ไม่อยากจะเหงาแล้ว ฉันไม่อยากจะเหงาแล้ว ถ้าเธอทักมาคงจะดี ได้ไหมเธอ~ ความในใจของพื้นที่ใต้สะพานลอย ที่ส่วนใหญ่มักจะถูกปล่อยให้เป็นพื้นที่เปลี่ยวร้าง ไม่ค่อยมีใครกล้าแวะเวียน เพราะมีภาพจำเป็นแหล่งอาชญากรรมไม่น่าเข้าใกล้ แถมในเมืองยังมีพื้นที่เหล่านี้กระจายอยู่ทั่วทุกแห่ง
รัฐบาลเมืองโซลของประเทศเกาหลีใต้เห็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข และมองว่าเป็นโอกาสที่จะช่วยเพิ่มพื้นที่สาธารณะให้มากขึ้น เนื่องจากในเมืองมีที่ดินน้อยและราคาสูง รัฐบาลจึงใช้ประโยชน์จากพื้นที่ใต้สะพานลอยช่วยกระชับความใกล้ชิดระหว่างคนและเมืองให้สนิทสนม พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ให้คึกคักอีกด้วย
รัฐบาลเมืองโซลจึงเริ่มต้นสร้างโครงการต้นแบบ ‘Roof Square’ เปลี่ยนพื้นที่ใต้สะพานลอยรกร้างขนาดใหญ่ที่ตัดขาดเมืองในเขตที่อยู่อาศัย Dongdaemun-gu ประเทศเกาหลีใต้ ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนในชุมชนมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งปรับปรุงสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นและภูมิภาคของเมืองให้มีชีวิตชีวามากกว่าเคย ผ่านการดีไซน์สถาปัตยกรรมที่ช่วยดึงดูดให้คนอยากมาใช้งานทุกเวลา
Roof Square ได้แรงบันดาลใจจาก ‘หลังคา’ ที่เป็นตัวแบ่งพื้นที่ระหว่างส่วนบนและส่วนล่างให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่มีฟังก์ชันแตกต่างกัน โดยออกแบบให้พื้นที่ด้านบนหันหน้าเปิดรับทิศตะวันออก-ตก เพื่อเชื่อมต่อกับชุมชนรอบข้างไม่ให้แยกออกจากกัน ด้วยการสร้างพื้นที่จัดกิจกรรมสาธารณะ และพื้นที่ออกกำลังกายของท้องถิ่น
ด้านล่างของหลังคาออกแบบเป็นพื้นที่ค้าขายของชุมชนในตอนกลางวัน เรียงรายด้วยคาเฟ่ ร้านอาหาร และแผงลอยให้ชาวบ้านใกล้เคียงแวะเวียนมาได้ ตอนกลางคืนพื้นที่ชั้นล่างของหลังคายังทำหน้าที่เป็นลานสาธารณะที่สามารถจัดกิจกรรมของชุมชน เช่น เล่นดนตรี หรือจัดอีเวนต์ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานตามไลฟ์สไตล์ของคนในท้องถิ่นได้ทุกเวลา
หากมองกรุงเทพฯ ในบ้านเราก็มีพื้นที่ใต้สะพานสุดรกร้างจำนวนไม่น้อย ที่สร้างความหวาดกลัวให้กับคนที่เดินผ่านไปผ่านมา ทำให้พื้นที่ละแวกนั้นกลายเป็นจุดอันตรายในเมือง
ซึ่งโปรเจกต์ Roof Square ของประเทศเกาหลีใต้นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดี ที่บ้านเราสามารถนำมาปรับใช้งานได้ โดยไม่เพียงแก้ปัญหาพื้นที่เปลี่ยวร้างให้หมดไป แต่ยังเพิ่มพื้นที่สาธารณะที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูง รวมทั้งช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคนและเมืองให้เชื่อมต่อกัน