ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา ราคาที่ถูกที่สุดในการรับมือคือการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนให้รวดเร็ว และครอบคลุมประชาชนให้มากที่สุด เพื่อควบคุมการติดเชื้อของผู้คนในประเทศ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล จนทำให้ประเทศไทยรั้งท้ายอันดับ 8 จาก 10 ประเทศกลุ่มอาเซียน ซึ่งเกิดคลัสเตอร์ครั้งแล้วครั้งเล่า มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันสูงถึงวันละหลักพันคน จากเดิมที่เคยมีเพียงหลักสิบ และมีผู้ติดเชื้อสะสมเกือบ 200,000 ในปัจจุบัน
เมื่อป้องกันล่าช้าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง จนส่งผลกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจที่เข้าขั้นวิกฤตถึงขั้นธุรกิจทยอยปิดตัวเป็นใบไม้ร่วง จากเสียงเรียกร้องปนเสียงก่นด่า รัฐบาลจึงออกมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้วยโครงการต่างๆ มากมาย อาจจะฟังดูเหมือนเป็นเรื่องดีที่รัฐเข้ามาช่วยประชาชนยามลำบาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการกู้เงินมหาศาลเพื่อนำกลับมาเยียวยาประชาชน และผลลัพธ์ของเงินจำนวนดังกล่าวก็จะกลายเป็นหนี้สาธารณะที่เราทุกคนต้องก้มหน้าก้มตาใช้หนี้ร่วมกัน
หากนับเพียงเงินเยียวยาของโครงการต่างๆ เราติดหนี้สาธารณะร่วมกันแล้วกว่า 722,100 ล้านบาท แบ่งเป็น เราไม่ทิ้งกัน 390,000 ล้านบาท เราชนะ 210,000 ล้านบาท เรารักกัน 37,100 ล้านบาท บวกกับการเยียวยาระลอกที่ 3 ที่เพิ่มเงินให้อีก 85,500 ล้านบาท
ตัวเลข 7 แสนล้านที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเงินเยียวยา ซึ่งยังไม่นับรวมค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนจากการฉีดวัคซีนล่าช้า ความเสียหายที่เกิดขึ้นมากมายเกินกว่าที่ประเทศจะฟื้นตัวได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน เพราะเราสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือนละกว่า 12,400 ล้านบาท เหตุเพราะเราต้องปิดประเทศ พ่อค้าแม่ค้า คนทำธุรกิจต้องแบกรับมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เสียหาย 37,000 ล้านบาทต่อเดือนเพราะไม่สามารถประกอบกิจการได้แบบเดิม รวมถึงต้องแบกรับความเสี่ยงในการตกงานที่เพิ่มขึ้น จากตัวเลขคนตกงานที่สูงขึ้นกว่าปกติถึง 48,000 คนต่อเดือน
วันเวลาที่ผ่านไป เป็นเหมือนชนวนระเบิดที่คอยสร้างความเสียหายให้กับทุกคน หากตัวเลขการรับวัคซีนของประชาชนในประเทศยังล่าช้าตัวเลขความเสียหายก็จะเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อเราลองย้อนกลับไปดูว่าถ้ารัฐบาลเล็งเห็นถึงปัญหา และจัดลำดับความสำคัญที่ถูกต้อง ไม่เสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างทันท่วงที ประเทศของเราคงรับมือกับการแพร่ระบาดได้ดีกว่านี้