ประเด็นร้อนไม่แพ้อุณหภูมิเดือนเมษายน คงหนีไม้พ้นค่าไฟแพงทะลุมิเตอร์ จนพี่น้องประชาชนแคลงใจว่า ตัวเลขในบิลที่พุ่งกระฉูดนั้นมาจากไหน ?
เรามาทบทวนความรู้เรื่องค่าไฟกันอีกสักหน เผื่อไว้รีเช็กความถูกต้องว่าเราใช้ไฟไปตามที่บิลแจ้งจริงหรือเปล่า ! เริ่มตั้งแต่วิธีคำนวณค่าไฟ เปรียบเทียบเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านกินไฟขนาดไหน พร้อมสรุปมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าในช่วงโควิด 19 จบในโพสต์นี้เลย
ช่วงเดือนที่ผ่านมามีประเด็นเรื่องค่าไฟแพง ที่หลายบ้านเห็นบิลแล้วถึงกับช็อก ทางการไฟฟ้านครหลวงก็ออกมาชี้แจงเรื่องค่าไฟแพง เนื่องจากช่วงนี้อากาศร้อนจัดอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 36-40 องศา เครื่องปรับอากาศก็ต้องทำงานหนักขึ้น อีกทั้งด้วยมาตรการลดการแพร่ระบาดของโควิด 19 หลายคนจึงต้อง work from home หรืออยู่บ้านกันมากขึ้น ทำให้มีการใช้เครื่องไฟฟ้ามากกว่าปกติ หน่วยการใช้ไฟฟ้าจึงเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ค่าไฟสูงขึ้นตาม ทั้งนี้ทั้งนั้นการไฟฟ้านครหลวงยืนยันว่า ยังคงยึดหลักเกณฑ์ในการคิดค่าไฟจากหน่วยการใช้ไฟฟ้าในอัตราเดิม พร้อมกับมีมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ที่ต้องติดตามอ่านกัน
วิธีคำนวณค่าไฟ เพื่อความมั่นใจ
ก่อนอื่นเรามาเรียนรู้วิธีการคำนวณค่าไฟด้วยตัวเอง ปกติแล้วการไฟฟ้าจะมาจดเลขบนมิเตอร์ที่บ้านว่าเราใช้ไฟไปกี่หน่วยเพื่อนำไปคำนวณค่าไฟ หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วหน่วยที่ว่านี้คิดอย่างไร ?
• จำนวนหน่วยต่อวัน (ยูนิต) = กำลังไฟฟ้า (วัตต์ ) x จำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้า ÷ 1000 x จำนวนชั่วโมงที่ใช้ใน 1 วัน
ซึ่งเราจะต้องสังเกตว่า ที่บ้านมีเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทไหนบ้าง แต่ละเครื่องมีกำลังไฟฟ้าเท่าไหร่ ซึ่งจะสังเกตได้จากคู่มือหรือป้ายบนเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดนั้นๆ รวมถึงในหนึ่งวันเราเปิดใช้งานประมาณกี่ชั่วโมง ส่วนวิธีการคำนวณจะมีการคิดค่าไฟแบบอัตราก้าวหน้า พูดง่ายๆ คือ ยิ่งใช้ไฟมาก ยิ่งต้องจ่ายค่าไฟแพง
- บ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งเครื่องวัดฯ ขนาดไม่เกิน 5 แอมป์ และใช้ไฟ “ไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน”
– 15 หน่วยแรก (หน่วยที่ 1-15) หน่วยละ 2.3488 บาท
– 10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 16-25) หน่วยละ 2.9882 บาท
– 10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 26-35) หน่วยละ 3.2405 บาท
– 65 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 36-100) หน่วยละ 3.6237 บาท
– 50 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 101-150) หน่วยละ 3.7171 บาท
– 250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151-400) หน่วยละ 4.2218 บาท
– เกินกว่า 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 ขึ้นไป) หน่วยละ 4.4217 บาท
- บ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งเครื่องวัดฯ ขนาดเกิน 5 แอมป์ และใช้ไฟ “เกิน 150 หน่วย/เดือน”
– 150 หน่วยแรก (หน่วยที่ 0-150) หน่วยละ 3.2484 บาท
– 250 หน่วยหน่วยที่ 151 – 400 หน่วยละ 4.2218 บาท
– เกินกว่า 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 ขึ้นไป) หน่วยละ 4.4217 บาท
โดยค่าไฟที่ได้จากการคำนวณข้างต้น ยังไม่รวมค่าบริการรายเดือน, ค่า Ft (ค่าไฟฟ้าแปรผัน) และค่าภาษี 7% ที่เราต้องจ่ายเพิ่มเติม หากใครอยากคำนวณค่าไฟอย่างแม่นยำสามารถเข้าไปที่ mea.or.th
เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชิ้น กินไฟแค่ไหน
รู้จักวิธีการคำนวณค่าไฟแล้ว เรามาดูเครื่องใช้ไฟฟ้ายอดนิยมกันว่า แต่ละประเภทกินไฟแค่ไหน เรียงลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้
- เครื่องทำน้ำอุ่น 2,500-12,000 วัตต์ ค่าไฟชั่วโมงละ 10-47 บาท
- เครื่องปรับอากาศ 1,200-3,300 วัตต์ ค่าไฟชั่วโมงละ 5-13 บาท
- เครื่องซักผ้า 250-3,000 วัตต์ ค่าไฟชั่วโมงละ 1-12 บาท
- เตารีด 750-2,000 วัตต์ ค่าไฟชั่วโมงละ 3-8 บาท
- หม้อหุงข้าว 450-1,500 วัตต์ ค่าไฟชั่วโมงละ 2-6 บาท
- เตาไมโครเวฟ 100-1,000 วัตต์ ค่าไฟชั่วโมงละ 0.4-4 บาท
- โทรทัศน์ 80-180 วัตต์ ค่าไฟชั่วโมงละ 30-70 สตางค์
- ตู้เย็น 7-10 คิว 70-145 วัตต์ ค่าไฟชั่วโมงละ 25-60 สตางค์
*คิดจากค่าไฟเฉลี่ย 3.9 บาท/หน่วย
เห็นได้ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องทำความร้อนหรือความเย็นนั้นจะยิ่งกินไฟมาก และแม้เครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิดกำลังไฟน้อย แต่อย่าลืมว่าการเปิดใช้ทั้งวันก็ทำให้ค่าไฟพุ่งได้เช่นกัน
ลดค่าไฟ-ใช้ฟรี ช่วงโควิด 19
แม้จะอยู่อย่างประหยัดก็ยังผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ยากลำบาก สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 เพราะรายรับที่หดหายอีกทั้งรายจ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างค่าไฟที่หลายคนจำเป็นต้องอยู่บ้านหรือทำงานที่บ้านมากขึ้น แน่นอนว่าค่าไฟต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน
การไฟฟ้านครหลวงจึงออกมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า “ประเภทบ้านอยู่อาศัย” ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 จำนวนกว่า 22 ล้านราย ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 63 โดยเริ่มใช้ในรอบบิล มี.ค. – พ.ค. 63
- บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟ “ไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน”
ใช้ไฟฟรี ในรอบบิล มี.ค. – พ.ค. 63 - บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟ “เกิน 150 หน่วย/เดือน”
ใช้หน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือน ก.พ. 63 เป็นหลักในการคิดค่าไฟ ในรอบบิล มี.ค. – พ.ค. 63
– ใช้ไฟน้อยกว่า ก.พ. 63 จ่ายตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง
– ใช้ไฟมากกว่า ก.พ. 63 แต่ “ไม่เกิน 800 หน่วย” จ่ายเท่า ก.พ. 63
– ใช้ไฟมากกว่า ก.พ. 63 และ “เกินกว่า 800 หน่วย” แต่ “ไม่เกิน 3,000 หน่วย” จ่ายเท่า ก.พ. 63 + ส่วนเกินจาก ก.พ. 63 (ในอัตรา 50%)
– ใช้ไฟฟ้ามากกว่า ก.พ. 63 และ “เกินกว่า 3,000 หน่วย” จ่ายเท่า ก.พ. 63 + ส่วนเกินจาก ก.พ. 63 (ในอัตรา 70%)
*สำหรับผู้ที่จ่ายค่าไฟไปแล้ว จะหักคืนให้ในบิลค่าไฟรอบถัดไป
มาตรการช่วยเหลือค่าไฟอื่นๆ
นอกจากมาตรการ “ลดค่าไฟ-ใช้ฟรี” สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า “ประเภทบ้านอยู่อาศัย” ตามที่ได้กล่าวไป มาตรการช่วยเหลือค่าไฟที่ออกมาก่อนหน้านี้ก็ยังคงอยู่ ซึ่งครอบคลุมถึงผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นด้วย
- ลดค่าไฟฟ้า 3% (เม.ย.-มิ.ย. 63) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท โดยจะถูกคำนวนหลังจากมีการลดจากมาตรการอื่นๆ แล้ว
- คืนเงินประกันไฟฟ้า (ไม่มีหมดเขต) สำหรับบ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก โดยเปิดให้ลงทะเบียนออนไลน์ 24 ชม. เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 63 เป็นต้นไป ได้ที่ https://measy.mea.or.th
- ขยายสิทธิค่าไฟฟรี เป็น 90 หน่วย (เม.ย.-มิ.ย. 63) สำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์
- ขยายระยะเวลาชำระค่าไฟ 6 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.63) สำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์
- ขยายระยะเวลาชำระค่าไฟ 6 เดือน (เม.ย.-พ.ค.63) สำหรับโรงแรม และกิจการให้เช่าอาศัย
- ผ่อนผันการเก็บค่าไฟอัตราขั้นต่ำ (เม.ย.-มิ.ย. 63) สำหรับกลุ่มกิจการขนาดกลาง-ใหญ่ โรงแรม
Sources : การไฟฟ้านครหลวง | https://www.mea.or.th