ในช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ที่ผ่านมา เราเชื่อว่ามีคนในกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยเลือกเดินทางกลับภูมิลำเนาที่ต่างจังหวัดกัน อย่างที่เห็นภาพร้านรวงปิดทำการ ถนนในกรุงเทพฯ โล่งว่างตามสื่อต่างๆ
ที่เป็นแบบนั้น เพราะไม่ว่าใครที่อยากมีคุณภาพชีวิตดีๆ ด้วยการเรียนในสถานศึกษาที่มีคุณภาพ หรือทำงานได้ค่าตอบแทนสูงๆ ก็มักต้องตัดสินใจเดินทางจากบ้านที่ต่างจังหวัดเข้ามาในกรุงเทพฯ
ในปี 2563 สำนักงานสถิติแห่งชาติได้เสนอข้อมูลประชากรแฝงกลางวัน (ผู้ที่เข้ามาทำงานในจังหวัดที่ตนเองไม่ได้อาศัยอยู่) ในกรุงเทพฯ ว่ามากถึง 46.3 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนทั่วประเทศ ส่วนประชากรแฝงกลางคืน (ผู้ที่อาศัยอยู่ประจำในจังหวัดหนึ่ง โดยไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่อาศัยอยู่ประจำ) ในกรุงเทพฯ ก็มีจำนวนถึง 2.35 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 33.4 ของจำนวนทั้งประเทศ
ภาพที่เห็นในช่วงวันหยุดยาวและสถิติเหล่านี้ ล้วนสะท้อนถึงความเจริญที่กระจุกตัวอยู่ไม่กี่ที่ ทำไมสถานศึกษาที่มีคุณภาพ งานดีๆ สาธารณูปโภคที่ครบครัน และความสร้างสรรค์ถึงไม่อยู่ใกล้บ้านเราบ้าง นี่น่าจะเป็นคำถามที่คนต่างจังหวัดเฝ้าสงสัยตลอดมา
แม้ว่าเราจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล ไปในปี 2564 แล้ว แต่สุดท้ายการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบาย หรือทิศทางของงบประมาณยังอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลส่วนกลาง ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือตำแหน่งอื่นที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลางหรือส่วนราชการอยู่ดี
เมื่อวันข้าราชการพลเรือน 1 เมษายนที่ผ่านมา ‘คณะก้าวหน้า’ จึงเริ่มต้นผลักดันแคมเปญ ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ เป็นการล่ารายชื่อและรณรงค์เพื่อยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเพิ่มอิสระการบริหารจัดการในพื้นที่ท้องถิ่นมากขึ้น
ถ้าการผลักดันนี้สำเร็จ เราอาจได้เห็นบ้านเกิดหรือพื้นที่ที่ตัวเองคุ้นเคยมีการพัฒนาขึ้น มีขนส่งสาธารณะ มีสาธารณูปโภคพื้นฐานเพียงพอ มีความเจริญทัดเทียมหัวเมืองใหญ่ๆ โดยมาจากความต้องการและบริหารจัดการของคนในพื้นที่จริงๆ ก็เป็นได้
เพราะอยากเห็นทุกพื้นที่ในประเทศนี้เบ่งบานมาตลอด เราจึงนัดพูดคุยถึงความตั้งใจในการปลดล็อกท้องถิ่นด้วยการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง กับ ปิยบุตร แสงกนกกุล ตัวแทนคณะก้าวหน้าที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้
“ถ้าปลดล็อกกุญแจที่ล็อกอำนาจของท้องถิ่นไว้ ประเทศเราจะไปได้ไกลเลย” เขาเน้นย้ำกับเราหลายต่อหลายครั้งในบทสนทนาครั้งนี้
อยากให้เล่าว่าการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของไทยเริ่มต้นมาได้ยังไง
ระบบการบริหารราชการของไทยแบ่งเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยส่วนกลางมีหน้าที่ในการบริหารจัดการทุกเรื่องผ่านกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ส่วนภูมิภาคเป็นคนของส่วนกลางที่ส่งไปทำงานในพื้นที่จังหวัดและอำเภอต่างๆ ส่วนท้องถิ่นคือคนในท้องถิ่นเขาเลือกผู้บริหารและสภามาจัดการกันเอง
หลายประเทศก็บริหารแบบนี้ เช่น ฝรั่งเศส หรือบางประเทศมีส่วนกลางแล้วมาท้องถิ่นเลย เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น ของไทยที่เห็นหน้าตาเป็นขวานทอง มันเพิ่งมารวมกันสร้างเป็นรัฐสมัยใหม่ตอนรัชกาลที่ 5 ก่อนหน้านั้นเป็นดินแดนแยกกันอยู่ เรามามีแผนที่ชัดเจนว่าเป็นราชอาณาจักรสยามที่เกิดจากการรวมศูนย์อำนาจในช่วงปี 2435 ดังนั้น การบริหารแผ่นดินส่วนกลางมันจึงเริ่มก่อน
ทีนี้พออยู่ที่เมืองหลวงอย่างเดียว คุณไม่มีทางรู้หรอกว่าจังหวัดอื่นๆ เขาทำอะไร จะดูแลเขาได้ยังไง ส่วนกลางเลยใช้วิธีการส่งคนไปนั่งตามจังหวัดต่างๆ กลายเป็นการบริหารส่วนภูมิภาค จนกระทั่งมีเสียงเรียกร้องในช่วงประมาณปี 2530 ว่ามีแค่ส่วนกลางกับภูมิภาคไม่เพียงพอ ต้องให้มีส่วนท้องถิ่นที่คนในจังหวัดต่างๆ เลือกคนของเขาขึ้นมาบริหารจัดการเองด้วย เรียกร้องอยู่นานจนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทำเรื่องการกระจายอำนาจในหมวด 9 การปกครองส่วนท้องถิ่น
มีเกณฑ์ใดบ้างที่ใช้วัดว่านี่คือการปกครองที่กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นแล้ว
วิธีที่จะชี้วัดว่าคุณมีการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นการกระจายอำนาจแล้วจริงๆ หลักๆ ต้องวัดจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบจ. เทศบาล อบต. ต้องมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกออกจากกระทรวง และต้องมีอำนาจหน้าที่อิสระในการจัดทำบริการสาธารณะในการบริหารราชการในท้องถิ่น มีอิสระในเรื่องบุคลากร และมีอิสระทางงบประมาณในการจัดการงานของตัวเองได้ โดยผู้บริหารและสภาต้องมาจากการเลือกตั้งของคนในท้องถิ่น
โดยท้องถิ่นที่ว่านี้ไม่ใช่มลรัฐเหมือนในสหรัฐอเมริกาหรือเยอรมนี แต่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐเดี่ยว เพื่อไม่ให้เรากลายเป็นสหพันธ์ ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นยังคงมีอยู่ โดยเรียกว่าความสัมพันธ์แบบกำกับดูแล หมายถึงท้องถิ่นมีอิสระในการทำอะไรก็ได้ แต่ส่วนกลางจะกำกับไม่ให้ทำเกินกฎหมาย ไม่ทำความเสียหายต่อภาพใหญ่ทั้งประเทศ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็พยายามทำเรื่องนี้แต่ไม่สำเร็จ
ที่ผ่านมากระจายอำนาจไม่สำเร็จเพราะอะไร
เพราะมีปัญหาเรื่องแผนในการถ่ายโอนภารกิจงานจากส่วนกลางมาไว้ที่ท้องถิ่น เมื่อถึงเวลาจริงไม่มีการถ่ายโอนงานก็ไม่มีมาตรการมาคาน บวกกับการตีความเรื่องอำนาจหน้าที่ที่ทับซ้อนกันระหว่างส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น ซึ่งเมื่อส่วนกลางมีงบประมาณ งาน และบุคลากรมากกว่า ก็ทำให้มีอำนาจมากกว่าไปด้วย ปัญหาตามมาคือส่วนกลางไปกำหนดอำนาจของท้องถิ่นว่ามี 1 – 10 จะทำนอกเหนือจากนี้ไม่ได้ ท้องถิ่นก็ไม่มีอำนาจทำ
มันยิ่งเลวร้ายเข้าไปอีกเมื่อ คสช. มายึดอำนาจ เพราะจากเดิมที่เคยกระจายอำนาจแบบมีปัญหาบ้างแต่พอถูไถไปได้ คสช. โผล่มาเอา ม.44 ไปปลดนายกท้องถิ่นเต็มไปหมด และยังออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้อำนาจข้าราชการส่วนภูมิภาคเข้าไปแทรกแซงการทำงานของท้องถิ่นจนเขาขยับทำอะไรไม่ได้เลย พอเจอรัฐประหาร 22 พฤษภาคม ปี 2557 การกระจายอำนาจก็ถอยหลังลงคลอง กว่าจะได้กลับมาเลือกตั้งท้องถิ่นก็ปี 2563 – 2564 แล้ว
ส่วนกลางต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นอย่างไรถึงจะมีประสิทธิภาพที่สุด
ผมมีข้อเสนอว่า ต้องอธิบายวิธีการจัดระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองท้องถิ่น คือปรับวิธีคิดให้ท้องถิ่นเป็นตัวหลัก และส่วนกลางเป็นตัวเสริม หมายความว่าให้ท้องถิ่นทำการบริการสาธารณะภายในเขตพื้นที่ทุกเรื่อง เว้นเฉพาะบางเรื่องให้ส่วนกลางทำ เช่น การต่างประเทศ ศาล การคลัง ระบบเงินตรา ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
ถ้าท้องถิ่นทำแล้วรู้สึกว่าไม่มีศักยภาพมากพอที่จะทำ ก็ขอให้ส่วนกลางช่วยได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ อำนาจหลักและภารกิจจะอยู่ที่ท้องถิ่น ส่วนกลางเป็นแค่ตัวเสริม มันทำให้ส่วนกลางมีเวลาไปคิดเรื่องระดับชาติ ไม่ต้องมานั่งแก้ปัญหาหยุมหยิมระดับท้องถิ่น เช่น น้ำไม่สะอาด ขนส่งมวลชน การจัดการขยะ เป็นต้น เราให้ อบจ. หรือเทศบาลมีอำนาจทำไปเลย
นึกภาพแผนที่ประเทศไทย ราชการส่วนกลางมีกระทรวงต่างๆ มากมายอยู่ที่เมืองหลวง แต่ละกระทรวงส่งคนของตัวเองไปตามจังหวัดต่างๆ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด เกษตรจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด ทางหลวงชนบท ฯลฯ เท่ากับว่าในจังหวัดหนึ่งๆ จะมีส่วนราชการของส่วนกลางมาตั้งไว้เต็มไปหมด แต่แบบใหม่ที่ผมเสนอ ภาพแผนที่ประเทศไทยเหมือนเดิม แบ่งเป็นรายจังหวัด แต่เราจะให้อำนาจ อบจ. เทศบาล อบต. ทำได้ทุกเรื่องในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งมันจะเปลี่ยนหน้าตาของการบริหารราชการแผ่นดินไทยทันที
คนไทยได้ยินแนวคิดการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมาตลอด แต่ทำไมถึงไม่เคยเกิดขึ้นจริง
ข้อหาหนึ่งที่ฝ่ายสนับสนุนการกระจายอำนาจโดนโต้แย้งทุกครั้งคือ การอ้างว่าการกระจายอำนาจเท่ากับกระจายการโกง กลัวมีคอร์รัปชัน กลัวนักการเมืองท้องถิ่นผูกขาด กลัวระบบมาเฟียตระกูลการเมืองประจำจังหวัด ถ้าคุณไปดูสถิติคอร์รัปชันจริงๆ จะเห็นว่าตัวเลขของท้องถิ่นเยอะกว่าราชการส่วนกลางก็จริง แต่เพราะมันมี 7,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ ในขณะที่ส่วนกลางมีกระจุกเดียว
ตรงกันข้าม ถ้ากระจายอำนาจออกไปให้เต็มที่ คอร์รัปชันจะยิ่งลดลงเพราะอำนาจไปอยู่ในพื้นที่ขนาดเล็กๆ มีคนจับตาตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ดังนั้น ผมไม่เชื่อว่ากระจายอำนาจเท่ากับกระจายการโกง ผมไม่เชื่อว่าราชการส่วนท้องถิ่นโกงเยอะกว่าส่วนกลาง เราต้องเริ่มต้นกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นตั้งแต่วันนี้ ค่อยๆ เรียนรู้กันไป มิฉะนั้น การเมืองท้องถิ่นจะเปลี่ยนไม่ได้ ก็วนแบบนี้เหมือนเดิม
สรุปว่าปัญหาของการบริหารจัดการส่วนท้องถิ่นตอนนี้ หลักๆ มาจากอำนาจส่วนกลาง ถูกต้องไหม
มันเหมือนมีก้อนหินทับอยู่ทุกพื้นที่ ทุกเทศบาล ทุกจังหวัด ถ้าเราเอาหินก้อนนี้ออกได้ ดอกไม้จะเติบโตบานสะพรั่งเป็นดอกไม้ร้อยพันสีขึ้นมาทันที
ถ้าไปดูวิธีการกระจายอำนาจของคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเห็นว่าเป็นการกระจายอำนาจเชิงเครือข่ายอุปถัมภ์ คือให้เลือกนายกท้องถิ่นก็จริง แต่นายกท้องถิ่นที่เลือกมาไม่มีงาน งบประมาณ อำนาจ บุคลากรที่เพียงพอ ทำให้ต้องไปประสานขอเงินจากกระทรวงทบวงกรมนั้นนี้
แปลว่าต้องไปอยู่ภายใต้อำนาจคนอื่นเขา จะโต้แย้งใครก็ไม่ได้เดี๋ยวไม่ได้เงินหรือโดนเอาอำนาจมาปลดจากตำแหน่ง นายกท้องถิ่นประเทศไทยเลยต้องเอาสมองมากกว่าครึ่งไปคิดถึงกฎระเบียบที่ขวางอยู่เต็มไปหมด ลงเอยด้วยการกลายเป็นนักประสานสิบทิศ เพราะไม่มีเงินเพียงพอที่จะทำโครงการอะไรได้ด้วยตัวเอง
ถ้าเปลี่ยนไปทำแบบที่ผมบอก คือให้อำนาจกับนายกท้องถิ่นเต็มที่ เขาจะไม่ต้องเสียสมองไปกับการประสานงาน อยากทำอะไรก็ทำ ขณะเดียวกัน ถ้าทำไม่ดีประชาชนก็มีสิทธิ์เข้าชื่อถอดถอน หรือรอ 4 ปีเลือกตั้งใหม่ได้
ผมต้องการอธิบายว่าทำไมเราถึงไม่ทำให้มันตรงไปตรงมา คนกลุ่มนี้เขาต้องอยู่กับประชาชนในพื้นที่ตลอด ทำไมไม่ให้อำนาจเขาไปรับผิดชอบ พอถึงเวลาอยากช่วยประชาชนไม่มีอะไรในมือเลยแต่ก็ต้องช่วย เพราะมาจากการเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งกลับมีอำนาจ ทำงานให้ส่วนกลาง ไม่ได้รับผิดชอบประชาชนเท่ากับคนที่ลงเลือกตั้ง
นี่เป็นเหตุผลให้คุณเสนอยุบส่วนภูมิภาค แล้วกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นแทนใช่ไหม
ประเด็นว่าจะมี-ไม่มีราชการส่วนภูมิภาคนั้น ต้องตั้งคำถามก่อนว่าถ้ามีแล้วจะให้ทำอะไร และลองดูตัวแบบของหลากหลายประเทศด้วยว่าบางประเทศไม่มีส่วนภูมิภาคก็อยู่ได้ ส่วนประเทศที่มีเขาให้อยู่เพื่ออะไร ผมมองว่าถ้าอำนาจไปอยู่ที่ท้องถิ่นหมดแล้ว ไม่เหลืออะไรให้ส่วนภูมิภาคทำแล้วก็ไม่ต้องมี คราวนี้ลองไปสำรวจว่าต่างประเทศที่มีรูปแบบของรัฐเหมือนเราอย่างอังกฤษกับญี่ปุ่น จะเห็นว่ามีส่วนกลางแล้วท้องถิ่นเลย ไม่มีส่วนภูมิภาค แปลว่าที่อื่นๆ เขาก็ทำกัน
แต่อย่างฝรั่งเศสที่กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น และยังมีส่วนภูมิภาค เพราะต้องการให้ทำบางเรื่องที่เป็นอำนาจโดยแท้ของส่วนกลางในรูปแบบของการอำนวยความสะดวกให้ทุกจังหวัด ยกตัวอย่าง การขอใบอนุญาตพำนักอาศัย การตัดสินใจให้สัญชาติใคร เป็นต้น ขณะเดียวกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ทำหน้าที่เป็นมือประสานสิบทิศให้แต่ละท้องถิ่นที่เมื่อเป็นอิสระแล้วทำงานแยกๆ กัน อาจเกิดความขัดแย้ง หรือกระทั่งทำงานแล้วทิศทางสะเปะสะปะ ไม่สอดคล้องกัน นี่คือบทบาทส่วนภูมิภาคของฝรั่งเศสที่ยังหลงเหลืออยู่
คุณคิดว่าอะไรทำให้คนบางกลุ่มไม่ซื้อแนวคิดการกระจายอำนาจแบบนี้
ผมคิดว่ามี 2 ข้อหลักๆ หนึ่งคือ ไม่เชื่อว่าองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นจะทำได้ ซึ่งผมว่าก็ต้องพิสูจน์กัน ถ้าคุณให้เงินให้งานเขาจริงๆ ทำไมเขาจะทำไม่ได้ เขารู้ปัญหาดียิ่งกว่าคนส่วนกลางแน่นอน เพราะเขาอยู่ในพื้นที่นั้น และถ้าเขาทำงานไม่ดี ประชาชนก็ตัดสินเขาผ่านการเลือกตั้งทุกครั้ง ขนาดทุกวันนี้มีอุปสรรคมากมาย ยังมีตัวอย่างที่ชัดเจนเลยว่าท้องถิ่นหลายพื้นที่เขาทำได้
อีกข้อคือ เรื่องของบุคลากรที่กังวลใจว่าถ้ายกเลิกส่วนภูมิภาคไปแล้วเขาจะตกงานหรือเปล่า จะอยู่ยังไง ซึ่งผมอยากอธิบายว่าการปฏิรูปโครงสร้างใหญ่ของประเทศใดๆ ก็ตาม ต้องมีผู้ได้รับผลกระทบแน่ๆ อยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นจะอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ ดังนั้น เราต้องทำให้ผู้ได้รับผลกระทบเข้าใจและรับได้ ด้วยการมีระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านให้ตัดสินใจว่าจะโอนย้ายไปอยู่ท้องถิ่น หรือตัดสินใจ Early Retire มันมีระบบพวกนี้อยู่ ไม่ใช่ว่าอยากจะยุบส่วนภูมิภาคแล้วดีดนิ้วยุบทันที ต้องมี Action Plan อยู่แล้ว ส่วนคนรุ่นใหม่ที่อยากเข้าสู่ระบบราชการ ถ้ารู้ล่วงหน้าว่าภายในกี่ปีจะไม่มีส่วนภูมิภาคแล้ว เขาก็จะตัดสินใจใหม่ได้ว่าจะไปทำงานส่วนท้องถิ่นแทนดีไหม เป็นต้น เวลาบอกว่าจะเปลี่ยนโครงสร้างใหญ่ๆ มันไม่มีวันเสร็จชั่วข้ามคืน ต้องทำให้คนรู้ล่วงหน้า เปิดรับฟังความคิดเห็น สร้างช่วงเวลาในการเปลี่ยนผ่าน
ผมเชื่อว่าทั้งหมดนี้ผมอธิบายและสร้างความเข้าใจได้ แต่สิ่งที่ผมกังวลคือ วิธีคิดของฝ่ายอนุรักษนิยมที่เชื่อและอยากตรึงให้ประเทศไทยเป็นแบบนี้ตลอดกาล คนพวกนี้คงมองระยะยาวออกว่าถ้าให้กระจายอำนาจอย่างเต็มพิกัด พวกเขาจะไม่มีแขนขาในการยึดประเทศไทยอีกแล้ว ถ้าอำนาจไปอยู่ที่ท้องถิ่นเป็นหลัก ส่วนกลางเหลืออยู่ไม่กี่เรื่อง ผมว่ารัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นง่ายๆ
มันจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนไหม ถ้าท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารจัดการตัวเองเต็มที่
แคมเปญปลดล็อกท้องถิ่นที่คณะก้าวหน้ารณรงค์แก้ไข ได้มีการเขียนกันไว้เรียบร้อยแล้วว่า ทั้งหมวดนี้อยู่ภายใต้มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ นั่นคือยืนยันว่าประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว เป็นอันหนึ่งอันเดียวจะแยกมิได้ ในทางกฎหมายแปลว่ามันไม่มีทางเป็นการแบ่งแยกดินแดนได้
ขณะเดียวกัน ความคิดทางการเมืองที่อยากแบ่งแยกดินแดนก็คงมี แต่ไม่ใช่ส่วนใหญ่ ผมคิดว่าวิธีการจะจัดการปัญหานี้ต้องไม่ใช่การรวมศูนย์แล้วบังคับคนที่คิดแบบนี้ ตรงกันข้าม โมเดลการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นแบบที่เราเสนอต่างหากที่จะทำให้คนที่รู้สึกว่าเขาถูกกดทับอยู่ได้มีพื้นที่มากขึ้น เป็นการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจซึ่งกันและกัน
ถ้ากระจายอำนาจให้ท้องถิ่นได้อย่างสมบูรณ์จริงๆ คุณคิดว่าประเทศไทยจะเป็นอย่างไร
ในแง่การเมือง บทบาทของรัฐบาล ส.ส. รัฐมนตรีจะลดลง การเมืองภาพใหญ่จะกลายเป็นเรื่องระดับชาติ ไม่ใช่การมาคิดเรื่องฉีดยุงลาย ทำหมันหมา ทำถนน ท้องถิ่นก็ลุยทำเรื่องเล็กๆ ในพื้นที่ตัวเอง ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้จริงๆ มีการแบ่งงานชัดเจนระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น
พอเป็นแบบนี้ก็จะเกิดการพัฒนาความเจริญอย่างเต็มที่ เพราะกุญแจที่ล็อกอำนาจของคนในพื้นที่ที่มาจากการเลือกตั้งไว้มันได้ถูกปลดล็อกออกไปแล้ว ทีนี้มันจะส่งผลต่อเรื่องพลังทางเศรษฐกิจ พูดให้เห็นภาพคือ ทรัพยากร สมอง ความสร้างสรรค์ที่ถูกทับและอัดรวมไว้ที่ตรงกลาง จะระเบิดพลังกระจายออกไปยังพื้นที่ต่างๆ
อีกอย่างคือ คนน่าจะเข้าเมืองหลวงน้อยลง เพราะเมื่องบประมาณอยู่ที่ท้องถิ่นจริง ธุรกิจ งาน การศึกษา ขนส่งมวลชน ถนนหนทาง อยู่ที่บ้านเขาหมดแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ หนำซ้ำอาจเกิดโครงการ ความสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่มาจากคนในพื้นที่ นอกจากเป็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นบริหารจัดการตัวเองแล้ว การทำแบบนี้คือการกระจายความเจริญออกไปด้วย
สุดท้ายนี่คือการสร้างประชาธิปไตยจากรากฐาน คนจะรู้สึกว่าประชาธิปไตยกินได้ มันสัมพันธ์กับปากท้อง เพราะถ้าเราเลือกผู้บริหารท้องถิ่นที่มีฝีมือ ท้องถิ่นก็จะเจริญขึ้น ถ้าเราหมั่นตรวจสอบผู้บริหารท้องถิ่นในพื้นที่เล็กๆ ของเรา เขาก็จะทุจริตไม่ได้ ถ้าเราสร้างระบบการมีงบประมาณอย่างมีส่วนร่วม นายกท้องถิ่นเอางบประมาณมาทำเป็นโครงการให้ประชาชนเลือกว่าอยากนำเงินก้อนนี้ไปทำอะไร คนก็จะกระตือรือร้นขึ้นมา
เวลาบอกให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองระดับชาติมันฟังดูไกลตัว สำหรับบางคนเขาไม่อยากยุ่งกับการเมืองใหญ่ๆ แต่ถ้าประชาธิปไตยอยู่ที่หน้าบ้านเขา เป็นการเมืองในระดับบ้านใกล้เรือนเคียง มันย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่นอน
อ่านรายละเอียดข้อเสนอ และพิจารณาลงชื่อเสนอกฎหมาย ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ ได้ที่ : progressivemovement.in.th/campaign-decentralization/