เพราะลูกจ้างไม่ใช่ทาส - Urban Creature

: ไม่อยากไปทำงานว่ะ
: งานเยอะจนต้องแบกมาทำนอกเวลาแล้วเนี่ย
: เจ้านายไม่รับฟังปัญหาอะไรเลย
: เมื่อไหร่จะวันศุกร์วะ 
(แต่วันนี้เพิ่งวันจันทร์เองนะ) 

เรื่องเล่าจากเพื่อนชาวออฟฟิศที่ต่อสายหาฉันกลางดึกเพื่อระบายปัญหาร้อยแปดที่ติดกับดักกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่รู้จะเอาอย่างไรกับชีวิต กระตุกต่อมให้ฉันสนใจจนอยากถกถามทุกคนว่าคุณเคยเครียด ดราม่า กดดันในที่ทำงาน หัวหน้าไม่รับฟังปัญหา ปริมาณงานถาโถมแต่ไม่คุ้มเงินแถมเสียสุขภาพ หรือบางครั้งต้องแบกร่างเอางานมาทำนอกเวลาเพราะไม่ทันจริงๆ บ้างไหม นี่ยังไม่รวมทัศนคติคนในออฟฟิศและบรรยากาศที่ไม่เอื้อให้อยากปิดนาฬิกาปลุกแล้วลุกจากเตียงมาทำงาน

ถ้าคุณประสบปัญหาที่ว่ามาหรือนอกเหนือจากนี้แต่น่าปวดหัวไม่แพ้กัน คุณนุ่น-นววรรณ สุขจิตร นักจิตวิทยาจาก Ooca: workplace psychologist แพลตฟอร์มที่ให้บริการดูแลใจพนักงานในองค์กรรับอาสาแชร์มุมมอง กะเทาะต้นตอปัญหา และช่วยหาทางออกของเรื่องที่พันยุ่งเหยิงยิ่งกว่าสายหูฟังนี้ให้เคลียร์


01 ลูกจ้าง : เกิดมาเพื่อโดนกด?

ถ้าคิดให้ดีโลกนี้ประหลาดที่ผู้มีอำนาจในสังคม ไม่ว่าจะบริบทไหนก็ตาม มักมีจำนวนน้อยกว่าผู้อยู่ใต้อำนาจ หากมองให้ใกล้ตัวก็สถานศึกษาที่มีนักเรียนหรือนักศึกษามากกว่าครูหรือผู้บริหาร รัฐบาลที่มีน้อยกว่าประชาชน และถ้าจะพูดให้เข้ากับสถานการณ์สงครามทางกระแสจิตของลูกจ้างและลูกน้องในออฟฟิศ ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติก็แสดงโผงผางว่า ในต้น พ.ศ. 2563 นายจ้างที่รับบทเป็นเจ้านายมีเพียง 9.87 แสนคน ต่างกับจำนวนลูกจ้างภาครัฐและเอกชนที่รวมกันแล้วมีถึง 19.77 ล้านคน! (อ้างอิงจาก https://bit.ly/3qJuzvu) ซึ่งมันก็จะงงๆ หน่อยว่าทำไมคนส่วนน้อยที่ถืออำนาจบางกลุ่ม ทำไมหนอทำไม ถึงไม่ฟังเสียงของคนหมู่มากที่เป็นลูกจ้างบ้างเลย

คุณนุ่นอธิบายปรากฏการณ์ความวายป่วงของระบบเจ้านายในเชิงจิตวิทยาไว้ว่า คนที่อยู่ในสถานะที่สามารถควบคุมคนได้รู้สึกมีอำนาจมากขึ้นเพราะคนในสังคมยกยอปอปั้นสนับสนุนแนวคิดเจ้านายเป็นใหญ่ หรือเรียกว่า Authority (ผู้มีอำนาจควบคุม) เช่น คนเป็นครูมีอำนาจสั่งการ นักเรียนต้องทำตาม พ่อ-แม่เป็นเจ้าของชีวิต มีสิทธิ์ด่าทออะไรก็ได้ กรณีเดียวกับเจ้านายในออฟฟิศบางคนที่เกิดมาไม่เคยอยู่ในจุดที่ต่ำกว่า หรือถ้าเคยอยู่และเคยเป็นลูกน้องที่ไม่ชอบความเป็น Authority เมื่อวันหนึ่งเลื่อนขั้นไปเป็นเจ้านาย อาจมีโอกาสลืมสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบในอดีตไปได้ (อารมณ์เก็บกดจากการเคยถูกกด เลยกดคนอื่นซ้ำเพื่อให้รู้สึกด้วย)


02 สูตรสำเร็จ : เกลียดวันจันทร์ รักวันศุกร์

“คนทำงานโหยหาวันศุกร์ เพราะวันจันทร์ไม่ใช่ความสุขของเขา”

ประโยคกระชับแต่เคลียร์ของคุณนุ่นชวนฉันตบเข่าดังฉาด เพราะช่างตรงกับปัจจุบันของใครหลายๆ คนเสียจริง คุณนุ่นบอกว่าหากตอนนี้คุณเป็นคนที่มองออฟฟิศเป็นสถานที่ที่ตื่นขึ้นมาแล้วไม่อยากไปทำงาน และรอคอยวันศุกร์มาเติมความสุขให้ตัวเอง อยากให้ทุกคนตั้งสติและพึงคิดเสมอว่า “ชีวิตเราจะมีแต่คำว่างานไม่ได้” ชีวิตที่ดีควรแบ่งเป็น 2 ขา ขาแรกคือชีวิตการทำงาน ส่วนขาถัดมาคือชีวิตที่แปลว่าชีวิตจริงๆ แต่ในความเป็นจริงหลายคนก็แยก 2 ขานี้ออกจากกันไม่ได้ เพราะความกดดันในออฟฟิศพาให้เครียดและเก็บมาคิดอยู่ดีหลังเลิกงาน

สิ่งที่ทำให้ลูกจ้างไม่มีความสุข คุณนุ่นจำแนกอย่างแมสๆ ออกมาดังนี้ 
1. การปรับตัวในที่ทำงานไม่ง่ายสำหรับทุกคน – เมื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบๆ ถูกเปลี่ยนกะทันหัน จากเคยเรียนอยู่ในห้องกับเพื่อนกลุ่มหนึ่ง กลับเปลี่ยนเป็นสังคมที่มีความหลากหลายของช่วงวัยและทัศนคติ คุยคนละภาษา คนละเรื่อง มีมุมมองต่างกันในบางจุด ทำให้ธรรมชาติของมนุษย์ในสังคมไทยที่เคยชินกับการอยู่ในสังคมๆ เดียวเสมอ หรือแทบไม่มีกิจกรรมร่วมกันในสังคมอื่น เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกของเพื่อนร่วมงาน รวมไปถึงการที่เจ้านายมีช่องว่างระหว่างวัย อาจทำให้บางคนรู้สึกอยู่ตัวคนเดียวในออฟฟิศ

2. สิ่งที่ทำไม่ตอบโจทย์ความต้องการ – การรับมือกับภาระหน้าที่ที่เราไม่อินหรือฝืนตัวตน อาจหมายถึงการที่เข้าไปทำงานตำแหน่งที่ชอบ แต่พอเข้าไปแล้วกลายเป็นไม่ชอบแล้วก็ได้ และรวมถึงการที่เจ้านายมอบหมายงานอื่นที่ไม่ชอบนอกเหนือตำแหน่ง จะทำให้แต่ละวันในออฟฟิศเป็นเพียง ‘หน้าที่’ ที่ต้องทำไปวันๆ

3. ข้อตกลงที่ไม่ได้ให้ลูกน้องร่วมเขียน – ข้อตกลงในการทำงาน หากลูกจ้างและเจ้านายมีส่วนร่วมในการร่างขึ้นมาด้วยกัน จะช่วยลดปัญหากวนใจได้ไม่น้อย แต่กฎที่ตั้งขึ้นกลับตกไปอยู่ที่เจ้านายเพียงฝ่ายเดียว คล้ายๆ กับสูตรสำเร็จที่ผู้ใหญ่ชอบบอกว่าการเป็นเด็กดีต้องทำ 10 ข้อ แต่ 10 ข้อที่ว่ากลับไม่ถามความคิดเห็นเด็กเลย


03 เจ้านาย : เก่งทักษะการสั่ง ลืมทักษะการฟัง

เพื่อนชาวออฟฟิศของฉันเคยฝากความในใจถึงเจ้านายของเขาไว้ว่า “เจ้านายไม่เคยฟังบ้างเลย (ลากเสียงแหลมและยาว)” ฉันจึงเอาเรื่องนี้มาปรึกษาคุณนุ่นดูว่าในมุมมองนักจิตวิทยามันตีความแบบใดได้บ้าง

สรุปคร่าวๆ ได้ว่าหัวหน้าที่ดีควรเป็นหัวหน้าที่มีทักษะ Active Listening หรือการฟังที่ดี ในที่นี้หมายถึงการรับฟังความคิดเห็นด้วยเหตุผลและชี้แจงกลับอย่างมีเหตุผลเช่นกัน อีกทั้งต้องมี Emphaty หรือความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งนำไปสู่การจัดการระบบการทำงานที่เอื้อให้ลูกน้องมีความสุขในออฟฟิศ 

ทว่าความเป็นจริงเจ้านายหลายคนเคยชินกับการออกคำสั่ง แต่ลืมทักษะการฟังไป ทั้งๆ ที่การรับฟังเสียงของลูกจ้างจะทำให้ได้มองเห็นมุมมองใหม่ๆ หรือช่องโหว่ที่บริษัทนำไปปรับเพื่อขับเคลื่อนองค์กรได้ หากตกอยู่ในสถานการณ์ร้ายที่ลูกจ้างไม่สามารถแสดงความคิดเห็น แถมได้รับคำพูดเป็นพิษต่อใจจากเจ้านาย เช่น “ทำได้แค่นี้เองเหรอ” หรือคำพูดเชิงลบขี้โวยวายอื่นๆ เมื่อนั้นลูกจ้างจะเกิด Conflict (ความขัดแย้งในใจ) และนำไปสู่อาการ Burnout หรือ ภาวะหมดไฟ ที่มาจากการเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจจากความเครียด นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตและคิดถึงเรื่องลาออก


04 ผิดที่ ผิดเวลา : ความถนัดจะดีได้ถ้าอยู่ถูกที่

ทำไมในประกาศรับสมัครงาน หลายบริษัทมองหามนุษย์ Multitasking หรือคนที่ทำได้หลายอย่างมากกว่าถนัดไปเลยด้านเดียว?

ความคิดเห็นของคุณนุ่นน่าสนใจเลยทีเดียว เธอบอกว่าหากเรามีทักษะเด่นสักอย่าง ก็เหมือนมีมีดเล่มหนึ่งที่มีด้านแหลมที่ใช้งานได้ดีที่สุด หากถูกใช้ด้านอื่น ถามว่าใช้ได้ไหม ก็อาจนำไปใช้ทำอะไรสักอย่างได้ แต่ถามว่ามีประสิทธิภาพเท่าด้านแหลมไหม ก็คงไม่ ดังนั้นเจ้านายควรตระหนักว่าแต่ละคนไม่ได้มีความสามารถรอบด้าน การใช้งานให้ถูกคน ถูกลักษณะจะสร้างประโยชน์ให้กับคนทำงานและตัวบริษัทเองได้มากที่สุด คิดง่ายๆ เจ้านายยังทำงานตำแหน่งต่างๆ ของลูกจ้างไม่ได้เลย แล้วลูกจ้างจะทำงานอย่างอื่นนอกเหนือตำแหน่งอย่างมีความสุขได้เหรอ

“ในเชิงจิตวิทยา สิ่งที่ถนัดมากที่สุดอาจไม่ใช่สิ่งที่ชอบที่สุดก็ได้ การที่จะทำสิ่งใดได้ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับทักษะ สภาพแวดล้อม สถานที่ เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน และสิ่งที่ทำต้องเปิดโอกาสให้ลูกจ้างมีตัวตน”

“ความถนัดมีไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ถ้าถูกใช้ผิดด้านและไม่เอื้อให้แสดงความสามารถ ฉะนั้นความถนัดต้องอยู่ถูกที่ ถูกเวลา”

05 มาตรการดูแลใจ : ขั้นแรกเปิดใจคุย ขั้นที่สองออกจากเซฟโซน

บนโลกใบกลมๆ นี้ เป็นไปได้ยากมากที่เราจะชอบคนทุกคนบนโลก ในคนๆ หนึ่งต้องมีบางสิ่งที่ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง หากได้ยอมรับกับตัวเองว่าตอนนี้กำลังรู้สึกอะไรอยู่ จะสามารถลดความรู้สึกขัดแย้งในใจให้เบาลงได้ แล้วจึงเดินต่อในสเต็ปถัดมาคือการอธิบายเหตุผลที่ควรมีการนั่งล้อมวงพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันในออฟฟิศ เพื่อให้เข้าใจปัญหาและเรียนรู้การฝึกทักษะการพูดว่าจะพูดอย่างไรให้ถนอมน้ำใจคน ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้านายได้มองในมุมลูกจ้าง และลูกจ้างได้มองในมุมเจ้านาย 

ท้ายที่สุดแล้วถ้าเจ้านายไม่ฟัง ไม่ยอมรับหรือปรับเงื่อนไขที่เป็นภัยต่อใจเรา คุณนุ่นแนะนำว่าให้เอาตัวเองออกมาจากตรงนั้น เพราะคนที่สำคัญที่สุดคือตัวเรา อย่าใจร้ายกับตัวเองจนเกินไป เพราะเจ้านายที่ดีควรมีการยืดหยุ่นในการตั้งกฎและเขียนข้อตกลงร่วมกัน เนื่องจากลูกจ้างแต่ละคนมีหน้าที่แตกต่างกันไป บางคนต้องทำงานนอกสถานที่ บางคนต้องทำงานติดต่อกับคนหรือรับอารมณ์กับคน หากไม่มีมาตรการจัดสรรการทำงานและวิธีปรับจูนที่ดี คุณภาพงานของพนักงานจะลดลง และการลาออกคือสิ่งที่เกิดขึ้นได้สูง

อีกอย่างที่บริษัทควรมี คือตัวกลางที่เป็นพื้นที่ระบายใจ ลดความอึดอัด อาจเป็น HR หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือการมีนักจิตวิทยาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเยียวยาให้คำปรึกษาก็เป็นเรื่องสำคัญและไม่ควรปล่อยผ่าน ส่วนตัวลูกจ้างเองก็ควรมีลู่ทางในการรับมือกับอารมณ์ และจัดการความเครียด ซึ่งอันดับแรกคือการหันมาเอ็นดูตัวเองเยอะๆ เป็นห่วงตัวเองหน่อยว่าตอนนี้เครียดเกินไปหรือเปล่า เมื่อถึงเวลาพักให้พักจริงๆ ห้ามให้เรื่องงานมาเกี่ยวข้องในเวลานั้นเด็ดขาด

“เราจะออกไปใช้ชีวิตที่ต้องการตอนเกษียณไม่ได้นะ เริ่มใช้ชีวิตที่ตัวเองกำหนดเองตั้งแต่ตอนนี้เลย”

06 Fact : ลูกจ้างไม่ใช่ทาส

ลูกจ้างไม่ใช่ทาสคือ Fact อยู่แล้ว 100% เพราะคนทุกคนคือมนุษย์เท่าเทียมกัน ไม่มีใครสมควรถูกลดทอนความเป็นมนุษย์เพียงแค่รับเงินเดือนจากคนตำแหน่งใหญ่ เพราะการทำงานนับเป็นการแลกเปลี่ยนที่เอื้อซึ่งกันและกัน ลูกจ้างทำงานให้เจ้านายและเจ้านายจ่ายสิ่งตอบแทนให้ ทุกคนเกื้อหนุนกัน

ออฟฟิศที่น่าอยู่ในมุมมองนักจิตวิทยาอย่างคุณนุ่นที่ฉันก็เห็นด้วยมากๆ จึงหนีไม่พ้นออฟฟิศที่มีเจ้านายที่รับฟังความคิดเห็น มีเพื่อนร่วมงานที่สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยน มีสถานที่ทำงานที่น่าอยู่ ไม่อุดอู้ และเป็นออฟฟิศที่ไม่ต้องรอวันศุกร์มาเยือน แต่เป็นออฟฟิศที่สนุกกับมันได้ตั้งแต่เช้าวันจันทร์ต่างหาก

สุดท้ายนี้ อยากฝากถึงชาวออฟฟิศว่า…ใจดีกับคนอื่นเยอะแล้ว อย่าลืมใจดีกับตัวเองบ้างนะ

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.