“วินาทีเดียวอาจทำให้คนไข้ตายได้”
วลีโดนๆ จากซีรีส์เรื่อง ‘My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน’ ที่เป็นเหมือนคอนเซปต์ของแผนกฉุกเฉินในทุกโรงพยาบาล ภาพทีมแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วย รวมถึงคนขับรถพยาบาลร่วมมือกันอย่างแข็งขัน กลายเป็นภาพชินตาที่เรามักเห็นตามสื่อต่าง ๆ
หากมองอาชีพหมอฉุกเฉินในชีวิตจริงไม่อิงละคร รู้ไหมว่าหมอฉุกเฉินมีบทบาทหน้าที่อะไร และต้องแบกรับความท้าทายมากน้อยแค่ไหน เราจึงพามาคุยกับ นายแพทย์ปกรณ์ ฮูเซ็น แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลสมิติเวช ถึงเรื่องราวที่คุณควรรู้ของ ‘หมอฉุกเฉิน’
รู้จัก ‘หมอฉุกเฉิน’
เมื่อพูดถึงหมอที่ดูแลคนไข้ให้พ้นขีดอันตราย คงหนีไม่พ้น ‘หมอฉุกเฉิน’ ด้วยภาระหน้าที่อันแสนกดดัน เจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ทั้งยังต้องแบกรับความเป็นความตายหลายชีวิต คำถามจึงเกิดขึ้นในใจเราว่า จริง ๆ แล้วหมอฉุกเฉินต้องทำหน้าที่อะไร แล้วคนแบบไหนกันถึงเลือกเป็นหมอฉุกเฉิน หมอปกรณ์อธิบายให้เราฟังถึงบทบาทนี้จนเราเห็นถึงความมุ่งมั่นและความตั้งใจของแพทย์คนหนึ่ง
หมอปกรณ์ : หมอฉุกเฉิน หรือ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน คือหมอประจำแผนกฉุกเฉินที่ดูแลคนไข้เกี่ยวกับการเจ็บป่วย และการบาดเจ็บที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน คนไข้ที่เข้ามาห้องฉุกเฉิน เราต้องรีบทำการตรวจ รักษา และวินิจฉัยให้ทันท่วงที ถ้าเกิดเราให้การรักษาไม่ทันท่วงที อาการของคนไข้อาจทรุดลงได้ ผมอาจจะชอบอะไรที่มันท้าทาย น่าตื่นเต้น เลยเป็นเหตุผลที่เลือกสาขานี้ เวลามีแต่ละเคสเข้ามา ยิ่งถ้าเป็นเคสที่เร่งด่วน แล้วเรารักษาคนไข้ให้ปลอดภัยได้ มันท้าทายเรามากเลย
แพทย์สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินมีมาประมาณสิบกว่าปีได้แล้ว รุ่นผมจบมา 230 คน มีหมอฉุกเฉิน 6 คนจาก 230 ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับสาขาอื่น คือการที่จะเป็นหมอฉุกเฉินต้องบอกเลยว่า ต้องอยากช่วยคนไข้อย่างแท้จริง มันเป็นการทำงานกับความเป็นความตายของคน การที่เราได้เซฟหนึ่งชีวิตมันเป็นความรู้สึกที่ดี และเราก็ดีใจที่ได้ช่วยคนไข้
ใช้เวลา 12 ปี กว่าจะเป็น ‘หมอฉุกเฉิน’
การเรียนหมอนั้นไม่ใช่ว่าใครจะเข้าไปเรียนได้ง่าย ๆ เพราะต้องทุ่มเทอ่านหนังสืออย่างหนักกว่าจะผ่านเข้าสู่สนามการเรียนคณะแพทยศาสตร์ ไม่เพียงแค่นั้นยังต้องผ่านการใช้ทุน รวมถึงการเรียนต่อเฉพาะทางเพื่อความรู้ความชำนาญในศาสตร์นั้นแบบเจาะลึก หากจะนับเวลาการเรียนจนจบแบบครบสมบูรณ์คร่าว ๆ แล้วก็กินเวลาถึง 12 ปีเลยทีเดียว
หมอปกรณ์ : นักศึกษาแพทย์ (Medical Student) จะเรียน 6 ปี โดยสามปีแรกจะเรียนเจาะลึกโครงสร้าง ระบบการทำงานของร่างกาย เชื้อโรคต่าง ๆ พอปี 4-5 ก็จะได้เริ่มเรียนรู้จากคนไข้โดยตรง หรือเรียกว่าเข้าวอร์ดผู้ป่วย คือเริ่มให้การดูแลรักษา ตรวจคนไข้ เริ่มจับคนไข้ได้แล้ว แต่ต้องอยู่ในความดูแลของอาจารย์แพทย์ พอขึ้นปี 6 จะเรียกว่า Extern คือได้ทำงานจริงเหมือนแพทย์ตามโรงพยาบาลเลย แต่ยังต้องอยู่ในความดูแลของอาจารย์แพทย์อยู่ หรือมีแพทย์พี่เลี้ยงคอยควบคุมดูแล
พอเรียนจบจะได้แพทยศาสตรบัณฑิต และต่อด้วยการใช้ทุนเป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี เพราะเป็นการใช้ทุนของรัฐที่ช่วยเหลืองบประมาณในการเรียนแพทย์ เรียกว่า Intern โดยจะต้องไปอยู่ตามโรงพยาบาลต่างจังหวัด เนื่องจากแพทย์ในบ้านเราขาดแคลน และเมื่อใช้ทุนครบแล้ว ถ้าไม่เรียนต่อเฉพาะทางก็เป็นแพทย์ทั่วไป (General Practitioner) แต่ส่วนใหญ่แล้วมักเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางซึ่งมีหลายสาขาวิชาอีก 3 ปี โดยเรียกว่า Resident
ฉุกเฉินแค่ไหน แค่ไหนเรียกฉุกเฉิน
เวลาเราตัดสินใจไปโรงพยาบาล เรามักคิดเสมอว่าฉันนี่แหละเจ็บป่วยที่สุด โอดครวญไม่ไหวแล้ว หมอควรรักษาฉันก่อนสิ แต่ในความเป็นจริง หมอฉุกเฉินก็มีสิ่งที่อยากให้คนไข้เข้าใจด้วย
หมอปกรณ์ : ในโรงพยาบาลนั้นมีหลายแผนก แผนกฉุกเฉินเราต้องรู้ในทุกเรื่องเร่งด่วนของแผนกอื่น ๆ เพื่อให้การรักษาเบื้องต้น และประสานกับคุณหมอเฉพาะทางสาขาอื่นอีกทีหนึ่งว่า สุดท้ายปลายทางของคนไข้ต้องได้รับการรักษาอย่างไร ต้องผ่าตัดไหม ซึ่งแผนกฉุกเฉินจะต่างกับแผนกอื่น คือถ้าเป็นเป็นคนไข้แผนกอื่น หมอจะรักษาตามคิว มาก่อนตรวจก่อน แต่แผนกฉุกเฉินเราทำแบบนั้นไม่ได้ ถ้าเรารักษาตามคิว บางทีคนที่มาหลังเขามีความเร่งด่วนมากกว่าคนแรก
โดยเกณฑ์ในการตัดสินใจว่าใครควรจะได้รับการรักษาก่อน-หลัง จะใช้ระบบการคัดกรองผู้ป่วย (triage) ว่าคนนี้เร่งด่วน ไม่เร่งด่วน ฉุกเฉิน หรือวิกฤต ซึ่งถ้าคนไข้มาพร้อมกัน เราต้องรักษาคนที่วิกฤตก่อน โดยตัวชี้วัดจะเป็นพยาบาลเป็นคนประเมินผู้ป่วยที่หน้างาน ด้วยการซักประวัติ ดูค่าความดัน สัญญาณชีพ หรือความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดซึ่งเป็นตัวบ่งบอกว่าคนนี้เร่งด่วนกว่า
“แผนกฉุกเฉินเป็นด่านหน้าในการช่วยคนไข้ และต้องทำงานแข่งกับเวลา”
มีเคสที่ผมไม่ลืมเลย เป็นเคสที่โดนอุบัติเหตุรถยนต์มา เขาโดนรถเหยียบไปที่อก มีการบาดเจ็บที่ทรวงอก แต่คนไข้รู้ตัวคุยกับเราได้ ซึ่งพอเราประเมินเบื้องต้น จากอุบัติเหตุที่เขาโดนมามันรุนแรงมาก คนไข้ซีด ซี่โครงหัก ความดันตก ตอนนั้นต้องรีบใส่สายระบายตรงทรวงอก และเจาะระบายเลือดตรงเยื่อหุ้มหัวใจที่มีเลือดออก ถ้าเราไม่รีบรักษา เขาอาจเสียชีวิตไปแล้ว
ในกรณีที่คนไข้มีญาติเราต้องให้ข้อมูลความรู้ เราต้องสื่อสารกับเขาว่าอาการของคนไข้อยู่ในระดับไหน แล้วต้องวางแผนการรักษาต่อไปอย่างไร ทุกคนที่มาห้องฉุกเฉินไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ในกรณีที่รักษาเสร็จสิ้นแล้วกลับบ้าน หมอเองก็ต้องให้คำแนะในการปฏิบัติ ข้อควรระวังหลีกเลี่ยงไม่ให้มันเกิดซ้ำ
สิ่งที่น่าห่วงคือญาติคนไข้ที่มาพร้อมกับความเชื่อผิด ๆ เช่น อาการชัก ญาติให้คนไข้กัดช้อนเพราะกลัวว่าจะกัดลิ้นตัวเอง แต่รู้ไหมว่าเราไม่จำเป็นต้องเอาอะไรไปใส่ปากคนไข้เลย เข้าใจว่าเราหวังดีอยากช่วยเขา แต่นั่นเป็นการทำให้เสี่ยงฟันหักแล้วหลุดเข้าไปติดหลอดลม ซึ่งเราก็ต้องบอกเขาว่าแบบนี้ผิดนะ ให้ปล่อยไว้ดีกว่า
วินาทีบน Ambulance
ความตื่นเต้นบนรถพยาบาล หรือที่เรียกกันว่ารถ Ambulance เราคงนึกไม่ออกว่าความรู้สึกในนั้นมันเป็นอย่างไร จะสนุก หวาดเสียว ตื่นตระหนก หรือลุ้นระทึกเหมือนเสียงไซเรนวี้หว่อหรือเปล่า
หมอปกรณ์ : การทำงานบน Ambulance มันมีความตื่นเต้นท้าทาย มันไม่ใช่สถานที่ที่เราคาดหวัง แต่เราก็ต้องไป ทั้งบ้านคนไข้ บนถนนหนทาง หรือในที่ต่าง ๆ ซึ่งในเรื่องของสภาพแวดล้อมที่ไม่คาดคิดก็ทำให้การทำงานมันยากขึ้น อย่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย อีกอย่างคือรถ ambulance มันถูกจำกัดด้วยปริมาณคน เราไม่สามารถยกทั้งโรงพยาบาลไปได้ เราต้องเอาทีมที่มีความพร้อมไปกับเรา ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการแบ่งบทบาทหน้าที่กันก่อนบทรถ บรีฟกันก่อนว่าเคสนี้มีอาการอะไร ต้องแก้ไขปัญหาอย่างไร
เราต้องเป็นทีมเวิร์กเพราะเรามีแพลนร่วมกัน พอไปถึงที่มันก็จะราบรื่นเพราะทุกคนรู้หน้าที่ ระหว่างการรักษา เราต้องให้ทุกคนในทีมมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น ไม่ใช่ว่าเราเป็นผู้นำแล้วเราจะไม่ฟังใคร ถ้าใครมีอะไรแนะนำก็พูดออกมาได้เลย
ไม่มีใครอยากเข้าห้องฉุกเฉิน
แผนกฉุกเฉิน แผนกที่ต้องเจอคนไข้มากหน้าหลายตา เจอสารพัดความเจ็บป่วย แต่ความเจ็บป่วยนี่แหละที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ใช่แค่มนุษย์ออฟฟิศหรือคนหาเช้ากินค่ำเท่านั้น แต่ตัวหมอเองก็ต้องหันมาใส่ใจตัวเองไม่แพ้ใคร
หมอปกรณ์ : ช่วงนี้คนเป็นโรคเกี่ยวกับ heart attack เยอะมาก เราพบในคนไข้ที่อายุน้อยลง คือสี่สิบกว่าก็เริ่มเจอแล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ หรืออาจมาจากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ความเครียด รวมถึงอาหารการกินก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ
ยิ่งคนที่ทำงานหนัก นอนไม่พอ พักผ่อนน้อยมันก็มีเอฟเฟกต์ต่อร่างกาย ทำให้ระบบการซ่อมแซมที่ควรจะเป็นมันเสื่อมโทรมเร็วกว่าปกติ แต่ถ้ามันเป็นอาชีพเราที่มันต้องอดหลับอดนอน ขึ้นเวร ก็ต้องรู้ว่าจะทำอย่างไรให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์เรา ถ้านาฬิกาชีวิตพัง ร่างกายเริ่มส่งสัญญาณบ่งบอกว่าไม่ปกติแล้ว เราก็ต้องปรับให้มันปกติ ซึ่งตอนนี้โรงพยาบาลสมิติเวชก็มีบริการ Samitivej Virtual Hospital ไว้สำหรับปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้เบื้องต้นหากเจ็บป่วย สามารถเข้ารับการบริการได้ 3 ช่องทางตลอด 24 ชั่วโมง ได้แก่ แอปพลิเคชัน Samitivej Plus, Line @samitivej และเว็บไซต์ทางการของโรงพยาบาล
แผนกฉุกเฉินต้องเปิดตลอดเวลา ตลอด 24 ชั่วโมงเราต้องมีคุณหมอประจำ ถ้าเราไม่ได้มีงานตอนเช้า เราก็ต้องพักผ่อนเพื่อให้มีความเฟรชที่จะมาดูแลคนไข้ต่อไป คงไม่มีใครที่อดหลับอดนอนมาขึ้นเวร ดังนั้นต้องทำเองให้สดชื่น เตรียมตัวเองให้พร้อมที่จะเข้ามาดูแลผู้ป่วยในยามค่ำคืน
‘หมอฉุกเฉิน’ พร้อมลุยทั้งวันทั้งคืน
ดูเหมือนว่า การเป็นหมอฉุกเฉินนั้นจะต้องพร้อมรับกับทุกสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด แม้ว่าการเรียนแพทย์นั้นจะสอนตำรับตำราวิชาความรู้ และเทรนนักศึกษาแพทย์ให้กลายเป็นหมอที่ดี แต่การสั่งสมประสบการณ์ และการเตรียมพร้อมอยู่ตลอดก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับหมอฉุกเฉิน
หมอปกรณ์ : ใน 1 วันของหมอฉุกเฉิน ต้องพร้อมเตรียมรับสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา เราเลือกไม่ได้ว่าวันนี้เราจะเจออะไร ดังนั้นทุกเคสไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยรุนแรงมา คือเราต้องมีความ alert พร้อมอยู่ตลอด อีกทั้งความพร้อมยังมาจากในช่วงที่เราดูคนไข้เสร็จแล้ว ซึ่งเราจะมาคุยกันในทีมแพทย์ ทีมพยาบาลว่าในเคสนี้เรามีโอกาสพัฒนาอย่างไรให้โอเคขึ้น เป็นการพัฒนาในทีม รับฟังทีม มีการบรีฟกันเพื่อที่ว่าเคสต่อไปเราจะได้ทำได้ดีขึ้น ทั้งยังต้องอัปเดตข้อมูลกันอยู่ตลอดว่า การรักษาในปัจจุบันของแผนกฉุกเฉินที่เขาทำกันตอนนี้ เขาให้การรักษาอย่างไร เพราะว่าผลลัพธ์ที่ได้จะได้ดีขึ้น ถ้าเราทันสมัย เราว่องไว คนไข้ก็จะได้รับการรักษาที่ดีขึ้น
อีกหัวใจสำคัญของหมอฉุกเฉิน สิ่งแรกเลยคือจิตใจในการอยากช่วยคนไข้ และสองคือต้องมีความแม่นยำ อยากช่วยแล้วต้องแม่นยำ เพราะว่า ‘เราไม่มีโอกาสให้พลาด’ ถ้าเกิดเราให้การวินิจฉัยที่ไม่แม่นยำ มันก็จะส่งผลอันตรายต่อคนไข้ ทุกคนมาโรงพยาบาลก็อยากหายป่วยกันทั้งนั้น ดังนั้นความอยากช่วยเหลือคนไข้ และการวินิจฉัยที่ถูกต้อง คือหัวใจสำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉิน