สำรวจนิยามครอบครัวหลากหลายที่ Diversity Cafe - Urban Creature

ช่วงสัปดาห์ส่งท้ายเดือน Pride Month เราขอชวนทุกคนไปค้นหานิยามครอบครัวในแบบฉบับของตัวเองที่ ‘Diversity Cafe’ นิทรรศการว่าด้วยเรื่อง ‘ครอบครัวหลากหลาย’ ภายใต้รูปแบบคาเฟ่ไอศกรีม เพื่อส่งเสริมสิทธิของทุกคนและทุกเพศอัตลักษณ์กับการสร้างครอบครัวในรูปแบบของตัวเอง

นอกจากผู้เข้าร่วมงานจะได้ชิมไอศกรีม 5 รสชาติใหม่ๆ ที่สะท้อนรูปแบบครอบครัวในฝันของแต่ละคนแล้ว ภายในงานยังเล่าเรื่องของ 6 ครอบครัวที่มีนิยามแตกต่างกันเพื่อสะท้อนความหลากหลายในสังคมไทย รวมไปถึงปัญหาเชิงนโยบายและค่านิยมของสังคมที่มองคำว่าครอบครัวในนิยามของพ่อ-แม่-ลูกเท่านั้น

นิทรรศการ Diversity Cafe จัดโดย Thailand Policy Lab ห้องปฏิบัติการนโยบาย ก่อตั้งโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNFPA Thailand) สยามพิวรรธน์ วอร์นเนอร์ มิวสิค ประเทศไทย และแสนสิริ

จุดแรกที่นิทรรศการธีมคาเฟ่ไอศกรีมเตรียมไว้ต้อนรับเราคือ พื้นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ ‘ครอบครัวยุคใหม่ในนิยามของฉัน’ ที่พาไปสำรวจนิยามของครอบครัวยุคปัจจุบันที่ไม่ได้จำกัดแค่พ่อ-แม่-ลูกเหมือนแต่ก่อน แต่มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น บางครอบครัวผูกพันกันทางสายเลือด ขณะที่บางครอบครัวอาจเป็นคู่รักเพศหลากหลายที่กฎหมายยังไม่รองรับ ครอบครัวที่อยู่กับเพื่อน ครอบครัวที่อยู่กับสัตว์เลี้ยง หรือแม้แต่ตัวเราคนเดียวก็เป็นครอบครัวให้ตัวเองได้

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลและสถิติเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย เช่น จำนวนคนอยู่คนเดียวที่เพิ่มสูงขึ้น คนไทยอายุยืนขึ้น คนไทยแต่งงานช้าลง คนไทยมีลูกน้อยลง ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า ครอบครัวของสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และจะเปลี่ยนไปอีกในอนาคต

คำถามสำคัญคือ ตอนนี้บริการของรัฐ นโยบาย และกฎหมาย ได้ปรับตัวตามความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนไปแล้วหรือยัง

จุดที่สองคือ ‘Gender Bear’ ที่ชวนไปทำความเข้าใจคำว่า ‘เพศ’ ที่ลื่นไหลผ่านเจ้าหมี ผู้เข้าร่วมงานจะได้ลองระบุรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเอง ทั้งอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity), รสนิยมทางเพศ (Sexual Orientation), เพศกำเนิด (Sex) และการแสดงออกทางเพศ (Gender Expression)

ทั้งหมดเปรียบดังแถบสีที่มีหลากหลายเฉด เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าเพศเป็นเรื่องซับซ้อนกว่าที่เราเข้าใจ โลกนี้ไม่ได้มีแค่ ‘หญิง’ และ ‘ชาย’ แต่มีหลากหลายเพศ และเพศเหล่านี้ไม่ได้ตายตัว สามารถลื่นไหลและเปลี่ยนแปลงได้

บริเวณตรงกลางของนิทรรศการคือ พื้นที่เล่าเรื่องราวของ 6 ครอบครัวที่มีนิยามแตกต่างกันเพื่อสะท้อนความหลากหลายในสังคม ตั้งแต่ครอบครัวของ ‘สายสุนีย์ จ๊ะนะ’ แชมป์วีลแชร์ฟันดาบ ตัวแทนครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวผู้พิการ ครอบครัวแม่-แม่-ลูกของ ‘เจี๊ยบ-มัจฉา พรอินทร์’, ‘จุ๋ม-วีรวรรณ วรรณะ’ และ ‘หงส์-ศิริวรรณ พรอินทร์’ ครอบครัวคู่รักชาย-ชายของ ‘ทอม ตัน’ และ ‘อุ้ย-สุเมธ ศรีเมือง’ ไปจนถึงครอบครัวแบบอยู่คนเดียว และอยู่รวมกันหลายรุ่น

ไฮไลต์ของโซนนี้คือ ผู้เข้าร่วมงานสามารถสวมหูฟังเพื่อฟังเสียงบอกเล่าของแต่ละครอบครัว ที่สะท้อนว่านโยบายและกฎหมายยังไม่โอบรับรูปแบบครอบครัวที่หลากหลาย และยังยึดติดกับค่านิยมและกรอบของสังคมที่มองคำว่าครอบครัวในนิยามของพ่อ-แม่-ลูกเท่านั้น รวมไปถึงสิ่งที่พวกเขาอยากให้รัฐช่วยเหลือหรือเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ภายในงานเราได้พูดคุยกับ ‘ทอม ตัน’ และ ‘อุ้ย-สุเมธ ศรีเมือง’ คู่รักเกย์ที่ร่วมถ่ายทอดนิยามครอบครัวในแบบฉบับของพวกเขาผ่านนิทรรศการนี้

ทอมและอุ้ยเล่าให้ฟังว่า ทั้งคู่อยู่ด้วยกันมายี่สิบกว่าปีแล้ว และจัดงานแต่งงานฉลองความสัมพันธ์สองทศวรรษไปเมื่อ ค.ศ. 2019 เพื่อแสดงให้ทุกคนเห็นว่าพวกเขาเป็นคู่รักกันจริงๆ รวมถึงอยากเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้ประเทศไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่เอื้อให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศแต่งงานได้อย่างถูกกฎหมาย

“เราอยากให้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับใดฉบับหนึ่งผ่านก่อน เพื่อเป็นก้าวแรกของการเรียกร้องสิทธิให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย เราไม่ได้ต้องการสิทธิที่พิเศษกว่าคนอื่นๆ สิ่งที่เราอยากได้คือสิทธิที่เหมือนคนธรรมดา เท่าเทียมกับคู่รักชายหญิงทั่วไป เป็นกฎหมายที่ให้เรามีสิทธิการให้ความยินยอมแก่แพทย์ สิทธิการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน การรับมรดก เป็นต้น”

โซนสุดท้ายคือบริเวณคาเฟ่ไอศกรีมที่ผู้ร่วมงานสแกน QR Code ทำแบบสำรวจเกี่ยวกับเพศ ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เราตัดสินใจมีหรือไม่มีครอบครัว รวมไปถึงปัจจัยที่ทำให้เราตัดสินใจมีหรือไม่มีลูกด้วย

หลังจากทำแบบทดสอบเสร็จแล้ว หน้าจอจะแสดงผลว่าครอบครัวในนิยามของเราคือไอศกรีมรสชาติไหน จากนั้นเราจะได้รับไอศกรีมรสนั้นจริงๆ โดยไอศกรีมทั้ง 5 รสชาตินั้นออกแบบโดย ‘Jinta Homemade Icecream’ ที่นำวัตถุดิบและส่วนผสมมาจากชุมชนท้องถิ่น และพัฒนาออกมาเป็นไอศกรีมที่สะท้อนความเป็นครอบครัวหลากหลาย ได้แก่

1) MEJoy : รสชาติหวาน เปรี้ยว ซ่าจากสับปะรดและพริกเกลือ สะท้อนว่าครอบครัวคือการอยู่คนเดียวแบบมีความสุข โดยสังคมต้องไม่ตีตราและตัดสิน เพราะทุกคนมีสิทธิออกแบบชีวิตตัวเอง

2) Equal WE WE : สะท้อนครอบครัวแบบคนรักของทุกเพศทุกอัตลักษณ์ ไม่จำเป็นต้องมีลูกตามกรอบสังคมกำหนด อยู่ข้างกันแบบแตงโมกับปลาแห้ง

3) Parental Bliss : รสชาติที่สะท้อนครอบครัวที่มีลูกเป็นองค์ประกอบสำคัญ เหมือนกับบ้านที่มักมีช็อกโกแลตติดไว้ให้ลูกๆ ในตู้เย็น ทั้งนี้ การมีลูกไม่ได้จำกัดแค่ระหว่างเพศกำเนิดชายกับหญิง แต่ครอบคลุมถึงคู่ LGBTQI ที่อยากมีลูก และครอบครัวแบบเลี้ยงเดี่ยว เสาวรสจึงเข้ามาเป็นส่วนผสมตัดเปรี้ยว ฉีกกรอบภาพจำครอบครัวแบบเดิม

4) Generations Crunchy : รสชาติที่สะท้อนว่าครอบครัวคือการอยู่ร่วมกันของคนหลายรุ่น ผ่านแกงมะระสูตรเด็ดของอาม่ากับชีสเค้กร้านฝรั่งที่หิ้วกลับมาบ้าน แม้รสชาติจะดูไม่ไปด้วยกัน แต่ทุกคนก็มาล้อมโต๊ะแย่งกันกิน เป็นมื้อที่อบอุ่นของครอบครัว

5) Family Delight : ความหวานของมะพร้าว แต้มสีด้วยดอกไม้ แล้วราดซอสมะนาวเปรี้ยว ออกปฏิกิริยาเป็นสีและรสชาติใหม่ที่สะท้อนครอบครัวแบบไร้กรอบจำกัด ไม่ได้มองนิยามครอบครัวเป็นแค่ความสัมพันธ์แบบสายเลือด แต่อาจเป็นเพื่อน คอมมูนิตี้ หรือเอไอที่เราผูกพันเหมือนเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว

ช่วงสุดท้าย เราพูดคุยกับ ‘กานท์กลอน รักธรรม’ Communication and Engagement Officer จาก Thailand Policy Lab และ UNDP ถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการ Diversity Cafe ที่นอกจากจะเป็นการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับนิยามครอบครัวในยุคปัจจุบันแล้ว อีกเป้าหมายสำคัญคือการเก็บข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำไปออกแบบนโยบายที่รองรับวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป รวมถึงรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย

“Diversity Cafe เกิดจากการทำงานร่วมมือระหว่าง Thailand Policy Lab และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ซึ่งทางสภาพัฒน์กำลังเจอโจทย์สำคัญ ได้แก่ การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย และอัตราการเกิดที่ลดลงในประเทศไทย

“สิ่งที่เราต้องทำคือการมองปัญหาเชิงระบบ เพราะถ้ามองปัญหาและแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมๆ เช่น เมื่อมีอัตราการเกิดลดลง ภาครัฐจะปล่อย Incentive หรือเร่งลดภาษีเพื่อจูงใจให้คนมีลูกมากขึ้น เราพบแล้วว่านโยบายเหล่านี้อาจได้ผลในระยะสั้น แต่แก้ปัญหาระยะยาวไม่ได้ เนื่องจากวิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว นี่ยังไม่รวมถึงความหลากหลายทางเพศที่เพิ่มขึ้นในสังคมของเราด้วย”

ส่วนไอเดียเบื้องหลังการจัดนิทรรศการในรูปแบบคาเฟ่ไอศกรีม กานท์กลอนอธิบายว่า วิธีนี้เป็นหนึ่งในนวัตกรรมทางสังคมในการเก็บข้อมูลเชิงลึกของ Thailand Policy Lab เพราะพวกเขาต้องการเก็บข้อมูลที่ไม่ใช่แค่ตัวเลข สถิติ และรายงาน แต่ต้องรวมถึงความรู้สึก ความหวัง และความกลัวของประชาชน

การสร้างบรรยากาศผ่านคาเฟ่ไอศกรีมจึงเป็นหนึ่งในไอเดียที่จะทำให้เรื่องความหลากหลายทางเพศเข้าถึงง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่วิชาการจนเกินไป รวมถึงช่วยให้ผู้คนอยากตอบคำถามเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกนึกคิดด้วย

“เราต้องตีโจทย์การมองครอบครัวแบบใหม่ว่า ครอบครัวในปัจจุบันได้หลุดออกจากกรอบนิยามพ่อ-แม่-ลูกแล้ว เราต้องส่งเสริมทุกเพศอัตลักษณ์ให้สามารถมีครอบครัวในแบบของตัวเองได้ ทุกคนมีความหมาย มีนิยาม มีวัฒนธรรมเกี่ยวกับครอบครัวแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นรัฐต้องมองเห็นความแตกต่างของคนเหล่านี้ แล้วออกนโยบายให้ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละกลุ่ม”


ร่วมชิมไอศกรีมและออกแบบนโยบายครอบครัวหลากหลายที่ Diversity Cafe by Thailand Policy Lab ได้ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00 – 22.00 น. ที่สยามเซ็นเตอร์ ชั้น G บริเวณ Atrium 2

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.