แม่ลูก การเมือง และปิตาธิปไตย ใน ‘อย่ากลับบ้าน’ - Urban Creature

*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์*

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียอรรถรสสำหรับคนที่อยากรับชม ‘อย่ากลับบ้าน’ ซีรีส์ออริจินัลสัญชาติไทยเรื่องล่าสุดของ Netflix คงต้องเรียนให้ผู้ที่เข้ามาอ่านบทความไปชมซีรีส์เรื่องนี้ก่อนโดยไม่ต้องรับรู้ข้อมูลใดๆ ยิ่งรู้น้อยเท่าไหร่ยิ่งดีที่สุด

เพราะว่ากันตามตรง อย่ากลับบ้าน เป็นซีรีส์ที่เล่นกับความสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับเรื่องราวลึกลับที่เก็บงำซ่อนเอาไว้เป็นไม้เด็ด ซึ่งหากรับรู้เรื่องราวมากเกินไป ความตั้งใจที่ตัวซีรีส์พยายามจะสร้างความรู้สึกคาดไม่ถึงแก่ผู้ชมก็อาจหายไปโดยพลัน

แต่หากต้องเล่าเรื่องย่อให้คนที่อยากรู้จริงๆ เนื้อเรื่องคร่าวๆ ของ อย่ากลับบ้าน นั้นเล่าถึง ‘วารี’ (นุ่น วรนุช) หญิงสาวผู้มีใบหน้าฟกช้ำและคราบน้ำตากำลังเดินทางหอบลูกสาววัย 5 ขวบชื่อ ‘มิน’ (เจแปน พลอยปภัส) เดินทางกลับสู่บ้านเก่าของครอบครัว ณ อำเภอตะกั่วป่าที่เธอเติบโตในวัยเด็ก

Don't com home

บ้านหลังนี้มีชื่อว่า ‘บ้านจารึกอนันต์ 2475’ เป็นบ้านเก่าทรงยุโรปกลางป่าที่เก็บซ่อนความลึกลับพิศวงของอดีตเอาไว้ และยังเชื่อมโยงไปถึงเหตุผลที่แม่ลูกทั้งสองเดินทางหนีบางสิ่งบางอย่างมาสู่สถานที่แห่งนี้ ที่ซึ่งนำไปสู่เหตุผลและความหมายของคำว่า ‘อย่ากลับบ้าน’

หลังจากนี้จะเป็นการพูดถึงเนื้อหาที่จะเปิดเผยเรื่องราวสำคัญในซีรีส์ อย่ากลับบ้าน แล้ว ด้วยวิธีการเล่าท่าทีล่อหลอกผู้ชมให้เชื่อไปในทางหนึ่ง ในที่นี้คือหลอกให้หลงเชื่อว่านี่คือซีรีส์แนว ‘สยองขวัญ’ ว่าด้วยผีวิญญาณร้ายที่สิงสถิตอยู่ในบ้านร้างและหลอกหลอนตัวละครสองแม่ลูก

หลังจากหลอกตีหัวคนดูเข้าบ้านได้ด้วยแนวทางที่เหมาะสมแก่การเป็นซีรีส์ฉายในคืนวันฮาโลวีน จากนั้นเรื่องราวจะพาคนดูหัวหมุนตีลังกาด้วยความสงสัย ก่อนพลิกผันเฉลยตัวตนที่แท้จริงว่าเป็นแนว ‘ไซไฟ’ ในภายหลัง เป็นการเล่นกับความคาดหวังสงสัยใคร่รู้ของคนดูอย่างน่าตื่นเต้น หากแต่สิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้มีเพียงลูกเล่นที่เล่นกับการคาดเดาของคนดูเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความหมายซุกซ่อนอยู่ในเอเลเมนต์ต่างๆ ที่สะท้อนประเด็นสังคมได้อย่างน่าค้นหา

ค่านิยมของสังคมที่วนลูปและไม่เคยหายไป

การผันตัวเองจากความคาดหวังว่าจะได้ชมซีรีส์สยองขวัญแนวผีๆ ไปสู่การเป็นซีรีส์แนวไซไฟย้อนเวลาของ อย่ากลับบ้าน กลายเป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจแก่ผู้ชมชาวไทย เนื่องด้วยเรื่องราวไซไฟอิงหลักการวิทยาศาสตร์อย่างจริงๆ จังๆ ไม่ใช่ในเชิงแฟนตาซีย้อนเวลาเพื่อการผจญภัยนั้นแทบจะหาได้ยากมากๆ สำหรับฝั่งหนังไทย

ไหนจะการใช้สัญญะแทนความหมายของสิ่งต่างๆ ในซีรีส์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ ‘วงกลม’ ที่วนเป็นเกลียวในการแทนภาพการวนเวียนของลูปเวลา, ตัวเลขเวลา 03.14 น. ที่แทนตัวเลข 3.14 ซึ่งก็คือค่า Pi ค่าคงตัวทางคณิตศาสตร์ ที่เกิดจากความยาวเส้นรอบวงหารด้วยเส้นผ่านศูนย์กลางของวงกลม ซึ่งเป็นค่าคงตัวที่ไม่มีจุดสิ้นสุด หรือบรรดาชื่อของตัวละครที่ใช้เปรียบเปรยสิ่งต่างๆ ในเรื่อง ยกตัวอย่าง วารี ที่สื่อถึงน้ำที่ไม่ไหลย้อนกลับ, ฟ้า ที่ภาพสะท้อนด้านตรงข้ามของน้ำ หรือ พนิดา ที่แปลว่าความเป็นผู้หญิง

Don't com home

ถ้าว่ากันอย่างตรงไปตรงมา รายละเอียดเหล่านี้มักถูกนำเสนอในคอนเทนต์จากประเทศอื่นเสียมากกว่า ผู้ชมหลายคนอาจนึกไปถึงซีรีส์ชวนปวดหัวจากเยอรมนีอย่าง Dark (2017 – 2020) ที่เล่นเรื่องทฤษฎีการข้ามเวลาอย่างซับซ้อนซ่อนเงื่อนราวกับเข้าคลาสเรียนฟิสิกส์ยังไงยังงั้น ซึ่งหากจะลดระดับความยากลงมาหน่อยก็เป็นหนังสยองขวัญ Triangle (2009) ที่นำคอนเซปต์การวนลูปมาใช้ร่วมกับหนังแนวฆาตกรไล่ฆ่าได้อย่างน่าสนใจ หรือ Predestination (2014) ที่ใช้การวนลูปไม่รู้จบเป็นวงจรวัฏจักรแบบเดียวกับที่ อย่ากลับบ้าน ทำ

สำหรับผู้เขียนกลับรู้สึกว่า อย่ากลับบ้าน ชวนให้นึกถึงหนังญี่ปุ่นอย่าง TAG อวสาน…โมเอะ (2015) ของ ‘ชิออน โซโนะ’ ที่สะท้อนถึงชีวิตของบรรดาเด็กสาวที่ไม่ว่าจะเปลี่ยนบทบาทไปอย่างไร มีชีวิตใหม่สักกี่ครั้ง แต่ค่านิยมที่สังคมตีตราพวกเธอก็ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนไป นั่นคือมีหน้าที่เพียงสนองค่านิยมของผู้ชายในโลกอันโหดร้ายใบนี้ หรืออีกเรื่องหนึ่งคือหนังไทยอย่าง Faces Of Anne แอน (2022) ที่ว่าด้วยเหล่าหญิงสาวที่ตื่นขึ้นมาในสถานที่ปริศนา พวกเธอไม่รู้ว่าเธอคือใคร รู้เพียงแค่ทุกคนคือ ‘แอน’ และหน้าของพวกเธอจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป ท้ายที่สุดแล้วแอนตัวจริงคือใครนั้นไม่สำคัญ เพราะไม่ว่าจะแอนสักกี่คน อีกกี่ตัวตนก็ไม่เคยเป็นที่พึงพอใจสำหรับสังคมที่เรียกร้องให้พวกเธอเป็นไปตามค่านิยมที่ตั้งไว้ และทุกสิ่งก็ยังคงดำเนินต่อไปอยู่อย่างนั้นไม่สิ้นสุด

Don't com home

ที่กล่าวมานั้นอาจไม่ใช่เรื่องราวที่เหมือนกันเป๊ะๆ ขนาดถอดแบบมา หากเทียบกับบรรดาหนังไซไฟก่อนหน้าที่ได้กล่าวไป แต่เมื่อพิจารณาดีๆ หนังทั้งสองเรื่องที่ยกมาข้างต้นมีสัญญะและคอนเซปต์ที่คล้ายคลึงกับ อย่ากลับบ้าน ในประเด็นของสังคม การเมือง และมุมมองค่านิยมที่ถูกกรอบไว้ด้วยสายตาแบบปิตาธิปไตย

ขณะเดียวกัน การเดินทางย้อนเวลาวนลูปก็เป็นหลักการในทางไซไฟที่ซีรีส์หยิบยกมาใช้เป็นฐานการดำเนินเรื่อง แต่การวนลูปเวลาเหตุการณ์ซ้ำๆ ในทางหนึ่งก็กลายเป็นเครื่องมือใช้สะท้อนภาพประเด็นสังคมที่เกิดซ้ำไปซ้ำมาอยู่เสมออย่างไม่จบสิ้น เป็นการทำงานทั้งทางนัยตรงและนัยอ้อมที่ขยายขอบฟ้าการตีความของผู้ชมให้กว้างไกลขึ้น

เหตุการณ์การเมืองที่วนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แม้ว่าเนื้อหาของ อย่ากลับบ้าน จะมุ่งเน้นไปที่ความลึกลับ ความเป็นไซไฟวิทยาศาสตร์ของการย้อนเวลา รวมถึงการตีแผ่มุมมองที่ผู้หญิงถูกกระทำจากสังคมชายเป็นใหญ่ แต่อีกประเด็นที่ซีรีส์แอบสอดแทรกไว้อย่างแนบเนียนคือ เหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่แม้ว่าจะไม่ได้ป่าวประกาศอย่างโจ่งแจ้ง แต่ปรากฏเป็นดีเทลเล็กๆ เบื้องหลังที่หากตั้งใจชมก็จะพบได้ไม่ยาก ทั้งหมดทั้งมวลถูกประกอบเข้ากับเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่ตัวละครได้พบเจอในแต่ละช่วงปี

Don't com home

เริ่มจากปี 2475 ช่วงเวลาที่บ้านจารึกอนันต์ถูกสร้างขึ้น ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ‘24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ปฏิบัติการอภิวัฒน์สยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ’

ปี 2475 จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของครอบครัววารี คล้ายคลึงกับที่ปี 2475 เป็นการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ชาวไทยพบเจอกับเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหารอย่างไม่สิ้นสุดซ้ำแล้วซ้ำอีกเรื่อยมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และยังไม่แน่ใจว่าในอนาคตต่อไปอีกหรือไม่ ขณะเดียวกัน บ้านจารึกอนันต์เองนั้นก็มีความหมายว่า ‘ติดตรึงไว้ไม่มีสิ้นสุด’ ดูเป็นความหมายสื่อถึงสิ่งที่ชาวไทยต้องเจอเป็นลูปวนเวียนและจะคงอยู่ตลอดไป

อีกช่วงเวลาคือ ช่วงที่มินและวารีในปัจจุบันย้อนเวลาไปสู่อดีตในปี 2535 ซึ่งเป็นช่วงปีของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองที่มี ‘พลเอก สุจินดา คราประยูร’ เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งเป็นการรัฐประหารรัฐบาล ‘พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ’ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534

Don't com home

นำไปสู่เหตุการณ์ปราบปรามและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกับประชาชนผู้ชุมนุม มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และในท้ายที่สุดสำนวนคดีโศกนาฏกรรมของบ้านจารึกอนันต์ก็ถูกลงบันทึกไว้ในเดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งมีคนแปลกหน้าบุกเข้ามาในบ้านและเสียชีวิต แต่ไม่มีใครทราบว่าคนแปลกหน้าผู้นี้คือใคร และถูกทำให้หลงลืมไปตามกาลเวลาจวบจนปัจจุบัน

โดยในภายหลังซีรีส์ได้เฉลยว่าคนแปลกหน้าคนนี้คือ วารีจากอนาคต ผู้ตายกลายเป็นวิญญาณที่ถูกทิ้งไว้ในบ้านพร้อมโศกนาฏกรรมในครั้งนี้ คล้ายคลึงกับชะตากรรมของผู้ชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

และท้ายที่สุด ช่วงเวลาที่วารีพบกับสามีในปี 2557 ก็เป็นปีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เป็นหัวหน้าคณะทำรัฐประหารอีกครั้ง ส่วนสามีของวารีเองก็มีชื่อว่า ‘ยุทธชัย’ แปลว่า ‘ผู้ชนะการต่อสู้’ ดำรงตำแหน่งพลเอกอีกเช่นกัน

ในทางหนึ่งอาจมองได้ว่าเป็นปีที่มีความหมายแฝงถึงอำนาจทหารที่มีชัยชนะเหนือการเมืองผ่านการปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้ง เหตุการณ์ช่วงปีต่างๆ ใน อย่ากลับบ้าน จึงแอบแฝงการวนลูปซ้ำๆ ของการเมืองไทย ไม่ว่าเวลาจะผ่านล่วงเลยไปนานเท่าไหร่ สังคมไทยก็ยังคงวกวนวนเวียนอยู่กับการรัฐประหารอย่างไม่สิ้นสุด วารีที่ติดอยู่ในลูปเวลาที่ไม่อาจไปไหนได้จึงมีชะตากรรมไม่ต่างจากการเมืองไทยที่ไม่เคยได้เป็นประชาธิปไตยแบบเต็มใบเสียที

วงเวียนความเจ็บช้ำของผู้หญิงในสังคมปิตาธิปไตย

สิ่งที่เห็นเด่นชัดเป็นส่วนสำคัญของ อย่ากลับบ้าน คือ การนำเสนอมิติมุมมองของ ‘ผู้หญิง’ ไม่ว่าจะผ่านเพลงประกอบในเรื่องอย่าง ‘ความทรงจำ’ ของ Musketeers ที่นำเสนอใหม่โดย วิโอเลต วอเทียร์ ไปจนถึงบรรดาตัวละครในเรื่องที่ต่างล้วนแล้วแต่เป็นผู้หญิงที่ถูกกดทับไว้ด้วยอำนาจของสังคมชายเป็นใหญ่

เริ่มตั้งแต่จุดเริ่มต้นของเรื่อง อันก่อกำเนิดจากความรุนแรงในครอบครัวจากยุทธชัยผู้เป็นสามี ที่ทำให้วารีต้องหอบผ้าหอบผ่อนพาลูกหนีไปให้ไกลที่สุด ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่ผู้หญิงได้รับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นแต่อย่างใด

Don't com home

ทว่าเมื่อวารีหลีกหนีสิ่งเหล่านี้และพานพบกับชะตากรรมที่ต้องวนลูปเวลาไปเรื่อยๆ เธอจึงต้องวนกลับมาเจอกับความเลวร้ายนี้ต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด เหมือนกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย

อีกทั้งยุทธชัยยังบอกกับตำรวจอีกว่า มินไม่ใช่ลูกของตัวเอง ในทางหนึ่งเราอาจตั้งทฤษฎีได้ว่า วารีสามารถตั้งท้องได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นผลจากการวนลูปเวลาที่ตัวเธอในอนาคตย้อนกลับไปกลายเป็นตัวเองในอดีต และกลายเป็นสิ่งที่เป็นต้นกำเนิดของตัวเธอในอนาคต

นั่นจึงอาจเป็นสาเหตุให้วารีสามารถตั้งท้องได้ด้วยตัวเอง คล้ายคลึงกับการตั้งคำถามทฤษฎี ‘ไก่กับไข่’ เป็นการปลดแอกตัวเองออกโดยไม่ต้องพึ่งพาเพศชาย หรืออีกแนวคิดหนึ่งก็คือ มินเป็นลูกของยุทธชัยจริงๆ แต่เขาแค่ปัดความรับผิดชอบออกจากตัวด้วยอำนาจความเป็นชาย และผลักภาระทั้งหมดไปสู่ผู้เป็นแม่เพียงฝ่ายเดียว สะท้อนถึงความปิตาธิปไตยที่ยังคงคุมอำนาจต่อไป

อีกหนึ่งตัวละครที่มีชะตากรรมไม่ต่างกันคือ ‘สารวัตรฟ้า’ (แพร-พิชชาภา พันธุมจินดา) ที่นอกจากเข้ามาพัวพันในคดีการหายตัวไปของมินแล้ว ฟ้ายังเป็นตัวละครที่อยู่ท่ามกลางสังคมที่มีผู้ชายกุมอำนาจ ในที่นี้คือสังคมของอาชีพตำรวจที่มีแต่เจ้าหน้าที่พนักงานผู้ชาย

Don't com home

การเป็นผู้หญิงของฟ้าค่อนข้างเป็นที่ครหาในตำแหน่งสารวัตรที่มีอำนาจเหนือกว่าบรรดาผู้ชายในลำดับขั้นที่ต่ำกว่า อีกทั้งเธอยังหอบครรภ์อายุหกเดือนมาทำงานสมบุกสมบันแทนที่จะอยู่บ้านเป็นแม่บ้านตามอุดมคติที่คนส่วนใหญ่นึกถึง

ภาพนี้ไม่ได้ถือว่าใหม่นักเพราะในฝั่งตะวันตก ภาพยนตร์อย่าง Fargo (1996) ของพี่น้อง Coen ก็นำเสนอเรื่องราวของการสืบสวนคดีที่ทุกอย่างกลับตาลปัตรกับความคิดที่ควรจะเป็นไปเสียหมด เริ่มต้นจากตัวละครเอก มาร์จ กันเดอร์สัน (ฟรานเซส แม็กดอร์มานด์) ตำรวจหญิงท้องแก่เจ็ดเดือนออกไปลุยหิมะสืบสวนคดี เดินอุ้ยอ้ายเชื่องช้า ดูตาสีตาสาเหมือนชาวบ้านทั่วๆ ไป แต่กลับเป็นผู้ที่สามารถคลี่คลายคดีฆาตกรรมรุนแรงและเผชิญหน้ากับอาชญากรโฉดร่างยักษ์ ในขณะที่สามีของเธอเป็นฝ่ายอยู่บ้าน คอยดูแลบ้านอย่างอบอุ่น กลายเป็นเรื่องราวสับขาหลอกสุดหักมุมที่คนดูหนังในยุคนั้นไม่อาจคาดคิด

เป็นเวลาเกือบ 30 ปีที่สื่อไทยค่อยๆ ไล่ตามมุมมองสื่อของฝั่งตะวันตกได้ทัน แต่ถึงอย่างนั้น ดูเหมือนเรื่องราวของตำรวจท้องโตใน อย่ากลับบ้าน และ Fargo จะไม่ได้จบลงในทางที่ใกล้กันเลย ในขณะที่ มาร์จ กันเดอร์สัน แค่ออกไปทำหน้าที่ ปิดจบคดีเสร็จสิ้นก็ได้กลับบ้านอย่างมีความสุข แต่ชะตากรรมของ ฟ้า เหมือนยังคงต้องต่อสู้ต่อไปไม่จบสิ้น

เห็นได้จากฉากระเบิดอารมณ์ในตอนท้าย ที่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเพราะไม่สามารถหาความจริงในคดีที่เกิดขึ้นได้ หรือเพราะความโกรธที่มีต่อยุทธชัยที่เป็นต้นเหตุให้วารีต้องมาเจอกับชะตากรรมทั้งหมด หรืออาจจะเพราะความโกรธที่มีต่ออำนาจความเป็นชายทั้งหลายแหล่ที่กดทับเธอ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ตัวละคร ฟ้า คือผู้ที่ได้เห็นวงจรอุบาทว์ของสิ่งที่ผู้หญิงต้องเจอ ตั้งแต่แม่ของเธอที่เสียชีวิตไป ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ของเธอกับพ่อบาดหมางกัน วารีที่หนีจากยุทธชัยมาเป็นคดีให้เธอสืบสวน จนถึงตัวเธอที่มีความสัมพันธ์ลับหลบๆ ซ่อนๆ กับเจ้านายตัวเองจนกลายเป็นข้อครหาของทุกคน คล้ายเป็นการฉายภาพซ้ำๆ เดิมๆ วนไปไม่รู้จบไม่ต่างจากลูปที่วารีต้องเผชิญ

ท้ายที่สุดนี้ อย่ากลับบ้าน อาจจะเป็นซีรีส์ไทยที่ฉีกตัวเองหลุดออกจากลูปการนำเสนอในแนวทางของสื่อบันเทิงไทยได้อย่างน่าจับตามอง โดยที่เนื้อหาภายในยังสะท้อนถึงสังคมไทยที่เผชิญปัญหาเดิมๆ ฉายภาพซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่จบสิ้น

แม้จะสอดแทรกประเด็นสัญญะมากมายให้ชวนตีความขบคิดวิเคราะห์กันราวกับนักวิชาการ หรือมอบความบันเทิงรูปแบบใหม่ที่ไม่ซ้ำซากจำเจ แต่ถ้าผู้ชมไม่อาจตระหนักถึงสาระสำคัญที่ซีรีส์อยากนำเสนอขึ้นมาเป็นประการสำคัญ ลูปปัญหาต่างๆ ก็คงจะยังวนเวียนต่อไปไม่จบสิ้นดั่งลูปเวลาในซีรีส์เรื่องนี้เช่นกัน

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.