นอกเหนือจากการเข้ามาของ AI ที่กำลังเป็นเทรนด์ในวงการดีไซน์อยู่ตอนนี้ เรื่องของการ Recycling และ Upcycling ก็ถือว่าเป็นอีกเทรนด์หนึ่งที่ยังคงได้รับความสนใจและถูกพูดถึงในปัจจุบัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมพวก Product Design ที่มักมีการนำเสนอไอเดียการออกแบบที่หนีไม่พ้นเรื่องรักษ์โลก ซึ่งยังไปสอดคล้องกับ Circular Economy ที่เป็นพันธกิจของหลายๆ องค์กรในปัจจุบัน
กลับมาที่คอลัมน์ #ดีไซน์เค้าเจอ ที่ตัวผมมักให้ความสนใจของชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาชีวิตประจำวันโดยชาวบ้านคนธรรมดาริมทาง ผมมองว่าของพวกนี้อาจนับว่าเป็นงาน Product Design ที่ดูบังเอิญจะจัดอยู่ในเทรนด์รักษ์โลกที่เกริ่นมาช่วงต้นได้โดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะมักมีการ Upcycling วัสดุเหลือใช้ ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้พลาสติกเก่า ท่อนท่อพีวีซี เส้นสายไฟเก่า ฯลฯ นำมาประดิษฐ์ตัดแต่งกลายเป็นสิ่งของเครื่องใช้นั่นนี่เต็มไปหมด
ทั้งที่ความเป็นจริงเมื่อเรามองดูก็รู้ทันทีเลยว่า การกระทำสิ่งของเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการสนใจเรื่องรักษ์โลกอะไรเลย แต่เกิดจากเหตุผลว่าอยากประหยัดเฉยๆ และไม่ได้ต้องแคร์หน้าตารูปทรงด้วย ขอแค่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดดั่งใจต้องการ ทำให้วัสดุเหลือใช้อะไรก็สามารถนำกลับมาใช้ได้หมด ไม่ได้มีเกณฑ์มาตรวัดมาตีกรอบ
และเมื่อเราตั้งใจมองให้ลึกขึ้น หลายครั้งการ Upcycling ของข้างทางเหล่านี้มักไม่ได้จบแค่เรื่องวัสดุเหลือใช้ แต่ยังมีการเข้าไปหยิบยืมสิ่งของ องค์ประกอบ หรือโครงสร้างใดๆ ของเมืองที่เริ่มไม่ก่อประโยชน์ในการใช้สอยทางกายภาพ นำมา Upcycling ร่วมกับวัสดุเหลือใช้ได้อีกด้วย เช่น นำรูของเสาไฟมาเสียบด้วยแท่งไม้ม็อปให้กลายเป็นราวตากผ้า หรือใช้ซี่รั้วเหล็กเป็นฐานให้เก้าอี้ออฟฟิศเก่าที่ขาพังแล้วเข้าไปมัดติดไว้ให้พอนั่งได้
สิ่งเหล่านี้มันเริ่มไปไกลกว่าคำว่า Upcycling อีกขั้น โดยที่ผมอยากจะลองเรียกว่าการ ‘Urban Upcycling’ หรือ ‘Upcycling เมือง’ ก็เป็นได้ (แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้อาจผิดกฎเกณฑ์และมีความเทาๆ ที่อาจเหมาะสมหรือไม่ในสายตาแต่ละคน) ซึ่งนี่คือสิ่งที่น่าสนใจมากๆ ที่เราเหล่าดีไซเนอร์ควรสังเกตและลองพิจารณากัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เล่ามาทั้งหมดนี้ถือเป็นเพียงการพยายามครุ่นคิด (ที่อาจจะเรียกว่าหมกมุ่นประมาณหนึ่งของผม) และเป็นการตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมเท่านั้น ซึ่งเหมือนเช่นเคย ผมได้คัดสรรภาพสิ่งของดีไซน์ข้างทางที่พบเจอในเดือนนี้มาให้ทาง Urban Creature โดยเฉพาะ หวังว่าเพื่อนๆ จะได้ครุ่นคิดและตั้งคำถามเกี่ยวกับมันไม่มากก็น้อยนะครับ
Shutter Door + Light Tube Base = Wall Garden Hanger
ว่ากันว่า กระบวนการคิดในการ Upcycling ของเหลือใช้ ต้องเริ่มจากการโยนความหมายของสิ่งของเดิมทิ้งไปก่อน แล้วค่อยมองว่าสิ่งของเหลือใช้นี้สามารถเป็นอะไรได้อีก ซึ่งแน่นอนว่าไม่ง่ายนักที่ใครจะคิดออกทันที
และการที่มีคนสามารถคิดเอารางหลอดไฟเก่ามาเสียบกับช่องประตูเหล็กบานม้วน ให้กลายเป็นที่แขวนกระถางต้นไม้แบบรูปนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก
Plastic Bottle + Plastic Bottle = Rain Gutter Pipe
เวลาที่ต้องการสิ่งของอะไรบางอย่าง บางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าซื้อของใหม่หรือประดิษฐ์ขึ้นมาเอง ทางเลือกไหนคือทางออกที่ดีกว่ากัน เหมือนที่เราได้เห็นท่อน้ำฝนจากกันสาดหน้าบ้านที่ทำขึ้นจากขวดพลาสติกที่นำมาสวมต่อท้ายกันแบบรูปนี้
ข้อดีของการพยายามประดิษฐ์ของขึ้นมาเองนั้น อาจจะเป็นเรื่องของการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์หรือความชอบส่วนตัวก็เป็นได้
Electric Pole + Wood Stick = Mop Dryer Rack
อย่างที่ผมเล่าไปว่า อาจมีคน Upcycling องค์ประกอบหรือโครงสร้างใดๆ ของเมืองที่เริ่มไม่ก่อประโยชน์แล้วให้เราเห็นอยู่บ้าง อย่างเสาไฟฟ้าที่ตั้งเฉยๆ น่าเบื่อๆ อยู่หน้าบ้าน อาจกลายเป็นที่ตากไม้ม็อปถูพื้นได้ เพียงแค่เอาเศษแท่งไม้มาเสียบที่รูเสาไฟแบบรูปนี้
PVC Bathroom Door + Wood Base = Shop Table
บานประตูห้องน้ำบ้านใครหาย แวะมาดูตรงนี้ได้นะ (หยอกๆ)
Electric Outlet Block + Duct Tape = Table Leg Stabilizer
สิ่งหนึ่งที่จะพบเจอบ่อยๆ กับพวกของ Upcycling ข้างทางเหล่านี้คือ วัสดุเหลือใช้ที่นำมาใช้มักจะเป็นของที่เกี่ยวข้องกับอาชีพหรือธุรกิจตรงนั้นๆ อย่างที่รองหนุนขาโต๊ะที่ร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่ง เกิดจากการนำกล่องปลั๊กไฟที่ทิ้งแล้วมามัดเทปรวมกันเป็นก้อน แล้วนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้เฉยเลย
Rubber Hose + Trash Can Lid = Trash Can Handle
บางทีการ Upcycling ที่เราพบเจออาจจะเป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่ปรากฏขึ้น แต่ก็ดูตอบโจทย์และลงตัวทีเดียว อย่างเช่นรูปนี้ที่เป็นการเอาสายยางเก่ามางอแล้วยิงสกรูติดกับฝาถังขยะ กลายเป็นหูหิ้วของฝาถังขยะไปโดยปริยาย ทดแทนของเดิมที่เสียไป
Cut Down Tree + PVC Pipes + LED Bulb = Urban Light Pole
เป็นเรื่องน่าเศร้าของเมืองไทย หลายครั้งต้นไม้ในเมืองมักโดนตัดทิ้งเฉยๆ แบบไม่มีสาเหตุ และก็ไม่มีใครสนใจว่าจำเป็นต้องปลูกต้นไม้ทดแทนใหม่หรือไม่ กลายเป็นว่ามีใครบางคนนำท่อนท่อน้ำพีวีซีเสียบโคนต้นให้เป็นฐานตั้ง แล้วทำเป็นเสาแขวนหลอดไฟตั้งร้านขายอาหารในยามค่ำคืนแทนเสียเลย ก็อย่างว่า เรื่องทำมาหากินนั้นอาจจำเป็นกว่าเรื่องพื้นที่สีเขียวในเมืองนั่นแหละ
Urban Tree = Water Bottle Cabinet
ขณะเดียวกัน สำหรับต้นไม้ในเมืองที่ยังคงเป็นลำต้นอยู่ หลายคนยังได้ใช้ประโยชน์ร่มเงาจากต้นไม้เหล่านั้น ยกตัวอย่าง เหล่าพี่วินมอเตอร์ไซค์ที่จำเป็นต้องหาที่ร่มๆ นั่งรอลูกค้าริมข้างทาง
แต่หลายครั้งเราอาจจะได้เห็นการพยายามหาวิธีใช้ประโยชน์ต้นไม้ที่มากขึ้นกว่าแค่หลบร้อน โดยใช้ช่องระหว่างร่องกิ่งไม้ให้กลายเป็นที่หนีบเก็บขวดน้ำเย็นๆ สำหรับดื่มคลายร้อน รวมถึงกิ่งแง่งเล็กๆ ก็สามารถกลายเป็นที่แขวนถุงขยะได้ด้วยนะ
Metal Grill Fence + Non Legs Office Chair = Urban Chair
ในพื้นที่วินมอเตอร์ไซค์ การประดิษฐ์เก้าอี้นั่งรอลูกค้าของเหล่าพี่ๆ วินฯ มีความน่าสนใจเสมอ ซึ่งเจ้าพวกเก้าอี้วินฯ นี้แหละ เราอาจเห็นการ Urban Upcycling ได้บ่อยๆ อย่างรูปนี้ที่เป็นการเอาเก้าอี้ออฟฟิศที่ขาพังแล้วมามัดรวมร่างกับรั้วเหล็ก ยกให้ลอยจากพื้นในระดับที่สามารถใช้งานนั่งได้อีกครั้ง
Canal Wall Edge + Wooden Platform = Living Area
ต้องขออภัยในคุณภาพของรูปที่ไม่ค่อยดีนัก ผมค้นหาภาพที่เคยถ่ายไว้นานแล้วนี้อยู่เป็นเวลานาน แม้ว่าจะมีคุณภาพน้อยแต่ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย
หากเคยเดินไปตามชุมชนเล็กๆ แคบๆ ในเมือง เราอาจจะได้เจอแนวคูคลองคอนกรีตที่วิ่งผ่าตามพื้นที่บ้านเรือนผู้คน และหลายครั้งตามแนวพื้นที่ข้างคลองพวกนี้มักไม่ค่อยมีประโยชน์ใช้สอยในชุมชนมากนัก ยิ่งในชุมชนเล็กๆ แคบๆ ที่มีพื้นที่สาธารณะน้อยมาก จึงทำให้เรามักเห็นการพยายาม Urban Upcycling พื้นที่ริมคลองเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตประจำวันมากขึ้น
ไม่ว่าจะกลายเป็นพื้นที่วางกระถางต้นไม้ให้เกิดความร่มรื่น หรือการเพิ่มพื้นที่นั่งเล่นสาธารณะให้กับชุมชน โดยการนำแผ่นไม้ไปพาดคลองแบบรูปนี้ ซึ่งแน่นอนอาจไม่ถูกไม่ควรทางกฎหมาย และสิ่งของในรูปนี้ปัจจุบันได้ถูกรื้อทิ้งไปแล้วตามระเบียบ
ถึงอย่างนั้น ปรากฏการณ์ของการพยายาม Upcycling พื้นที่เมืองที่เกิดขึ้นแบบนี้ อาจสะท้อนถึงปัญหาอะไรในเมืองที่ผู้คนกำลังพบเจอก็เป็นได้ และเราเหล่านักออกแบบควรมองเห็นและตระหนักถึงเป็นอย่างยิ่ง