‘ฟ้ามืดทีไรมันเหงาทุกคืน’ ท่อนหนึ่งในเพลงฟ้ามืดทีไร ของวง Dept ว่าไว้อย่างนั้น อย่างที่คุ้นชินกันว่า ความมืดมักถูกยึดโยงกับสิ่งไม่ดี ชั่วร้าย ความเศร้าซึม หรือความเหงา แต่แท้จริงแล้วความมืดมิดยามค่ำคืนกลับมอบสุนทรียศาสตร์ที่ไม่มีสิ่งไหนสามารถแทนที่ได้
แต่รู้หรือไม่ว่า อุปสรรคใหญ่ที่คอยขัดขวางความมืดคือมลภาวะทางแสงยามค่ำคืน ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้าม โดยที่ไม่รู้ถึงผลกระทบต่อธรรมชาติ ทั้งต่อสัตว์ป่าและระบบนิเวศในตอนกลางคืน แน่นอนว่ารวมถึงการศึกษาด้านดาราศาสตร์ที่จำเป็นต้องพึ่งพาความมืดมิดในการสังเกตธรรมชาติและดวงดาว จนนำไปสู่การจัดตั้ง ‘เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด’ ด้วย
ในประเทศไทยรวมถึงทั่วโลกเริ่มมีการพูดถึงและเพิ่มจำนวนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดมากขึ้นทุกปี คอลัมน์ Curiocity จึงอยากพาทุกคนลดแสงไฟ มุ่งหน้าสำรวจความมืดมิดถึงที่มาของเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ความสำคัญของความมืดต่อเมือง และตัวอย่างนโยบายการจัดการแสงสว่างจากทั่วโลก
เมื่อเมืองสว่างเกินไปจนลดความมืดของธรรมชาติ
แสงรถ แสงไฟจากตึกรามบ้านช่อง และการใช้งานแสงสว่างด้านอื่นๆ ของมนุษย์ ล้วนเติบโตขยายตามขนาดของเมืองและเทคโนโลยีในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 จนเกิดการใช้แสงสว่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดมลพิษทางแสงที่ลดความมืดของท้องฟ้าในยามค่ำคืนตามมา ทั้งเรื่องเล่าจากดวงดาว ทางช้างเผือกที่พาดผ่านในยามค่ำคืน และจินตนาการในอวกาศอันไกลโพ้นล้วนค่อยๆ ถูกลบหายไปพร้อมกับแสงสว่างจ้าที่บดบังความสวยงามในธรรมชาติ มิหนำซ้ำแสงเหล่านี้ยังรบกวนพฤติกรรมของสัตว์ป่าและการนอนหลับของมนุษย์อีกด้วย
แต่ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจมลภาวะทางแสงเสียก่อน ‘มลภาวะทางแสง’ คือแสงสว่างที่ปรากฏให้เห็นบนท้องฟ้าในเวลากลางคืน ซึ่งเกิดจากการติดตั้งแหล่งกำเนิดแสงอย่างไม่ถูกต้อง ไม่ได้ควบคุมปริมาณและทิศทางให้เหมาะสมกับบริเวณที่จำเป็นต้องใช้ ทำให้แสงเหล่านี้ส่องสว่างไปบนท้องฟ้า ส่งผลให้ท้องฟ้าที่เคยมืดมิดกลับไม่มืดสนิทอย่างที่ควรจะเป็น
เราสามารถแบ่งมลพิษทางแสงออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ แสงเรืองบนท้องฟ้า แสงจ้าบาดตา และแสงรุกล้ำ
‘แสงเรืองบนท้องฟ้า’ (Sky Glow) คือแสงสว่างบนท้องฟ้าบริเวณชุมชนเมือง ซึ่งเกิดจากการติดตั้งแหล่งกำเนิดแสงอย่างไม่ระมัดระวัง เช่น แสงสว่างจากแหล่งกำเนิดแสงภายนอกอาคารและท้องถนนที่ส่องขึ้นสู่ท้องฟ้า ทำให้แสงเหล่านี้เกิดกระบวนการทางฟิสิกส์ที่เรียกว่าการกระเจิง หรือการที่รังสีถูกบังคับให้เบี่ยงเบนจากวิถีทางตรงไปหนึ่งเส้นทางหรือมากกว่าหนึ่งเส้นทางกับตัวกลางขนาดเล็กในอากาศ เช่น เมฆ หมอกควัน ปรากฏเป็นแสงเรืองทั่วท้องฟ้าและสังเกตเห็นได้แม้จะอยู่ห่างไกลออกไป
‘แสงเจิดจ้าบาดตา’ (Glare) เกิดจากแสงไฟที่ส่องสว่างเข้ามาในดวงตาโดยตรง ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการมองเห็น ซึ่งลดความคมชัดของวัตถุที่สายตาสามารถมองเห็นได้ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพการมองเห็นของผู้สัญจรในเวลากลางคืน โดยมักเกิดจากไฟหน้ายานพาหนะ ไฟถนนที่ควบคุมทิศทางแสงไม่ดี และแสงสว่างนอกอาคารที่ติดตั้งโคมไฟไม่เหมาะสม
สุดท้ายคือ ‘แสงรุกล้ำ’ (Light Trespass) แสงสว่างที่รุกล้ำเข้าไปในบริเวณของผู้อื่น โดยเกิดจากลักษณะของหลอดไฟหรือการไม่ควบคุมทิศทางการให้แสงสว่าง ทำให้แสงมีทิศทางที่ส่องไปยังพื้นที่อื่น เป็นมลภาวะทางแสงที่ไม่ต้องการ เช่น แสงที่ส่องไปยังห้องนอนของผู้อื่นในเวลากลางคืน
จากปัญหามลพิษทางแสงข้างต้น ทำให้ในปี 1988 มีการจัดตั้งองค์กร International Dark-Sky Association (IDA) โดยมีเป้าหมายลดมลพิษทางแสงสว่างและบังคับให้มีการใช้แสงอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการให้กำเนิด ‘เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด’ ซึ่งคือพื้นที่ที่รับรองว่ามีคุณภาพท้องฟ้าได้มาตรฐาน มีการจัดการแสงสว่างในพื้นที่ตามที่กำหนด และได้รับอนุญาตให้นำเครื่องหมายเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดไปใช้ในการประชาสัมพันธ์พื้นที่อุทยานแก่นักท่องเที่ยวและประชาชน
แม้เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับการรับรองเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดเพื่อกำจัดมลภาวะทางแสง แต่อย่างไรเสีย ภาพจำของความมืดนั้นยังทั้งน่ากลัวและอันตราย จนหลายคนเผลอมองข้ามประโยชน์และความสำคัญในการลดแสงสว่างไป
ลดแสงสว่างในเมือง ≠ เพิ่มความอันตรายในยามค่ำคืน
คำถามที่ว่า ‘การลดแสงสว่างในเมืองจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดอันตรายเพิ่มขึ้นในยามค่ำคืนหรือไม่’ เพราะทั้งเหตุอาชญากรรมหรืออุบัติเหตุบนท้องถนนมักเกิดในเวลากลางคืน ถ้าหันมาดูความจริงอีกด้าน การใช้แสงสว่างที่มากเกินไปนั้นก็ให้ผลลัพธ์ที่เป็นอันตรายเช่นกัน
หลายคนอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ‘ท้องฟ้ามืด’ (Dark Sky) เพราะมันไม่ได้หมายถึงการที่ต้องให้พื้นที่โดยรอบ ‘มืดสนิท’ แต่คือการใช้แสงให้ถูกวิธีอย่างเหมาะสมในพื้นที่ที่จำเป็น เพื่อช่วยให้เกิดสมดุลระหว่างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ควบคู่กับความสวยงามของท้องฟ้ายามค่ำคืน อีกทั้งยังช่วยลดพลังงานจากแสงสว่างที่ไม่จำเป็นและเพิ่มคุณภาพการนอนในยามค่ำคืน
ในปี 2012 สมาคมการแพทย์อเมริการายงานว่า แสงบาดตาจากอุปกรณ์ให้แสงในเวลากลางคืน ทำให้คนรู้สึกไม่สบายตาไปจนถึงสูญเสียการมองเห็นชั่วคราว เนื่องจากแสงจ้าที่ส่องเข้าไปในดวงตาจะทำให้รูม่านตาหดลง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในเวลากลางคืนมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การเพิ่มจำนวนหลอดไฟแบบผิดวิธีบนท้องถนน อาคารบ้านเรือน หรือสถานที่สำคัญ อาจไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาที่แท้จริง ดังนั้นจึงควรเลือกใช้และติดตั้งอุปกรณ์ส่องสว่างภายนอกเท่าที่จำเป็น ไปจนถึงใช้แสงสว่างในปริมาณที่เพียงพอและชนิดที่เหมาะสม
แต่การจะสร้างท้องฟ้ามืดได้ นอกจากจะอาศัยความร่วมมือจากประชาชนแล้ว ทางด้าน นโยบายจากภาครัฐเองก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมด้วยช่วยลดแสงไฟภายในเมืองเพื่อกำจัดมลพิษทางแสงเหล่านี้
การจัดการแสงไฟในเมืองยามราตรีจากทั่วโลก
นโยบายการจัดการแสงสว่างในเมือง มักเกิดขึ้นในพื้นที่เมืองขนาดเล็กและมีความใกล้ชิดกับธรรมชาติเป็นพิเศษ ทั้งนี้ก็เพื่อลดมลพิษทางแสงและช่วยเหลือธรรมชาติให้คงความมืดสำหรับระบบนิเวศต่อไป ยกตัวอย่าง ประเทศนิวซีแลนด์ในเขต Aoraki Mackenzie International Dark Sky Reserve ที่มีนโยบายการจัดการแสงสว่าง โดยออกกฎหมายควบคุมการใช้แสงสว่างที่ไม่จำเป็น ติดตั้งหลอดไฟที่มีการควบคุมทิศทางและลดความสว่างในพื้นที่สาธารณะ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากชุมชนให้มีการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับมลพิษทางแสงและการอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด
หรือเมืองที่มีคนพลุกพล่านขึ้นมาเล็กน้อยอย่าง Flagstaff ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับการยอมรับจาก IDA ว่าเป็นเมืองฟ้ามืด (Dark Sky City) เมืองแรกของโลก ด้วยการใช้แสงสว่างอย่างมีประสิทธิภาพและการออกกฎระเบียบในการควบคุมแสงสว่าง อีกทั้งยังมีการจัดโครงการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการใช้แสงสว่างและผลกระทบของมลพิษทางแสงเช่นเดียวกัน
ตัดกลับมาที่ประเทศไทย เรามีเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดถึง 53 แห่งทั่วประเทศ พิจารณาโดยคณะกรรมการของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จากข้อมูลการสมัครและการสำรวจพื้นที่ที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์กำหนด เช่น คุณภาพท้องฟ้า แสงสว่างภายนอกอาคาร การจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักอย่างต่อเนื่อง และการสนับสนุนจากหน่วยงาน/ผู้บริหารต้นสังกัด เพื่อยืนยันว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมและมีการอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้าอย่างยั่งยืน
ยกตัวอย่าง อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ที่มีนโยบายการจัดการแสงในพื้นที่ท่องเที่ยว โดยควบคุมการใช้แสงสว่างในพื้นที่อุทยานเพื่อลดผลกระทบต่อการดูดาวและสัตว์ป่า ผนวกกับสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดูดาวและความสำคัญของท้องฟ้ามืด
แม้เรื่องของเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดจะยังไม่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง แต่บทบาทความสำคัญนั้นย่อมมีไม่ต่างจากเขตอนุรักษ์อื่นๆ เพราะการเกิดขึ้นของเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดเปรียบเสมือนการคืนสมดุลให้ธรรมชาติ นำความสงบยามค่ำคืนกลับสู่ระบบนิเวศ และปล่อยให้ความมืดนำพาดวงดาวได้ส่องประกายต่อไป
‘หากความมืดยังไม่มาเยือน ดวงดาวก็มิอาจส่องแสง’ – D. H. Sidebottom
Sources :
DarkSky International | bit.ly/3yBvPcV
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) | bit.ly/4dlbIin