เมื่อความหลงใหลในทุเรียนของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมากล้น นักวิทยาศาสตร์ชาวสิงคโปร์หัวใสเลยหยิบเอาความคลั่งไคล้นี้มาหวดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ
เรื่องมีอยู่ว่า เหล่านักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง สิงคโปร์ (NTU) ได้แปลงร่างเจ้าเปลือกทุเรียนให้เป็นแผ่นเจลต้านเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นการนำส่วนเปลือกที่เรากินไม่ได้มาใช้ประโยชน์
กระบวนการสุดเจ๋งนี้ใช้การสกัดผงเซลลูโลสออกจากส่วนแกลบทุเรียนด้วยกรรมวิธี Free-Drying Process จากนั้นผงเซลลูโลสจะผสานเข้ากับสารกลีเซอรอล (ผลพลอยได้จากวิธีการรีไซเคิลรูปแบบหนึ่งที่มาจากอุตสาหกรรมไบโอดีเซลและสบู่) ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นซอฟต์เจลที่ปรับให้เป็นที่ปิดแผลสุดมหัศจรรย์ได้
จากนั้นก็นำแผ่นเจลดังกล่าวไปเก็บรักษาด้วยสารประกอบจากยีสต์ขนมปัง เพื่อเตรียมการให้พร้อมสำหรับการใช้ปฐมพยาบาล ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย รักษาบริเวณบาดเจ็บให้เย็นและชุ่มชื้น แถมช่วยรักษาแผลให้หายเร็วขึ้น
แม้คนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเราๆ จะชื่นชอบผลไม้ชนิดนี้มากๆ แต่พวกเราก็ไม่ค่อยได้นึกถึงการใช้สอยเปลือกทุเรียน ก็ใครจะไปคิดล่ะว่ามันเป็นมากกว่าอาหารได้
“ในสิงคโปร์ เราบริโภคทุเรียนประมาณ 12 ล้านลูกต่อปี นอกจากเนื้อผลไม้แล้ว เราไม่ได้นำแกลบและเมล็ดของมันมาใช้มากนัก เลยทำให้มันเป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม” William Chen ศาสตราจารย์และผู้อำนวยการด้านโปรแกรมวิทยาศาสตร์การอาหารและเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยกล่าว
เฉินยังยืนยันแบบปังๆ ด้วยว่าเทคโนโลยีของทีมใช้ได้กับเศษอาหารอินทรีย์รูปแบบอื่นๆ ได้ อาทิ ธัญพืชและถั่วเหลือง ซึ่งอาจเป็นประโยชน์มากๆ ต่อการแก้ไขปัญหาเศษอาหารของประเทศ
และข้อดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ เจ้าปลาสเตอร์ทุเรียนนั้น ไม่มีกลิ่นและย่อยสลายได้ง่าย พร้อมทั้งยังได้รับการพิสูจน์ว่าใช้งานได้อย่างคุ้มค่ามากกว่าวัสดุแบบเดิมๆ ซึ่งมักใช้สารประกอบโลหะที่มีราคาแพงกว่า อย่างเงินหรือทองแดง
นับตั้งแต่เปิดตัวผลิตภัณฑ์ต้นแบบมา ทีมงานก็ได้เจรจากับพันธมิตรในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ของการเพิ่มยอดการผลิตเจลปิดแผล ถ้าทุกอย่างราบรื่นดี เฉินกล่าวว่าผลิตภัณฑ์ที่เสร็จสมบูรณ์ อาจไปถึงร้านค้าภายในเวลาเพียงสองปีเท่านั้น แค่นี้ก็มั่นใจได้เลยว่าราคาขายปลีกของที่ปิดแผลชนิดนี้จะแข่งขันในตลาดได้อย่างแน่นอน
Source : Mashable SEA Asia