ทำไมบางคนห้ามใจไม่ไหวจนเลือก ‘คบซ้อน’ - Urban Creature

เพราะหากขาดเธอก็คงเหงา และถ้าขาดเขาก็คงต้องเสียใจ บางคนจึงตัดสินใจแล้วว่าจะไม่เลือกใคร สิ่งที่เรียกว่า การคบซ้อน จึงเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ ที่แรกเริ่มอาจมีแค่เราสอง แต่พอเวลาผ่านไปสัก 1 ปี 2 ปี หรือแม้กระทั่ง 10 ปี ก็ตาม กลับมี บุคคลที่สาม เพิ่มเข้ามา

คนที่เป็นผู้คุมเกมในความสัมพันธ์ครั้งนี้ เริ่ม ‘สร้างโลกสองใบ’ วางแผนลับเพื่อคบซ้อน สับรางให้ผู้เล่นที่อยู่ในวงจรความรักไม่โคจรมาเจอกัน ทั้งที่ความจริงก็รู้ทั้งรู้อยู่แก่ใจว่าไม่ดี แต่คนบางกลุ่มก็ยังฮิต คบซ้อน


ผลสำรวจการนอกใจของคู่รักทั่วโลกปี 2016 โดยบริษัท ดูเร็กซ์ พบว่า ประเทศไทยครองแชมป์ เรื่องการนอกใจมากที่สุดในโลกด้วยคะแนน 51%


คัลเจอร์โบราณสร้างค่านิยมหลายผัวหลายเมีย

คบซ้อน

การคบซ้อน ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสังคมไทยแต่อย่างใด เพราะมีมาตั้งแต่สมัยเก่าก่อนที่ผู้ชายหนึ่งคนสามารถมีเมียได้หลายคนอย่างไม่ใช่เรื่องผิดแปลก เพราะมนุษย์ยังไม่มีความรู้ หรือเข้าใจการใช้ชีวิตเหมือนทุกวันนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดจึงเป็น ‘การผลิตคน’ เพื่อสร้างสังคมให้คงอยู่

และเพราะสังคมวางกรอบให้ชายเป็นใหญ่เหนือผู้หญิง สามารถออกไปทำงานนอกบ้าน หาเงินมาเลี้ยงดูคนในครอบครัว ในขณะที่ผู้หญิงต้องอยู่แต่ในบ้าน ปัด กวาด เช็ด ถู ทำกับข้าวไปตามประสา การได้ชื่อว่าเป็น “ช้างเท้าหน้า” จึงเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ที่ชายสามารถมีบ้านเล็กบ้านน้อยได้ นอกจากนี้ ยังมีค่านิยมในชนชั้นเจ้านายว่า การมีเมียหลายคนเป็นการบ่งบอกว่าตนอยู่ในสังคมชั้นสูง ทำให้ดูมีฐานะทางด้านเศรษฐกิจ และฐานะทางการเมือง

ย้อนกลับไปสมัยสุโขทัย ผู้ชายสามารถมีเมียหลายคน แต่ไม่สามารถคิดคบชู้กับเมียคนอื่น และผู้หญิงที่แต่งงานมีครอบครัวแล้วก็ไม่สามารถมีความสัมพันธ์ใหม่กับชายอื่นได้ เพราะเชื่อกันว่า หากใครละเมิดจะตกนรกอย่างที่ปรากฏในไตรภูมิพระร่วง

สมัยอยุธยา คือช่วงเวลาที่เห็น วัฒนธรรมผัวเดียวหลายเมีย ซึ่งส่งต่อมาสู่ ‘การคบซ้อน’ ได้ชัดเจนที่สุด เนื่องจากมีการเขียนกฎหมายรับรองให้ผู้ชายมีเมียหลายคนได้อย่างชอบธรรม ซึ่งปรากฎอยู่ใน “พระไอยการลักษณะผัวเมีย” กฎหมายลักษณะผัวเมียที่ตราขึ้นในปี พ.ศ. 1904 และใช้เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยในพระไอยการลักษณะผัวเมีย กำหนดประเภทของเมียไว้ 5 ประเภท

เมียพระราชทาน – เมียที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานเป็นบำเหน็จให้กับผู้ชายโดยไม่ต้องเอ่ยปากขอ

เมียอันทูลขอพระราชทาน – เมียที่ผู้ชายไปทูลขอกับกษัตริย์ มีศักดิ์รองลงมาจากเมียพระราชทาน

เมียกลางเมือง – เมียที่พ่อแม่ผู้ชายไปสู่ขอมาแต่งเข้าบ้านอย่างถูกต้องตามขนบประเพณี จึงเป็นเมียที่มีศักดิ์สูงสุดในบ้าน มีตำแหน่งเป็นท่านผู้หญิง หรือคุณหญิง

เมียกลางนอก – เมียที่เรียกว่า อนุภรรยา หรือสมัยนี้ก็คือเมียน้อยนั่นเอง ส่วนมากจะเป็นผู้หญิงที่มีหน้ามีตาในสังคม แล้วผู้ชายไปขอมาเลี้ยงเป็นอนุภรรยา

เมียกลางทาสี – เมียที่เกิดจากการไถ่ตัว หรือที่เรียกว่า ‘เมียทาส’ หรือบางทีอาจเป็นบ่าวในเรือนที่หน้าตาสะสวยถูกใจ ก็จะเลี้ยงดูให้ดี แต่ก็ยังคงต้องทำงานอยู่เหมือนเดิม แต่เบากว่าบ่าวทาสคนอื่นๆ

ถึงแม้วัฒนธรรมผัวเดียวหลายเมีย จะแข็งแกร่งมากในสมัยก่อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ชายทุกคนสามารถมีเมียหลายคนได้ เพราะคนที่สามารถทำได้นั้น จะต้องเป็นผู้มีอำนาจ มีฐานะทางการเงิน และสังคมที่ดี


อยากเก็บเธอเอาไว้ทั้งสองคน

จากวัฒนธรรมผัวเดียวหลายเมียในสมัยก่อน สู่ “การคบซ้อน” ในปัจจุบัน โดย การคบซ้อน เรียกเป็นภาษาเชิงสังคมศาสตร์ว่า Plural Marriage หรือ Polygamous Marriage และเพราะโลกที่หมุนเวียนเปลี่ยนผ่านทำให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิงมากขึ้น ผู้ที่สร้างโลกสองใบ ใจสองรักจึงเป็นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง


ผู้ชายที่แต่งงานกับผู้หญิงหลายคนในเวลาเดียวกัน เรียกว่า ผู้ชายมีหลายเมีย (Polygyny)
ผู้หญิงที่แต่งงานกับผู้ชายหลายคนในเวลาเดียวกันเรียกว่า ผู้หญิงมีหลายผัว (Polyandry)

โดยส่วนมากจะพบในแทบประเทศแอฟริกา และอินเดีย ที่จะให้ผู้หญิงแต่งงานกับญาติพี่น้องฝ่ายชายของตัวเอง เพื่อสร้างผู้สืบตระกูล และสร้างทรัพยากรในการยังชีพ


สามเหลี่ยมแห่งรัก

ก่อนที่จะเกิดสภาวะ “คบซ้อน” ขึ้นมาในความคิดของแต่ละคน แน่นอนว่าต้องผ่านสิงที่เรียกว่า “ความรัก” มาก่อน โดย ศ.ดร. Robert Sternberg นักจิตวิทยาแห่งภาคจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเยลล์ ได้พัฒนาทฤษฎี ‘Triangle of Love’ หรือ ‘สามเหลี่ยมแห่งความรัก’ ขึ้นมา เพื่อใช้อธิบายว่า ความรักเกิดขึ้นจากองค์ประกอบ 3 ข้อด้วยกัน

1.ความสนิทสนม (Intimacy) คือความรู้สึกใกล้ชิด ผูกพัน และมีพันธนาการใจ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในคู่รักเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความสนิทสนมในระดับเพื่อน ครอบครัว และคนรอบข้าง

2. ความรู้สึกหลงใหล (Passion) คือความรู้สึกเชิงชู้สาว ถูกใจรูปร่างภายนอกจนอยากสานสัมพันธ์ ทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบ การหลงเสน่ห์ (Infatuation) และ รักแรกพบ (Love at first sight)

3.ความผูกพัน (Commitment) คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเราอยู่กับอะไรมาระยะหนึ่ง อาจไม่ได้เป็นจุดที่สร้างความหวานชวนจั๊กจี้ใจ แต่ก็เป็นตัวที่สร้างให้คนสองคนอยู่ด้วยกันได้นานขึ้น

แต่เมื่อวันไหนที่สามเหลี่ยมแห่งความรัก เกิดรอยรั่วจนขาข้างใดข้างหนึ่งขาดหาย ความสัมพันธ์ที่มีก็จะสั่นคลอน และพาให้ใจเราคันยิบๆ เพราะอยากเลิกรัก หรือมีใครเพิ่มเข้ามาอีกคนหนึ่ง จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า ความรักบัดซบ (Fatuous Love) มันเป็นตอนนั้นเอง ที่จุดเริ่มต้นของการเดินทางเข้าสู่ ‘โลกใบที่สอง’ เกิดขึ้น


Sources: https://www.sac.or.th/databases/anthropology-concepts/glossary/105
Sternberg, R. J. (1988) The Triangle of Love: Intimacy, Passion, Commitment, Basic Books (ISBN 0465087469)

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.