จากงานวิจัยสองทศวรรษสกัดเป็น 6 ปัจจัยที่ขาดไม่ได้ของ “งานในฝัน” - Urban Creature

อายุไขเฉลี่ยของมนุษย์คือ 750,000 ชั่วโมง
เราหมดเวลาไปกับในวัยเด็กราวๆ 175,000 ชั่วโมง
ใช้ไปกับการนอน การกิน การออกกำลังกาย
พูดคุยกับเพื่อนมนุษย์ไปราวๆ 325,000 ชั่วโมง
สุดท้ายเราเหลือเวลาชีวิตแค่ 250,000 ชั่วโมง
ในการใช้ประโยชน์และทำกิจกรรมที่มีความหมายต่อชีวิต
แต่ช่วงเวลาล้ำค่าดังกล่าวก็ถูกใช้ไปกับเรื่องการงานอาชีพมากถึง 20% – 60%

ทุกคนรู้ดีว่าการทำงานเป็นเรื่องที่สำคัญขนาดไหน
ในสมัยที่เรายังเป็นเด็กเราอาจจะวาดฝันถึงอาชีพที่หากเราโตขึ้นแล้วอยากจะเป็น หรือพอโตขึ้นมาอีกหน่อยซักช่วงวัยรุ่น วัยมัธยมก็เริ่มต้องคิดถึงคณะ หรือมหาวิทยาลัยว่า เราจะเรียนต่อสาขาไหนดี ยิ่งกว่านั้นต่อให้เราเรียนจบแล้วก็ตาม แต่ก็มีอีกหลายๆ คนอีกเช่นกันที่เลือก ‘เปลี่ยนสาย’ ไปทำงานอย่างอื่น

คำถามคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ‘งานในฝัน’ หรือ ‘งานที่ดี’ นั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร ?

และปัจจัยทั้ง 6 ข้อต่อไปนี้ ซึ่งอ้างอิงจากงานวิจัยกว่า 60 ชิ้นที่ถูกทำขึ้นกว่า 2 ทศวรรษ ที่ผ่านมา คือ ‘ส่วนผสม’ ดังกล่าว ที่ยิ่งหากเราทำให้มันเข้าไปอยู่ในเนื้องานที่เราทำได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เราทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น

1. | งานที่ทำแล้วสนุก (Work that’s engaging)

ข้อนี้สำคัญมากเลยนะครับ งานที่ทำให้เรารู้สึกว่าทำแล้วมันลื่นไหล งานที่ทำแล้วรู้สึกสนุก โดยจะต้องมีองค์ประกอบดังนี้

1.1) อิสระ : ไม่ได้ถูกกำหนดชัดเจนว่าจะหันซ้ายหรือขวา แต่เรามีอิสระที่จะได้ออกแบบเองว่า เราจะทำด้วยวิธีการหรือรูปแบบไหน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของงานนั้นๆ มากกว่าการถูกสั่งชัดเจนตายตัว

1.2) จุดเริ่มจุดจบชัดเจน: ลองนึกดูว่าถ้างานที่เราทำมันไหลเข้ามาเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุดหย่อนเลย เราจะขาดสิ่งที่ เรียกว่า sense of achievement หรือความฟินว่า ฉันทำมันเสร็จไปอีกงานแล้วนะ นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึง ควรแบ่งงานชิ้นใหญ่ออกเป็นชิ้นย่อยแล้วค่อยๆ จัดการมันไปทีละส่วนจะช่วยเพิ่มกำลังใจในการทำงานนั้นมากยิ่งขึ้น

1.3) ไม่จำเจ ทว่าหลายหลาก : ข้อนี้เป็นเรื่องปกติมากๆ เพราะถึงแม้แต่งานที่สนุกที่สุดแต่หากทำเหมือนเดิมทุกวันความท้าทายจะค่อยๆลดลงจนทำให้เรารู้สึกเบื่อได้

1.4) ได้รับ Feedback : นี่คือเหตุผลที่นักเขียนหลายๆ คนชอบไปแจกลายเซ็นที่งานหนังสือ การได้รู้ว่าเรา “ทำงานได้ดีแค่ไหน” เกิดผลลัพธ์ต่อคนอื่นอย่างไรจะช่วย motivate เราให้ทำงานได้อย่างสนุกมากขึ้น

2. | งานที่ทำแล้วได้ช่วยเหลือผู้คน (Work that helps others)

ถ้างานที่สนุกก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เราแฮปปี้กับงานใช่ไหมครับ

แต่ผลการศึกษา ออกมากระโดดเตะก้านคอแล้วบอกอีกอย่างหนึ่งเลยครับ อาชีพที่ติดอันดับงานที่ทำแล้วรู้สึกว่างานนั้นมีความหมายหรือมีคุณค่ากลับเป็นงานที่หนักหนาเสียด้วยซ้ำ เช่น พยาบาล หมอผ่าตัด พนักงานดับเพลิง งานพวกนี้ ล้วนมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือเป็นงานที่ได้ใกล้ชิดทางตรงกับคนที่ได้รับประโยชน์จากงานของเรา

ผมเคยอ่านเจอในบทสัมภาษณ์ในเพจ HUMAN OF BANGKOK เล่าถึงคุณหมอที่ตอนแรกไม่ได้มี passion ในวิชาชีพแต่มาเรียนเพราะคะแนนถึงและที่บ้านก็สนับสนุน แต่เรื่องราวก็พลิกผันหลังจากที่เรียบจบ แล้วได้ทำงานรักษาคนไข้จริงๆ ได้เห็นสีหน้าแววตาญาติๆ ของคนไข้เวลาที่ได้ช่วยเหลือชีวิตของใครหลายคนที่หายป่วยไข้เพราะเขาทำให้เขากลายมาเป็นคนที่มุ่งมั่นเรียนต่อเพิ่มเติมเพื่อมาทำงานรักษาได้ดีขึ้น

นั่นก็เพราะหลายๆ ครั้ง passion ก็เป็นสิ่งที่ตามมาที่หลัง เมื่อเราเริ่มที่จะเห็นคุณค่าในงานที่เราทำ

แม้ว่างานที่เราทำอยู่อาจจะไม่ได้เห็นผล “ทางตรง” กับผู้อื่น แต่เราสามารถที่จะ “ระลึก” ได้ว่างานที่เราทำอยู่นั้น มันช่วยให้ชีวิตคนอื่นดีขึ้นอย่างไรได้บ้าง อย่างกรณีที่เป็นนักเขียน ภาพที่เราเห็นอาจจะไม่ได้ชัดเจนว่าส่งผลเปลี่ยนชีวิตคนได้ในทันที แต่เราก็สามารถเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำว่ามันเป็นการถ่ายทอดความรู้ ความงาม ความจริง และแรงบันดาลใจที่อาจไปสะกิดใจผู้อ่านบางคน ในช่วงจังหวะเวลาใดเวลาหนึ่งในชีวิตให้พลิกกลับเป็นดีมากขึ้นหรือเอาไปต่อยอดสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคมต่อไปได้หลายๆ คน

3. | งานที่เราถนัดที่จะทำ (Work you’re good at)

หากให้เลือกงานที่เรารัก หรือ งานที่เราถนัด คุณจะเลือกอะไร ?
นี่คือคำถามที่ดูเหมือนง่าย… แต่ตอบไม่ง่ายเลยทีเดียว
หากให้ยกมือตอบในห้องประชุมก็คงออกเสียงกันไปคนละทิศคนละทางเลยทีเดียว
งานวิจัยนี้ ไม่ปฎิเสธว่าความรักหรือ passion เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราแฮปปี้กับงานมากขึ้นก็จริง แต่เราก็ไม่ควรละเลยเรื่องการคิดถึงความถนัดด้วยโดยมีเหตุผลหลักๆ สองข้อคือ

ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าคนเราจะสร้างผลงานได้ดีที่สุด… หากเราทำงานที่ตรงกับความถนัดและจุดแข็งของเรา เราจะมีอำนาจในการต่อรองเพื่อให้ได้ทำงานในสภาวะที่เรา “งอกงาม” มากที่สุด เช่น ชิ้นงานที่สนุก ท้าทาย ได้รับค่าจ้างที่ยุติธรรม มีคนให้คุณค่ากับผลงานของเรา ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ล้วนมีรากฐานมาจากการทำสิ่งที่เราถนัด

ถึงแม้จะแนะนำให้เราเลือกทำงานที่เราถนัด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้เราทำแต่สิ่งที่เราเก่งอยู่แล้วโดยไม่เปิดพื้นที่ให้กับการ “ทดลอง” ทำสิ่งใหม่ๆบ้างเลย หลายๆครั้งการได้ออกจาก comfort zone เพื่อไปอยู่ในพื้นที่ที่เราไม่คุ้นเคยอาจทำให้เราได้ค้นพบความสามารถใหม่ก็เป็นได้ เช่นนั้นแล้วเราควรจะมองไปที่ “ศักยภาพในการพัฒนา” มากกว่าความเก่งในปัจจุบันเพียงอย่างเดียว

ลองคิดดูว่าถ้าให้ Michael Jordan สมัยหนุ่มที่ไม่เคยแตะลูกบาสมาก่อนเลยชู๊ตบาสให้ดูแล้วตัดสินว่าบาสไม่ใช่สิ่งที่เขาถนัดมันจะน่าตลกแค่ไหน ใจความสำคัญจึงเป็นการ “บาลานซ์” ในการใช้สิ่งที่เก่งอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะที่ก็ยังคงรักษาพื้นที่ส่วนเล็กๆ ในการเก็บไว้ทดลองทำสิ่งที่ไม่คุ้นเคยเพื่อค้นหาความสามารถใหม่ๆ ที่เรายังไม่ค้นพบ

4. | งานที่มีเพื่อนร่วมงานที่ดีคอยสนับสนุน (Work with supportive colleagues)

ขาดไม่ได้เลยครับข้อนี้ เนื่องจากว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม และงานส่วนใหญ่ก็เป็นงานที่ไม่สามารถทำคนเดียวได้ งานวิจัยบอกเราว่าอาจจะไม่จำเป็นว่าเราต้องมีเพื่อนเยอะแยะมากมาย แต่ขอให้เรามี “เพียงพอเท่าที่ควรมี” ที่เป็นบุคคลที่ช่วยเรา ซัพพอร์ทเรา ร่วมหัวจมท้ายไปกับเราเมื่อพบเจอปัญหาในการทำงานได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านี้จะต้องเป็นเพื่อนแสนดีที่เข้าข้างกับทุกการกระทำหรือความคิดเห็นของเราทุกอย่าง เพราะในการทำงานนั้น feedback เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

ใช่ว่าเราต้องการคนที่เห็นด้วยเออออห่อหมกไปกับเราทุกอย่าง เพราะในการทำงานนั้น feedback เป็นสิ่งที่สำคัญมาก คนที่สามารถติ วิจารณ์ ออกความคิดเห็นในงานที่เราอย่างจริงใจและตรงไปตรงมาก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่ากับเราอย่างสูงเช่นกัน และตัวเราก็ต้องฝึกใจกว้างให้มากพอที่จะรับ feedback เหล่านี้ด้วยนะครับ อีกอย่างก็คือต้องมีความสามารถในการกลั่นกรองความคิดเห็นที่ไม่สร้างสรรค์ออกจาก ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ให้ได้ (constructive comment)

5. | งานที่เราเอามันได้อยู่หมัด (Lack of major negatives)

ทั้งหมดข้างบนทุกข้อจะหมดความหมายไปทันทีถ้าเราเจอกับเสี้ยนหนามที่มาทิ่มแทงให้เรารู้สึกเจ็บช้ำไม่ว่าจะเป็น

– การเดินทางไปทำงานไกลๆ
– เงินเดือนไม่แฟร์กับความสามารถ
– สังคมเพื่อนร่วมงานที่แย่
– เวลาการทำงานที่ยาวนาน
– อื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้สวัสดิภาพในการทำงานทั้งร่างกายและจิตใจ

วิธีที่ดีที่สุดในข้อนี้คือการ “ไม่ทนต่อปัญหา” หรือพูดง่ายๆ ว่าต้องเข้าจู่โจมปัญหานั้นโดยตรงแล้วให้รีบแก้ไขทันที ฝึกนิสัยในการเผชิญหน้ากับปัญหาหนักๆ เหล่านี้เช่น ถ้าเรารู้สึกว่างานที่เราทำต้องการสมาธิอย่างสูง แต่สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออานวย เราก็อาจจะเข้าไปปรึกษากับหัวหน้าตรงๆ ว่าสามารถปรับแก้ไขอะไรได้บ้าง อย่าทนกับอะไรที่ทำให้เราไม่มีความสุขกับการทำงานไปนานๆ

มีวลียอดฮิตหนึ่งที่ผมชอบมากๆ คือ

“it’s not your fault but it is your problem.”

นั่นคือความรับผิดชอบของคุณครับ ถึงแม้มันจะไม่ใช่ความผิดพลาดของคุณ แต่มันก็เป็นปัญหาของคุณเองครับ คุณอาจจะไม่ผิดเลยที่โดนเสี้ยนหนามเหล่านั้นทิ่มแทง แต่ถ้าคุณยัง “ทน” นั่นก็แสดงว่าคุณได้เลือกแล้วว่าจะไม่แก้ปัญหา และนั่นก็คงไม่มีใครช่วยอะไรคุณได้ครับ

6. | งานที่เข้ากันได้ดีกับชีวิตของคุณ (Work that fits with your life)

ด้วยความที่ชีวิตจริงของเราทุกคนอาจไม่ได้อยู่ในสภาวะที่สามารถกำหนดได้ทุกอย่าง และชีวิตก็ไม่ได้มีสูตรสำเร็จเหมือนกันทุกคน เรามีโจทย์และเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป

จำเป็นไหมว่า เนื้องานจะตอบโจทย์ทุกอย่างให้กับชีวิตเรา ทั้งตัวเงิน ความสนุก คุณค่า ความฝัน ความหมาย โอกาสต่างๆ คำตอบคือ เรื่องนี้ไม่มีคำตอบตายตัวครับ

ใจความหลักของข้อนี้ ก็คือทำอย่างไรให้งานกับไลฟ์สไตล์ด้านอื่นๆ ของชีวิตไปด้วยกันได้อย่างกลมกลืน เข้ากับนิสัยส่วนตัว เข้ากับคนรอบข้าง เข้ากับการใช้ชีวิตครับ เรื่องนี้ทุกคนต้องถามและตอบตัวเองว่างานนั้นคืออะไร

คุณอาจจะยอมทำงานเครียดๆ หนักแทบไม่ได้เจอหน้าลูกเมียมาห้าปี แต่ก็ทำ side project ที่กำลังจะกลายเป็นธุรกิจส่วนตัวที่รันตัวเองได้และเตรียมจะออกมาใช้เวลากับที่บ้านอย่างเต็มที่ในอนาคตอันใกล้

เมื่อเรารู้แล้วว่า อะไรบ้างที่จะทำให้เรามีความสุขในการทำงานมากขึ้น เราก็เริ่มที่จะสามารถปรับเปลี่ยนทีละเล็กทีละน้อยเพื่อให้มีส่วนประกอบเหล่านี้มากขึ้น เพราะสุดท้าย หากเราได้ทำงานมีความสุข ผลลัพธ์เหล่านั้นก็จะส่งผลให้คุณภาพของตัวงานออกมาได้ดีมากขึ้นนั่นเอง

ก่อนจะจากไปผู้เขียนอยากเล่าเรื่องราวที่น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้ฟังซักหนึ่งเรื่อง

ครั้งหนึ่งประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ไปที่สำนักงานใหญ่ของนาซ่าเป็นครั้งแรก ในขณะที่กำลังตื่นตาตื่นใจเดินทัวร์ไปตามสถานที่ต่างๆ เขาก็พบกับคนถูพื้นเดินสวนผ่านมา ก็เลยถามว่า “คุณทำอะไรอยู่ที่นี่หรือครับ” ชายพนักงานทำความสะอาดคนนั้นก็กล่าวตอบด้วยท่าทีปกติธรรมชาติว่า “กำลังช่วยส่งมนุษย์ชาติไปดวงจันทร์ครับ”

นี่คือสปริตของคนที่รักและเห็นคุณค่าในงานที่ทำ

เอาให้ถึงที่สุดแล้ว แม้แต่งานที่เรารู้สึกว่ามันสกปรก ไม่สนุก ซ้ำซากจำเจ แต่งานทุกงานล้วนมีประโยชน์และมีคุณค่าต่อคนอื่นๆ อย่างมหาศาล การระลึกไว้เสมอว่าคุณค่าของงานที่เราทำอยู่คืออะไร เราทำมันไปทำไม และมันช่วยให้โลกดีขึ้นอย่างไรบ้าง คือมุมมองที่ทุกคนสามารถที่จะมีได้

บางโอกาส บางจังหวะ บางเงื่อนไขของชีวิต
เราอาจไม่มีโอกาสที่จะเลือกงานที่เรารัก
แต่เราเลือกได้เสมอที่จะรักในสิ่งที่เราทำครับ


Source : https://80000hours.org/career-guide/job-satisfaction/

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.