ที่ผ่านมาประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ได้กลายเป็นประเด็นที่ผู้คนพูดถึงในวงกว้าง จากที่หลายคนเคยมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัวก็เริ่มอยากเรียนรู้ศึกษามากขึ้น ซึ่งคงดีไม่น้อยถ้ามีแหล่งเรียนรู้ที่เข้าถึงง่าย สร้างความเข้าใจ และสนุกด้วย
ด้วยเหตุนี้ เราจึงตื่นเต้นมากเมื่อได้เห็นบอร์ดเกมชุด ‘นักสืบของอดีต’ ที่จัดทำโดยทีมวิจัยจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
แน่นอนว่าถ้าความรู้ชุดนี้อยู่แค่ในรูปแบบงานวิจัย มันคงมีคุณค่าและถูกหยิบมาใช้งานในกลุ่มคนวิชาการเท่านั้น ทว่าเมื่อข้อมูลทั้งหมดได้แปลงร่างมาเป็นสื่อร่วมสมัย ที่มีทั้งข้อมูลสนุกๆ ภาพประกอบ กราฟิกสวยๆ และเล่นได้อย่างบอร์ดเกม ย่อมทำให้ประชาชนคนทั่วไปอยากลองเรียนรู้
โปรเจกต์นี้เป็นงานวิจัยเชิงทดลองที่นำผลงานวิจัยทางด้านโบราณคดี มานุษยวิทยา และประวัติศาสตร์ของทีมวิจัยมาประยุกต์ใช้ผ่านการเรียนรู้จากบอร์ดเกม จำนวน 3 ชุดความรู้ ได้แก่
บอร์ดเกมที่ 1 นักสืบชาติพันธุ์ จุดประสงค์คือ ส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายของชาติพันธุ์และวัฒนธรรม การใช้ทรัพยากรในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดอื่นๆ ทำให้รู้จักเกิดความเข้าใจคนต่างวัฒนธรรม
บอร์ดเกมที่ 2 ปริศนาโลงไม้ ทีมผู้จัดทำเล่าว่าเป็นชุดเกมใหญ่และซับซ้อนซ่อนเงื่อนที่สุด สร้างความเข้าใจและความรับรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมโลงไม้ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในอำเภอปางมะผ้าที่มีอายุเก่าถึงสองพันกว่าปี การปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคนและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียน ลักษณะทางวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงทั้งในอดีตและปัจจุบัน
บอร์ดเกมที่ 3 นักสืบของอดีต ทำเพื่อส่งเสริมทักษะในการสืบค้นเรื่องราวของคน สังคมและวัฒนธรรมในอดีต ด้วยกระบวนการทางโบราณคดี โดยมุ่งให้เกิดความตระหนักรู้และสร้างกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา พร้อมกับให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้เล่นในทุกระดับวัย
บอร์ดเกมชุดนี้ได้รับการออกแบบ ตรวจสอบข้อมูล และนำตัวเกมไปทดสอบกับคนหลายกลุ่มอย่างพิถีพิถัน เรียกว่าครบทั้งความสนุกและความรู้ ซึ่งตัวเกมต้นแบบนั้นทีมวิจัยแนะนำว่าเหมาะสำหรับเด็กชั้นประถมศึกษาตอนปลาย-ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น แต่ความจริงแล้วจะวัยไหน เพศใด ยึดถือวัฒนธรรมแนวคิดแบบไหน ก็เล่นได้ทั้งนั้น
ทีมวิจัยแจ้งว่าปัจจุบันตัวเกมยังอยู่ในรูปแบบเกมต้นแบบ ยังไม่สามารถต่อยอดไปสู่การผลิตจำนวนมากได้ ดังนั้น ใครที่สนใจอยากต่อยอดความรู้นี้ให้ผลิบานโดยนำตัวเกมไปผลิตในจำนวนมาก เพื่อส่งต่อให้เยาวชน สามารถติดต่อหรือสอบถามข้อมูลได้ที่ Rasmi Shoocongdej