Thailand หรือ ‘Trash’ land
โควิด-19 ระลอก 3 ครานี้ อะไรที่ยังไม่เห็น ก็จะได้เห็น เช่น ขยะล้นประเทศ แต่รัฐบาลชุด พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หักงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในรอบ 5 ปี (อิหยังหว่า)
ยอมรับว่าหลังจากเปิดร่างงบประมาณประจำปี 2565 ในวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาทของรัฐบาล ที่ผลการโหวตลงมติในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ‘ผ่านวาระ’ แล้ว เรารู้สึกตงิดใจอยู่พักหนึ่ง เพราะไม่ว่าจะคิดอย่างไรก็ดูไม่สมเหตุสมผลเอาซะเลยที่งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมปี 2565 จะถูกหักจาก 16,143 ล้านบาท (ปี 2564) เหลือ 8,534 ล้านบาท หรือลดลงถึง 47.14 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับงบด้านอื่นๆ ที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญมากกว่าปกติในช่วงวิกฤตโรคระบาดก็ถูกลดลงเช่นกัน
แม้รัฐบาลพร่ำบอกประชาชนเสมอว่า ‘การ์ดอย่าตก’ และโยนความผิดไปให้ประชาชนที่ต้องออกไปทำมาหากินเมื่อติดโควิด-19 (แต่ไม่มีมาตรการเยียวยาครอบคลุมทุกคน) หลายๆ บริษัทจึงกำหนดนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้านในระลอก 3 แน่นอนวัฏจักรชีวิตติดเดลิเวอรี่ของคนเมืองจึงวนอยู่แค่เข้าแอปฯ สั่งของ จ่ายเงิน และจบด้วยการทิ้งขยะมหาศาล ส่งผลให้กรุงเทพมหานครมีจำนวนขยะที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.61 หรือเกือบพันตันในเดือนเดียว เพราะเดือนมีนาคม 2564 มีจำนวนขยะพลาสติกถูกทิ้งจำนวนร้อยละ 20.71 หรือ 1,867 ตันต่อวัน แต่เดือนเมษายน ปี 2564 มีขยะพลาสติกถูกทิ้งจำนวนร้อยละ 28.32 หรือ 2,515.37 ตันต่อวัน
อีกทั้งขยะมูลฝอยติดเชื้อจากหน้ากากอนามัยที่ประชาชนต้องเสียเงินทุกบาท ทุกสตางค์จ่ายเอง รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลต้องใช้ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานครเผยว่าขยะเหล่านี้เพิ่มขึ้น 15 ตันต่อวัน จาก 3 ตันต่อวันก่อนระลอก 3
จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า แนวทางการตั้งงบบูรณาการในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ แต่จากสถานการณ์โรคระบาด งบที่เคยตั้งไว้ในกระทรวง ทบวง กรมอื่นๆ จึงต้องปรับไปตามสถานการณ์ด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ให้ความสำคัญ
ตอนนี้รัฐบาลยังไม่มีมาตรการแก้ไขวิกฤตสิ่งแวดล้อมช่วงโควิด-19 อย่างเป็นรูปธรรม ต่างจากแนวทางการฟื้นฟูในบางประเทศอย่างการบำบัดขยะและนำกลับมาใช้ใหม่ผ่านการแก้ไขกฎหมาย เช่น การลดหย่อนหรือการยกเว้นภาษีสำหรับโครงการด้านขยะรีไซเคิล ตามแนวทางของการหมุนเวียน อย่างประเทศเดนมาร์กให้การช่วยเหลือพิเศษแก่บริษัทที่ยึดมั่นในแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในช่วงวิกฤตโควิด-19 และองค์กรการประชุมระดับรัฐมนตรีแอฟริกันว่าด้วยสิ่งแวดล้อม (AMCEN) ได้ส่งเสริมให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นกระบวนการฟื้นฟูจากโควิด-19 ของแอฟริกา เป็นต้น สำหรับลาตินอเมริกามีนโยบายเสนอกฎหมายที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุนสีเขียวและการสร้างงานสีเขียว เช่น เวเนซุเอลาสนับสนุนการจ้างงานในโครงการรีไซเคิลสำหรับผู้อพยพ และบราซิลมีโครงการสหกรณ์รีไซเคิลเพื่อสร้างงานให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง
อย่างไรก็ตามมนุษย์เป็นสัตว์สังคม สามารถตระหนักได้ว่า “การกระทำสำคัญกว่าคำพูด” การเรียกความเชื่อมั่นที่สวนทางกับน้ำหนักงบประมาณที่แบ่งให้แต่ละหน่วยงาน ย่อมถูกจับตามองจากประชาชนเป็นเรื่องธรรมดา
บอกแล้ว โควิด-19 ระลอก 3 ครั้งนี้ ประชาชนจะได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็น
Sources :
BBC | https://bbc.in/3yWTD6t
Parliament | https://bit.ly/2TBlubT
SeubNakhasathien | https://bit.ly/3g6UQiM
Thai PBS | https://bit.ly/3uQQTnF
Thairath | https://bit.ly/3fMLo58
workpointTODAY | https://bit.ly/3uR9zDK