ามาในไทย ตัวผมเองก็ไม่มีกล้องเหมือนกัน ครั้งแรกผมก็ใช้โทรศัพท์มือถือโนเกียถ่าย พอถ่ายได้รูปหนึ่งก็ต้องเสียบเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อย่อรูป วุ่นวายมาก 

“รูปหนึ่งกว่าจะได้ลงก็เกือบยี่สิบนาที ทำรีวิวอาหารร้านหนึ่งใช้เวลาร่วมครึ่งวัน ถ้าไม่ว่างจริงทำไม่ได้ ทำเพราะความชอบล้วนๆ สมัยก่อนพันทิปไม่มีหรอกคำว่าได้เงิน” เขาเล่าพร้อมระเบิดเสียงหัวเราะ

ความสนุกวัยเกษียณ


เป็นเด็กหน้าห้องก้นครัวระยะหนึ่ง ทุกคนเริ่มรู้จักลุงอ้วนในฐานะ ‘นักรีวิวอาหาร’ ผู้นำเสนอร้านต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ บางวันรีวิวมากถึง 4 ร้าน ซึ่งนับว่าเยอะมากหากเทียบกับคนอื่น แถมยังมีสไตล์การรีวิวด้วยภาษาบ้านๆ เป็นกันเองและน่าติดตาม จนมีแฟนเข้ามาคอมเมนต์ เข้ามากดไลก์อยู่เสมอ รวมๆ แล้วเจ้าถิ่นห้องก้นครัวคนนี้รีวิวร้านอาหารไปมากกว่า 2,000 กระทู้! 

สำหรับลุงอ้วนความสนุกในการรีวิวร้านอาหาร เกิดจากความไม่คาดหวังว่าจะมีคนดูเยอะน้อยแค่ไหน แต่เกิดจากความสนุกในการได้ออกไปตระเวนหาร้านลับๆ หาร้านในตำนาน หาของกินอร่อยให้ตัวเองได้กินเป็นทุนเดิม และบอกต่อให้คนอื่นฟังว่าร้านไหนดีร้านไหนเด็ดให้ได้ไปลิ้มลองกัน

“ปกติคนโพสต์ Pantip การที่จะมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นหรือกดไลก์เป็นเรื่องยากมาก เพราะในแต่ละวันมีจำนวนโพสต์เยอะมาก ถ้ามีคนแสดงความเห็นหรือเข้ามากดไลก์ให้โพสต์นั้นๆ เกินสิบก็นับว่าสุดยอดมากเลย แต่ของผมนี่ทำได้เจ็ดแปดสิบ และได้เป็นหัวข้อแนะนำของห้องก้นครัวอยู่ตลอด จนทุกวันนี้ถึงแม้จะผ่านมาหลายปีแล้วโพสต์ของผมก็ยังเป็นโพสต์แนะนำในห้องก้นครัว และยังมีคนเข้าไปอ่านอยู่เรื่อยๆ”

ทว่าความเจ๋งของเรื่องนี้ ลุงอ้วนเล่าให้ฟังว่าตลอดระยะเวลาที่อยู่ใน Pantip นานเกือบสิบปี ที่บ้านไม่มีใครรู้ว่าเขาคือ ลุงอ้วน กินกะเที่ยว 

“แต่ก่อนเขาเอาแต่สงสัยว่า กว่าจะได้กินอาหารแต่ละครั้ง ทำไมป๊าต้องถ่ายรูป ถ่ายไปทำไมวะ แต่พอตอนหลังเขาเริ่มมารู้ว่าเราถ่ายเพื่อรีวิวให้คนอื่นก็เกิดการแซวๆ กันบ้าง เช่น พออาหารมาเสิร์ฟ จะมีคนในครอบครัวบอกว่าหยุด ให้ป๊าถ่ายรูปก่อน”

เมื่อถึงยุค Facebook ชิงพื้นที่สื่อจาก Pantip ลุงอ้วนในฐานะนักรีวิวอาหารที่มีผู้คนติดตามจำนวนมากก็ย้ายห้องครัวของตัวเองมาสู่โลกใหม่…

“ตอนนั้นเฟซบุ๊กพึ่งเริ่มได้ประมาณหนึ่งปี ลูกชายชักชวนให้มาเปิดตอนแรกก็ขี้เกียจทำ เพราะปกติก็ทำใน Pantip อยู่แล้ว ทำไมต้องมาทำเพิ่มแต่ก็ให้ลูกชายช่วยทำให้ ความตกใจคือพอผมเปิดเฟซบุ๊กวันแรก ใช้ชื่อว่า ลุงอ้วน กินกะเที่ยว เหมือนใน Pantip ปรากฏว่าในเช้าอีกวันมีคนกดไลก์แปดร้อยคน ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือนมีคนกดไลก์หมื่นกว่าคน ซึ่งสมัยนั้นมันเยอะมาก และทำให้รู้ว่าเรามีแฟนคลับเยอะขนาดนี้” 

การย้ายห้องครัวมาสู่ Facebook คือช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน จากห้องก้นครัวของ Pantip ที่เป็น Community ขนาดเล็กของคนชอบกิน ได้กลายเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ใครๆ ก็เข้าถึง ฟีเจอร์ของปุ่ม Share บนโลกใบใหม่ที่ไวกว่าเดิมกลายเป็นเหมือนโทรโข่ง ที่ป่าวประกาศให้คนได้รู้จักคุณลุงอ้วนอย่างกว้างขวาง

ถึงแม้จะเข้าสู่วัยเกษียณแต่ทักษะความสามารถในการรีวิวกลับไม่ได้ลดน้อยถอยลง จากภาพถ่ายเบลอๆ ก็ค่อยๆ พัฒนาเป็นรู้มุมกล้องจนช่างภาพอาชีพยังชมเปาะ บวกด้วยทุนความสนุกเดิมในการรีวิวอาหาร ก็ช่วยผลักดันให้ลุงอ้วนได้ทำอะไรใหม่ๆ ภาพนิ่งค่อยๆ ขยับกลายเป็นภาพเคลื่อนไหว โดยที่มีตากล้อง คนตัดต่อ และคนรีวิว เป็นลุงอ้วนเพียงคนเดียว

หากถามว่าท่ามกลาง Blogger รีวิวอาหารที่มีนับร้อยพัน บนโลกออนไลน์ ทำไมลุงอ้วนถึงอยู่แถวหน้าของวงการนี้ คงจะบอกได้เลยว่าเป็นเพราะประสบการณ์ ความเก๋าและสไตล์การรีวิว ด้วยถ้อยคำอธิบายรสชาติที่ทุกคนเข้าใจ รูปแบบวิธีการนำเสนอที่เหมือนจูงมือผู้ชมเข้าสู่ห้องครัวหลังบ้าน การถ่ายอาหารด้วยวิธีง่ายๆ ใช้เพียงมือถือพร้อมบรรยายความรู้สึกในการกิน แต่รู้ลึกรู้จริงในรสชาติดั้งเดิมของอาหารเมนูต่างๆ จนครองใจผู้ชมได้อย่างง่ายดาย 

ผนวกกับประสบการณ์ในการกินอาหารมาทั้งชีวิต ทำให้รสชาติของอาหารไม่ได้อยู่ที่ปลายลิ้น แต่อยู่ที่ความทรงจำของลุงอ้วน ทั้งหมดล้วนก่อตัวกลายเป็นความน่าเชื่อถือให้กับลุงอ้วน จนขนาดที่ว่าหากมิชลินหรือเชฟดังๆ ในประเทศไทยจะจัดงานหรือเปิดร้านอาหารลุงอ้วนจะต้องอยู่ในลิสต์นั้นแน่นอน

ด้วยความเก๋านี้เองที่ทำให้ลุงอ้วนมีผู้ติดตามสูงถึงเกือบ 5 แสนคน ในทุกครั้งที่ปล่อยคลิปรีวิวอาหารก็จะมีเหล่าแฟนคลับ คอยแบ่งปันและบอกต่อการรีวิวอาหารของลุงอ้วนให้คนอื่น จนมีผู้ชมมากถึงหลักแสนหลักล้าน และความพิเศษของลุงอ้วนอีกประการคือ ยามลุงอ้วนแวะไปรีวิวที่ร้านไหน ของที่ระลึกต่างหน้าจะไม่ใช่ Certificate ประดับผนัง แต่เป็นความดังในชั่วข้ามคืน

ความยากของการเป็นนักรีวิวอาหาร


ด้วยความที่เราเป็นคนลิ้นจระเข้ ชนิดที่ว่ากินอะไรก็อร่อยไปหมด จึงเกิดข้อสงสัยว่านักรีวิวอาหาร แยกความอร่อยกับไม่อร่อยที่ตรงไหน

“รสชาติของอาหารมันมีจุดเด่นไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างก๋วยเตี๋ยว ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่เส้น มันอยู่ที่เครื่อง มันอยู่ที่วิธีการล้างวัตถุดิบ อยู่ที่การลวกเส้น น้ำซุปก็แตกต่าง ปรุงซุปด้วยผักหรือกระดูก หรือมีวัตถุดิบลับของแต่ละร้าน ทั้งหมดล้วนให้รสชาติที่แตกต่าง ซึ่งถ้าคุณชิมบ่อยๆ คุณจะรู้ว่ามันต่างกันอย่างไร

“ความยากของการเป็นนักรีวิวในช่วงแรกคือ คนไม่เข้าใจว่าทำอะไร ทำไมตาลุงคนนี้มันต้องถ่ายรูปอาหาร ถ่ายรูปร้าน ถ่ายแม่ค้าลวกเส้นก๋วยเตี๋ยว เพราะสมัยก่อนไม่มีหรอกนักรีวิว เราเข้าไปถ่ายรูปทีหนึ่งทั้งแม่ค้าและคนในร้านทั้งหมดก็หันมามองขวับ แต่พอเราลงรีวิวเสร็จ จากร้านที่ไม่ค่อยมีคน ก็ค่อยๆ มีลูกค้ามากขึ้นจากรีวิวของเรา จนร้านค้าต้องติดต่อมาขอบคุณอยู่บ่อยๆ

“ความยากต่อมาคือมันไม่มีมาตรฐานของคำว่าอร่อย คำนี้เป็นคำที่เฉพาะตัวของแต่ละคนมากๆ ทุกคนชอบไม่เหมือนกัน อาจจะชอบรสชาติหวาน เค็ม เปรี้ยว ไม่เหมือนกัน บางทีผมชอบ กินแล้วผมอร่อย แต่คุณมากินแล้วบอกว่าหวานไม่ชอบ เพราะฉะนั้น การรีวิวผมบอกตลอดว่ามันไม่ใช่มาตรฐาน เราบอกว่าอร่อยคืออร่อยของผมนะ ไม่ใช่อร่อยแล้วทุกคนต้องอร่อยนะเว้ย”

เราสงสัยต่อว่าอะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้ลุงอ้วนรีวิวอาหารได้นานกว่า 20 ปีอย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าหากเป็นงานอดิเรกที่ทำทุกวันคงมีเบื่อกันบ้าง แบบนี้ลุงอ้วนต้องมีเคล็ดลับอะไรซ่อนอยู่แน่ๆ

“ไม่มีเคล็ดลับอะไรเลย และมันไม่ใช่งานอดิเรกหรอก ช่วงแรกมันอาจจะใช่ แต่การรีวิวอาหารเป็นชีวิตประจำวันของผม ผมไม่ได้ถือว่าเป็นงานเลย ผมแค่เป็นคนชอบกิน กินแล้วก็แค่อยากรีวิวให้คนอื่นรู้ว่าร้านนี้อร่อย”

อีกหนึ่งคำถามยียวนที่ไม่ได้มีแค่เราที่สงสัย แต่มีผู้คนมากมายถามไถ่ลุงอ้วนเสมอว่า ลุงอ้วนจะรีวิวอาหารไปจนถึงอายุเท่าไหร่กัน

“ในทุกวันคุณตื่นมาคุณทำอะไร คุณต้องหาอะไรกินไหม แล้วพอว่างๆ อยากไปเที่ยวแก้เบื่อไหม ทั้งหมดนี้มันคืออะไร ใช่สิ่งที่ผมทำอยู่ทุกวันหรือเปล่า เพราะฉะนั้นผมไม่มีทางเลิกทำ คงทำไปเรื่อยๆ ตอบไม่ได้ว่าอายุเท่าไหร่ เพราะสิ่งนี้คือชีวิตประจำวัน และไม่ใช่แค่ชีวิตของผม แต่มันคือชีวิตของทุกคน”

อาหารในความทรงจำลุงอ้วน กินกะเที่ยว


เมื่อถามลุงอ้วนว่ากินมาเยอะขนาดนี้มีอาหารในความทรงจำบ้างไหม เขาหยุดคิดสักพักและเอ่ยตอบว่า

“คงจะเป็นตังเม 

“มันไม่มีเรื่องราวอะไรขนาดนั้นหรอก ผมไม่ใช่นักจินตนาการ แต่วันก่อนผมไปเจอร้านหนึ่งขายตังเมโบราณ แล้วทำให้นึกถึงตัวเองตอนเป็นเด็ก ตอนนั้นจำได้ว่า ตังเมเป็นน้ำตาลสีขาวนิ่มๆ แล้วภายในน้ำตาลจะมีถั่วลิสงคั่วเป็นเม็ดๆ อยู่ วิธีการขายก็น่าสนใจ คนขายจะดึงออกมาแล้วห่อด้วยกระดาษ เป็นขนมที่ผมชอบตอนเด็กๆ ทุกวันนี้หากินยาก เวลากินแล้วความทรงจำเก่าๆ ก็จะกลับมา” 

ระหว่างที่คุยกับลุงอ้วนไปได้สักพักอาหารจานแล้วจานเล่า ก็ทยอยเสิร์ฟบนโต๊ะอาหาร กลิ่นของอาหารลอยฟุ้งอยู่ทั่วร้านจนทำให้ท้องไส้เริ่มโอดครวญ แม้อาหารจะดูน่ารับประทานสักแค่ไหน แต่เราก็อดคิดในใจไม่ได้ว่าทำไมลุงอ้วนถึงเลือกร้านนี้ในการพูดคุย 

“ร้านนุตินับว่าเป็นร้านในตำนานเลยก็ว่าได้ เพราะเปิดมายี่สิบกว่าปีในเมืองทอง ผมรู้จักร้านนี้ผ่านเพื่อนผมอีกทีหนึ่ง มันโทรมาบอกว่า เห้ย ในหมู่บ้านนี้มีสเต๊กร้านหนึ่ง เขาทำสเต๊กพริกไทยดำอร่อยมาก ชื่อร้านนุติ ตอนนั้นยังไม่มีโลกโซเชียลเลย แต่ก่อนร้านนี้อยู่ในตลาดเมืองทองคนเข้าแถวเยอะมาก จนเขาเรียกร้านนี้ว่าสเต๊กหกสิบเก้าบาท ที่อร่อยไม่แพ้ภัตตาคาร

“ผมชอบร้านนี้เพราะว่ามันมีอาหารหลากหลาย ทั้งอาหารยุโรป อาหารไทย ซึ่งอาหารไทยหลายอย่างก็เป็นอาหารไทยจริงๆ รสชาติถึงพริกถึงขิง ข้าวคลุกกะปิก็อร่อย รสชาติแบบโบราณ นับว่าร้านนี้เป็นร้านที่ผมกินเป็นประจำ”

เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าร้านนุติแห่งนี้เป็นร้านอาหารเก่าแก่ที่อยู่คู่กับชาวเมืองทองมากว่า 20 ปี เพราะดูจากภายนอกร้านนี้เป็นร้านที่ค่อนข้างทันสมัย แต่กลับซ่อนเรื่องราวความทรงจำของคนเมืองทองได้อย่างน่าประหลาดใจ 

และเมื่ออาหารคำแรกเข้าปากอาจเพราะการได้พูดคุยกับลุงอ้วน ที่เราสัมผัสได้ถึงความจริงใจ และความหลงใหลในการกินอาหารอร่อยของเขา หรืออาจเพราะเรื่องราวความเก่าแก่ที่ลุงอ้วนเล่าให้ฟัง ได้ซึมลึกลงไปในรสชาติของอาหารจานนี้ ซึ่งทำให้คนลิ้นจระเข้อย่างเรารู้สึกขึ้นมาว่าอาหารมื้อนี้อร่อยขึ้นเป็นพิเศษ ความหอมละมุนของพริกไทยดำบนสเต๊กได้สร้างความทรงจำดีๆ กับการรับประทานอาหารมื้อนี้ร่วมกับญาติผู้ใหญ่ทางโลกออนไลน์อย่าง ‘ลุงอ้วน กินกะเที่ยว’

Graphic Designer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.