ฝ่าวิกฤตน้ำน้อย​ วิธีรับมือภัยแล้ง​ 63 - Urban Creature

น้ำแล้งยันน้ำเค็ม คือผลพวงที่มาคู่กันอยู่เสมอ นับว่าเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่อาจหนีได้ ซึ่งหากมีการจัดการระบบน้ำอย่างจริงจังก็คงจะหลุดพ้นบ่วงนี้ไปโดยไม่ยาก แต่มักจะกระตุกบ่อยตรงคำว่างบประมาณ… เอาล่ะ ! ในเมื่อยังไม่มีทางแก้ไขปัญหาน้ำประปากร่อย รวมถึงแม่น้ำลำคลองเค็มอย่างยั่งยืน แถมประชาชนและเกษตรกรยังต้องตั้งท่ารับแล้วเฝ้าระวังอยู่ไม่ห่าง เราเลยจะพามาทำความเข้าใจถึงจุดเริ่มต้นของความเค็มความกร่อย วิธีรับมือที่พอจะทำได้ รวมถึงทางออกที่อยากให้เกิดขึ้นจริง

‘น้ำเค็ม’ มีเหตุผล 

เรื่องนี้มีที่มา… น้ำเค็มที่เกิดจากน้ำทะเลหนุน เป็นสิ่งที่วนเวียนตามเวลาเสมอ แต่มักจะได้น้ำจืดมาเป็นผู้ช่วยคอยผลักดันน้ำทะเลไม่ให้เข้ามาใกล้พื้นที่ต่างๆ ยิ่งเป็นโซนของชาวสวนชาวไร่ยิ่งต้องระวังเป็นอย่างมาก แต่ปีนี้เคราะห์ซ้ำกรรมซัด กลับเกิดภัยแล้งและน้ำทะเลหนุนสูงมากกว่าปกติ ทำให้หลายพื้นที่เต็มไปด้วยน้ำเค็ม น้ำประปาจึงมีค่าความเค็มสูงขึ้นเล็กน้อย และมีรสชาติกร่อย 

ส่วนน้ำเค็มนั้นไม่ได้อยู่กับคนไทยตลอดไป อาจจะต้องตั้งท่ารอให้น้ำจืดมาช่วย หรือรอให้ฝนตกแต่คงอีกหลายเดือน และน้ำเค็มก็มีขึ้นลงตามปฎิทินดวงจันทร์ จะเค็มมากหรือน้อยคงแล้วแต่วัน อย่างไรก็ดีตอนนี้บางจุดถือว่าเป็นผู้ประสบภัย จำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือและปรับตัวกับภัยแล้งครั้งนี้ 

คนทั่วไปได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

เริ่มจากประชาชนตาดำๆ อย่างเราก่อน เมื่อน้ำเค็มกระทบเข้ามา น้ำประปาจึงมีค่าความเค็มสูงขึ้นแต่ไม่มากอย่างที่คิด โดยปัจจุบันโซเดียมที่แทรกซึมอยู่ในน้ำประปามีค่าประมาณ 100–150 มิลลิกรัมต่อลิตร  ซึ่งไม่เกินความเค็มในรูปคลอไรด์ 250 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือเทียบกับโซเดียม 200 มิลลิกรัมต่อลิตร และหากเกินค่าดังกล่าวจะสูงกว่าคำแนะนำที่ขององค์การอนามัยโลกกำหนด

สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี บางจุดจะเจอน้ำประปารสชาติกร่อย ซึ่งเป็นรสชาติที่ไม่น่าดื่มสักเท่าไหร่ แต่ทางแพทย์ได้ออกมายืนยันแล้วว่า คนปกติที่ไม่มีอาการป่วยแทรกซ้อน สามารถดื่มได้ไม่มีอันตรายแน่นอน แต่คนกลุ่มเสี่ยงมีโรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็น โรคไต โรคเบาหวาน โรคทางสมอง ผู้สูงอายุ หรือเด็กเล็กๆ ไม่ควรจะดื่ม รวมถึงหากบางบ้านใช้น้ำประปาปรุงอาหาร ก็ควรเบามือในการเติมเครื่องปรุงรสให้น้อยลงด้วย

สามารถตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาแบบเรียลไทม์ได้ที่  http://twqonline.mwa.co.th

เกษตรกรอยู่อย่างไร  

ตรงนี้ที่เป็นประเด็นหลัก นอกจากเราต้องส่งใจไปที่ไฟป่าแล้ว ตลอดระยะเวลา 5 เดือนที่ฝนไม่ตกนั้น เราต้องส่งใจไปให้พี่น้องชาวเกษตรกรด้วยเช่นกัน จากการที่ได้คุยกับ ‘อาแอ้ว-นายสัมพันธ์ มีบรรจง’​ เกษตรกรภาคกลางที่บอกกับเราว่า

“หากจะรอแต่ภาครัฐนั้นคงไม่ได้ ชาวสวนต้องมีการเตรียมตัวและวางแผนไว้ก่อนแล้ว”

ถึงจะรู้ว่า ต้องรอให้มีน้ำจืดปล่อยมาดันน้ำเค็มอยู่ดี 

ตอนนี้ชาวบ้านจึงทำได้เพียงดูการตรวจวัดความเค็มของน้ำ หากน้ำเค็มไม่เกิน 1.2 PTT (หน่วยวัดน้ำเค็ม) สามารถเปิดน้ำเข้าสวนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และหากวันไหนน้ำเค็มก็ปิดเท่านั้นเอง แต่เพราะตอนนี้น้ำบ้านเราแล้ง ทำให้ไม่มีน้ำจืดมาดันน้ำทะเล ดังนั้นก่อนรดน้ำต้นไม้ทุกครั้ง ต้องเจือน้ำเค็มกับน้ำจืดเพื่อใช้รดน้ำไปก่อน ส่วนที่หลายคนกังวลว่าพืชผักผลไม้นั้นๆ จะเค็มหรือไม่ ? คำตอบคือ น้ำเค็มไม่ถูกกับพืชผลบางชนิด หากนำไปรดจะทำให้ใบไหม้และตายได้ ผลผลิตเลยไม่ถึงมือผู้กินอย่างแน่นอน 

รัฐบาลแก้ไข VS เกษตรกรช่วยเหลือตัวเองอย่างไร

หากใครได้ติดตามข่าวสารกันมาบ้าง คงจะได้ยินที่ทางรัฐบาลออกมาประกาศวิธีแก้ไขปัญหา เช่น เรื่องน้ำประปากร่อย อาจใช้วิธีการต้มหรือปิดน้ำคนละ 1 นาที เพื่อประหยัดน้ำมากขึ้น แต่จากการนำวิธีนี้ไปคุยกับเกษตรกร ได้คำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า 

“เป็นไปไม่ได้ นี่คือการแก้ปัญหาแบบไม่รู้สาเหตุ” 

แน่นอนล่ะว่าชาวบ้านต้องรอน้ำจืดให้มีตามธรรมชาติ หรือรอฝนหลวง แต่มีบางอย่างที่ชาวบ้านไม่ต้องรอก็ทำได้ 

สิ่งที่ชาวสวนจะเตรียมตัวได้ก่อนหน้าแล้งก็คือ การกักเก็บน้ำฝนในโอ่งหรือแทงค์น้ำ เปลี่ยนจากการรดน้ำด้วยสายยางเป็นระบบน้ำหยด ที่จะช่วยประหยัดน้ำมากขึ้น หรือคลุมหน้าดินโดยการปลูกหญ้าไปคลุมส่วนที่เคยรดน้ำแล้ว ให้มันระเหยน้ำออกมาให้มาก เพื่อที่การรดน้ำครั้งถัดไปจะใช้น้ำน้อยลง หากเกษตรกรคนไหนทำนา ช่วงนี้ อาจจะต้องละมือ หาพืชทดแทน จำพวกพืชระยะสั้น และใช้น้ำน้อย 

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.