กระเบื้องเปลือกไข่ วิธีใหม่ของการกำจัดเศษอาหาร - Urban Creature

แต่ละวันเรากินไข่ไก่เฉลี่ยคนละ 1 – 2 ฟอง แล้วลองคูณจำนวนคนทั้งโลกเข้าไป คิดดูว่าเปลือกไข่ถูกทิ้งต่อวันจะมีกี่พันล้านฟองกัน ซึ่งพอรวบรวมเป็นสถิติรายปีพบว่าเรามีขยะเปลือกไข่ราว 250,000 ตัน/ปี และมักใช้การฝังกลบในการกำจัดขยะ โดยพื้นที่ 1 ตร.ม. ฝังเปลือกไข่ได้ประมาณ 2,000 ฟอง และใช้ระยะเวลา 20 วันเพื่อย่อยสลาย 

ดูเหมือนการกำจัดเปลือกไม่ใช่ปัญหาอะไร แต่ดีไซเนอร์ชาวฮ่องกง ‘Elaine Yan Ling Ng’ อยากหาปลายทางใหม่ของเศษเปลือกไข่ที่ครีเอต เพิ่มมูลค่า และทำประโยชน์ได้มากกว่าการ ‘ทิ้ง’ จึงรีไซเคิลเปลือกไข่ให้กลายเป็น ‘CArrelé’ คอลเลกชันกระเบื้องปูผนัง โดยกระเบื้อง 1 ตร.ม. ช่วยลดจำนวนขยะได้มากถึง 20,000 ฟอง และใช้เวลาผลิตเพียง 2 วันเท่านั้น

ด้วยภาพจำของคนมักมองว่าเปลือกไข่มีความเปราะบาง หารู้ไม่ว่ามันแข็งแรงกว่านั้นมหาศาล แถมยังทนต่อรังสี UV ธรรมชาติด้วย โดยขั้นตอนการทำกระเบื้อง พวกเขาจะรวบรวมเปลือกไข่ที่ถูกทิ้งจากร้านเบเกอรี ครัวโรงแรม และตามชุมชนที่ตั้งรอบโรงงานในเมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ แล้วนำมาบดให้ละเอียด ก่อนจะผสมเข้ากับสารเคมี ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้วัสดุยึดเกาะกันได้แน่นขึ้น จากนั้นนำไปผึ่งให้แห้งในอุณหภูมิห้อง

คุณสมบัติอีกหนึ่งอย่างของเปลือกไข่คือดูดซับสีได้ดี ทำให้พวกเขาใช้จุดแข็งตรงนี้ ผสมสีกระเบื้องด้วยสีธรรมชาติ เช่น คราม แมดเดอร์ และคลอโรฟิลลิน เพื่อให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แล้วนำไปอัดเป็นแผ่นกระเบื้องและอบอีกหนึ่งครั้ง ก่อนจะนำมาตัดเป็นแผ่นขนาด 1 ตารางเมตร ซึ่งเราสามารถนำไปปูผนังทั้งห้องน้ำ ห้องครัว หรือนอกบ้านก็ได้ เพราะทนแดดทนฝน แถมยังทำความสะอาดง่ายอีกด้วย ถึงแม้จะดีไซน์สวย คุณสมบัติดี แต่ราคายังสูงพอสมควรสำหรับการใช้งานจริง เพราะกระเบื้องขนาด 1 ตร.ม. ราคาตกอยู่ที่ €595 (ประมาณ 23,200 บาท)

การพัฒนากระเบื้องจากเปลือกไข่ในครั้งนี้ Elaine Yan Ling Ng เป็นคนนำทีม และมีผู้สนับสนุนเป็น ‘Nature Squared’ สตูดิโอออกแบบจากประเทศอังกฤษที่ชอบเล่นท่าแปลกอยู่เป็นประจำ เพราะหยิบสิ่งของรอบตัวที่คนคาดไม่ถึง อย่างเช่น หอยเป๋าฮื้อ รังปลวก หญ้า เมล็ดพืช หรือหิน มาแปลงเป็นวัสดุธรรมชาติ ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นกระเบื้องเปลือกไข่อย่างทุกวันนี้ พวกเขาต้องใช้เวลาพัฒนาวัสดุนานถึง 2 ปีเลยทีเดียว

ปัจจุบัน Elaine Yan Ling Ng กำลังทดลองทำกระเบื้องจาก ‘เปลือกหอย’ เพราะคุณสมบัติและเทกซ์เจอร์มีความคล้ายคลึงกับไข่ไก่ แถมยังช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกด้วย ซึ่งเธอมีเงื่อนไขในการทำงาน คือ การออกแบบต้องเป็นไปตามหลัก ‘Circular Economy’ เพื่อความยั่งยืน อีก 2 – 3 ปีข้างหน้าเรามาลุ้นกันดีกว่าว่า เธอจะผลิตโปรดักต์อะไรเจ๋งๆ มาให้พวกเราดูอีก 

สำหรับประเทศไทย พวกเราเองก็กินไข่เก่งไม่แพ้ใครเขา บวกกับศักยภาพและฝีมือชั้นเซียนของคนไทยที่ไม่น้อยหน้าใคร เพราะเราเคยทำ ‘วัสดุหินเทียมจากเปลือกไข่’ กันมาแล้ว ซึ่งอนาคตคงได้เห็นการเอาเปลือกไข่มาต่อยอดเป็นโปรดักต์ต่างจากที่เคยทำ ไม่แน่นะ วันหนึ่งหลังคาบ้านของคุณอาจทำมาจากเปลือกไข่ก็ได้!


Sources : 
Nature Squared | https://www.instagram.com/nature.squared
Wallpaper | https://bit.ly/3BRC3C1

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.