หากไทม์แมชชีนมีจริง และเราได้มีโอกาสใช้มันย้อนเวลากลับไปในช่วงวัยเด็ก ในสมัยที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีเกมออนไลน์ ความสุขของเด็กๆ ในยุคนั้นคงหนีไม่พ้นเกมกระดาษที่มักจะสุมหัวเล่นกันในช่วงพักกลางวัน
วิธีการเล่นก็ไม่มีอะไรมาก แค่มีเพื่อนที่คอยเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ตามแต่จินตนาการของเขาจะรังสรรค์ได้ ส่วนผู้เล่นก็เป็นเพื่อนๆ ในชั้นเรียนที่ต่างฝ่ายต่างงัดฝีมือมาสู้กันในเกมด้วยการเป่ายิ้งฉุบ โดยที่ตอนนั้นผมแทบไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เราเล่นกันมันคือ Tabletop Role-playing Game (TRPG)
เมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีต่างๆ พัฒนามากขึ้น Board Game เป็นที่แพร่หลาย Trading Card Game เป็นที่ยอมรับ War Game มีผู้คนเข้ามาเล่นมากขึ้น แต่ท้ายที่สุดแล้วประเภทของ Tabletop เกมต่างๆ ที่ผมได้กล่าวถึงข้างต้น มันจะวนกลับมาที่รากฐานซึ่งก็คือ TRPG โดยเฉพาะเกมที่มีชื่อว่า ‘Dungeons & Dragons’
ครั้งนี้ซีรีส์ Roll the Dice ได้ดำเนินมาถึงตอนสุดท้าย ผมขอพาทุกคนเดินทางมาที่ร้าน Kinoko Card Game Shop เพื่อพูดคุยกับ ‘พี่พลอย-ศันสนีย์ ชูโชติถาวร’ จากร้าน Kinoko Card Game Shop, ‘พี่หนึ่ง-เอกรินทร์ โสภี’ นักพากย์เทรดดิ้งการ์ดเกม และ Dungeon Master (DM) อิสระ และ ‘พี่ไปร์ท-ณพณัฐ เมธปรีชากุล’ จากร้าน Vigilant Gaming Shelter ถึงเรื่องราวของ Dungeons & Dragons (D&D) แบบเต็มอิ่ม
การเข้าสู่จักรวาล Dungeons & Dragons (D&D)
พลอย : เมื่อก่อนนี้มันมีการ์ตูนซีรีส์บนโทรทัศน์ จำไม่ได้ว่าเป็น Cartoon Network หรือช่องอะไร เขาเอาซีรีส์ Dungeons & Dragons ปี 1983 มาฉาย เนื้อเรื่องประมาณว่า ตัวเอกหลุดเข้าไปในโลก Dungeons & Dragons เลยอยากรู้ว่าเกมนี้คืออะไร แล้วตอนไปต่างประเทศก็เห็นตามร้านบอร์ดเกมมีหนังสือ Dungeons & Dragons วางขายตลอด ทำให้อยากลองเล่นสักครั้ง
หนึ่ง : พี่รู้จัก D&D ได้เกือบ 20 ปีแล้ว แต่ตอนนั้นเป็นผู้เล่นเทรดดิ้งการ์ดเกม ไม่รู้ว่า D&D คืออะไร รู้แค่ว่าคงคล้ายๆ กับการ์ดเกม Magic The Gathering ที่เราเล่นแค่นั้นเอง แต่หลังจากนั้นได้มาที่ร้าน Kinoko Card Game Shop ก็รู้ว่าจริงๆ แล้วมีตัวบอร์ดเกม ตัว Tabletop ทำให้เกิดความสนใจอยากจะทำความรู้จักกับมันดู
ไปร์ท : ส่วนของพี่เริ่มที่เกมอื่นมาก่อน เป็น TRPG เหมือนกัน ซึ่งก็คือ Pathfinder หรือที่รู้จักกันในชื่อ D&D 3.0 โดยคนที่ชวนเล่นเป็นเพื่อนสมัยประถมฯ-มัธยมฯ ในช่วงปี 2013 ก่อนที่จะเริ่มกลับมาเล่น D&D ใน Edition 5.0 (เวอร์ชันปัจจุบัน) ช่วงปี 2018 ตอนที่เปิดร้าน Vigilant Boardgame Cafe ครั้งแรก
ประวัติความเป็นมาและนิยามของ D&D
พลอย : ประวัติความเป็นมาของ D&D ย้อนกลับไปช่วงปี 1960 เป็นช่วงที่แฟนตาซีเริ่มบูมเริ่มฮอตฮิตขึ้นมา ช่วงนั้นมี The Lord of the Rings ที่ออกมาในปี 1954 เป็นช่วงที่ High Fantasy บูมขึ้นมาก มีการจำกัดความเกี่ยวกับเผ่าต่างๆ ขึ้นมาในแบบที่ต่างไปจากเดิม เช่น เอลฟ์เป็นเผ่าสูงส่งสวยงาม แต่ตำนานเดิมเอลฟ์เป็นภูตตัวจิ๋วที่ชอบก่อกวนผู้คน
ไปร์ท : เรียกอีกอย่างว่าเป็นการกล่าวถึงเผ่าต่างๆ ในรูปแบบของ ‘Sword and Sorcery’ ที่ดึงให้ผู้คนอยากไปทำความรู้จักมันใหม่อีกครั้ง
พลอย : ตอนนั้นเอง คนที่ปกติเล่นวอร์เกมบางส่วนก็ย้ายมาเล่นเกมสวมบทบาท ซึ่งในยุคนั้นมีเกมสวมบทบาทแฟนตาซีเกิดขึ้นมากมาย จนกระทั่งปี 1974 Gary Gygax และ Dave Arneson ได้สร้าง Dungeons & Dragons ขึ้นมา โดยให้เราได้สร้างตัวละครของตัวเอง แทนที่จะสร้างทั้งกองทัพและควบคุมทั้งกองทัพแบบวอร์เกม แต่เปลี่ยนเป็นสร้างตัวละครและควบคุมตัวละครตัวนั้นในแบบที่เราอยากเป็น
ไปร์ท : ทีนี้พี่มองว่ามันเริ่มต้นจากการละเล่นที่เรียกว่า Make Believe เป็นการสวมบทบาทสมมุติ เมื่อ Gary Gygax และ Dave Arneson คิด D&D ขึ้นมาในปี 1974 มันก็มีการพัฒนาเพิ่มในส่วนของกฎเกณฑ์และข้อจำกัดของตัวผู้เล่นให้อยู่ในรูปแบบของการเล่นเกมเพิ่มขึ้นจากเดิม และผลักดันให้เล่นกันได้เป็นกลุ่มภายใต้ข้อจำกัด ความท้าทาย และเรื่องราวที่ Storyteller หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า Dungeon Master (DM) คิดและบรรยายขึ้น
หนึ่ง : D&D เป็นส่วนที่เข้ามาเติมเต็มจินตนาการตอนเด็กของเรา เป็นพื้นที่ที่เราสามารถเป็นอะไรก็ได้ในโลกแฟนตาซี ซึ่งต้องบอกว่าถ้าเป็นที่อื่นเราอาจจะไม่ได้อินกับมันขนาดนั้น แต่ D&D ถูกออกแบบมาทำให้เรารู้สึกว่าเราสามารถเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นจอมเวท จอมยุทธ นักต่อสู้ หรือว่า Paladin อะไรก็แล้วแต่ มันเป็นพื้นที่ที่เราได้ปลดปล่อยจินตนาการอย่างไร้ขอบเขต
เสน่ห์และมนตร์ขลังของ D&D
พลอย : ปีนี้เป็นปีครบรอบ 50 ปี ของ D&D ที่มันฮิตและอยู่มาอย่างยาวนานเพราะระบบเกมถูกปรับปรุงมาตลอด ซึ่งปัจจุบัน D&D ได้เดินทางมาถึง 5th Edition แล้ว และยังมีการพัฒนารูปแบบการเล่นอย่างต่อเนื่อง
โดยในปีนี้ออก Revised 5th Edition 2024 มาด้วย ประกอบกับธีมหลักที่เป็นสไตล์ High Fantasy กลิ่นอายแบบตะวันตกยุคกลาง รวมถึงตัวเกมยังแตกแขนงออกไปให้มีรูปแบบของแฟนตาซีหลายๆ รูปแบบ เช่น Dark Fantasy ที่ใส่ความหดหู่ เนื้อเรื่องหนักๆ ลงไป ทำให้มีความหลากหลายสูง อีกทั้งยังมีหนังสือใหม่ๆ ออกมาทุกปี
อย่างปีล่าสุดหนังสือออกมา 5 เล่มเป็นอย่างต่ำ แต่ขณะเดียวกัน D&D ไม่ได้ซับซ้อนซะจนเล่นไม่ได้ เกมบางเกมการสร้างตัวละครมีความซับซ้อนมาก ใช้เวลาเยอะ แต่ D&D ยังมีช่วงที่สร้างตัวละครไม่ยากมาก เราสามารถเติบโตไปพร้อมกับตัวละคร เนื้อหาก็ไม่บางเกินจนขาดมิติของการเล่น เราอยู่กับมันได้เป็นหลายๆ ปี ยังมีข่าวที่ฝรั่งเล่นเกมนี้มา 30 ปี เล่นตั้งแต่ลูกสาวเกิดจนโต
เนื้อเรื่องของ D&D
ไปร์ท : เนื้อเรื่องโดยย่อของ D&D เริ่มต้นด้วยการอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า Greyhawk เสมือนว่าเราเริ่มต้นเดินทางไป ได้ผจญภัย ได้ต่อสู้ ไปเจอสถานที่ต่างๆ ค้นพบเผ่าต่างๆ เริ่มมีตัวร้ายหลากหลายแบบที่ค่อยๆ โผล่ขึ้นมา ส่งผลให้โลกเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางต่างๆ และดำเนินผ่านสืบเนื่องมาเรื่อยๆ มันจะเป็นการผจญภัยแบบนี้ ตามแต่ว่า DM ณ ตอนนั้นเขากำลังมีคัลเจอร์ไหน หรืออะไรกำลังเป็นกระแสขึ้นมา
ใน D&D หลายต่อหลายช่วงเราจะเห็นว่าเริ่มต้นจากการมีอยู่ของ The Lord of the Rings จึงทำให้มีอิทธิพลของความเป็น High Fantasy เข้ามา หรือบางช่วงที่กระแสของ Heavy Metal ร็อกกำลังมา ก็มีแคมเปญชื่อ Descent into Avernus ที่วัฏจักรของเรื่องราวจะเป็นประมาณว่า เหตุผลของตัวร้ายในแต่ละช่วงแต่ละตอนจะแตกต่างกันไป เช่น ฉันก็แค่ Tyrant หรือเคยเป็นคนดีมาก่อน พ่ายแพ้เป็น Downfall และก็ค่อยๆ กลายเป็นผู้ร้าย หรือเสียคนรักไปแล้วจะกลับไปช่วงชิงเวลาคืนมา แต่ตัวร้ายที่ฮอตที่สุดตั้งแต่สมัยนั้นเลยคือ Vecna ซึ่งถูกพูดถึงในซีรีส์ Stranger Things ด้วย
หนึ่ง : ให้มองว่าเหมือนคุณอ่านคอมิกของต่างประเทศ ของ DC หรือ Marvel มันเป็นอีเวนต์ที่แต่ละอีเวนต์จะมีตัวเอกตัวร้ายวนๆ ไป ซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องหรือไม่เกี่ยวเนื่องกันก็ได้ แต่คุณอยู่ในจักรวาลเดียวกัน เพียงแต่ว่าการดำเนินเรื่องหรืออีเวนต์สามารถแตกแขนงได้หลายอย่าง มันรวมกันก็ได้ หรือแยกย่อยเป็นอะไรก็แล้วแต่ที่ทางฝั่งของทีมงานเขาจัดทำมาให้ แต่สุดท้ายทุกอย่างมาอยู่ในโลกของ D&D ทั้งหมด ดังนั้นคุณจะไม่งง ต่อให้คุณไม่ได้เล่นเนื้อเรื่องตั้งแต่ Edition ที่ 1 คุณมาเล่น Edition ที่ 5 คุณก็สนุกกับมันได้
พลอย : อย่างที่คุณไปร์ทกล่าว เพราะ Vecna เองมีหนังสือของตัวเองเล่มหนึ่งเลย หรือแต่ละเมืองของโลก D&D ก็จะมีเมืองแยกๆ บางเล่มเขียนถึงตัวละครตัวนั้นอย่างเดียว บางเล่มเขียนเป็นชื่อเมือง เช่น เมืองนี้จะมีเนื้อเรื่องของเมืองนี้ บางเมืองมีสองเล่มต่อกัน บางเมืองเขียนเป็นอีเวนต์ว่าเราเข้าไปบาร์อันหนึ่งเสร็จแล้วก็มีเนื้อเรื่องที่มาจากบาร์นั้น รับเควสไปเรื่อยๆ
ไปร์ท : แก่นของมันคือการเดินทาง โดยปกติแล้วต่อให้มีหนังสือแคมเปญ เราอาจจะไม่ต้องจบตามที่แคมเปญเขียนก็ได้ มันแล้วแต่ผู้เล่น แล้วแต่ DM หรือเราอาจจะทวิสต์เป็นแบบไหนก็สุดแต่จินตนาการของคุณ
หนึ่ง : เพราะจริงๆ แล้วการเล่น D&D ฉากจบมันอยู่ที่ว่าคุณตัดสินใจอะไรเท่านั้นเอง เพราะคนที่เขียนเนื้อเรื่องมาเขาก็คิดไม่ถึงว่าผู้เล่นจะใช้วิธีนั้นวิธีนี้ในการจบ มันอยู่ที่จินตนาการ อยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์ของผู้เล่น
ไปร์ท : มันเป็นเกมของ Consequence ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นเสน่ห์อีกอย่าง ถ้าเราเคยเล่นเกมที่เนื้อเรื่องมาถึงจุดหนึ่งแล้ว แล้วตอนจบเราตั้งคำถามกับมันว่า ทำไมต้องจบแบบนี้ D&D หรือ TRPG อื่นๆ อาจจะจบได้มีรายละเอียดที่แตกต่าง หรือเป็นไปตามที่เราพยายามกันมากกว่า สุดท้ายจะออกมาเป็นสิ่งที่น่าจดจำของคนทั้งกลุ่มตอนนั้น
วิธีการเล่น D&D
ไปร์ท : ถ้าตามชื่อเลยมันอยู่ในหมวดของ TRPG คือเราเล่นเกมโดยสวมบทบาทเป็นตัวละครที่เราสร้างขึ้น ผ่านการที่เรามีผู้เล่นหนึ่งคนเป็น DM หรือเป็น Storyteller คอยเล่าเรื่องราวของเกมว่า ในตอนนี้เกมกำลังเกิดอะไรอยู่ อะไรอยู่ในฉากบ้าง ใครอยู่ตรงนั้นบ้าง ใครชื่ออะไร หรือผู้เล่นสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อเป็นการให้เวลาแต่ละคนว่าอยากจะทำอะไร
และเมื่อผู้เล่นสวมบทบาทต่อมาจากที่ DM เล่าเรื่อง DM จะมีหน้าที่รับไม้ต่อว่า สิ่งที่ผู้เล่นคนนั้นทำมันมีสิ่งไหนเกิดขึ้นตามมา อีกคนบอกว่าอยากทำสิ่งสิ่งหนึ่ง สิ่งนั้นเกิดอะไรขึ้น อาจจะทำให้เพื่อนในปาร์ตี้ต่อสู้ได้ง่ายขึ้น อีกคนอาจบอกว่าเห็นเพื่อนกำลังเพลี่ยงพล้ำก็เข้าไปช่วย ในลักษณะนี้มันค่อนข้างอิสระ และ DM จะเป็นคนคอยตอบสนองต่อเรื่องราวต่างๆ และพาให้เนื้อเรื่องดำเนินไปเรื่อยๆ
หนึ่ง : แต่มันจะมีเรื่องของกฎกติกาเงื่อนไขต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ครอบการกระทำของผู้เล่นอยู่ ผู้เล่นจะกระทำใดๆ ก็แล้วแต่ มันจะมีเรื่องของการทำได้หรือไม่ เพราะอะไร ด้วยการทอยลูกเต๋า และนี่ก็เป็นเสน่ห์อีก เพราะลูกเต๋าเหมือนเป็นตัวกำหนดชะตาของคุณว่าสิ่งที่ทำสำเร็จไหม หรือคุณสามารถทำได้ไหม
ไปร์ท : เหมือนเป็นข้อจำกัดที่อิงกับตัวละครที่ผู้เล่นสร้าง เพราะถ้าผู้เล่นพูดมาแบบนี้แล้วดันทำสำเร็จทุกอย่างเลย เกมก็คงไม่น่าจดจำ
พลอย : และแต่ละตัวละครจะมีค่าพลังต่างกัน สมมุติว่าเราทอยลูกเต๋านี้ไม่ดี แต่เขาดันมีความถนัดทางด้านนี้สูง ก็จะบวกพลังด้านนี้มาให้
หนึ่ง : แต่เหนือสิ่งอื่นใดเลย ถ้าคุณเป็นผู้เล่นใหม่ คุณไม่ต้องกลัวเลยว่าคุณจะเล่นผิด เพราะถ้าคุณเล่นกับ DM เขาจะคอยบอกหรือไกด์คุณว่า สิ่งที่คุณทำมันทำได้ไหม อยู่ในกฎของเกมหรือเปล่า คุณสามารถเล่นได้เต็มที่เลย ซึ่งสุดท้ายมันจะมีเรื่องเงื่อนไขที่เข้ามาครอบอีกทีว่าคุณจะทำได้ไหม
พอรู้ว่าทำไม่ได้ คุณจะค่อยๆ เรียนรู้มันไป จริงๆ ต้องบอกว่ากฎกติกาการเล่นของ D&D มันเฟรนด์ลีกับทุกคนมาก ผู้เล่นไม่จำเป็นต้องรู้ลึกขนาดนั้น คุณรู้แค่ตัวคุณก็พอว่าตัวคุณทำอะไรได้ มีความสามารถอะไร และที่เหลือเป็นหน้าที่ของ DM ที่เขาจะช่วยคุณ
อุปกรณ์การเล่น D&D
หนึ่ง : ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เขาเล่นกันไม่ได้มีฟิกเกอร์ ไม่ได้มีแผนที่อลังการ แต่พอเวลาผ่านมาคุณเล่นไปในระดับหนึ่ง สิ่งที่มาเติมเต็มจินตนาการของคุณได้ชัดขึ้นคงเป็นเรื่องของคาแรกเตอร์ รูปร่าง ฉากต่างๆ ซึ่งตามมาทีหลังได้ แต่ถามว่า D&D เริ่มต้นเล่นด้วยอะไร มีแค่ปากกา กระดาษ ลูกเต๋า จบ
ไปร์ท : อีกอย่างคือต้องมีจินตนาการ จินตนาการเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด บวกกับลูกเต๋าที่เป็นเหมือน Alignment ทำให้เกิดความสนุก เกิดความอลหม่าน มันเป็นเรื่องของการที่เมื่อเกิดความฉิบหายขึ้น พวกเราแก้ไขยังไง หรือเราต้องการจะทำสิ่งดีๆ แต่รู้ตัวว่าเราไม่เก่งสิ่งนั้น แต่มันพลันทำได้ ก็กลายเป็น Surprise Alignment ไป
ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเล่น D&D
พลอย : สำหรับพี่อย่างแรกเลยคือ ทำให้ได้เพื่อนใหม่เยอะแยะ เพราะวันแรกที่ Kinoko Card Game Shop หัดรัน เราจะมีลูกค้าที่บอกว่าอยากลอง จริงๆ พี่เคยลองรันในออนไลน์สมัยที่มีโควิด เพราะลูกค้าอยากเล่น เลยเสนอว่าเราเป็น DM ให้แล้วกัน ทุกวันนี้กลายเป็นเพื่อนสนิทกัน หรือบางคนชีวิตนี้ไม่เคยคุยกันมาก่อน พอมาเล่น D&D ก็คุยกันถูกคอ กลายเป็นเพื่อนกันเลย มันให้สังคม ให้เราได้เจอเพื่อนใหม่
ยิ่งสมัยนี้เด็กมักติดจอ พอได้มาลองเล่น เด็กจะได้คุยกับเพื่อน ได้เปิดโลกใหม่ๆ ได้รู้จักใช้จินตนาการ แล้วยิ่งในต่างประเทศเขามีงานวิจัยสำหรับเด็กที่เป็นออทิสติก หรือคนที่มีอาการป่วยเป็นจิตเวชว่า D&D หรือ TRPG ช่วยบำบัดได้ระดับหนึ่งด้วย
ไปร์ท : สำหรับพี่ ถ้าในฝั่งของผู้เล่นหรือ DM จะช่วยเรื่องอาการ Social Awkwardness การเข้าสังคมไม่เก่ง แบบที่เราแทบจะไม่รู้ตัวเลยว่าเราฝึกทักษะนี้อยู่ มันคือการได้สื่อสาร ไม่ว่าจะทั้งเป็นผู้เล่นหรือ DM เองก็ตาม ยิ่งการเป็น DM ที่พยายามสื่อสารให้ผู้เล่นเข้าใจว่าสิ่งที่เราบรรยายอยู่ตรงนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง มันเกิดอะไรต่อ อารมณ์เป็นยังไง ก็ช่วยให้ทักษะในการสื่อสารของคนที่เล่นอยู่ในโต๊ะนั้น ทั้งการฟัง การนึกภาพตาม การสื่อสารให้เข้าใจ ไปด้วยกันหมด
หนึ่ง : สำหรับพี่ D&D ครอบคลุมมาก นอกจากเรื่องสื่อสาร มันมีเรื่องของการคิดวิเคราะห์ เพราะเนื้อเรื่องของ D&D ค่อนข้างลุ่มลึก มีวิธีการจบหรือการตัดสินใจหลายรูปแบบที่รองรับไว้ ดังนั้นเมื่อคุณอยู่ใน D&D ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์เนื้อเรื่อง เบาะแสที่ DM ทิ้งไว้ให้ หรือตัวละครหรือมอนสเตอร์ที่เจอมันค่อนข้างสำคัญ เพราะคุณต้องมีความรอบรู้ก่อน แล้ววิเคราะห์ว่าตัวคุณทีมคุณมีจุดเด่นจุดด้อยอะไร จะสามารถผ่านวิกฤติตรงนั้นไปได้ยังไง
อีกเรื่องคือ การเล่นเป็นทีม ทำงานเป็นทีม เพราะต่อให้คุณเก่งแค่ไหนมันก็ค่อนข้างยากที่จะผ่านเนื้อเรื่องไปได้ สุดท้ายต้องมีความร่วมมือกัน เพราะ D&D ไม่ได้ออกแบบมาเล่นคนเดียว มันออกแบบมาเพื่อเล่นกับเพื่อน
ฐานผู้เล่นหน้าใหม่
พลอย : ใน 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ผู้เล่นในไทยก้าวกระโดดเลย เมื่อก่อนหน้าร้านเดือนหนึ่งมีจองครั้งหนึ่ง เดี๋ยวนี้ทุกสัปดาห์มีคนโทรมาจองหมดเลย เต็มทั้งเดือน
หนึ่ง : อย่างของพี่เคยมีน้องอายุ 6 ขวบมากับคุณแม่แล้วก็เล่นกันทั้งคู่ ดังนั้นผมคิดว่าช่วงสองปีมานี้ หลังจากที่ไปงาน Game Till Dawn หรืออีเวนต์อื่นๆ รู้สึกว่าคนเปิดใจเข้ามาลองเยอะขึ้น และค่าแรกเข้าพี่ว่ามันไม่แพงขนาดนั้น
หนังสือเล่มหนึ่ง 1,800 บาท ใช้ได้จนเกมเจ๊งไปเลย เพราะมันไม่ค่อยเปลี่ยน Edition หนึ่งอยู่เป็น 10 ปี ถ้าคุณอ่านจนครบหมด เนื้อเรื่องที่ใช้เล่นมันอาจเป็นเนื้อเรื่องจากคุณเองก็ได้ คุณอาจจะคิดมันขึ้นมาตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่จำเป็นต้องพึ่งหนังสือของ D&D ถ้าคุณไม่อยากเสพเนื้อเรื่องที่เป็น Official คุณก็เล่นกันเองกับเพื่อนได้
ไปร์ท : จริงๆ มีแค่ลูกเต๋า ปากกา กระดาษก็เพียงพอแล้ว มันเลยเท่ากับว่ากำแพงการเข้าถึงของค่าแรกเข้าแทบไม่มีเลย ถ้าสมมุติเป็นการเรียนรู้ เพื่อนๆ เล่นกันเอง ก็เกือบไม่ต้องจ่ายอะไร มีแค่เรื่องของหนังสือกฎอะไรต่างๆ ที่สตาร์ทตรงนั้น ที่เหลือเราก็สามารถเอนจอยกับจินตนาการได้ไม่มีที่สิ้นสุด
อนาคตที่อยากเห็นในวงการ D&D
พลอย : อยากให้มีผู้เล่นเยอะขึ้น แล้วก็หลักๆ อยากได้ DM เพิ่ม
ไปร์ท : การที่มี DM เพิ่ม จะทำให้พวกเราที่เป็น DM อยู่แล้วได้กลายเป็นผู้เล่นบ้าง
หนึ่ง : เพราะปกติรัน 4 – 6 ชั่วโมง พี่เองก็อยากเป็นผู้เล่นนะ พี่อยากสนุกบ้าง เพราะเอาตรงๆ DM จะมีบทบาทของเขา ซึ่งอาจไม่ได้ปล่อยจินตนาการอะไรมาก เพราะส่วนหนึ่งคุณต้องคอยควบคุมเกม
ไปร์ท : อยากเห็นการประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้รับมาจากในเกม เช่น พ่อแม่ส่งผ่านเรื่องราวของตัวเอง เล่าให้ลูกชายลูกสาวหรือเพื่อนในกลุ่มของเขาฟังถึงประสบการณ์ที่เขาผ่านมาในชีวิต โดยเล่าออกมาในลักษณะของการเล่นเกมแบบนี้ ความน่าสนใจน่าจะต่างจากตอนเล่าให้ฟังเฉยๆ
หนึ่ง : ขอเสริมเรื่องนี้ พอเป็น DM แล้วผมไม่คาดหวังให้ผู้เล่นทำตามที่เราคิดนะ หลายๆ อย่างเรารู้สึกว่าเราปล่อยให้เขาทำได้เลย แล้วเราค่อยบอกเขาว่าอันนี้ควรปรับ อันนี้ควรแก้ เรามองการกระทำของคุณเป็นอีกแบบ จากที่แต่ก่อนเราเคยคาดหวังว่าเขาจะต้องทำได้ตามที่เราคาดหวังไว้สัก 70 เปอร์เซ็นต์ พอเป็น DM เจอคนหลายๆ คนแล้วรู้สึกว่า ต่อให้เราเตรียมเนื้อเรื่องมา แต่ปรากฏว่าพอลงไปเล่นจริง ผู้เล่นไม่ได้เล่นตามเราเลยก็โอเค นั่นคือความสนุกเขา
พอนำมาปรับในชีวิตจริง เราก็เป็นคนที่ปล่อยวางได้มากขึ้น และพี่อยากให้มีชิงแชมป์โลกสักครั้ง เลือกมาสักเนื้อเรื่อง กลุ่มปาร์ตี้ กลุ่มเพื่อนมาเล่นด้วยกันเข้มๆ เลย แล้วคุณสามารถจบด้วยความประทับใจ การให้คะแนนจากกรรมการ ผู้เล่น หรือแม้แต่การ กำจัดบอสได้ เคลียร์เนื้อเรื่องลับได้ เพราะอยากเห็นผู้เล่นขั้นสูง อยากเห็นอินเนอร์เขาเต็มๆ เวลาเขาเล่นผ่าน พวกนี้น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ได้อีกเยอะ กึ่งๆโชว์ว่าผู้เล่นมืออาชีพสนุกขนาดไหน
สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณพี่ๆ ทั้งสามท่านที่สละเวลามาให้ความรู้ในครั้งนี้ ใครที่สนใจอยากลองเล่น Dungeons & Dragons เพียงแค่พกจินตนาการติดตัวไปทดลองเล่นที่ Kinoko Card Game Shop, Vigilant Gaming Shelter, Battlefield Bangkok ได้เลย