ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive ตุลาคม 2567 - Urban Creature

‘เหมือนได้จับโปเกมอน’ คือความรู้สึกของผมเวลาได้สแนปรูปสิ่งของไทยๆ ดีไอวายสไตล์ #ดีไซน์เค้าเจอ อาจจะอ่านแล้วดูตลกๆ แต่ผมรู้สึกแบบนั้นจริงๆ นะ เวลาเจอสิ่งของงานออกแบบไทยๆ ที่น่าสนใจทุกครั้ง ยิ่งถ้าเจอชิ้นที่รู้สึกว้าวมากๆ ก็ยิ่งเหมือนเราได้จับโปเกมอนตัวหายาก

แม้ว่าผมจะเคยแชร์เคล็ดลับในการออกตามหาสิ่งของเหล่านี้หลายครั้งแล้วในคอลัมน์นี้ แต่ต้องยอมรับว่า เมื่อได้ลงเดินหาในสถานที่จริงๆ มันก็อาจไม่ง่ายดังกล่าว หาเจอบ้างไม่เจอบ้างเป็นเรื่องปกติ กลายเป็นว่าสำหรับผมเอง นอกจากจะต้องมีสายตาที่ดีแล้ว การจะพบเจอสิ่งของออกแบบไทยๆ พวกนี้ได้ อาจต้องใช้โชคชะตาประมาณหนึ่งด้วย

แล้วมันคล้ายจับโปเกมอนยังไง คือ 1) เราต้องมีความพยายามและออกตามจับ (ด้วยสายตา) คล้ายต้องลงไปในพงหญ้าแบบในเกม 2) ในแต่ละพื้นที่เองก็อาจมีสิ่งของคล้ายๆ กันที่สามารถเจอได้ในบริเวณเดียวกัน คล้ายเป็นโปเกมอนท้องถิ่น ซึ่งในบางครั้งเราก็อาจจะโชคดีได้เจอตัวที่มีความเฉพาะมากๆ ที่หาที่อื่นไม่ได้ เหมือนเจอโปเกมอนหายากนั่นเอง

ผมไม่ได้จะบอกว่าการมีอยู่ของสิ่งของออกแบบไทยๆ ที่ใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันแบบนี้ คือโปเกมอนแบบตรงไปตรงมา 100 เปอร์เซ็นต์นะ เพราะโลกความเป็นจริงนี้ไม่ได้ถูกกำหนดด้วยการกดปุ่มเหมือนเกม แต่ที่ผมต้องการจะสื่อคือ ลักษณะการปรากฏตัวของสิ่งของเหล่านี้มีอารมณ์ที่คล้ายๆ กัน มันเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมและปัญหาหลายๆ อย่างตรงนั้นเป็นตัวกำหนด และถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาจากฝีมือผู้คนตรงนั้นอย่างเฉพาะตัว แต่ที่มากไปกว่านั้นคือ เราสามารถเข้าใจและเรียนรู้ที่มาที่ไปของสิ่งของเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหนนั่นเอง

กลับมาที่เนื้อหาหลักของคอลัมน์นี้ ผมได้คัดสรรภาพสิ่งของงานออกแบบไทยๆ ที่ผมตามจับจากสถานที่ต่างๆ มาแบ่งปันให้ทุกท่านได้รับชมกันอีกครั้งเช่นเคย ซึ่งหากใครจับภาพสิ่งของแนวๆ นี้ได้เหมือนกับผม ก็ติด #ดีไซน์เค้าเจอ มาแบ่งปันกันได้ เชื่อว่าหลายท่านคงจะมีรูปโปเกมอนแนวนี้ติดในสมาร์ตโฟนสักใบแหละน่า

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive ตุลาคม 2567

พัดลมเธอโม (ดิฟาย)

บ้านเมืองใกล้เส้นศูนย์สูตรแบบประเทศไทยจะขาดอุปกรณ์คลายร้อนอย่างพัดลมคงไม่ได้ และเชื่อว่าหลายครั้งหลายท่านก็มักมีปัญหากับการจัดวางพัดลมให้ถูกที่ถูกทางอยู่บ่อยๆ อีกด้วย

ผมเจอการโมดิฟายพัดลมที่น่าสนใจที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง เป็นการถอดชิ้นส่วนพัดลมแบบเดิมๆ เอามาเฉพาะตัวพัดลม แล้วทำแหวนหิ้วเชื่อมเข้ากับโครงท่อเหล็กที่ยึดเข้ากับผนัง กลายเป็นพัดลมแปลกตาที่สามารถปรับมุมลมได้ตรงจุดมากขึ้น ซึ่งไม่รู้จะหาซื้อเลียนแบบได้ที่ไหน

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive ตุลาคม 2567

ไฟลวด

แถวบ้านผมมีร้านสำหรับสั่งทำโครงลวดดัดอยู่ พวกลวดดัดสำหรับโครงช่อดอกไม้ หรือลวดดัดสำหรับเป็นโครงไส้ในของชิ้นงานใดๆ ล่าสุดผมผ่านร้านนี้อีกครั้ง และก็เพิ่งสังเกตเห็นว่าที่บริเวณโต๊ะทำงานของพี่ๆ ในร้านนี้มีของที่สนใจอยู่ ผมจึงขออนุญาตถ่ายรูปเก็บไว้ 

เป็นที่แขวนหลอดไฟจากลวดที่ขดรวมตัวกัน จนเป็นเหมือนขาตั้งโคมไฟแบบในรูปนี้ ถือเป็นการประยุกต์ทักษะทำมาหากินมาใช้ทำสิ่งของในชีวิตประจำวันนั่นเอง

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive ตุลาคม 2567

หาบท่อแผงลอย

เรามักจะนึกภาพหาบเร่แผงลอยในอดีตเป็นรูปแบบของหาบไม้หิ้วกระจาด ซึ่งลักษณะหาบเร่แบบนี้เราไม่ค่อยได้เห็นกันแล้วในปัจจุบัน

กลายเป็นว่าเดี๋ยวนี้ผมมักเจอหาบเร่ที่ใช้ท่อพีวีซีสีฟ้าทำเป็นแผงลอยแทนเสียมากกว่า อย่างภาพนี้ที่ผมถ่ายไว้ เป็นแผงโครงท่อขาตั้งกับแขวนของกระจุกกระจิกได้อย่างลงตัว และมีการทำเชือกไว้สำหรับหิ้วพาดไหล่ไปมาได้อีกด้วย ทั้งหมดนี้มีลักษณะเช่นเดียวกับหาบเร่ในอดีต แต่ถูกเปลี่ยนเป็นวัสดุที่เบาขึ้นรวมถึงสินค้าที่เร่ขาย

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive ตุลาคม 2567

ฝาผนัง

ตามพื้นที่ในชุมชนเล็กๆ เรามักจะเจอการทำที่แขวนสำหรับตากผ้าบริเวณหน้าบ้านเสมอๆ ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นการทำราวไม้หรือแขวนท่อไว้สักจุดหนึ่ง ซึ่งไม่นานนี้ผมเจอการทำที่แขวนหน้าบ้านที่แปลกตาอันหนึ่ง 

เป็นการรีไซเคิลใช้ฝาลังพลาสติกที่มีรูช่องๆ เป็นเหมือนตาข่ายเอามาแขวนไว้ที่หน้าบ้าน โดยใช้ช่องๆ พวกนี้แทนตะแกรงไว้สำหรับแขวนไม้แขวนเสื้อที่หน้าบ้านนั่นเอง (หรือสิ่งของใดๆ หากผมเข้าใจผิด) ซึ่งเป็นการเลือกของมารีไซเคิลที่น่าสนใจไม่เลว

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive ตุลาคม 2567

ชอร์ตกัน (สาด)

หลายคนอาจไม่ค่อยได้สังเกตว่า ตามร้านรถเข็นในเวลากลางคืนพวกเขาเอาไฟมาใช้จากตรงไหน ส่วนมากก็มักจะขอใช้ไฟจากตามหน้าบ้านหรือหน้าอาคารสถานที่ที่พวกเขาไปจอดค้าขายนี่แหละ กลายเป็นว่าเราอาจจะเห็นพวกหัวปลั๊กโผล่แบบงงๆ ตามมุมเสาหรือรั้วบ้านได้อยู่บ่อยๆ และแน่นอนว่าปลั๊กพวกนี้ต้องระวังน้ำหรืออะไรเข้าเพื่อไม่ให้ชอร์ตนั่นเอง

หนึ่งในวิธีป้องกันคือ การทำกันสาดจิ๋วๆ จากแผ่นฟีเจอร์บอร์ดบนหัวปลั๊กที่โผล่อยู่บนช่องกำแพงรั้วบ้าน เพื่อกันชอร์ตนั่นเอง

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive ตุลาคม 2567

เก้าอี้มาดาม (1)

แน่นอนว่าคอลัมน์นี้ต้องมีภาพเก้าอี้หน้าตาแปลกๆ มาแบ่งปันอยู่เสมอๆ ซึ่งครั้งนี้ก็หนีไม่พ้นภาพเก้าอี้พังๆ ที่มีวิธีซ่อมน่าสนใจอย่างเช่นรูปนี้

เป็นเก้าอี้บาร์ที่โครงขาพิงนั้นพังไปแล้ว จึงใช้แผ่นเหล็กรูมาดามตามขอบเป็นช่วงๆ เพื่อพยุงหลังเอาไว้ เกิดเป็นเก้าอี้หน้าตาแปลกๆ เฉพาะตัวสไตล์แบบเมทัลกอทิกยังไงไม่รู้ คล้ายๆ หลุดมาจากหนังเรื่อง SAW

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive ตุลาคม 2567

เก้าอี้มาดาม (2)

ต่อเนื่องจากรูปก่อนหน้า ในบรรดาวิธีการซ่อมเก้าอี้พลาสติกด้วยเหล็กรูคล้ายๆ กัน คราวนี้ใช้เป็นการดามเหล็กตามรอยแตกเป็นช่วงๆ ตรงกลางแทน คล้ายการเย็บแผลเหมือนกันนะ

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive ตุลาคม 2567

รถเข็น Kickstand

มักจะมีร้านรถเข็นจำนวนหนึ่งที่มีที่จอดประจำเป็นหลักเป็นแหล่ง ซึ่งการถูกจอดทิ้งไว้นานๆ ทำให้เกิดอาการตัวถังทรุดหรือล้อจม แทนที่จะเข็นเอาไปซ่อมหรือทำอะไร เราอาจจะเจอการพยายามเอาของไปช่วยค้ำตัวถังรถให้มั่นคงเสียแทน ไม่ว่าจะด้วยก้อนอิฐหรือวัสดุใดๆ ก็ตาม

ตัวอย่างภาพนี้ เป็นการค้ำรถเข็นด้วยการใช้ตัว Jack Stand ขาตั้งสำหรับยกรถยนต์มาใช้ค้ำตัวรถเข็นเอาไว้ ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่แปลกตาคล้ายๆ รถที่มีขาเป็ดงอกออกมา และดูมีความแข็งแรงทะมัดทะแมง

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive ตุลาคม 2567

อิฐ Around

ตามหน้าร้านขายของใดๆ เรามักจะเจอการตั้งแผงขายของที่เลยออกมาจากขอบหน้าร้านนิดๆ หน่อยๆ เป็นเรื่องปกติ ซึ่งเรื่องที่ดูไม่ปกติก็คือการที่ผู้คนพยายามหาวิธีการเทินหรือหนุนขาให้แผงนั้นๆ ด้วยเทคนิคและวัสดุต่างๆ อยู่เสมอ ซึ่งการใช้ก้อนอิฐเข้าไปเทินนั้นคือวิธีมาตรฐานที่ผู้คนนิยมกันแบบรูปนี้

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive ตุลาคม 2567

นั่งพอดี

ด้วยความที่เหล่าคนขายร้านรถเข็นไม่ได้ยืนขายของตลอดเวลา ทำให้หลายคนมักจะมีเก้าอี้พับหรือเก้าอี้พลาสติกพกติดรถเอาไว้ (ยกเว้นร้านไหนขายดีก็ไม่ค่อยได้นั่ง) หลังๆ นี้เอง ผมพยายามสังเกตวิธีการนั่งของเหล่าพี่ๆ ร้านรถเข็นอยู่เสมอๆ

อย่างการแทรกตัวเข้าไปนั่งแบบพอดิบพอดีบนขอบทางขึ้นอาคารแห่งหนึ่งของร้านรถเข็นรูปนี้ เป็นวิธีการที่ผมสนใจมากเลยทีเดียว เพราะเป็นการเอาเก้าอี้เตี้ยเข้าไปผสานกับขอบตรงนั้นแล้วกลายเป็นความสูงและสัดส่วนของที่นั่งที่ลงตัวเฉยเลย แถมช่วยหลบทางเดินคนได้อีกด้วย 

แม้ว่าจะขาลอยนิดหน่อย แต่ก็ดูออกเลยว่าเจ้าของร้านมักมาจอดตรงนี้บ่อยๆ เลยเลือกที่จะใช้เก้าอี้เตี้ยที่มีสัดส่วนนั่งได้พอดีนั่นเอง (หรือจะเป็นความบังเอิญทั้งหมดก็เป็นได้ แต่ก็น่าสนใจอยู่ดีนั่นแหละ)

Writer & Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.