8 เทศกาลดนตรีที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม - Urban Creature

หลายที่ทั่วโลกเริ่มกลับมาจัดอีเวนต์กันได้ตามปกติหลังจากต้องหยุดไปชั่วคราวเพราะโควิด-19 โดยเฉพาะ ‘เทศกาลดนตรี’ หรือ ‘Music Festival’ ที่หลายคนอดใจรอไปสนุกกับเสียงเพลงและกิจกรรมต่างๆ ภายในงานแทบไม่ไหวแล้ว

ทว่าการจัดงานเทศกาลดนตรีขนาดใหญ่แต่ละครั้งย่อมมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก ซึ่งกระบวนการดำเนินงานและกิจกรรมของเทศกาลประเภทนี้ย่อมสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น มลพิษจากการขนส่ง และขยะจำนวนนับไม่ถ้วน ดังนั้น หากมีการจัดงานเทศกาลดนตรีบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ยังไงก็มีผลต่อความยั่งยืนทางธรรมชาติอย่างแน่นอน

แต่ไม่ใช่ว่าทุกงานเทศกาลจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมเสมอไป คอลัมน์ Urban’s Pick ครั้งนี้จึงอยากพาทุกคนไปสำรวจ 8 เทศกาลดนตรีทั่วโลก ที่นอกจากจะมอบความสุขและความสนุกผ่านเสียงดนตรีแล้ว เหล่านี้ยังจัดงานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนเป็นหลักด้วย 

แถมทั้งหมดยังการันตีเรื่องความรักษ์โลก เพราะล้วนได้รางวัลจาก A Greener Festival องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ช่วยให้งานแสดงดนตรีมีความยั่งยืนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาแล้วทั้งนั้น 

Terraforma Festival

Eco-friendly Music Festivals

ประเทศ : อิตาลี

ช่วงที่จัดแสดง : เดือนกรกฎาคม

เริ่มต้นกันที่เทศกาลดนตรีจากประเทศอิตาลี ‘Terraforma Festival’ ที่จัดขึ้นในป่า Villa Arconati นอกเมืองมิลาน เทศกาลนี้ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและพยายามลดผลกระทบจากการก่อสร้างตัวงานให้เหลือน้อยที่สุด เช่น ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์, ใช้หลอดไฟ LED, ใช้ระบบควบคุมน้ำสำหรับฝักบัวและอ่างล้างมือเพื่อลดการใช้น้ำ รวมถึงนำเอาวัสดุส่วนเกินที่เหลือจากการก่อสร้างมาใช้ใหม่เพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น โต๊ะ ม้านั่ง ถังขยะ อ่างล้างจาน และฝักบัว 

โดยในปี 2022 นี้ Terraforma ได้ออกแบบเวทีใหม่โดยใช้ชื่อว่า Vaia Stage โดยตั้งชื่อตามเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี 2018 จนทำให้ต้นไม้โค่นล้มลงด้วยพลังของพายุ ซึ่งไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างเวทีนี้ก็ยังสร้างมาจากต้นไม้ทั้งหมดที่ถูกพายุ Vaia โค่นนั่นเอง เพื่อช่วยให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากไม้จำนวนมหาศาลก่อนที่มันจะเน่าเสียจนใช้งานไม่ได้ 

Terraforma ยังตั้งเป้าหมายที่จะลดปริมาณขยะ และเพิ่มอัตราการแยกขยะเพื่อรีไซเคิล ด้วยเหตุนี้ จึงมีการดำเนินงานหลายอย่างภายในงานเพื่อสร้างความตระหนักให้กับผู้เข้าร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสถานีรีไซเคิล, ใช้ภาชนะและถ้วยชามที่ย่อยสลายทางชีวภาพได้ 100 เปอร์เซ็นต์, งดการใช้พลาสติกสำหรับเครื่องดื่มทั้งหมด รวมถึงงดการใช้หลอดภายในงานด้วย ซึ่งการดำเนินงานเหล่านี้ทำให้งานในปี 2019 สามารถลดขยะต่อคนได้ถึง 35 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังลดขยะพลาสติกได้มากถึง 170 กิโลกรัมเลยทีเดียว 

มากไปกว่านั้น มลภาวะที่เกิดขึ้นจากการเดินทางและการขนส่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งผลกระทบที่เกิดจากการจัดเทศกาลดนตรี ดังนั้น Terraforma จึงพยายามลดผลกระทบด้วยการจัดเตรียมรถยนต์ไฟฟ้าและรถตู้ไฟฟ้าสำหรับรับส่งทีมงานและศิลปิน สำหรับผู้เข้าร่วมงาน ทางเทศกาลได้สนับสนุนให้ผู้คนใช้รถสาธารณะด้วยบริการรถรับ-ส่งระหว่างงานและสถานีรถไฟฟรี และการแชร์รถ (Carpool) สำหรับเดินทางมาที่งานเทศกาลพร้อมกัน นอกจากจะช่วยลดมลภาวะที่เกิดจากรถยนต์แล้วยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้อีกด้วย

Øyafestivalen

Eco-friendly Music Festivals

ประเทศ : นอร์เวย์

ช่วงที่จัดแสดง : สิงหาคม

Øyafestivalen เป็นเทศกาลดนตรีที่เริ่มต้นในปี 1999 จัดขึ้นในสวน Tøyen เมือง Oslo ประเทศนอร์เวย์ ในงานนี้มีทั้งศิลปินจากต่างประเทศและศิลปินหน้าใหม่ร่วมแสดงในทุกๆ ปี แต่ Øyafestivalen ไม่ได้เป็นที่รู้จักจากการเป็นเทศกาลดนตรีอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังถูกพูดถึงในฐานะเทศกาลขนาดใหญ่ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

Øyafestivalen เริ่มจัดงานควบคู่ไปกับการค้นหาแนวทางความยั่งยืนของเทศกาลและสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2002 จนถึงตอนนี้ก็ทำสำเร็จไปได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการขายอาหารออร์แกนิกโดยเน้นอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์เป็นหลัก ซึ่งคิดเป็นเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของอาหาร 100,000 ส่วนที่จำหน่ายภายในงาน

ที่สำคัญ เทศกาลนี้ยังเน้นการใช้อาหารที่ยั่งยืนและผลิตในท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยลดมลภาวะที่เกิดจากการขนส่งได้ นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดภายในยังย่อยสลายได้ และนำเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนเป็นก๊าซชีวภาพหลังงานจบ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ต่อไป ส่วนแก้วเครื่องดื่มก็นำกลับมาใช้ซ้ำได้ใหม่เช่นกัน ทำให้ตั้งแต่ปี 2016 จนถึงตอนนี้ งาน Øyafestivalen สามารถลดการใช้พลาสติกได้มากถึง 60 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ในส่วนของการเดินทางไปยังงานเทศกาล Øyafestivalen ด้วยความที่งานจัดอยู่ในเมือง ทำให้ 98 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าร่วมงานจะใช้วิธีการเดินเท้า ขี่จักรยาน หรือใช้ขนส่งสาธารณะมากกว่ารถยนต์ส่วนตัว ดังนั้น งานจึงอำนวยความสะดวกด้วยการเตรียมพื้นที่จอดจักรยานด้วย

นอกจากนี้ Øyafestivalen ยังออกแบบเฟอร์นิเจอร์สำหรับใช้ในงานให้แข็งแรงและทนทานต่อทุกสภาพอากาศ เพื่อที่จะนำไปใช้ใหม่ได้ทั้งในเทศกาลดนตรีครั้งถัดๆ ไป รวมถึงอีเวนต์อื่นๆ ที่จัดในเมือง Oslo 

We Love Green Festival

Eco-friendly Music Festivals

ประเทศ : ฝรั่งเศส

ช่วงที่จัดแสดง : มิถุนายน

ด้านประเทศฝรั่งเศสก็มีเทศกาลดนตรีชื่อดังอย่าง We Love Green Festival ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2011 จัดขึ้นที่ใจกลาง Bois de Vincennes ในเขตชานเมืองของกรุงปารีส องค์ประกอบสำคัญอย่างการแสดงดนตรี เทศกาลยังให้ความสำคัญกับความยั่งยืน 8 ประการ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่พลังงาน อาหาร น้ำ การจัดการของเสีย การขนส่ง การสร้างความตระหนักรู้ การชดเชยคาร์บอน และเศรษฐกิจหมุนเวียน

โดยภายในงานจะใช้พลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าไม่มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ตัวอย่างเช่น ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพของฝรั่งเศสที่ทำจากน้ำมันเรปซีดและน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว, ใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าต้นแบบที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนสะอาด, ใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์กับเวที Think Tank, Startup Incubator และพื้นที่สำหรับเด็ก และเพื่อเป็นการประหยัดพลังงาน หลอดไฟที่ใช้กว่า 95 เปอร์เซ็นต์จึงเป็น LED ทั้งบนเวที แผงขายอาหาร หรือแม้แต่ฉากต่างๆ 

ส่วนอาหารที่เสิร์ฟจะเป็นอาหารออร์แกนิกจากท้องถิ่นทั้งหมด รวมถึงยังนำเอาอาหารที่ขายไม่ออกจากตลาดและผลผลิตจากเกษตรกรมาประกอบอาหารขายในงานด้วย ซึ่งอาหารที่ปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้วหากขายไม่หมด ทาง We Love Green ก็ไม่ได้เอาไปทิ้งที่ไหน แต่จะนำไปแจกจ่ายให้กับองค์กรการกุศลต่างๆ เพื่อลดการทิ้งเศษอาหารปริมาณมาก

ไม่ใช่แค่เรื่องอาหารเท่านั้นที่ We Love Green ส่งต่อให้กับที่อื่น แต่ยังเปลี่ยนปัสสาวะและของเสียจากส้วมหมักให้เป็นปุ๋ยทางการเกษตร และนำปุ๋ยเหล่านี้ไปแจกจ่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกอีกครั้งหนึ่ง 

อีกสิ่งที่น่าสนใจของ We Love Green Festival คือ ภายในงานมีที่เขี่ยบุหรี่ติดตั้งทั่วบริเวณ โดยก้นบุหรี่ที่เก็บได้ทั้งหมดจะถูกส่งไปยังเมือง Brest ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีโรงงานแห่งแรกของฝรั่งเศสที่รีไซเคิลก้นบุหรี่ให้กลายเป็นสิ่งของต่างๆ เช่น ที่เขี่ยบุหรี่ กระบอกใส่ดินสอ หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ก็ทำได้ เพราะฉะนั้นมั่นใจได้เลยว่าก้นบุหรี่กว่า 15,000 ก้นนั้นจะไม่ถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะภายในงานแน่นอน

Roskilde Festival 

Eco-friendly Music Festivals

ประเทศ : เดนมาร์ก

ช่วงที่จัดแสดง : มิถุนายน

หนึ่งในเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปและใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศนอร์ดิกก็คือ Roskilde Festival ของประเทศเดนมาร์ก ที่แต่ละปีมีผู้เข้าร่วมกว่า 130,000 คน 

แน่นอนว่าตัวเทศกาลต้องส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อยเลย เนื่องจากขนาดของเทศกาลเปรียบเสมือนหนึ่งเมืองใหญ่ที่มีทั้งร้านอาหาร ร้านค้า และสถานที่ชุมนุมมากมาย ความต้องการทางด้านพลังงานทั้งน้ำ ไฟ ความร้อน มีค่อนข้างมาก ทำให้เทศกาลพยายามลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสำหรับสร้างพลังงานความร้อน ไฟฟ้า และการขนส่งให้น้อยลง โดยเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนแทน และร่วมมือกับ Andel กลุ่มพลังงานและไฟเบอร์ออปติกบรอดแบนด์ ในการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อเลี่ยงวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เราสามารถสร้างสภาพความเป็นอยู่ที่ดีให้กับคนรุ่นต่อไป

โดยในปี 2022 นี้ Roskilde Festival ยังเปิดให้เช่าอุปกรณ์ตั้งแคมป์เป็นครั้งแรก เพื่อช่วยลดการใช้อุปกรณ์ครั้งเดียว เพราะหลังจากจบงานเทศกาลมักมีอุปกรณ์ต่างๆ ถูกทิ้งเอาไว้จนกลายเป็นขยะจำนวนมาก ดังนั้น ทางเทศกาลจึงเปิดให้เช่าทั้งเต็นท์ Pavillion และที่นอนเป่าลมคุณภาพดีผ่านทางเว็บไซต์ เมื่อไปถึงหน้างานก็สามารถติดต่อรับไปใช้และนำมาคืนเมื่องานจบลง

เมื่อไม่จำเป็นต้องพกอุปกรณ์จำนวนมากมาร่วมงาน การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะจึงเป็นตัวเลือกที่เทศกาลอยากให้ทุกคนเลือกใช้ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้สร้างอาคารสถานีและขยายตารางการเดินทางตรงจากสถานีกลางโคเปนเฮเกนมายังเทศกาล เพื่อความสะดวกสบายในการเดินทางของผู้ร่วมงาน

อีกหนึ่งความใส่ใจต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมของงานนี้คือ การพัฒนาแผงขายอาหารออร์แกนิกและเครื่องดื่มออร์แกนิก รวมถึงการคำนวณผลกระทบต่อสภาพอากาศของมื้ออาหาร โดยในปี 2022 นี้ ผู้ร่วมงานสามารถเลือกอาหารที่ปล่อย CO2 น้อยที่สุด และคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพได้ด้วย

Paradise City

Eco-friendly Music Festivals

ประเทศ : เบลเยียม

ช่วงที่จัดแสดง : มิถุนายน

Paradise City คือเทศกาลดนตรีที่ถือได้ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในประเทศเบลเยียม เพราะมีความยั่งยืนเป็นคอนเซปต์หลักของเทศกาล เนื่องจากผู้จัดมองว่าตัวงานส่งผลเสียต่ออากาศ ดิน น้ำ ทรัพยากร และผู้อยู่อาศัยโดยรอบ จึงเริ่มต้นแนวทางความยั่งยืนด้วยการร่วมมือกับบริษัทสัญชาติเบลเยียมอย่าง CO2Logic ที่ให้คำแนะนำในทุกขั้นตอนเพื่อลดการปล่อย CO2 จนทำให้เทศกาลได้รับคะแนนสี่ดาว ซึ่งถือเป็นคะแนนที่สูงที่สุดจาก A Greener Festival (AGF) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ช่วยให้งานแสดงดนตรีมีความยั่งยืนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ติดต่อกันสองครั้งเลยทีเดียว

Paradise City เชื่อเรื่องการสื่อสารอย่างยั่งยืนโดยลดการใช้กระดาษในการสื่อสาร และใช้กระดาษ Forest Stewardship Council (FSC) หรือกระดาษที่ผ่านการรับรองว่ามาจากป่าปลูกเชิงพาณิชย์ ที่ไม่ทำให้ทรัพยากรป่าบนโลกเสียหาย เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการผลิตกระดาษ นอกจากนี้ Paradise City ยังเป็นเทศกาลที่ไร้เงินสดอีกด้วย

สิ่งที่น่าสนใจในปี 2021 ที่ผ่านมาคือ การเลิกขายบุหรี่ในงาน นอกจากจะช่วยเรื่องสุขภาพของผู้ร่วมงานแล้ว บุหรี่ยังก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศมากเลยทีเดียว ซึ่งเฉพาะในปี 2019 ทางงานเก็บก้นบุหรี่ได้มากถึง 24 ลิตร หรือประมาณ 10,000 ตัวเลยทีเดียว 

และสิ่งที่เพิ่มเติมมาในปี 2022 นี้คือ การคำนวณ CO2 สำหรับอาหารที่ขายในงาน เพื่อให้มั่นใจว่าอาหารแต่ละเมนูส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และยังจำกัดจำนวนบรรจุภัณฑ์ทั้งเครื่องดื่มและอาหารเพื่อลดขยะ รวมถึงร่วมมือกับคณะกรรมาธิการยุโรปและ NMBS เปิดให้บริการรถไฟกลางคืนหลายเที่ยวจากสถานี Vilvoorde ไปยังเมืองต่างๆ เช่น Brussels, Antwerp และ Ghent โดยตั๋วเข้าร่วม Paradise City ยังสามารถใช้เป็นส่วนลดในการจองตั๋วรถไฟล่วงหน้า แถมยังมีบริการชัตเทิลบัสพลังงานไฟฟ้ารับส่งผู้โดยสารระหว่างงานเทศกาลและสถานี Vilvoorde เพื่อกระตุ้นให้คนใช้ขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัวนั่นเอง 

มากไปกว่านั้น Paradise City ยังส่งต่อการตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมไปยังพาร์ตเนอร์และผู้ร่วมงานผ่านการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดภายในงาน ที่ทำให้ทุกคนได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนให้แก่โลกของเรา

Glastonbury Festival

Eco-friendly Music Festivals

ประเทศ : อังกฤษ

ช่วงที่จัดแสดง : มิถุนายน

เทศกาล Glastonbury ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1970 ซึ่งในตอนนั้นยังเป็นช่วงเวลาที่คนอาจไม่ได้นึกถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากเท่าไรนัก แต่ในยุคปัจจุบันที่ผู้คนสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น Glastonbury จึงกลายเป็นเทศกาลดนตรีขนาดใหญ่ในประเทศอังกฤษที่มีนโยบายส่งเสริมความยั่งยืนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยแนวทางแรกก็คือการลดขยะบรรจุภัณฑ์ ด้วยการส่งเสริมให้ผู้ร่วมงานพกขวดน้ำหรือแก้วมาเอง เพราะทางเทศกาลจะมีบริการจุดเติมน้ำฟรีกระจายอยู่ทั่วงานอยู่แล้ว

แม้ว่า Glastonbury จะพยายามลดปริมาณสิ่งของใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แต่บางครั้งก็อาจหลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้นภาชนะแบบใช้แล้วทิ้งทั้งหมดภายในงาน เช่น จาน หลอด และฝาเครื่องดื่มร้อน จะต้องทำมาจากกระดาษ การ์ด ไม้ หรือใบไม้ และต้องย่อยสลายได้ทั้งหมด และห้ามให้ซองเครื่องปรุงแบบใช้ครั้งเดียวโดยเด็ดขาด

กลิตเตอร์และงานเทศกาลถือเป็นของคู่กัน ดังนั้น Glastonbury จึงไม่ได้ห้ามให้ใช้กลิตเตอร์ แต่เปลี่ยนมาใช้กลิตเตอร์ที่ย่อยสลายได้แทน เพื่อให้ผู้ร่วมงานยังคงสนุกกับเทศกาลไปพร้อมๆ กับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

นอกจากนี้ เสื้อยืดของงานยังเป็นสินค้าที่ผลิตจากผ้าฝ้ายออร์แกนิกที่ได้รับการรับรองจาก GOTS หรือ มาตรฐานสิ่งทออินทรีย์สากล รวมถึงสีที่ใช้ในการผลิตก็เป็นสีรีแอ็กทีฟที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดสำหรับการใช้ผลิตเสื้อผ้าอีกด้วย เพราะฉะนั้นมั่นใจได้เลยว่า ถ้าได้เข้าร่วมในเทศกาล Glastonbury เราจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความยั่งยืนให้แก่สิ่งแวดล้อมแน่ๆ

Boom Festival

Eco-friendly Music Festivals

ประเทศ : โปรตุเกส

ช่วงที่จัดแสดง : กรกฎาคม

Boom Festival จัดขึ้นตั้งแต่ปี 1997 ในเมือง Idanha-a-Nova ประเทศโปรตุเกส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับแสงอาทิตย์ตลอด จึงมีการผลิตและใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ในการจ่ายพลังงานในเทศกาล รวมถึงใช้สำหรับปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำจากทะเลสาบ Idanha-a-Nova ขึ้นมาใช้ด้วย

ด้านสิ่งก่อสร้างภายในเทศกาลจะทำจากวัสดุจากธรรมชาติอย่างไม้และดินเหนียว รวมถึงอุปกรณ์เก่าอย่างสายเคเบิล ที่เอากลับมาใช้ซ้ำได้เรื่อยๆ จนกว่าจะหมดอายุการใช้งาน จากนั้นจะส่งไปรีไซเคิลเพื่อเปลี่ยนเป็นวัสดุใหม่อีกที

ส่วนขยะทุกชิ้นในงานสามารถนำไปใช้ใหม่ได้ โดยจะมีทีมงานกว่า 200 คน ที่คอยรวบรวม คัดแยก และจัดแบ่งวัสดุแต่ละชนิดว่านำไปเข้าสู่กระบวนการใดได้บ้าง ซึ่งขั้นตอนการคัดแยกด้วยคนนั้นจะช่วยป้องกันการปล่อย CO2 จากการใช้เครื่องแยกขยะสู่ชั้นบรรยากาศโดยไม่จำเป็นได้

ถึงแม้จะมีแหล่งน้ำอยู่ในบริเวณของ Boomland แต่น้ำก็เป็นทรัพยากรที่กำลังขาดแคลนทั่วโลก ดังนั้น ภายในเทศกาลจึงจำกัดให้ใช้น้ำได้เฉพาะช่วง 06.00 – 12.00 น. และ 18.00 – 22.00 น. ทุกวันของเทศกาล แต่ถึงแม้ว่าจะจำกัดเวลาใช้น้ำก็ไม่ได้หมายความว่าผู้คนจะลงไปอาบน้ำในทะเลสาบได้ เพราะการใช้แชมพูหรือสบู่นั้นจะส่งผลกระทบทางชีวภาพของน้ำนั่นเอง

มากไปกว่านั้น ห้องน้ำภายในงานจะติดตั้งถังปุ๋ยหมักเอาไว้ใต้ชักโครกเพื่อเก็บของเสียต่างๆ โดยจะเป็นห้องน้ำประเภทที่ไม่ต้องกดน้ำทิ้ง นอกจากจะช่วยประหยัดน้ำชะล้างแล้ว ของเสียในถังหมักยังสามารถนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเลี้ยงดอกไม้ ต้นไม้ และสวนได้อีกทอดหนึ่ง 

Wonderfruit 

Eco-friendly Music Festivals

ประเทศ : ไทย

ช่วงที่จัดแสดง : ธันวาคม

ไม่ได้มีเพียงแค่เทศกาลดนตรีในต่างประเทศเท่านั้น แต่ Wonderfruit ของประเทศไทยก็ได้รับการการันตีจาก AGF ด้วยเหมือนกัน โดยเป็นงานเทศกาลเดียวจากเอเชียที่ได้รับรางวัลจาก A Greener Festival 2019 และรางวัล Pied Piper Award สำหรับการสื่อสารเรื่องความยั่งยืนในปี 2019

หนึ่งในจุดเด่นเรื่องสิ่งแวดล้อมของ Wonderfruit ก็คือเวที ที่ถูกพูดถึงในเรื่องของการใช้วัสดุอย่างยั่งยืน และมีการออกแบบให้ใช้เทคนิคต่อโครงสร้างโดยที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ยึดโครง ตัวอย่างเช่น Solar Stage ที่สร้างขึ้นจากไม้อัดเจาะรูเกือบทั้งหมด ในขณะที่ Living Stage ก็เป็นเวทีที่ทำขึ้นจากไผ่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เท่านั้นไม่พอ Wonderfruit ยังลดการใช้พลาสติกและหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของแบบครั้งเดียว ดังนั้น ผู้เข้าร่วมงานจะต้องพกแก้วน้ำมาเอง หรือจะไปซื้อที่งานก็ได้ และหากใครไม่มีแก้วที่ใช้ซ้ำได้ ทางร้านค้าในงานก็จะไม่จำหน่ายเครื่องดื่มให้ด้วย ซึ่งปี 2019 ที่ผ่านมา มีเพียง 42.3 เปอร์เซ็นต์ของผู้ร่วมงานที่ซื้อแก้วน้ำภายในงาน หมายความว่า ผู้เข้าร่วมมากกว่าครึ่งหนึ่งพกแก้วน้ำของตัวเองมาสนุกในงาน Wonderfruit 

ส่วนการจัดการขยะภายในงานก็ทำได้ด้วยการติดตั้งถังขยะหน้าตาน่ารักกระจายตามจุดต่างๆ เพื่อรองรับขยะแต่ละประเภท รวมถึงคัดแยกขยะเพื่อส่งต่อไปทำปุ๋ยหมัก รีไซเคิล และอัปไซเคิล ในขั้นตอนต่อๆ ไป ทำให้ขยะมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์จากงาน Wonderfruit ไม่ได้ไปจบลงที่การฝังกลบที่เป็นปัญหาหนึ่งของการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก

Sources :

A Greener Festival | bit.ly/3gAHe3K 
Boom | bit.ly/3EYlAjf 
Glastonbury | bit.ly/3iavBkr, bit.ly/2N3cx23 
Paradise City | bit.ly/3AGYw5M 
Roskilde | bit.ly/3ufwPxH 
Terraforma | bit.ly/3gAH9Nu
Vestre | bit.ly/3AIGccK 
Visit Norway | bit.ly/3VrmnP9 
We Love Green | bit.ly/3AIG6BU 
Wonderfruit | bit.ly/3gvcdOu, bit.ly/3Vm6Lwb, bit.ly/3EYv79R, bit.ly/3XuT6on 
Øyafestivalen | bit.ly/3gAHfEQ


The Town of Music คือซีรีส์คอนเทนต์ประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 จาก Urban Creature ที่คาดหวังและอยากเห็นเมืองของเรากับความเป็นไปได้ในการเป็นเมืองดนตรีที่โอบรับศิลปิน คนทำงาน และผู้ชมอย่างแท้จริง ผ่านการนำเสนอในรูปแบบข้อมูล กราฟิก บทสัมภาษณ์ และกรณีศึกษาจากทั่วโลก

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.