พิธีกรชื่อดัง จอห์น-วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ ถูกกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ แจ้งข้อหา ‘หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา’ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัว “ฮ่าๆๆๆ ยึดอำนาจเข้ามากระแดะอยากบริหารประเทศ แต่จริงๆ คือเข้ามาเอาผลประโยชน์อะแหละ แล้วพอประเทศฉิบหายก็มาตัดพ้อ กระจอกฉิบหาย แต่เหี้ยมากกว่าแหละ ไอ้พวกคนยังเชียร์อยู่มึงไม่โง่ก็เหี้ยแหละ”
เช่นเดียวกับแรปเปอร์วัย 19 มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล ที่แสดงทรรศนะเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลในสถานการณ์โควิด-19 บนทวิตเตอร์ ซึ่งผู้แจ้งความร้องทุกข์ว่าเป็นถ้อยคำไม่สุภาพ ก็ต้องเสียค่าปรับ 2,000 บาท
ทราบกันดีว่าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 ระบุว่า “ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และ มาตรา 326 กำหนดว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิด ฐานหมิ่นประมาท” แต่เอ๊ะ! รัฐบาลไม่ใช่ ‘บุคคล’ หรือ ‘นิติบุคคล’ นี่หน่า เป็นผู้เสียหายในคดีนี้ได้ด้วยเหรอ? แล้วการใช้คำหยาบวิจารณ์รัฐ มันผิดฐานหมิ่นประมาทจริงอะ?
“เราจะพูดอะไรกับรัฐบาลก็ได้ จะโจร ฆาตกร ห่วย เพราะหาวัคซีนเกรดเลวมาให้ประชาชนฉีด ซึ่งก็มีประชาชนล้มตายจริงๆ หรือเผาพริกเผาเกลือ ขับไล่ให้ออกไป ทั้งหมดล้วนเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สำหรับการดำเนินงานของรัฐบาล ซึ่งทำได้ ตราบใดที่แก่นของมันคือพูดเพื่อสาธารณประโยชน์ของตนเองและผู้อื่น ต้องได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย ไม่ถือเป็นความผิดหมิ่นประมาท แต่หลายครั้งรัฐก็พยายามยุติการแสดงความคิดเห็นของประชาชน”
ข้างต้นคือเสียงยืนยันว่าไทยแลนด์น่ะแดนประหลาดจากปาก คอรีเยาะ มานุแช ทนายความ และนายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ผู้เรียกร้องความยุติธรรมให้คดี SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) หรือคดีปิดปากประชาชน เพื่อยับยั้งการแสดงความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการของรัฐบาล หนึ่งในนั้นคือคดีฐานหมิ่นประมาท
ทนายสาวสรุปให้ฟังว่า การหมิ่นประมาทคือการใส่ความต่อบุคคลที่ 3 ซึ่งอาจจะเป็นความจริง หรือเป็นความเท็จก็ได้ และทำให้คนที่ถูกใส่ความได้รับความเสียหาย ดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง โดยผู้เสียหายต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในฐานะคนธรรมดา หรือเป็นนิติบุคคล แต่ตัวรัฐบาล หรือคณะรัฐบาล ‘ไม่ใช่’ บุคคลตามกฎหมาย ดังนั้นจะมาเป็นผู้เสียหายเหมือนกันไม่ได้
แต่ไม่ใช่จะก่นด่าได้ทุกเรื่องนะ กฎหมายก็มีข้อยกเว้นที่ควรขีดเส้นใต้ไว้หนักๆ ว่าการวิพากษ์วิจารณ์ของเราต้องเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง หรือของผู้อื่นในเจตนาสุจริต ซึ่งระบุในมาตรา 329 (3) “พูดติชมอันเป็นวิสัยของประชาชนทั่วไปที่สามารถกระทำได้ เช่น เรื่องกิจการบ้านเมือง กิจการสาธารณะหรือพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทเท่านั้น” ทว่าถ้าประชาชนก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของรัฐจะผิดฐานหมิ่นประมาททันที เช่น ไปกล่าวร้ายใส่คนในคณะรัฐ ต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว ภรรยา หรือลูกสาว แอบอัดคลิปวิดีโอในที่ส่วนตัว หรือเขียนภาพที่ทำให้บุคคลในภาพรู้สึกอับอาย รู้สึกว่าเห็นภาพนี้ทำให้เขาถูกดูหมิ่นเกลียดชังก็เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ (ภาพที่ไม่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ)
“แต่ถ้าเราแอบบันทึกภาพเจ้าหน้าที่กระทำผิดจรรยาบรรณกับเรา แล้วเจ้าหน้าที่บอกว่าคุณทำให้ผมได้รับความเสียหาย ดูหมิ่น เกลียดชัง แบบนี้เจ้าหน้าที่จะมาบอกว่าหมิ่นประมาทไม่ได้ เพราะเป็นการบันทึกเพื่อเป็นหลักฐานในการปกป้องตัวเองจากการถูกกระทำโดยมิชอบ”
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นว่าการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแบบไหนที่ผิดฐานหมิ่นประมาท คอรีเยาะ ยกตัวอย่างไว้ให้ดังนี้
ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท : “การที่ประชาชนบอกว่าพวกคุณเป็นข้าราชการมาตลอดชีวิต เก็บเงินกี่ปีเหรอถึงจะมีเงินเท่านี้ ทำไมมีทรัพย์สินรวมกันตั้งหลายร้อยล้านบาท แล้วตั้งคำถามว่า นี่โกงไหม อันนี้ไม่ผิด เพราะรัฐมนตรีมีหน้าที่แจงบัญชีทรัพย์สินของตัวเองว่าได้มาอย่างไร ก่อนและหลังการเป็นรัฐมนตรีมีเพิ่มขึ้น หรือลดลงอย่างไร”
ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท : “รัฐบาลฆาตกร เพราะมีประชาชนล้มตายจากโควิด-19 นั่นแปลว่ารัฐบาลล้มเหลวในการบริหารจัดการวัคซีนที่ดีให้ประชาชนทันท่วงที ประชาชนได้รับอันตรายต่อสุขภาพ และต่อชีวิต รัฐบาลก็เลยเป็นฆาตกร”
ผิดฐานหมิ่นประมาท : “นาย B ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะรัฐ เคยฆ่าหมกศพ เป็นฆาตกร แอบไปมีชู้กับนาง C ถือเป็นความผิดหมิ่นประมาท เพราะว่าไปกล่าวหาเรื่องที่ไม่ใช่ประโยชน์สาธารณะ”
“เราไม่อยากจะบอกว่าคำนี้ใช้ได้ คำนี้ใช้ไม่ได้ มันไม่มีอยู่จริง ภาษามันดิ้นตามยุคสมัย ปรับเปลี่ยนตามบริบทสังคมไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนกับยุคนี้คำหยาบก็ต่างกัน เราด่ารัฐว่าเหี้ย ถึงเหี้ยจะเป็นคำหยาบ แต่คำหยาบไม่ใช่ความผิดหมิ่นประมาท เพราะคำว่าเหี้ยมันเป็นแค่คำไม่สุภาพ และรัฐบาลไม่ใช่เหี้ย (ตัวเงินตัวทองจริงๆ) รัฐบาลไม่มีทางได้รับความเสื่อมเสีย หรือว่าเสียหาย ถูกลดทอนเกียรติยศอะไรทั้งนั้น เพราะไม่ใช่บุคคล เว้นแต่เราไปด่าในเรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง
“ดังนั้น เรายืนยันว่าคำหยาบ ไม่ควรถูกแจ้งเป็นหมิ่นประมาท และการที่หลายเคสยังถูกแจ้งหมิ่นประมาทอยู่ ก็เพราะพนักงานสอบสวนตัดสินไปเองแล้วว่าคำนี้หยาบ คำนี้ไม่สุภาพ ซึ่งมันไม่ใช่หน้าที่ของคุณ
“หน้าที่ของคุณคือสอบสวนข้อเท็จ และข้อจริง เท่านั้น” คอรีเยาะกล่าว