ภาชนะ ‘ECO’ - Urban Creature

ปริมาณขยะจาก ‘ภาชนะ’ กองมหึมา ทั้งวัสดุพลาสติก และโฟมที่ไม่เคยลดลงเสียที รวมถึงการ ‘ย่อยสลาย’ ที่กินเวลานับร้อยปีกว่าจะหมดจด แถมยังส่งผลเสียต่อโลก แต่ก็คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงมนุษย์ที่จะคิดค้นทางเลือก อุปกรณ์กิมดื่มใหม่ๆ ที่สามารถกินดื่มได้อย่างสบายใจ และปลอดภัย โดยเฉพาะภาชนะที่ผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งตลอดทั้งเดือนพฤษภาคมนี้ เราจะพาทุกคนไปดูว่า ภาชนะ Eco มีอะไรบ้าง และดีต่อ ‘โลก’ อย่างไร ?

| อะไรคือวัสดุ ECO ?

‘วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Material)’ คงเป็นคำที่ใครๆ อาจคุ้นหู ยิ่งพักหลังเทรนด์ ‘Green Living’ กำลังเข้ามา ทำให้เวลาออกไปจับจ่ายสิ่งของเครื่องใช้ เรามักจะได้ยินคำเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง โดยวัสดุอีโค่ คือวัสดุที่มีการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือสามารถย่อยสลายง่าย เพื่อไม่ให้เหลือทิ้งเป็นขยะ ซึ่งแบ่งประเภทวัสดุที่นำมาใช้ทำภาชนะได้ 3 ประเภท

1. Bio-Based (ไบโอเบส) คือ วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น เพื่อนำมาใช้ผลิตเป็นไบโอพลาสติก ซึ่งมันสามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ (Biodegradable) ทำให้สามารถลดปัญหามลพิษ และปริมาณขยะเกินจำเป็นที่ยังกวนใจ โดยไบโอเบสแบ่งเป็น 4 ชนิด

  • Starch-based (PS) : ผลิตมาจากพืชให้แป้ง เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง มักจะเอามาทำเป็นช้อน ส้อม มีด ขวด
  • Polyhydroxyalkanoates (PHA) : ผลิตมาจากพืชให้นำ้ตาล หรือไขมัน เช่น อ้อย ถั่วเหลือง มะกอก สามารถใช้ทำภาชนะ หรือบรรจุภัณฑ์
  • Polylactic acid (PLA) : ผลิตจากข้าวโพด มันสำปะหลัง หรืออ้อย โดยนำมาใช้ทำภาชนะใส่อาหาร ถุง ขวดน้ำ หรือฟิล์มถนอมอาหาร
  • Bio-PET : ผลิตจากพืชน้ำตาล เช่น อ้อย กากน้ำตาล บีตรูต มักจะนำไปทำขวดน้ำดื่ม หรือภาชนะใส่อาหารต่างๆ ที่มีน้ำหนักเบา 

2. Fibre-Based (ไฟเบอร์เบส) คือ วัตถุดิบที่ทำมาจากไฟเบอร์ หรือเส้นใยธรรมชาติ เช่น กระดาษ กระดาน ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้เส้นใยมากที่สุด รวมไปถึงกากใยจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ได้แก่ ชานอ้อย ฟางข้าวสาลี ลินิน ไม้ไผ่ 

3. Biomass (ชีวมวล) คือ วัตถุดิบที่ได้จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบ เปลือกชานอ้อย กากปาล์ม ซังข้าวโพด

| ใครๆก็ทำภาชนะ ‘ECO’ 

พวกพลาสติก หรือโฟม เป็นภาชนะใส่อาหารที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากไปหน่อย แถมยังสร้างขยะให้นับไม่ถ้วน คงถึงเวลาที่นวัตกรรมใหม่ๆ จะช่วยแบ่งเบา ‘ภาระ’ เพื่อให้ดีต่อสุขภาพโลกมากขึ้น ซึ่งในต่างประเทศก็เริ่มมีการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารที่สามารถย่อยสลาย และนำกลับมาใช้ซ้ำได้

• PaperFoam 

กว่า 20 ปีที่บริษัทสัญชาติดัตซ์อย่าง ‘PaperFoam (เปเปอร์โฟม)’ ได้ผลิตบรรจุภัณฑ์และภาชนะ ‘รักษ์โลก’ โดยมีวัตถุดิบหลัก คือ มันฝรั่งหรือมันสำปะหลัง 70% เส้นใยจากไม้ 15% และส่วนผสมอื่นๆ อีก 15% ซึ่งมีการนำไปใช้ผลิต ‘ถาดไข่’ เป็นอันดับแรก

เมื่อปี ค.ศ. 2016 PaperFoam วางขายถาดไข่จำนวน 5 ล้านถาด และเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 ล้านถาดในปีถัดมา ถือว่าเป็นผลตอบรับที่น่าสนใจสำหรับ PaperFoam ซึ่งการผลิตถาดไข่ย่อยสลายได้ลด CO2 ได้มากถึง 65% ต่อหนึ่งครั้ง แถมยังไม่เหลือทิ้งเป็นขยะ เพราะสามารถเอาไปฝังกลบเพื่อทำเป็นปุ๋ยต่อไปได้

• Ooho ! 

 บริษัท Skipping Rock ผลิต ‘หยดน้ำกินได้’ เพื่อใช้แทนขวดน้ำดื่ม โดยทำมาจากสารสกัดสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล ที่ชื่อว่า ‘Notpla’ มีคุณสมบัติยืดหยุ่นสูง และย่อยสลายได้เร็วกว่าพลาสติกทั่วไป ซึ่งเราสามารถกินเข้าไปได้ทั้งอัน หรือจะทิ้งเปลือกนอกให้ย่อยสลายเองตามธรรมชาติ ภายใน 4-6 สัปดาห์ก็ได้

โดยเริ่มมีการแจกที่งานวิ่งมาราธอน ‘London Marathon 2019’  ในประเทศอังกฤษเป็นครั้งแรก ซึ่งมีการแจกไปมากกว่า 30,000 แคปซูลให้กับเหล่านักวิ่ง และสามารถลดขยะพลาสติกได้ถึง 20,000 ขวดเลยทีเดียว

• BioFase

‘Scott Munguia’ เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท BioFase จากประเทศเม็กซิโก ผู้หยิบ ‘อะโวคาโด’ พืชพื้นเมืองมาผลิตเป็นอุปกรณ์กินดื่มบนโต๊ะอาหาร ไม่ว่าจะเป็นช้อน ส้อม มีด หรือว่าหลอด ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติใน 240 วัน

โดยปกติแล้วเม็กซิโกจะผลิตอะโวคาโดได้วันละ 136,000 กิโลกรัม และแต่ละเดือนมีเมล็ดที่ถูกทิ้งไปมากกว่า 30,000 เมทริกตัน ซึ่งมันจะถูกกำจัดด้วยการ ‘เผา’ ทำให้สร้างมลภาวะทางอากาศไม่รู้จักจบสิ้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ Munguia กับทีม ลุกขึ้นมาผลิตเป็นโพลิเมอร์ย่อยสลายได้จากเมล็ดอะโวคาโดเหลือทิ้ง โดยแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ย่อยสลายได้ทันที (biodegradable) และย่อยสลายเป็นปุ๋ย (compostable)

 | อนาคตภาชนะ ECO

เมื่อก่อนเราใช้ภาชนะ หรือบรรจุภัณฑ์ที่มาจาก ‘พลาสติก’ และ ‘โฟม’ เป็นหลัก ยิ่งเวลาไปสั่งอาหารกลับบ้าน บางครั้งก็ได้กิน ‘โฟมละลาย’ เข้าไปพร้อมกับอาหารด้วย เรียกว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ก็ไม่เชิง แต่ที่แน่ๆ มันไม่ดีต่อสุขภาพของเราแน่นอน ที่สำคัญภาชนะเหล่านี้มักถูก ‘ทิ้ง’ หลังจากใช้งานเสร็จ และมันถูกผลิตขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับการใช้งานของเราซ้ำๆ จนเริ่มสะสมกลายเป็น ‘ขยะกองมหึมา’

แต่คงจะดีไม่น้อย ถ้าเราใช้ภาชนะ หรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และต่อคนกินอย่างเราด้วย ซึ่งแน่นอนว่าช่วงนี้เทรนด์สีเขียวกำลังเข้ามาเรื่อยๆ ผู้คนเริ่มตระหนักถึง ‘ปัญหาสิ่งแวดล้อม’ และเริ่มมองหาข้าวของเครื่องใช้ที่ดีต่อโลกให้มากที่สุด

โดยเรามีภาชนะที่ทำจากวัสดุย่อยสลายตามธรรมชาติเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แถมยังใช้ระยะเวลาย่อยสลายภายใน 300 วันเท่านั้น หรือนำไปทำเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ต่อไป เพราะวัสดุที่ได้ล้วนแล้วมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น รวมไปถึงเริ่มมีบริษัทสตาร์ทอัพผลิตภาชนะกินได้ เพื่อให้คนเป็นอีกหนึ่งเครื่องย่อยสลายอีกแรงหนึ่ง นอกจากการฝังกลบอย่างเดียว เช่น หลอดกินได้จากเส้นพาสต้า แคปซูลหยดน้ำ หรือช้อนข้าวจากแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งในอนาคตเราอาจจะมีช้อนรสต้มยำกุ้ง ส้อมรสผัดกะเพรา หรือหลอดรสเป๊ปซี่ก็ได้

แล้วคุณคิดว่า ‘อนาคตภาชนะ Eco’
ในแบบของคุณเป็นแบบไหน ?


Sources :
PaperFoam
Ooho !
BioFase

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.